Today’s NEWS FEED

สัมภาษณ์/รายงานพิเศษ

7 เรื่องน่ารู้ "มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล MGI" หุ้นไอพีโอน้องใหม่

36,554

               ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตแบบคำเสนอขายหลักทรัพย์ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) แก่ บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) แล้ว ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการต่อไป เช่น กำหนดราคา, เปิดจองซื้อ และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะพาไปทำความรู้จักกันก่อนว่าบริษัทนี้ที่มาอย่างไร ดำเนินธุรกิจอะไร ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร รวมถึงผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมีใครบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

1.ที่มา

                บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) ก่อตั้งเมื่อ 6 พ.ย.56 โดย "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" และ "รัชพล จันทรทิม" ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจจัดประกวดนางงามทั้งระดับในประเทศและระดับต่างประเทศ จนปัจจุบันต่อยอดธุรกิจจนแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce), ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ (Pageant), ธุรกิจสื่อ/บันเทิง (Media and X-Periences) และธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Talent)

                ทั้งนี้เมื่อ 30 พ.ย.63 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ จากนั้น 11 มี.ค.65 เพิ่มทุนอีกครั้งเป็น 75 ล้านบาท และ 8 ม.ย.65 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จาก 100 บาทต่อหุ้น เป็น 0.50 บาทต่อหุ้น พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้งเป็น 105 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 60 ล้านหุ้น พาร์ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายไอพีโอ ซึ่งหลังการเสนอขายแล้วเสร็จ บริษัทจะมีจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นเป็น 210 ล้านหุ้น จากเดิม 150 ล้านหุ้น

 

 

2.โครงสร้างธุรกิจ

                ปัจจุบัน MGI ดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

                1.ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) : จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งสินค้าที่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ได้แก่ Miss Grand, MGI และ NangNgam รวมถึงสินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ซึ่งสินค้าจะประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย, กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล, กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอม, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริม

                2.ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ (Pageant) : จัดประกวดนางงามทั้งระดับในประเทศและระดับต่างประเทศ โดยการประกวดนางงามในประเทศเพื่อค้นหาผู้หญิงไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสม มาดำรงตำแหน่ง "มิสแกรนด์ ไทยแลนด์" เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดเวทีระดับนานาชาติต่อไป

                3.ธุรกิจสื่อและบันเทิง (Media and X-Periences) : แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจสื่อ (Media) จะซื้อเวลาออกอากาศ (Airtime) รายการที่มีชื่อเสียงตามสื่อโทรทัศน์ และจำหน่ายช่วงเวลาออกอากาศให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจจะโฆษณาสินค้า รวมถึงผลิตรายการผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย เช่น Youtube, TikTok, Facebook, Instragram และ Netflix เป็นต้น

                สำหรับธุรกิจบันเทิง (X-Periences) เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้กลุ่มลูกค้าได้มีส่วนร่วมกับนางงามและศิลปินของบริษัท เช่น การจัดคอนเสิร์ต "อิงฟ้ามหาชน", "MGT x ระเบียบวาทศิลป์" และกิจกรรม "Meet & Greet" เป็นต้น โดยรายได้หลักจากธุรกิจบันเทิงจะมาจากรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดง รวมถึงค่าสมาชิกในการสมัครเข้าชมการแสดงของบริษัทบนแพลทฟอร์ม Facebook นอกจากนี้มีการถ่ายทำซีรีย์เพื่อออกอากาศช่องทาง Youtube ภายใต้ชื่อ GrandTV อาทิ "Show Me Love" ซึ่งมีรายได้จากการขายค่าสมาชิกรายเดือนให้ผู้ที่สมัครสมาชิกสามารถเข้าชมซีรีย์

               4.ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Talent) บริษัทจะทำสัญญากับผู้ชนะการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์, ผู้ได้รับอันดับรองลงมา และผู้ชนะมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นศิลปินในสังกัดของบริษัทเพื่อปฎิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายตามที่บริษัทจัดหางานมาให้ ได้แก่ งานรีวิวสินค้า งานพิธีกร งานโชว์ตัว งานเดินแบบ งานแสดงภาพยนตร์ เป็นต้น

 

3.โครงสร้างรายได้และผลการดำเนินงาน

                สำหรับโครงสร้างรายได้ของ MGI ณ สิ้นปี 65 มาจาก ธุรกิจพาณิชย์ 118.83 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.96%, ธุรกิจประกวดนางงาม 71.66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.40%, ธุรกิจสื่อและบันเทิง 68.52 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21.42%, ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 63.09 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.73% และรายได้อื่น ๆ 4.76 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.49 ล้านบาท

                ด้านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (63-65) มีรายได้ 338.76 ล้านบาท, 344.93 ล้านบาท และ 319.61 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีกำไรสุทธิ 44.81 ล้านบาท, 29.01 ล้านบาท และ 47.85 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ไตรมาส 1/66 มีรายได้ 83.03 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 9.22 ล้านบาท

                ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/66 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 219.80 ล้านบาท, หนี้สินรวม 122.58 ล้านบาท, ส่วนผู้ถือหุ้นรวม 97.22 ล้านบาท, อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น 1.26 เท่า, อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ 15.12% และ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 30.38%

     

        

4.รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

                MGI มี ผู้ถือหุ้นใหญ่เพียง 3 ราย ก่อนขายไอพีโอ ประกอบด้วย

                1.ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ถือหุ้นจำนวน 90 ล้านหุ้น สัดส่วน 60%

                2.รัชพล จันทรทิม ถือหุ้นจำนวน 59.99 ล้านหุ้น สัดส่วน 39.99%

                3.นพวรรณ จุลเจือ ถือหุ้นจำนวน 200 หุ้น สัดส่วนต่ำกว่า 0.01%

                โดยหลังจากการขายหุ้นไอพีโอ "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" จะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 42.86%, "รัชพล จันทรทิม" เหลือถือ 28.56%, "นพวรรณ จุลเจือ" ถือต่ำกว่า 0.01% เท่าเดิม และจะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มมา 60 ล้านหุ้น สัดส่วน 28.57%

 

5.รายชื่อผู้บริหาร

                ณ 31 มี.ค.66 บริษัทมีผู้บริหารและกรรมการรวม 7 ราย ดังนี้

                1.ดร.มนัส โนนุช : ประธานกรรมการ/กรรมการอิสระ

                2.รศ.สุชาติ เหล่าปรีดา : ประธานกรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ/กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน/กรรมการบริหารความเสี่ยง

                3.ดร.วิเชียร ชุบไธสง : กรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

                4.ผศ.ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ : กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ

                5.นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล : กรรมการ/ประธานกรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

                6.นายรัชพล จันทรทิม : กรรมการ/กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน/ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง/กรรมการบริหาร/รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

                7.นายศักดิ์สิทธิ์ บุญวานิช : กรรมการ/กรรมการบริหารความเสี่ยง/กรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน

 

6.รายละเอียดการเสนอขายหุ้นไอพีโอ

                MGI เสนอขายหุ้นไอพีโอ 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาทต่อหุ้น โดยมี บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด และ นาย ชัยสิทธิ์ เล่าเรียนดี เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ณ 31 มี.ค.66 มูลค่าทางบัญชีของบริษัท (Book Value) อยู่ที่ 0.65 บาทต่อหุ้น โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai หมวดธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งล่าสุด ก.ล.ต.อนุญาตแบบคำเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว

 

7.วัตถุประสงค์การระดมทุน

                สำหรับเงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ บริษัทจะนำไป ลงทุนซื้ออาคารและดำเนินการปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารสำนักงานใหม่ ประมาณ 165 ล้านบาท, พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า และผลิตรายการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ในทุกช่องทาง ประมาณ 50 ล้านบาท, พัฒนาขีดความสามารถของระบบสารสนเทศ (Information Technology) ประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้