Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : จับจังหวะ SET โค้งสุดท้าย

1,925

HotNews : จับจังหวะ SET โค้งสุดท้าย

 

IMF ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงสู่ระดับ 3% จากเดิมคาดที่ 3.2% และปีหน้าคาดจะเติบโตที่ 3.4%   ด้านสถานการณ์สงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ-จีน จังไม่มีบทสรุปว่าท้ายที่สุดจะจบลงอย่างไร  หรือปัญหานี้จะยังคงยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ นับเป็น Sentiment  เชิงลบต่อภาวะการลงทุนและตลาดหุ้นทั่วโลก ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อจับจังหวะการลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ 

 

 

ขณะที่ จีเอ็มไอ เอดจ์ ระบุโค้งสุดท้ายตลาดการลงทุน จับตา 3 ประเด็นที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก ชี้แม้ตลาดการลงทุนผันผวนตลอดปี แต่ยังมีสินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ขณะที่FETCO มองเศรษฐกิจไทยQ4/62 ดีกว่า Q3/62 ลุ้นภาครัฐออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่น ส่วนบล.หยวนต้า คาดสิ้นปีSETเคลื่อนไหวในกรอบ 1,580 -1,660 จุด มองเศรษฐกิจไทยแย่น้อยกว่าคาด ชูกลุ่มแบงก์ ดาวเด่น ฟาก CNSหั่นเป้า SET ช่วงปี2019 หรือราว 1Q20 ลงสู่ 1720จุด เหตุศก.อ่อนแอกว่าคาด-หุ้นเด่นQ4/62 CPF-GFPT-AOT-ERW-AMATA-WHA-ADVANC-JMART-ICHI และ SCBS จับจังหวะการลงทุนในไตรมาส 4/62 รับแรงกระแทกจากสถานการณ์ภายนอกประเทศ Top picks WHA -BCH-GLOBAL-CPALL-BTS

 

 


ด้านนายณพวีร์ พุกกะมาน ผู้บริหารส่วนภูมิภาค จีเอ็มไอ เอดจ์ กลุ่มสถาบันการเงินจากประเทศอังกฤษ และผู้ก่อตั้ง Creative Investment Academy (CIA) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ กล่าวว่า จากการติดตามตลาดการลงทุนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายนหรือจบไตรมาสสาม ตลาดการลงทุนในระดับโลกและภูมิภาคมีความผันผวนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะผลพวงจากสงครามการค้า หรือสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆทำให้มีผลกระทบต่อตลาดการลงทุน แต่จากการติดตามสถานการณ์ตลาดพบว่าสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้สูงสุดก็คือ บิทคอยน์ โดยราคาปรับตัวสูงขึ้น 114%

 

 

ขณะที่อันดับรองลงมาคือดัชนี S&P500 โดยปรับตัวขึ้นมา 21% แม้จะมีการพักฐานแรงหลายครั้ง ส่วนทองคำสร้างผลตอบแทน 17%

 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้น 4.7% โดยมีข้อสังเกต คือตลาดหุ้นไทยปีนี้มีการปรับฐานหลายครั้งมาก แต่ทุกครั้งที่ตลาดฟื้นตัวจะสร้างผลตอบแทนได้ดี เช่นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 SET Index ลดลงจาก 1,683 จุด มาที่ 1,599 จุด ลดลง 84 จุด หรือ 4.99% ก่อนที่จะดีดกลับมาที่ 1,747 จุด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เพิ่มขึ้น 148 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 9.26% ใครที่เข้าลงทุนในช่วงนั้นจะได้ผลตอบแทนที่ดีมาก

 

 

“แม้ปีนี้ตลาดการลงทุนจะผันผวนหนัก แต่ยังมีสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดี แต่ต้องซื้อในจังหวะที่ราคาย่อตัวและขายออกไปเมื่อราคาดีดตัวกลับ ทั้ง บิทคอยน์ และดัชนี S&P500 เช่นเดียวกับทองคำยังมีโอกาสเข้าลงทุนได้ โดยเฉพาะทองคำหากไม่หลุดระดับ 1,450 เหรียญ เพราะภาพรวมยังเป็นขาขึ้น และอาจจะมีโอกาสทำกำไรได้ที่จุดสูงสุดเดิมคือ 1,550 เหรียญ”

 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย แนวรับที่ระดับ 1,600 จุด ถือเป็นจุดเข้าซื้อที่ดี เพราะเป็นแนวรับตามจิตวิทยาที่สำคัญ และจากสถิติเดิมพบว่าเดือนพฤศจิกายนมักเป็นเดือนที่ดีของตลาดหุ้นไทยเสมอและสามารถขายทำกำไรก่อนเข้าเดือนธันวาคมซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะไม่เข้าลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากแล้ว สถิติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า 10 ปีย้อนหลัง มีถึง 7 ปีที่สองเดือนสุดท้ายของปี ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 1.44%

 

 

ด้านปุณยวีร์ จันทรขจร นักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในหลากหลายตลาด กล่าวว่า ความกังวลด้านปัญหาเศรษฐกิจ ต้องแยกปัญหาที่อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตได้เป็น 3 ประเด็น 1) ความวุ่นวายด้านการเมือง ทั้งในระดับการเมืองระหว่างประเทศอย่างจีน-สหรัฐ อังกฤษ-ยูโรและระดับการบริหารงานในประเทศเช่นการประท้วงในฮ่องกง 2) ความกังวลด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขที่เป็น Leading Indicators อย่าง PMI , ตัวเลขที่เป็น Lagging Indicators อย่าง GDP รวมไปถึง Indicators ในการพยากรณ์วิกฤตเศรษฐกิจยอดฮิตอย่าง Invert Yield Curve ซึ่งจะบ่งบอกถึงความถดถอยของเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากข้อหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ประเด็นที่ 3) ปัญหาของบริษัทข้ามชาติ เช่น Forever 21 บริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่ยื่นล้มละลายทั้งๆที่เคยมีรายสูงถึงปีละ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ , HP ลดพนักงาน 9000 ตำแหน่งเพื่อปรับโครงสร้างการเงินบริษัท , WEWORK อีกหนึ่ง IPO ที่เกือบจะเป็นดาวรุ่งอาจต้องได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อดำเนินกิจการต่อ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระทบแรงงานในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ เหล่านี้ทำให้นักลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

 

 

“การเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการเลือกตั้งของสหรัฐที่จะมีขึ้นอีกครั้งในปี 2020 น่าจะเป็นอีกตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์ลดความแข็งกร้าวลง เพราะถ้าคนในสหรัฐที่เป็นฐานเสียงไม่พอใจกับความเป็นอยู่ในปัจจุบันจะเป็นการยากที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง นั่นหมายถึงจุดที่ตึงเครียดสูงสุดของสงครามการค้าอาจได้ผ่านไปแล้ว”

 


ดังนั้น การหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนเพื่อปรับตัวด้านการลงทุนอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญในปีนี้ สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ครีเอทีฟ อินเวสเม้นท์ อะคาเดมี จึงจัดให้ความรู้ด้านการลงทุนในลักษณะของงานสัมมนาที่รวบรวมศาสตร์ความรู้ด้านการลงทุนจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อย ที่จะมาถ่ายทอดวิธีคิดวิธีการปรับตัวรูปแบบการลงทุนในโลกยุคใหม่ ภายใต้ชื่องาน East Meet West -1st Battle in Bangkok งานกำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ที่ โรงแรม แรมแบรนต์ กรุงเทพ ติดตามรายละเอียดของงานได้ที่ fb : creativeinvestmentacademy

 

 

ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยและสมาคม หรือ FETCO เปิดเผยว่า สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยในไตรมาส4/2562 คาดว่าจะปรับดีขึ้นจากไตรมาส3/2562 เนื่องจากคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการจากทางภาครัฐฯที่จะออกมาช่วยกระตุ้นเศราฐกิจรวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่ภาคเอกชน เพื่อมาทดแทนภาคการส่งออกที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว

 

 

"มาตรการโค้งสุดท้ายจากรัฐเรามองว่าต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจต่อเอกชน เพราะ 70% บ้านเราคือการส่งออกแต่ส่งออกตอนนี้ส่งออกเราซบเซา เพราะฉะนั้นภาครัฐต้องการมาตรการต่างๆอย่างอื่นมาทดแทน" นายไพบูลย์ กล่าว

 

 

สำหรับ กรณีที่ผลตอบแทนพันธบัตรของยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่นๆที่อยู่ในภาวะติดลบนั้น มองว่าอาจส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยบ้าง เพื่อมาหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจำเป็นต้องเข้าไปดูแล

 

 

 

ส่วนนายเผดิมภพ สงเคราะห์ ประธานกรรมการบริษัท สายงานธุรกิจรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คาดว่าสิ้นปี 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ 1,580 - 1,660 จุดหลังมองว่าแนวโน้มของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีของไทย(Bond yield)มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังประเมินว่าผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ เป็นมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของประเทศ(GDP)ในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก

 

 


อีกทั้ง ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยแย่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสังเกตได้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาดไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขยอดค้าปลีก รวมถึงตัวเลขการผลิต และขณะนี้เริ่มเห็นนักลงทุนย้ายการลงทุนจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่น หุ้น บ้างแล้ว โดยมองหุ้นกลุ่มที่จะมีการเติบโตอย่างโดดเด่นได้แก่ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์

 

 

 

บทวิเคราะห์ บจ.หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กดดันภาคการส่งออกไทยอย่างมีนัยสำคัญ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ GDP ไทยอ่อนตัวลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังเห็นได้ชัดคือ ความต้องการภายในประเทศยังคงเติบโตดี โดย GDP 2Q19 รายงานออกมาที่ 2.3% แต่การบริโภคโดยรวมยังคงเติบโตถึง 4.4% สูงกว่า GDP สะท้อนเศรษฐกิจภายในยังมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องและโตดีกว่า GDP 4 ไตรมาสติด และหนุนผลประกอบการหุ้นในประเทศยังเติบโตกระจายตัวดีขึ้น โดย Nomura ปรับลด GDP 2019 ลงจาก 3.0% สู่ 2.7% โดยประเมินเศรษฐกิจในช่วง 2H19 จะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำเฉลี่ย 2.85% ซึ่งดีกว่า 1H19 ที่ GDP โตเพียง 2.55% และคาดว่าการท่องเที่ยวกับการค้าระหว่างประเทศจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวช่วงปลายปีนี้ เป็น Momentum เชิงบวกต่อการลงทุน 4Q19

 

 

 

แต่อย่างไรก็ดีด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคาดการณ์เดิม ทำให้ CNS ปรับลดเป้าหมายของ SET ช่วงปี 2019 หรือราว 1Q20 ลงสู่ 1720จุด (อิงPER 19F 17.25X แต่คิดเป็นค่า Equity Risk Premium 4.26% สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 3.52%) และคาด SET มีกรอบซื้อเชิงพื้นฐานที่กรอบดัชนี 1640-1600จุด อิง Equity Risk Premium สูง 4.6%+/- สูงกว่าค่าเฉลี่ย 3.52%

 

 

 

กลยุทธ์ 4Q19 แนะนำ Overweight กลุ่มท่องเที่ยว(ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ), กลุ่มอาหาร(วงจรราคากลุ่มโปรตีนขาขึ้น หนุนธุรกิจหมู ไก่ ในเอเชีย), กลุ่มนิคมฯ(ประโยชน์จากสงครามการค้า หนุนการย้ายฐานการผลิตระยะยาวสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้), กลุ่มปันผลสูง, กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ, กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า และหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีผลประกอบการฟื้นตัวเด่น แนะนำ 4Q19 Theme : Sign of recovery in earnings : CPF, GFPT, AOT, ERW, AMATA, WHA, ADVANC, JMART, ICHI

 

 

 

บล.ไทยพาณิชย์จับจังหวะการลงทุนในไตรมาส 4/2562 เตรียมพร้อมรับแรงกระแทกจากผลกระทบต่างประเทศ แม้ความเสี่ยงระดับมหภาคยังคงมีอยู่แต่คาดว่า GDP จะขยายตัวได้เล็กน้อย และผลประกอบการของภาคธุรกิจจะฟื้นตัวใน 1H63 โดยได้รับการสนับสนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น การใช้จ่ายภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น หุ้นวัฏจักรมีการถือครองน้อย และ valuation น่าสนใจ แนะนำให้มองหาจังหวะสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนมายังหุ้นวัฏจักรภายหลังฤดูประกาศผลประกอบการ และลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค REIT และหุ้นปันผลสูง เน้นมองหาหุ้นปลอดภัย (Defensive) มีโมเมนตัมการเติบโตของกำไรใน 3Q62-4Q62 สนับสนุน รวมถึงหุ้นที่มี story เกี่ยวกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563 หาจังหวะเข้าลงทุนในหุ้น top picks กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (WHA), กลุ่มการแพทย์ (BCH), กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL, CPALL) และกลุ่มขนส่ง (BTS) มองว่าจะปรับตัว outperform ในไตรมาส 4/2562

 

 


นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า สถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ลดระดับความรุนแรงลงและท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกทำให้บรรยากาศ risk-on ปรับตัวดีขึ้น มุมมองเชิงบวกสำหรับปี 2563 แม้ความเสี่ยงระดับมหภาคยังคงมีอยู่ แต่คาดว่า GDP จะขยายตัวได้เล็กน้อย และผลประกอบการของภาคธุรกิจจะฟื้นตัวใน 1H63

 

 

โดยได้รับการสนับสนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น การใช้จ่ายภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น หุ้นวัฏจักรมีการถือครองน้อย และ valuation น่าสนใจ จากการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของเครื่องชี้เศรษฐกิจหลังจากเกิด inverted yield curve บ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอ่อนแอกว่าเมื่อครั้งในปี 2543 และปี 2549

 

 

แต่เฟดสามารถรับมือได้เร็วโดยคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 5 ครั้งนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวจนถึงปี 2563 แต่จะปรับตัวแย่ลงในปี 2564 และเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2565 เชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟดและสงครามการค้าที่ลดระดับความร้อนแรงลงอาจจะทำให้แนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป และมองว่ามีความเป็นไปได้ 55% ที่จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ และจากมาตรการกระตุ้นและการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางอาจจะช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินปรับตัวดีขึ้น สภาพคล่องและบรรยากาศ risk-on มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หากสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดความร้อนแรงลงจะช่วยให้ sentiment ระยะสั้นสดใสขึ้น และคาดว่าความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะเพิ่มขึ้นด้วย

 

 


ทั้งนี้ การปรับตัว outperform ของหุ้นคุณค่าในเดือนก.ย. สร้างความกังวลแก่นักลงทุน เนื่องจากการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนออกจากหุ้นเติบโตและหุ้นปลอดภัยอาจจะส่งผลทำให้ตลาดปรับตัวลดลง ในขณะที่ดูเหมือนว่าจะมีการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนเล็กน้อยจากหุ้นเติบโตมายังหุ้นคุณค่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ เชื่อว่าเดือนพ.ย. จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุน ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 4/2562 ยังคงเน้นไปที่หุ้นขนาดใหญ่ สภาพคล่องสูง และปลอดภัย โดยชอบหุ้น domestic play ที่มีโมเมนตัมการเติบโตของกำไรสนับสนุน และหุ้นที่มี story เกี่ยวกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า และแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ โดยมีสาเหตุมาจากเงินบาทแข็งค่าและความต้องการซื้อชะลอตัว top picks คือ นิคมอุตสาหกรรม (WHA), กลุ่มการแพทย์ (BCH), กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL, CPALL) และกลุ่มขนส่ง (BTS)

 

 

- WHA : มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาลซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของ e-commerce ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความต้องการคลังสินค้าโลจิสติกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน คาดว่ายอดขายที่ดินของ WHA จะเติบโตที่ CAGR 22% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า และมียอด pre-lease อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า 200,000 ตรม.ต่อปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากโอกาสเติบโตของธุรกิจสาธารณูปโภคและผลประกอบการไตรมาส 4/2562 ที่แข็งแกร่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น

 

 

- BCH : เป็นหุ้นเด่นอันดับ 1 ในกลุ่มการแพทย์ เนื่องจากผลตอบแทนดูน่าดึงดูดเมื่อเทียบกับความเสี่ยง ราคาหุ้น BCH ปรับตัวลดลง 6% YTD แย่กว่า SET ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% และ CHG ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21% เพราะถูกฉุดรั้งโดยผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของ World Medical Hospital (WMC) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากำไรของ BCH ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจะปรับตัวดีขึ้นใน 2H62 และเติบโต 16% ในปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงพยาบาลที่ได้รับการปรับปรุงและผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น

 

 

- GLOBAL : ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งใน 2H62 โดยได้รับการสนับสนุนจาก SSS ที่มีอัตราเติบโตเป็นบวกใน 3Q62TD และการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรจะลดลง YoY แต่จะลดลงในอัตราที่น้อยกว่า 1H62 หากบริษัทปรับสินค้าคงคลังเสร็จในปลายไตรมาส 3/2562 - ต้นไตรมาส 4/2562 คาดว่ากำไรของ GLOBAL จะทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2562 จากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2562 และฟื้นตัวในปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจากอัตรากำไรที่ดีขึ้น GLOBAL เป็นหุ้น laggard มากที่สุดของกลุ่มพาณิชย์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เล็งเห็นโอกาสเข้าซื้อสะสมก่อนที่กำไรจะฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 เป็นต้นไป

 

 

- CPALL : มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากกำไร 2H62 ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่แข็งแกร่ง (SSS มีอัตราเติบโตเป็นบวก และอัตรากำไรเพิ่มขึ้น) และกำไรที่ดีขึ้นจากธุรกิจเคาน์เตอร์เซอร์วิส (การชำระบิล และบริการ banking agent ที่ขยายตัว) และธุรกิจ cash & carry (ราคาอาหารในประเทศปรับตัวขึ้น) การขยายสาขาร้าน 7-eleven ในกัมพูชาและลาวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว

 


- BTS : การเจรจาต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความคืบหน้าที่ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ราคาหุ้น BTS ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ยังมี upside เพิ่มเติมจากโครงการมอเตอร์เวย์สองสายและสนามบินอู่ตะเภา

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

รายงานพิเศษ : ได้เวลา "SPREME" ผู้นำธุรกิจ System Integrator ครบวงจร ลุยระดมทุน ติดปีกธุรกิจ High Growth

ได้เวลา "SPREME" ผู้นำธุรกิจ System Integrator ครบวงจร ลุยระดมทุน ติดปีกธุรกิจ High Growth

NER ผู้ถือหุ้นเคาะปันผล 0.34 บาท/หุ้น ออกวอร์แรนท์ NER-W2 แจกในอัตรา 6 :1

NER ผู้ถือหุ้นเคาะปันผล 0.34 บาท/หุ้น ออกวอร์แรนท์ NER-W2 แจกในอัตรา 6 :1

ดัชนีฯแกว่งตัว By : นายกล้วยหอม

นายกล้วยหอม วันนี้ ตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาด ยังคงแกว่งตัวไปมา ซ้าย ขวา บนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้น....

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้