Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : SET กู่ไม่กลับ

2,741

HotNews : SET กู่ไม่กลับ

 

วันนี้ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,255.94จุด ลดลง 108.63 จุด หรือ 7.96% มูลค่าการซื้อขาย 103,623.75 ล้านบาท ขณะที่ในระหว่างวันดัชนีฯ ลงไปต่ำสุดที่ 1,249.31 จุด ด้านมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุน สถาบันในประเทศขายสุทธิ 12,719.83 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 957.57 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 3,995.82 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 15,758.08 ล้านบาท

 

 

หลังหุ้นกลุ่มพลังงาน ถูกกระหน่ำขายอย่างหนัก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มปตท. PTTEP ลงสัมผัส Floor ที่ 74.75 บาท หลังซาอุดีอาระเบีย ประกาศลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงปรับลดการผลิตน้ำมัน ด้าน การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ยังกดดัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ "ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มอง SET ร่วงแรง ตามตลาดหุ้นตปท. หลังราคาน้ำมันดิ่ง ยันไม่ถึงขั้นใช้มาตรการพิเศษ แนะนลท.ติดตามข่าวสารใกล้ชิด -เน้นลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์

 

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวลดลงแรงในภาคเช้าวันนี้ โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงมา 6% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 30 เหรียญ/บาร์เรล จาก 50 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบให้หุ้นในกุล่มพลังงานและกลุ่มทรัพยากร ปรับลดลง โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของบริษัทจดทะเบียน มี Oil &Petro Inventory ลดลง 109,000 ล้านบาท ในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีมาตราการพิเศษ เพื่อแก้ไขการเคลื่อนไหวรุนแรงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาเพิ่มเติมแต่อย่างใด โดยมองว่ามาตรการที่มีอยู่เช่นการหยุดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (มาตรการ Circuit Breaker ) ยังเพียงพอ

 

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ได้เชิญตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่นผู้ประกอบการSME , บริษัทจดทะเบียน,บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่ได้รับผลกระทบ จากการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของตลาดหลักทรัพย์ โดยจะมีการออกมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่คาดว่าจะมีมาตรการออกมาเร็วๆ นี้

 

 

นายภากร กล่าวเพิ่มเติมว่าจากภาวะตลาดหุ้นไทย ที่ปรับตัวลดลงแรง ขอให้นักลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ติดตามอ่านบทวิเคราะห์ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ด้วยตนเอง ส่วนการลงทุนในระยะนี้อยากให้กระจายความเสี่ยง เช่นการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ลงทุนในต่างประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่มีหุ้นบาง Sector ไม่ได้ปรับตัวลดลงแรง ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาและพิจารณาการลงทุนได้

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ "วิกฤติราคาน้ำมัน... เมื่อความวัวยังไม่ทันหาย" ระบุว่า ราคาน้ำมันร่วงลง 30% จากการที่ซาอุดิอาระเบีย ยกเลิกข้อตกลงการคุมกำลังการผลิตน้ำมันกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย โดยจะขยายกำลังการผลิตเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด (Market share) ซึ่งซาอุฯเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมไปถึงลดราคาน้ำมันดิบลงหลังจากที่การเจรจาของกลุ่มโอเปก ประสบความล้มเหลวในการขยายข้อตกลงกับรัสเซีย สำนักวิจัยฯมองว่าซาอุฯไม่อยากเห็นสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ตามมาด้วยรัสเซีย ขณะที่ตัวเองเป็นเบอร์สาม เลยไม่สนราคาที่ลงเพราะต้นทุนต่ำกว่าพวก เรียกว่าลดราคาได้เต็มที่แย่งฐานลูกค้ามาก่อน (ปัจจุบันซาอุฯจำกัดการผลิตไม่เกิน10ล้านบาร์เรลต่อวัน)

 

 

ขณะที่สหรัฐฯได้รับผลกระทบแน่ เพราะเป็นผู้ผลิต เมื่อราคาลงต่ำกว่าต้นทุน บริษัทน้ำมันจะขาดทุน ปิดกิจการ เลิกจ้าง รอดูว่าผลลบจะแรงเหมือนช่วงที่ซาอุฯทำตอนปลายปี 15-16 หรือไม่ แต่เศรษฐกิจที่ชะลอ เฟดอาจลดดอกเบี้ยรอบ 17-18 มีนาคมนี้อีก 0.5% เศรษฐกิจโลกผันผวนต่อเนื่องหลังไวรัสโควิดกดดันภาพรวม ซึ่งนอกจากอุปสงค์จะลดลงจนกระทบการส่งออกแล้ว สินค้าส่งออกของไทยยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เช่น เคมี ปิโตรเลียม ยาง และสินค้าเกษตรต่างๆ ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกปีนี้ติดลบหนักได้ ขณะที่การนำเข้าจะกลับติดลบหนักกว่าการส่งออก เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิน้ำมัน มากกว่า 10% การนำเข้า ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันลง การนำเข้าโดยรวมก็จะลดลงด้วย อีกทั้งเอกชนจะชะลอการลงทุน มีผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบหดตัวตาม โดยสรุป การส่งออกสุทธิ (ส่งออกหักนำเข้า)จะเติบโตได้ ทำให้ GDPไทยไม่ทรุดแรง

 

 

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ลดลงได้แก่ กลุ่มสำรวจน้ำมัน กลุ่มเคมีปิโตรเลียม กลุ่มยาง ข้าว สินค้าเกษตร ปั๊มน้ำมัน และกลุ่มอื่นๆที่อาจขาดทุนสต๊อกน้ำมันและราคาสินค้าหรือรายได้เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันขณะที่กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงได้แก่ กลุ่มที่ได้กำไรจากต้นทุนที่ต่ำลง เช่น ขนส่ง สายการบิน การบริโภคกลุ่มท่องเที่ยว แต่น่าเสียดายที่กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดเสียก่อน จนอาจไม่สามารถชดเชยได้

 

 

โดยสรุป นักเศรษฐศาสตร์อาจต้องออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจกันอีกรอบ GDP ไทยมีโอกาสโตได้ต่ำกว่า 0.5% ช่วงครึ่งปีแรก จากไวรัสโควิด แต่เมื่อราคาน้ำมันลงหนักเช่นนี้เศรษฐกิจไทยอาจดูแย่ลง ซบเซาลง สินเชื่อโตช้าลง แต่จะเกิดการเติบโตทางเทคนิค (technical growth) จากการส่งออกสุทธิที่เติบโตหลังการนำเข้าหดตัวแรงกว่าการส่งออกที่ทรุด ซึ่งน่าจะพอพยุง GDP ให้ขยายตัวได้บ้าง แต่เมื่อเงินเฟ้อต่ำ กำลังซื้อหดหาย ก็มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะลดดอกเบี้ยได้ในรอบการประชุมวันที่ 25 มีนาคมนี้ สู่ระดับ 0.75%ต่อปี ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเพียงระยะสั้นจากความกังวลของนักลงทุนต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ไม่นานจะพลิกมาแข็งค่าเทียบสกุลอื่นรวมทั้งดอลลาร์สหรัฐฯจากการนำเข้าที่หดตัวแรง มีโอกาสเห็นเงินบาทลงต่ำกว่าระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้

 

 


BAY มองตลาดเงินผันผวนหนัก หลังซาอุฯ เปิดฉากสงครามราคาน้ำมัน 

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.70 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.45 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1.61 หมื่นล้านบาท และ 1.29 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ช่วง 1.00-1.25% โดยเป็นการปรับลดแบบฉุกเฉินก่อนจะถึงรอบการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 17-18 มี.ค. โดยประธานเฟด กล่าวย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะแข็งแกร่งแต่การระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างมาก แม้เฟดประเมินว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักแต่จะช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม

 

 


กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ดอลลาร์ยังมีทิศทางอ่อนค่า หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างรวดเร็วและการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีก ขณะที่นักลงทุนจะจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกประเทศจีน รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาสินค้าโภคภัณท์โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ดิ่งลง หลังซาอุดิอาระเบียเปิดฉากทำสงครามราคากับรัสเซียด้วยการประกาศปรับลดราคาขายน้ำมันลงและจะปล่อยอุปทานน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาด ทั้งๆ ที่ความต้องการใช้น้ำมันกำลังลดฮวบลงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เราคาดว่าความผันผวนอย่างหนักของตลาดการเงินโลกจะหนุนค่าเงินเยน โดยในภาพรวม การปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินครั้งล่าสุดของเฟดและข้อมูลการจ้างงานที่สดใสของสหรัฐฯไม่สามารถช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นของตลาดได้ ขณะที่ ในสัปดาห์นี้ คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ ติดลบ 0.60% อย่างไรก็ดี ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด อาจจะไม่ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนลงได้

 

 


สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนล่วงหน้าเมื่อเดือนก.พ.แล้วเพื่อรับมือกับผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสและปัจจัยลบต่างๆ โดยกนง.จะนำประเด็นการลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟดไปพิจารณาและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลากยาวและภาวะข่าวร้ายเต็มตลาดซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง จากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว เราคาดว่ากนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.

 

 


ส่วนบมจ.ไทยออยล์(TOP) คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 41-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล



ทั้งนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 มี.ค. 63) คาดราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่มีข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากการประชุมของกลุ่ม เมื่อวันที่ 5-6 มี.ค. แม้ทางโอเปกต้องการให้ปรับลดกำลังการผลิตลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันไว้ก็ตาม นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงกระจายไปยังประเทศต่างๆ นอกเหนือจากประเทศจีน ซึ่งกดดันความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปก หลังการประชุม เมื่อวันที่ 5-6 มี.ค. ที่กลุ่มโอเปกและรัสเซียไม่มีการตกลงปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มโอเปกและพันธมิตรปรับลดกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 นี้

 

 


ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ อิตาลีและอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในวงกว้างMorgan Stanley ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 ลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน โดยสาเหตุหลักในการปรับลดดังกล่าวมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ออกประมูลขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR) ปริมาณ 12 ล้านบาร์เรล จากปริมาณเก็บสำรองน้ำมันดิบทั้งหมด 645 ล้านบาร์เรล

 

 

เพื่อนำเงินไปปรับปรุงคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกแสดงความพร้อม โดยมีมาตรการรองรับในการช่วยเหลือประเทศสมาชิก รวมถึงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาแถลงพร้อมซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน ก.พ. 63 ปรับลดลง 510,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 27.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลิเบียปรับลดลงมาอยู่ที่ 160,000 บาร์เรลต่อวัน หลังถูกปิดท่าเรือขนส่งและแหล่งน้ำมันดิบ เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศญี่ปุ่นและยูโรโซน ไตรมาสที่สี่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน เดือน ก.พ. 63 และการประชุมเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ยูโรโซน

 

 

 


สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 มี.ค. 63)

 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 5.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 48.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังตลาดผิดหวังจากการประชุมของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่ไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม และยังถูกกดดันจากความกังวลของตลาดต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

 

หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับการเตือนภัยของไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นระดับสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 1.50-1.75 สู่ระดับร้อยละ 1.00-1.25 เพื่อลดผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

 

 

 

 

บทความล่าสุด

วันขาย By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ขายเมื่อมีข่าวดี วันนี้ วันขาย ท่ามตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น ตอบรับข่าวดี สหรัฐกับจีน ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้