Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: เทียบฟอร์ม SCB-KBANK-BBL แบงก์ไหน? ซดกำไรH1/65โตสุด

5,793

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(22 กรกฎาคม 2565)------ 3 แบงก์ใหญ่ SCB-KBANK-BBL เสร็จสิ้นการประกาศงบงวดครึ่งปีแรกของปี 2565 แบงก์ไหน? กำไรเติบโตมากที่สุด สำนักข่าวหุ้นอินไซด์จะพาไปดูกัน ...

 


SCB เผยครึ่งปีแรกปีนี้ กำไรสุทธิโต6.3%

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) SCB มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ของปี 2565 จำนวน 10,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 22,764 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 20,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ในไตรมาส 2 ของปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 26,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้และการมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม


รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,634 ล้านบาท ลดลง 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงผลกระทบของสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและการลดลงของรายได้จากการลงทุน ทั้งนี้ รายได้จากธุรกรรมทางการเงินปรับตัวดีขึ้นภายหลังการเปิดประเทศ ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยโดยรวมลดลงเพียงเล็กน้อย


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมที่เพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 41.2% ในไตรมาส 2 ของปี 2565
ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองในไตรมาส 2 ของปี 2565 จำนวน 10,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกและอัตราเงินเฟ้อระดับสูง


อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 3.58% ปรับตัวลดลงจาก 3.70% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังอยู่ในระดับสูงที่ 153.3% (เพิ่มขึ้นจาก 143.9% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565) และเงินกองทุนตามกฎหมายยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%


นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯยังคงทำกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกัน บริษัทยึดหลักการบริหารด้วยความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอ จึงได้ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดจากปัจจัยภายนอกและอัตราเงินเฟ้อระดับสูง


นอกจากนี้ บริษัทลูกในกลุ่มเทคโนโลยีมีการเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3.1 ล้านราย และมียอด Gross Merchandise Value (GMV) เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ในขณะที่บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด และบริษัท มันนิกซ์ จำกัด ต่างมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าและมียอดผู้ใช้งานรวมเร่งขึ้นไปเป็นกว่า 4.5 ล้านราย


ในด้านธุรกิจเปิดใหม่ บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด ก็ได้เปิดสาขาไปแล้วกว่า 700 แห่งทั่วประเทศและพร้อมเดินหน้าธุรกิจเต็มที่ในครึ่งปีหลัง ทั้งหมดนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ยานแม่ ที่จะมุ่งมั่นสร้างมูลค่า และขับเคลื่อนกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ สู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคต่อไป

 


BBL ประกาศกำไรสุทธิงวดครึ่งแรกปี 65 เพิ่มขึ้น 6.0% จากงวดแรกปีก่อน

 

ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับงวดแรกปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับงวดแรกปี 2565 จำนวน 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากงวดแรกปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.18 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 19.8 ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 50.4 ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 14,843 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรองโดยพิจารณาถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงอยู่

 

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,652,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากสิ้นปี 2564 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 232.5

 

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 3,147,149 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.3 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.9 ร้อยละ 15.4 และร้อยละ 14.6 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด


ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ความกังวลใจในเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นและทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคนต่อเดือน สอดรับกับการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางของไทยและประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จากราคาพลังงานและอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง ภาคการส่งออกของไทยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลาดการเงินที่ผันผวนจากความไม่แน่นอนของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพยังคงช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้การสนับสนุนภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ในขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

 


KBANK เผยH1/65 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 12.72%
เหตุรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น10.22%


นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี โดยการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเพิ่มสูงขึ้น หลังทางการไทยผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ อย่างไรก็ดีภาคการผลิตยังมีทิศทางอ่อนแอ เพราะต้องรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี มองว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่จะมีผลกระทบต่อภาคครัวเรือน และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อยเดินหน้าเชิงกลยุทธ์ด้วยการใช้เทคโนโลยี และกระบวนการใหม่ ๆ รวมทั้งการผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เชิงพาณิชย์ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับประชาชนในวงกว้างสามารถเข้ามาอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ ให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและสภาพคล่อง และใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ของธนาคาร


*ผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดแรกปี 2564 *
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 22,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 2,484 ล้านบาท หรือ 12.72% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 5,913 ล้านบาท หรือ 10.22% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร และการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจได้ตามปกติสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 4,671 ล้านบาท หรือ 20.28% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ตามภาวะตลาดของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นการลงทุนตามธุรกิจปกติของบริษัทย่อย รวมทั้งรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุนที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,860 ล้านบาท หรือ 5.53% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในระดับที่ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างรอบคอบ


*ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565*
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 10,794 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 417 ล้านบาท หรือ 3.72% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 261 ล้านบาท หรือ 0.82% ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.21% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 637 ล้านบาท หรือ 7.17% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงิน ค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงตามภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 680 ล้านบาท หรือ 3.90% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 43.53% นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 516 ล้านบาท หรือ 5.53% สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และปัจจัยเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ


ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,187,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 84,380 ล้านบาท หรือ 2.06% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 3.80% โดยธนาคารได้เริ่มดำเนินการเชิงรุกผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และยังมีเป้าหมายเพื่อช่วยคืนลูกหนี้ที่มีสถานะทางการเงินที่ดีสามารถกลับเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินได้ในอนาคต สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 18.37% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.39%

---จบ--

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ลุ้น กันต่อ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็น นักลงทุนยังคงชะลอลงทุน หลังมีข่าว อิสราเอล จะตอบโต้อิหร่าน ......

ขายทำรอบ By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง เห็นวานนี้ ต่างชาติทิ้งหนักเกือบ 6.4 พันล้านบาท แต่รายย่อยซื้อสุทธิ 6.8 พันล้านบาท ท่ามกลางความ..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้