Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: ตามคาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย0.25% เป็น 2.00% ต่อปี มีผลทันที

1,053

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(31 พฤษภาคม 2566)---- บอร์ด กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.00% ต่อปี มีผลทันที ด้านกูรูบล.กรุงศรี พัฒนสิน (KCS) ประเมินหลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ย0.25% ส่งผลบวก ต่อ BBL SCB KBANK TTB และ TLI

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ด้านการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังมีทิศทางขยายตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป จึงต้องติดตามพฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการที่อาจเปลี่ยนไป

 

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

 

ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง จากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินหยวน รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง จึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

 

บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด(มหาชน) KCS เปิดเผยว่า ในการประชุม กนง. หลังขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps อยู่ที่ 2% Key Ideas สำคัญคือ

ทิศทางเศรษฐกิจไทย : คงคาดการณ์ GDP ไทย 2023-2024 ที่ 3.6%y-y และ 3.8%y-y ตามเดิม แต่รายละเอียดสมมติฐาน

(+) ปรับเพิ่มคาดการณ์ การบริโภคเอกชน(C) ปี 2023 ขึ้นเป็น 4.4%y-y จาก 4.0%y-y และการส่งออกสินค้าปี 2023 เป็น -0.1%y-y จาก -0.7%y-y รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มคาดเป็น 29 ล้านคนจากเดิม 28 ล้านคน ผสานกับการเลือกตั้งไทย และคาดการณ์นโยบายการเพิ่มกำลังซื้อของรัฐบาลชุดใหม่

KCS : ประเมินบวกต่อหุ้นในกลุ่มฐานราก อาทิ กลุ่มการเงิน อาทิ SAWAD, AEONTS, JMT กลุ่มเครื่องดื่มอาทิ OSP, ICHI, กลุ่มท่องเที่ยว อาทิ AOT กลุ่มส่งออก อาทิ HANA CPF GFPT และกลุ่มการบริโภค CRC, MAKRO, GLOBAL กลุ่ม Tech consult อาทิ BE8, BBIK

(-) ปรับลดคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนปี 2023 เหลือ 1.7% จากเดิม 2.1% และลงทุนภาครัฐปี 2023 เหลือ 2.5% จากเดิม 3.7%

KCS : ประเมินเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

ทิศทางอัตราเงินเฟ้อไทย : กนง. มองว่าเงินเฟ้อทั่วไปปี 2023ที่ 2.5%YoY ลดลงจากรอบที่แล้วที่คาด 2.9%YoY ส่วนปี 2023 คงคาดการณ์เดิมที่ 2.4% YoY และเงินเฟ้อพื้นฐานคาด 2.0% ในปี 2023-2024 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน หนุนการคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% น่าจะเป็นปลายทางดอกเบี้ยแล้ว เราคาดว่าจะถูกแช่ไว้ตรงนี้อีกนาน

KCS : มองเป็นบวกต่อหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ อาทิ BBL SCB KBANK TTB และ TLI

KCS Strategy : คงมุมมอง SET มีกรอบของ Zone ฐาน 1520-1480จุด เน้น Domestic Play - BBL, SCB, TLI, HANA, CRC, MAKRO, ICHI, SAWAD, AEONTS, BE8

----จบ---

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

ติดตาม By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ หลังจาก นายกฯคุยกับนายแบงก์ วันนี้ สมาคมธนาคารไทย ก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้