Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

308

 


ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
อัปเดตการเลือกตั้งสหรัฐ
ปีนี้สหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกตั้งสภาผู้แทนราาษฎร และเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด โดยในปัจจุบันพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ในขณะที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
นับตั้งแต่การดีเบตแรกในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือน มิ.ย. และเหตุการณ์ลอบสังหารในเดือน ก.ค. ก็ทำให้คะแนนความนิยมของทรัมป์ทิ้งห่างจนไบเดนต้องประกาศถอนตัว โดยปัจจุบันค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า กมลา แฮร์ริส จะขึ้นมาเป็นตัวแทนจากพรรคเดโมแครตแทนไบเดน (จะทราบผลจากพรรคฯ ในวันที่ 5 ส.ค.)
ผลโพลล่าสุดชี้ว่า ทรัมป์ยังมีคะแนนความนิยมเหนือกมลา แต่การทิ้งช่วงห่างนั้นแคบลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบระหว่างทรัมป์กับไบเดน อย่างไรก็ตามเรามองว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ส่วนแนวโน้มการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสนั้น เราคิดว่าโอกาสที่จะเกิดภาพ GOP Sweep หรือพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งวุฒิสภาและ ส.ส. มีความน่าจะเป็นน้อยลงเหลือไม่ถึง 20% หลังจากไบเดนถอนตัว ทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆคงไม่ง่ายถ้ามีทรัมป์ 2.0 จริง
อะไรบ้างที่ทรัมป์น่าจะพยายามทำในยุค 2.0 (หากเขาได้รับเลือก)
1 การขึ้นภาษีนำเข้า: ในช่วงที่เกิดสงครามการค้าในปี 2018-2019 ทรัมป์ได้ขึ้นภาษีสินค้าจีนจากค่าเฉลี่ย 3.1% ในปี 2017 เป็นเฉลี่ย 21% ในปี 2019 คาดว่าทรัมป์ 2.0 คงจะมีการดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน แต่อาจมีความแข็งกร้าวที่มากขึ้น ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60%
2 การต่ออายุกฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act (TCJA): หนึ่งในนโยบายสำคัญของทรัมป์สมัยแรก คือนโยบายประชานิยม (populist) ที่ลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 21% และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยอัตราสูงสุดลดจาก 39.6% เหลือ 37% นโยบายนี้จะหมดอายุในปี 2025 และคาดว่าทรัมป์ 2.0 จะต่ออายุนโยบาย TCJA รวมถึงอาจลดภาษีนิติบุคคลลงไปอีกเหลือ 15%
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนิติบุคคลลงต่ำขนาดนี้จะยิ่งทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็สูงถึง 6.3% ของ GDP แล้ว สูงกว่าตอนทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในปี 2017 ที่อยู่ที่ 3.4% ของ GDP มาก ดังนั้นการผ่านกฎหมายลดภาษีครั้งนี้จึงทำได้ยากขึ้น
เรามองว่าทรัมป์จะไม่สามารถลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% ได้ แม้ผลการเลือกตั้งจะเป็นแบบ GOP Sweep ก็ตาม เพราะรายได้จากภาษีที่ลดลงจะทำให้รัฐต้องลดการใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลดีที่ได้จากการลดภาษี ทำให้กฎหมายนี้ไม่ผ่านสภา
3 นโยบายควบคุมการอพยพ: นโยบายนี้ของทรัมป์เป็นจุดเด่นในการหาเสียงของเขา โดยสอดคล้องกับแนวคิดประชานิยมและนโยบาย "America First" นอกจากนี้ ทรัมป์ยังอ้างว่านโยบายนี้จะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมและการก่อการร้าย รวมทั้งป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวแย่งงานชาวอเมริกัน
ในยุคทรัมป์ 2.0 คาดว่าจะมีความเข้มงวดในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labor) ที่โดยปกติชาวอเมริกันไม่ค่อยนิยมทำอยู่แล้ว ผลที่ตามมาคือค่าแรงงานอาจปรับตัวสูงขึ้น และนี่อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อระลอกที่สอง (second wave of inflation) ด้วยเหตุนี้ นโยบายควบคุมการอพยพของทรัมป์จึงอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างแรงงานและอาจสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับภาคธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานราคาถูก
4 Oil & Gas Freindly: ในสมัยแรกของทรัมป์ มีการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและถอนตัวจากข้อตกลงปารีส แต่หากได้รับเลือกอีกครั้ง ผลกระทบต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอาจรุนแรงกว่าเดิมมาก โดยทรัมป์อาจถอนตัวจากความพยายามระดับนานาชาติที่สำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลลบต่ออุตสาหกรรม clean energy แต่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจ Oil & Gas ในสหรัฐ (ปัจจุบันตลาดเริ่ม front run scenario นี้แล้วจึงทำให้หุ้นกลุ่ม Energy ในสหรัฐปรับขึ้นราว 6% นับตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.)
5 การสนับสนุนอิสราเอล: แม้ว่าทรัมป์จะไม่ได้ให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์มากนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ในสมัยทรัมป์ 1.0 เขาได้แสดงภาพการสนับสนุนอิสราเอลที่ชัดเจนกว่าไบเดน ทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจสูงขึ้นหากเขาได้เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้า ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันมี war premium ที่สูงขึ้น
สำหรับกรณีกลามาแฮร์ริส ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คาดว่านโยบายส่วนใหญ่จะมีทิศทางคล้ายคลึงกับยุคของไบเดน โดยสามารถคาดการณ์ได้จากรูปแบบนโยบายปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อาจมีความแตกต่างในรายละเอียดบางประการ ตัวอย่างเช่น แฮร์ริสอาจมีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของอิสราเอลมากกว่าไบเดนเล็กน้อย โดยเธออาจเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องพลเรือนในกาซาให้มากขึ้น ทั้งนี้ แม้จะมีมุมมองที่อาจแตกต่างในบางประเด็น แต่โดยภาพรวมแล้ว แฮร์ริสน่าจะยังคงแสดงจุดยืนสนับสนุนอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง คล้ายคลึงกับนโยบายของไบเดน ความแตกต่างในรายละเอียดนี้อาจสะท้อนถึงมุมมองส่วนตัวของแฮร์ริส รวมถึงการตอบสนองต่อกลุ่มผู้สนับสนุนที่อาจมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ในภาพรวมของนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความอ่อนไหวเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญคงเกิดขึ้นได้ยาก
ส่วนนโยบายสำคัญอื่นๆที่คาดว่า กมาลา แฮร์ริส จะผลักดัน เช่น (1) การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนแบบเฉพาะเจาะจงในบางสินค้า เช่น สินค้าไฮเทค และการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐ (2) การขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% (3) สนับสนุนกฎหมาย IRA ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ และ (4) การสนับสนุนให้มีการทำแท้งเสรี เป็นต้น

สรุปภาพตลาดวานนี้
วานนี้เห็นการเล่นแบบ Trading ซื้อขึ้นเช้า ขายลงบ่าย ทำให้ภาพรวมตลาดบวกแค่เล็กน้อย โดยหุ้นที่ยืนด้านบวกได้ DELTA กลุ่มพลังงาน PTTEP GPSC BGRIM EA TOP BCP และหุ้นใหญ่อื่นๆ KBANK SCGP ส่วนหุ้นบวกแรงต่อเนื่อง KGEN PROEN VGI WHART และหุ้นที่สัญญาณพลิกกลับมาบวกพร้อม Vol. เพิ่มจากเฉลี่ยรอบสัปดาห์ เช่น CHG SGC SINGER BAM ขณะที่ด้านลบกดดันตลาดกดดันตลาดวานนี้ มี CPF CPALL CRC PTT KTB เป็นต้น

แนวโน้มตลาดวันนี้
แนวต้านระยะสัปดาห์...ถึงแล้วโหม่ง
SET ทดสอบกรอบบนของ แนวต้านระยะสัปดาห์แล้วโหม่ง (ลง) ตามคาด ส่งผลต่อการย่อตัวในวันนี้ แต่เรามองย่อไม่ลึก ด้วยปัจจัยพื้นฐานของหุ้นไทยที่ช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านล่าง คือ ปันผลระหว่างกาล, PE หุ้นที่ไม่แพง และอาจถูกลงอีก จากงบไตรมาส 2 ที่ดีกว่าคาด (ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้จึงมีแนวโน้ม ลุกขึ้นเดินหน้า แต่มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง)

ส่วนประเด็นเพิ่มเติมใหม่ในระหว่างสัปดาห์ เช่น ข่าวสังหารผู้นำฮามาส ในอิหร่าน อาจสร้างความกังวล ทำให้อยากลดพอร์ตในช่วงวันหยุดท้ายสัปดาห์ แต่ปัจจัยหนุนหุ้นไทย จะมาจากปัจจัยมหภาค เช่น ธนาคารกลางอังกฤษลดดอกเบี้ยในรอบ 4 ปี วงจรดอกเบี้ยขาลงในฝั่งตะวันตกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเมื่อเฟดลดดอกเบี้ย กนง.ลดดอกเบี้ย จะหนุนหุ้น Domestic consumption ในระยะกลาง (ควรเริ่มล็อกกำไรหุ้นส่งออก)
ด้านประเด็นในประเทศ เช่น การเมือง และต้องรอคดีนายกฯ, ดราม่าเงินดิจิตอล เรามองเป็นกลางต่อหุ้นไทยวันนี้ แต่งบการเงินหุ้นรายตัวที่เริ่มเห็นจำนวน บจ.แจ้งกำไรที่เพิ่มขึ้นเกินคาด เราคงมองเป็นบวกต่อการปรับขึ้นของหุ้นไทย หลังปัจจัยต่างๆมีความชัดเจน...

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกหุ้นเล่นเป็นรายตัว โฟกัสไปข้างหน้า เน้นไปที่แนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะมีโอกาสถูกปรับเพิ่มประมาณการณ์ หรือ มองเห็นปัจจัยหนุนชัดเจนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนต่อผลการดำเนินงานหลังจากนี้

วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET ผ่านแนวเส้นกดสำเร็จ! Break out แนวต้านสำคัญ ส่งผลให้แนวโน้มเปลี่ยนโเป็นขาขึ้นรอบใหม่ หนุนด้วยค่าวัดพลัง RSI > 50 บ่งชี้ภาวะกระทิง ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ...จับตาวอลุ่มจะต้องเพิ่มสูงขึ้น (สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 5 bn) หากเงื่อนไขต่างๆประสบผลสำเร็จ มีโอกาสที่ดัชนีจะถึงจุดเปลี่ยนเป็นรอบขาขึ้นได้ไม่ยาก! ส่วนภาพระยะสั้นปัจจุบัน test previous high ที่เคยทำไว้ที่ 1,331 ลุ้นฝ่าด่านเพื่อขึ้นสู่โซนถัดไป 1,360 ส่วนแนวรับขยับขึ้นเป็น 1,315 จุด….
Note: มุมมองกระแสเงินลงทุนอื่นๆ เช่น บาทแข็งค่า & US yield curve ร่วง! ตีความอย่างไร ติดตามในบทวิเคราะห์ “World asset class” เช้านี้ครับ

 

 

What to watch
ไทม์ไลน์คดี การเมือง: ศาลฯนัดพิจารณาคดีถอดถอนนายก 14 ส.ค. ลงมติ 13:00 น. เป็นต้นไป, 7 ส.ค. ศาลกำหนดวัน นัดลงมติตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล เวลาบ่าย 3 โมงเป็นต้นไป
นายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำของกลุ่มฮามาสได้ถูกกองกำลังทหารของอิสราเอลสังหารในประเทศอิหร่าน โดยข่าวดังกล่าวส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตรึงเครียดในตะวันออกกลางซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผลิตน้ำมันดิบมากถึง 1 ใน 3 ของโลก
เริ่มวันนี้ 1 ส.ค. ลงทะเบียนรับเงินหมื่น ผ่านแอพฯ ทางรัฐ

หุ้นแนะนำวันนี้
CPALL (หลบไปพักเงินในหุ้นใหญ่ที่ ทรงออกข้าง ราคาอยู่ล่าง เบต้าไม่สูงนัก) หนึ่งในหุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายกองทุน TESG (S 57 R 59/60 SL 56)


รายงานพื้นฐานวันนี้

Fundamental Portfolio
(โดยคุณพิริยพล)
เพิ่ม AOT AMATA และ CPAXT
เราปรับพอร์ตการลงทุนเชิงปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Portfolio) โดยถอดหุ้น TIDLOR SAFE และ MEB ออก และเพิ่ม AOT AMATA และ CPAXT เข้าไปแทน โดย AOT มอง Overhang จากปัจจัยลบการขอคืนพื้นที่สะท้อนเข้าไปในราคาที่ลงมาแล้ว และแนวโน้มการเติบโตยังแกร่ง สำหรับ AMATA มองการเติบโตของกำไร YoY, QoQ ใน 3 ไตรมาสข้างหน้าต่อเนื่อง ส่วน CPAXT คาดกำไร 2Q24 เติบโต YoY จากทั้งต้นทุนการเงินต่ำ กำไร Lotus’s ฟื้นตัว และเห็น Omni-channel ที่แกร่ง รวมทั้งมี Upside จากมาตรการ Digital wallet ด้วย
ภาพรวมผลตอบแทนพอร์ตอยู่ที่ -6.4% YTD ดีกว่า SET ที่ -6.6% YTD เล็กน้อย และหลังจากที่ปรับพอร์ตครั้งก่อน (30 เม.ย.) ที่ -2.4% ลงน้อยกว่า SET ที่ -2.9%

Energy Sector
กำไรหลักจะลดลงในไตรมาส 2
เราคาดการณ์กำไรสุทธิ 2Q24 ของกลุ่มพลังงาน 8 บริษัทที่ให้คำแนะนำอยู่ที่ 5.75 หมื่นล้านบาท แต่หากไม่รวมรายการพิเศษกำไรหลักจะอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท ลดลง 12% YoY และ 32% QoQ โดยในมุม YoY นั้น IRPC กำไรลดลงมากสุดตามส่วนต่างที่ลดลงตามมาด้วย PTT กดดันโดยธุรกิจก๊าซและโรงกลั่น-เคมี ในทางตรงข้าม BANPU และ SPRC กำลังจะเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งสุด ส่วนด้าน QoQ นั้น กลุ่มโรงกลั่นกำไรจะลดลงมากที่สุดตามมาด้วย PTT ในขณะที่ กลุ่มพลังงานต้นน้ำ BANPU และ PTTEP กำไรเพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้ม 3Q24 คาดกำไรหลักในภาพรวมจะยังลดลง YoY จาก BANPU และกลุ่มโรงกลั่น แต่ PTTEP จะปรับตัวขึ้นบริษัทเดียว ในด้าน QoQ ภาพรวมจะเห็นการฟื้นตัวนำโดย PTT และกลุ่มโรงกลั่น
อย่างไรก็ตามเราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2024 ของ BANPU IRPC OR ลง แต่มีการปรับกำไรของ PTT เพิ่มขึ้น ตามการปรับกำไร PTTEP
(รายละเอียดโปรดอ่านในรายงาน)
Fundamental view: เราชอบ PTTEP และ TOP มากสุดในกลุ่ม และมองโอกาสซื้อเก็งกำไร SPRC จาก high season

Healthcare Sector
ผู้เล่นเด่น หลังพ้นรอมฎอน
เราประมาณการกำไรหลักของกลุ่ม รพ. ที่ให้คำแนะนำ รวม 5.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YoY แต่ลดลง 11% QoQ (ปัจจัยฤดูกาล)
BDMS เราคาดกำไรหลักที่ 3.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% YoY แต่ลดลงตามฤดูกาล 16% QoQ
BH เราคาดว่าจะเห็นผลกระทบเพียงเล็กน้อยแม้เป็น Low season โดยมีกำไรหลักที่ 1.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% YoY และลดลงเล็กน้อย 4% QoQ
BCH เราคาดกำไรที่ 328 ล้านบาท ทรงตัว YoY และเพิ่มขึ้น 3%
กลยุทธ์การลงทุนรอบนี้ เรามองผู้ป่วยตะวันออกกลางจะเป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนกำไรใน 2H24 หากเรามาดูตัวเลขผู้เดินทางเข้าไทยจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางใน 2Q24 พบว่ามีผู้เดินทางเข้ามากว่า 1.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 37% YoY และ 112% QoQ โดยหลักๆ การเพิ่มขึ้นนี้มาหลังช่วงรอมฎอน (ในเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา) ทำให้เรามองว่า รพ. ที่มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง คือ BH ที่ 25% และ BCH ที่ 10% จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการกลับมาของผู้ป่วยกลุ่มประเทศนี้
Fundamental view: เราชอบ BH มากที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาลระดับบน ด้วย PER ที่ 24 เท่า ต่ำกว่า BDMS ที่ 27 เท่า มี Valuation gap ในการเล่น Catch-up play


JMT
เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส
ลดความคาดหวังลงใน 2H24
เราคาดกำไรสุทธิ 2Q24 ที่ 351 ล้านบาท (ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม 17%) ลดลงถึง 36% YoY และ 16% QoQ กดดันจากแนวโน้มค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกฎหมายเพิ่มขึ้น
เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2024 ลง 20% จากการปรับลดสมมติฐานการจัดเก็บเงินสดลง และปรับเพิ่มสมมติฐานค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้น หลักๆ เป็นค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย ทำให้เราคาดกำไรสุทธิ ปี 2024 จะลดลง 24% YoY
Fundamental view: เราจึงยังแนะนำขาย เพราะประเมินว่าธุรกิจบริหารสินทรัพย์จะฟื้นตัวช้าในปีนี้ โดยในกลุ่มการเงิน เราชอบ MTC และ TIDLOR มากกว่า

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

สู้..ไปต่อ By : นายกล้วยหอม

นายกล้วยหอม วันนี้ นักลงทุน ยังคงไม่ผลีผลาม ตะลุมบอนหุ้น แบบว่า ต่อสู้กับเกมหุ้น ไปต่อ อย่างมีสติ สัปดาห์หน้า....

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้