Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews:SCGP ปังธงปี65 รายได้1.4 แสนลบ.,ลงทุน 2 หมื่นลบ. /LEO ผงาด! รับปีขาล ปิดดีล M&A "เวิลดิ์ แอร์ โลจิสติกส์"

2,466

 

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 25 มกราคม 2565)--SCGP คาดรายได้ปี 65 โตแตะ 1.4 แสนลบ. รับรู้รายได้จากการควบรวมกิจการเต็มปี-ขยายกำลังผลิต ตั้งงบลงทุนปี65 ราว 2 หมื่นลบ. รองรับการทำ M&P-ขยายกำลังการผลิต


นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) SCGP เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายรายได้รวมปี2565 คาดว่าอยู่ที่ระดับ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากดีลที่ควบรวมกิจการในปีที่ผ่านมา และโครงการขยายกำลังการผลิตในประเทศฟิลิปปินส์และประเทศเวียดนามที่จะแล้วเสร็จในปีนี้


ขณะที่ บริษัทฯ คาดว่าในปี 2568 จะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จากวางแผนงบลงทุนระยะยาว 5 ปี (64-68) มูลค่า ราว 100,000 ล้านบาท หรือใช้เงินราวปีละ 20,000 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิต รวมถึงพิจารณาโอกาสขยายการลงทุนที่เหมาะสมในภูมิภาคอื่น ๆ


ทั้งนี้ในปี 65 จะใช้งบลงทุนราว 20,000 แบ่งเป็น เงินลงทุนสำหรับเข้าทำการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) จำนวน 10,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 10,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ขยายกำลังการผลิตทั้งในไทยและต่างประเทศเพิ่มเติม

ปัจจุบัน บริษัทมี 3 โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ 1.การขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของ United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) ประเทศฟิลิปปินส์ อีก 220,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1/2565 2.ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและประเทศเวียดนามอีก 1,838 ล้านชิ้นต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2/2565 และ 3.โครงการก่อสร้างฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ภายใต้ Vina Kraft Paper Company Limited (VKPC) ด้วยกำลังการผลิต 370,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567


ขณะเดียวกัน บริษัทได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและการบริโภคในปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลักๆมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด 19 ในประเทศต่างๆทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เข้าใกล้ภาวะปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทมองว่าค่าระวางเรือขนส่งจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากดีมานด์ความต้องการ มากกว่าปริมาณเรือและปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เข้ามากดดันภาคการผลิตและการบริโภค


นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและการบริโภคในปี 2565 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด 19 ในประเทศต่าง ๆ ส่วนค่าระวางเรือขนส่งจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตและการบริโภค อย่างไรก็ตาม SCGP มีความมุ่งมั่นโดยวางเป้าหมายรายได้จากการขายในปีนี้ที่ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากดีลที่ควบรวมกิจการในปีที่ผ่านมาและโครงการขยายกำลังการผลิตที่จะแล้วเสร็จในปีนี้ อีกทั้งบริษัทฯ ได้วางแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้งบลงทุน 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักของ SCGP รวมถึงพิจารณาโอกาสขยายการลงทุนที่เหมาะสมในภูมิภาคอื่น ๆ

นอกจากนี้ SCGP ยังคงดำเนินธุรกิจโดยมีสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นกรอบแนวคิดสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่ง โดยในปี 2564 บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับรางวัล Rising Star Sustainability Awards จาก SET Awards 2021 และได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับ Gold Medal จาก EcoVadis Sustainability Rating และเพื่อยกระดับนโยบายด้าน ESG บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ด้วย

 

ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2564 สามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 8,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 21,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อน

ผลการดำเนินงานปี 2564 ที่เติบโตอย่างมั่นคง ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด 19 การหยุดชะงักของห่วงโซอุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง มาจากการบริหารโมเดลธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลยุทธ์มุ่งเน้นนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสินค้านวัตกรรมและการขยายพอร์ตสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค รวมถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบ Organic Expansion และ Merger and Partnership (M&P) และการวางแผนบริหารจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นับจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน SCGP ได้ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ใช้เงินลงทุนรวมตลอดอายุโครงการประมาณ 40,000 ล้านบาท ทั้งการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) และการขยายกำลังการผลิตของบริษัทฯ รวม 12 โครงการ ในจำนวนนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 9 โครงการ ส่วนอีก 3 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ (1) การขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ของ United Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) ประเทศฟิลิปปินส์ อีก 220,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 (2) ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและประเทศเวียดนามอีก 1,838 ล้านชิ้นต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และ (3) โครงการก่อสร้างฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ภายใต้ Vina Kraft Paper Company Limited (VKPC) ด้วยกำลังการผลิต 370,000 ตันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดยมีรายได้จากการขาย 35,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวด 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA เท่ากับ 5,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากขึ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์อาหาร (Foodservice Products) โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงการรวมผลประกอบการของบริษัทที่ทำ M&P ได้แก่ Go-Pak, Duy Tan, Intan Group และ Deltalab

ส่วนภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่ฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด 19 โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและซัพพลายเชนทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงภาวะปกติ ในขณะที่ราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากประเทศผู้นำเข้ารายหลัก

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีพิจารณาการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2564 ในอัตรา 0.65 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2564 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายใน 0.40 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล ในวันที่ 7 เมษายน 2565 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือ วันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 5 เมษายน 2565

 


บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์(LEO) ประเดิมปีขาลเข้าซื้อกิจการ "บริษัท เวิลดิ์ แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด" (WA) ผ่านการตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ ถือหุ้นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 75% มูลค่ารายการรวม 275 ล้านบาท ฟากซีอีโอ"เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์" ระบุการลงทุนในครั้งนี้ช่วยต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร ขยายฐานพันธมิตรทางธุรกิจ เติมเต็มความแข็งแกร่งขนส่งทางอากาศ หนุนปริมานการขนส่งและรายได้พุ่ง ผลักดันอนาคตให้โตแบบก้าวกระโดด สร้างผลตอนแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น

 

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท เวิลดิ์ แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ("WA") ผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ โดยบริษัทจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75% ซึ่งบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ดังกล่าว จะเป็นผู้รับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer: EBT) ของบริษัท เวิลดิ์ แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ("WA") รวมถึงการลงนามในสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการดังกล่าว ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 275.00 ล้านบาท

 

การเข้าลงทุนในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ มีแผนกลยุทธ์ที่จะขยายกิจการที่เป็นธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศและหาพันมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทางบริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสในการเข้าลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสในการเติบโตในอนาคตและจะสามารถก่อให้เกิดการสร้างเสริมประโยชน์ร่วมกัน (Synergy) และบริษัทฯได้ตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนกัน บริษัท เวิลดิ์ แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด (WA) ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร (International Freight Forwarding) โดยภายหลังการเข้าทำรายการ บริษัทฯ จะสามารถขยายฐานลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจได้มากขึ้น และจะมีความสามารถในการสร้างรายได้และผลงานที่ดีในอนาคต

 

"สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าทำรายการในครั้งนี้ เนื่องจากลักษณะการประกอบธุรกิจของ WA จะสามารถมาต่อยอดทางธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศให้กับทาง LEO อย่างก้าวกระโดด เพราะรายได้หลักของ WA มาจากการให้บริการขนส่งสินค้าทางกาศ (Air Freight) ในขณะที่ปัจจุบัน LEO มีรายได้หลักมาจากการขนส่งทางเรือ (Ocean Freight) การเข้าทำรายการดังกล่าว จะทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของ LEO โดยรวม เพิ่มมากขึ้นกว่า 100% หรือรวมเป็นมากกว่า 10,000 ตันต่อปี เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจและการสร้างกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการเติบโตด้านรายได้และการขยายพันธมิตรของบริษัทได้เป็นอย่างดี" นายเกตติวิทย์ กล่าว

 

นายเกตติวิทย์ กล่าวอีกว่า LEO จะสามารถขยายพันธมิตรทางธุรกิจได้มากขึ้น เนื่องจาก WA ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์มาเป็นระยะเวลานานกว่า 18 ปี ทำให้มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจขนส่ง อีกทั้งเป็นพันธมิตรกับสายการบินที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือมากกว่า 50 สายการบิน ซึ่งประโยชน์จากเครือข่ายของสายการบินที่ WA มีอยู่ จะทำให้ LEO มีพันธมิตรที่เป็นสายการบินเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมความสามารถในการสร้างรายได้และการลดต้นทุนได้ดีขึ้น อีกทั้งการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ( Freight Forwarder )ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ WA จะช่วยต่อยอดให้บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่มีฐานลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออกและนำเข้าโดยตรง (Retail Market) และผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Wholesale Market) ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการขยายขอบเขตการดำเนินงานที่หลากหลาย สามารถตอบสนองการให้บริการแก่ลูกค้าได้ครบวงจร พัฒนาและยกระดับการพัฒนาธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศของบริษัทฯ ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

ตลอดจนหลังเข้าทำรายการในครั้งนี้ บริษัทฯ จะมีความแข็งแกร่งในการประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ จะมีรายได้จากการให้บริการขนส่งทั้งทางเรือ (Ocean Freight) และทางอากาศ (Air Freight) ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ มีการกระจายของฐานรายได้ที่หลากหลายรวมถึงจะช่วยเพิ่มรายได้รวมของบริษัทในอนาคต และส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานให้เป็นบริษัทที่มีความสามารถทัดเทียมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในระดับสากล

 

.............จบ..................

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

ติดตาม By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ หลังจาก นายกฯคุยกับนายแบงก์ วันนี้ สมาคมธนาคารไทย ก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้