Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : KTC มั่นใจปีนี้กำไรทะยานแตะ 5 พันลบ. / แรงลม ติดปีกกำไร GUNKUL - จ่อ COD 120 Mw

2,942

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (21 สิงหาคม 2561)

 

 

"ระเฑียร ศรีมงคล"  บิ๊ก  KTC คาดกำไรปีนี้แตะ 5 พันลบ.  จากปีก่อน 3.3 พันล้านบาท  ระบุครึ่งปีแรกโกยแล้ว 2.5 พันล้านบาท  คงเป้าพอร์ตลูกหนี้รวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลโต 10% - ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% รักษา NPL ที่ 1.3% พร้อมรอKTB สั่งทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ - พิโกไฟแนนซ์

 

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTC เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดกำไรสุทธิปีนี้จะแตะระดับ 5 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ทำได้ 3.3 พันล้านบาท โดยช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 2.5 พันล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทฯ คงเป้าพอร์ตลูกหนี้รวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเติบโต 10% และคาดปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% พร้อมกันนี้จะรักษาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ให้คงอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนที่ 1.3% ส่วนการดำเนินธุรกิจธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และ พิโกไฟแนนซ์ หลังบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการเมื่อเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทฯ ได้เสนอเรื่องไปยังธนาคารกรุงไทย (KTB) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบทางธนาคารกรุงไทยก็จะส่งเรื่องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังต่อไป อย่างไรก็ตามรูปแบบการทำธุรกิจยังไม่สามารถเปิดเผยได้อนึ่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 71,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

 

โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ อยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิ คิดเป็น 92% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 72,037 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.1 ล้านบัญชี เติบโต 2.8% แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,249,933 บัตร ขยายตัว 3.2% พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 46,251 ล้านบาทสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ 12.6% อัตราเติบโตการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีรวมเท่ากับ 7.7% (อุตสาหกรรมเติบโต 11.9%) ส่วนแบ่งการตลาดของการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 11.1% เอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL) รวมของบริษัทยังลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 1.3% จาก 1.6% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.1%ลดลงจาก 1.2% (อุตสาหกรรม 1.9%) สินเชื่อบุคคล 867,236 บัญชี ขยายตัว 2.0% ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 25,423 ล้านบาท สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 7.0% และ NPLของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.8% ลดลงจาก 0.9% (อุตสาหกรรม 2.5%) โดยสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ยังคงมูลค่าสูงที่ 605% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 528%

 

 

 

 

ด้าน"สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย" ขุนศึก GUNKUL  คาดกำไรปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 635.36  ลบ.  แม้รับผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน-เชื่อโครงการลมหนุน ตั้งเป้ารายได้ปี 62  แตะ 6 พันลบ.  จากปีนี้คาดทะลุ 5 พันลบ.  พร้อมรักษาอัตรากำไรขึ้นต้น 40-50%  เผย Q4/61- Q1/62  เตรียม COD โรงไฟฟ้าทั้งโซลาร์ฟาร์ม - Solar Rooftop  เกือบ 120  Mw  ,ปี 63 โซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 2 โครงการใหญ่ จ่อคิว COD   ลุ้นQ4 นี้  คว้างานสายเคเบิ้ล ใต้ทะเลเกาะสมุย - เกาะเต่า มูลค่า ราว 4.1 พันลบ.  หวังได้งาน 50% 

 

 

ด้านนายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยกับสำนักข่าวหุ้นอินไซด์ว่า คาดภาพรวมกำไรปีนี้ จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีกำไรอยู่ที่ 635.36 ล้านบาท แม้ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่กระทบประมาณ 680 ล้านบาท แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะมีการรับรู้เป็นรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ( COD) โดยครึ่งปีหลังถือเป็นไฮ ซีซั่นของโครงงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเฉพาะเดือน กรกฏาคม บริษัทฯ มีรายได้จากโครงการพลังงานลมเข้ามาแล้ว 420 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 มีรายได้จากพลังงานลมประมาณ 450 ล้านบาท "ไตรมาส 2/2561 มีรายได้จากพลังงานลมประมาณ 450 ล้านบาท แต่เฉพาะเดือน กรกฏาคม เดือนเดียวบริษัทฯ มีรายได้จากโครงการพลังงานลมเข้ามาแล้ว 420 ล้านบาท และคาดว่าจะดีอย่างเนื่อง ดังนั้นโครงการพลังงานลมจะเป็นตัวที่ผลักดันกำไรในไตรมาส 3 - ไตรมาส 4 ทำให้ภาพรวมทั้งปีกำไรยังเติบโต แต่อาจจะไม่ได้โตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่กระทบประมาณ 680 ล้านบาท "นายสมบูรณ์ กล่าว

 


ทั้งนี้คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ทั้ง 170 เมกะวัตต์จะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทฯ ไม่ต่ำกว่า 1,700-1,800 ล้านบาท/ปี สำหรับโครงการในต่างประเทศ ที่เตรียม COD ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ที่เมืองเซ็นได ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ ตามด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เมืองอิวาคุนิ ประเทศญี่ปุ่นกัน มีกำหนด COD ในเดือนมกราคมปี 2562 ซึ่งจะเป็นส่วนที่เข้ามาสนับสนุนรายได้ของบริษัทฯ ในไตรมาส4/2561 และไตรมาส1/2562 ขณะที่บริษัทฯ มีแผนขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยสนใจทั้งในประเทศญี่ปุ่น เวียนดนาม และมาเลเซีย รวมทั้งเริ่มมองที่เมียนมามากขึ้นด้วย

 

 


นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นมาที่ 48% หลังมีการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งโครงการที่กำลังทยอยจะรับรู้รายได้ ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่ประเทศมาเลเซีย ขนาด 40 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ที่จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/2562 และโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 2 โครงการดังกล่าว ขณะที่มีการขยายการลงทุนในโครงการ Solar Rooftop โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 40 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ "GROOF" ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจแล้ว 30-40 หลังคาเรือน ส่วน Private PPA ปัจจุบันได้ บริษัทฯ ได้ ลงนามกับ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ในโครงการ CPF Solar Rooftop ในรูปแบบสัญญาขายไฟฟ้าที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,400 ล้านบาท

 

โดย GUNKUL จะเป็นผู้ลงทุนและดูแลระบบตลอดอายุสัญญาระยะเวลา 15 ปี โดยจะทำการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 120,000 แผ่น บนหลังคาของโรงงานซีพีเอฟจำนวน 34 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ราว 230,000 ตารางเมตร หรือเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเฟสแรกเท่านั้น โดยเฟสต่อไปอยู่ในระหว่างการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม อีกทั้งทาง CPF ยังจะให้บริษัทฯ ติดตั้งโรงงานในต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารหลายบริษัทฯ ที่ให้ความสนใจ Private PPA มากขึ้น ทำให้บริษัทฯ เชื่อว่าตลาดของ Solar Rooftop ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ในประเทศยังมีไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ และยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่องไปใน 3-5 ปีจากนี้ ส่วนภาคครัวเรือน จะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าติดตั้งปีละ 30-40 เมกะวัตต์ ซึ่งมองว่า Private PPA จะทำให้บริษัทฯ สามารถ ขยายกำลังการผลิตไปสู่ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 1,000 วันนับจากวันนี้ ได้เร็วขึ้น " 1,000 วันกับอีกประมาณ 400 เมกะวัตต์คิดว่าไม่ยาก เพราะเราน่าจะมี Backlog ในมือแล้ว 60-70 เมกะวัตต์ ซึ่งงานที่เราพยายามให้ได้ PPA ก็คาดว่าจะมีข่าวดีออกมา " นายสมบูรณ์ กล่าว

 

 


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าซื้อกิจการบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC) ซึ่ง FEC ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระบบไฟฟ้า แบบเหนือดิน เคเบิ้ลใต้ดิน และสถานีไฟฟ้า ปัจจุบัน FEC มีงานในมือ ที่พร้อมที่จะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ ประมาณ 600-700 ล้านบาท สนับสนุนให้รายได้จากงานก่อสร้างปีนี้ยังเติบโตเนื่อง ซึ่งมองแนวโน้มงานในส่วนนี้ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น อาทิงานนำสายไฟฟ้าลงดินจำนวน 16-17 โครงการ มูลค่า 1,1000 ล้านบาท และงานของการไฟฟ้านครหลวงอีกกว่า 30,000 ล้านบาท โดยFEC มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมประมูลงาน ดังนั้นคาดว่า FEC จะสามารถสร้างรายได้ค่าก่อสร้างให้บริษัทฯ ไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

 


สำหรับรายได้ปีนี้คาดว่าจะทะลุ 5,000 ล้านบาท โดยช่วงครึ่งปีแรกปีนี้บริษัทฯ มีรายได้อยู่ที่ 2,905.91 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มี Backog จากงานก่อสร้าง ติดตั้งระบบ การผลิตไฟฟ้า และการให้บริการดูแลรักษาโรงไฟฟ้า รวมทั้งยังมีการรับรู้เป็นรายได้ จาก FEC ที่จะเข้ามาในปีนี้ ประมาณ 600-700 ล้านบาท " เราเชื่อว่ารายได้จากพลังงานทดแทนจะโตวันโตคืน และมี Gross Profit Margin ที่ค่อนข้างสูง ประมาณ 40% เราเชื่อว่าเราจะใช้เวลาประมาณสิ้นปีนี้ถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 โครงการ Solar Rooftop ของ CPF น่าจะจำหน่ายไฟได้ทั้งหมด 40 เมกะวัตต์ และปลายปีนี้โรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นจะขายไฟฟ้า มกราคมปี 2562 ที่ญี่ปุ่นโครงการที่ 2 จะเริ่มขายไฟ รวม 2 โครงการนี้จะ COD ประมาณ 80 เมกะวัตต์ แปลว่าเรามีโครงการที่เตรียม COD ภายในไตรมาส 4 คาบเกี่ยว ไตรมาส 1 ปีหน้าเกือบ 120 เมกะวัตต์ ถัดจากนั้นในปี 2563 จะมีโครงการที่ญี่ปุ่น 2 โครงการใหญ่ ไซส์ 70-80 เมกะวัตต์ ทำให้รายได้จากพลังงานของเรามีต่อเนื่อง " นายสมบูรณ์ กล่าว

 

 


นอกจากนี้คาดว่าในไตรมาส 4 นี้ บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดี เวลลอปเม้นท์ จำกัด (GPD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GUNKUL มีโอกาสได้งานสายเคเบิ้ล ใต้ทะเล 2 โครงการที่เกาะสมุย มูลค่า 2,300 ล้านบาท และเกาะเต่า มูลค่า 1,800 ล้านบาท คาดมีโอกาสได้งานดังกล่าวเกิน 50% ส่วนรายได้จากเทรดดิ้งยังมีการเติบโตในอัตราประมาณ 15% ดังนั้นในปีหน้า บริษัทฯ เชื่อว่ารายได้มีโอกาสจะเติบโตแตะ 6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะรักษาอัตรากำไรขึ้นต้นไว้ที่ 40-50% ในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า "ช่วงนี้บริษัทฯอยู่ในช่วงสะสม PPA ยังไม่ได้มีแนวคิดในเชิงที่จะเอาออกจำหน่าย ในลักษณะของการเข้ากองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ ต้องบอกว่าในปัจจุบันบริษัทฯคิดว่าโซลาร์กับพลังงานที่บริษัทฯได้ทยอย COD ไปแล้วเกือบ 300 เมกะวัตต์ สร้างกระแสเงินสดให้บริษัทฯเพียงพอในการลงทุน แต่อินฟราสตรัคเจอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและบริษัทฯจะเลือกดูตามความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง วันนี้เองกระแสเงินสดที่วิ่งเข้ามาที่บริษัทฯ คิดว่าน่าจะมี Cash Flow ที่เหลือเพียงพอสำหรับการลงทุนครับ"นายสมบูรณ์ กล่าว

 

GUNKUL            KTC 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้