Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews:บอร์ด กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%ต่อปี

1,097

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 10 เมษายน 2567)----- นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 10 เมษายน 2567 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

 

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ล่าช้า การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงมาก และแรงกดดันจากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ สำหรับปี 2567 ปัจจัยลบดังกล่าวจะทยอยลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่โน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผชิญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจำกัด

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.3 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ตามการปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่มเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจากราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ โดยต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

 

ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังขยายตัว อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินที่ตึงตัว เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อมาต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เร่งตัวแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการดังกล่าวและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

 

กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ คาด กนง. อาจจะลดดอกเบี้ยสองครั้งในปีนี้ สู่ระดับ 2.00%

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี

จากถ้อยแถลงระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน อยู่ที่ 2.6% ในปีนี้ และ 3.0% ในปี 2568 เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับเป้าหมายในช่วงสิ้นปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 0.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กนง. ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้

หลังการ กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางคงที่อยู่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยภาพรวมในปีนี้ค่าเงินบาทได้อ่อนตัวลง 6.2% ซึ่ง กนง. ระบุความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากการตอบสนองของตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด และปัจจัยภายในประเทศ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 12 มิถุนายน 2567 โดยจากท่าทีของ กนง. ในการประชุมรอบนี้ มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเอื้อต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง แม้ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นทางการคลัง อย่างไรก็ตาม กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ยังคงมองว่ามีความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายราวสองครั้งภายในปีนี้ โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีอาจอยู่ที่ 2.00% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่กระทบแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 


///จบ///

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

TMILL ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผู้ถือหุ้นโหวตรับปันผลอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น

TMILL ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผู้ถือหุ้นโหวตรับปันผลอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น

ไปไม่ไกล By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ วันนี้ ภาพรวมหุ้นไทย คงวิ่งไม่ไกล ไม่แรง ด้วยทั่วโลก จับตา ประธานเฟด แถลงผลประชุม 1พ.ค.67 ...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้