Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : GUNKUL ผนึก “ยูนิคอร์ด” ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟ 1.92 MW - วางเป้าปี 62 โกยรายได้ 7.5 พันลบ.

3,203


HotNews : GUNKUL ผนึก “ยูนิคอร์ด” ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟ 1.92 MW
-วางเป้าปี 62 โกยรายได้ 7.5 พันลบ.

 

บมจ. กันกลุเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL)  และ บมจ. ยูนิคอร์ด (UCT) ร่วมลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(Solar PV Rooftop) กำลังการผลิต 1.92 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 60  ล้านบาท บนพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปีละ 2.6 ล้านหน่วยต่อปี คาดเริ่มติดตั้งเมษายนนี้  “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” ประธานกรรมการบริหาร เผยโครงการดังกล่าวช่วยเสริมศักยภาพ และส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจทั้ง 2 แห่งให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจัยที่สำคัญช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าขององค์กรได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) กับ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1.92 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เฟส แบ่งเป็นเฟส 1 ประมาณ 1.24 เมกะวัตต์ และเฟส 2 ประมาณ 680 กิโลวัตต์

 

“ความร่วมมือทางธุรกิจกันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัทฯ และจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า พลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าที่ถูกลง และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหลักได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับบริษัท ยูนิคอร์ด โดยคาดว่าจะทยอยก่อสร้างได้ช่วงเดือนเมษายน” นางสาวโศภชากล่าว

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทยังคงผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน โดยคาดว่าจะดำเนินการศึกษาความสามารถในการติดตั้งโซล่าแบบทุ่นลอยน้ำให้กับพื้นที่ผิวน้ำที่มีศักยภาพของบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ร่วมกันในเฟสถัดไป



ด้านนายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและส่งออก ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า อาหารกระป๋อง และอาหารสัตว์ รายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของ GUNKUL ในการจัดหาโซลูชั่นด้านพลังงานทดแทนให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีทีมงานที่มีความชำนาญ และทุ่มเทเพื่อการพัฒนาในธุรกิจพลังงานทดแทน ทำให้บริษัทฯ มั่นใจในการร่วมมือกันครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่าโครงการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา ขนาดกำลังการผลิต 1.92 เมกะวัตต์ จะทำให้ต้นทุนทางด้านพลังงานไฟฟ้าของธุรกิจลดลงราว 7% โดยจะนำไฟฟ้าไปใช้ทั้งในส่วนของห้องเย็น และกระบวนการผลิตจำนวนมาก

 


“ปัจจุบันบริษัทฯ มีการใช้กำลังไฟฟ้าในโรงงานรวม 6 เมกะวัตต์ต่อเดือน จึงมีแนวคิด เพื่อลดต้นทุนด้านไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งมองว่าการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่ง ที่ช่วยประหยัดพลังงานที่ใช้อยู่และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ ในฐานะเป็นโรงงานสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบริษัทฯได้” นายอมรพันธุ์กล่าว

 

 

 

 

 

 


GUNKUL ย้ำเป้ารายได้ปี 62 พุ่งแตะ 7.5 พันลบ.

 


นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2562 เติบโตแตะระดับ 7,500 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 25% จากปีก่อนที่คาดมีรายได้ 6,000 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เข้ามาแบบเต็มปี ขณะที่บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) จากงานรับเหมาและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ในปัจจุบันอยู่ราว 2.2 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องภายในปีนี้

 


ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ปีนี้ แบ่งเป็น จากธุรกิจพลังงาน 65 % และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างวางระบบและติดตั้ง (EPC) 35% 

 

ขณะที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าแล้ว 580 เมกะวัตต์ โดยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 360 เมกะวัตต์ และในปีนี้จะ COD อีก 100 เมกะวัตต์ ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่น และที่ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งโครงการโซลาร์รูฟท็อป ขณะที่บริษัทฯ ยังหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโต โดยคาดว่าในปี 2564 บริษัทฯ จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์

 


ส่วนการประมูลงาน EPC บริษัทฯ มีแผนประมูลงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเข้าประมูลงานใหม่มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท ได้แก่โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่า 11,000 ล้านบาท และโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.เชียงใหม่, ภูเก็ต, ชลบุรี และนครราชสีมา มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อย 40 แห่ง ขนาด 115-230 กิกะวัตต์ มูลค่า 11,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ คาดหวังได้งานดังกล่าว 10-15%

 


พร้อมกันนี้ บริษัทฯเตรียมเข้าประมูลงานเคเบิ้ลใต้ทะเลร่วมกับพันธมิตร โดยงานดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเกาะสมุย 2,300 ล้านบาท ,เกาะเต่า 1,800 ล้านบาท และเกาะปันหยี 140 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอรัฐฯอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ประมูลในช่วงเดือนเมษายนนี้และจะทยอยทราบผลได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/62 เป็นต้นไป

 


นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีแผนออกหุ้นกู้ใหม่จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม โดยคาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ภายในเดือน ตุลาคม นี้

 

GUNKUL

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้