Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : SCB งบแย่ โบรกฯ รุมสับเป้า

4,442

HotNews : SCB งบแย่ โบรกฯ รุมสับเป้า

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (20 มกราคม 2563) SCB เศร้างบไตรมาส4/62กำไร  5.5  พันลบ.   ทรุด 22.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน   เหตุดอกเบี้ยจากเงินลงทุนที่ลดลงหลังจากธนาคารขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ด้านโบรกเกอร์  นำโดยทิสโก้  ปรับมูลค่าที่เหมาะสม SCB ลง 27% เป็น 102 บาท   พร้อมเอาออกจากหุ้นแนะนำ   ขณะที่ทรีนีตี้ ปรับคำแนะนำเป็น "ถือ" เพื่อรอปรับประมาณการ เป้าหมาย 160 บาท/หุ้น ด้านหยวนต้า  บอกช่วงสั้นคาด SCB  ราคาหุ้นถูกกดดันจากกำไรที่แย่กว่าคาดมาก  ส่วนบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ปรับลดคำแนะนำเป็น Fully Valued   และปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 63 ลง 9% และบล.เคทีบี (ประเทศไทย)  มองกำไรสุทธิ Q4/62  ต่ำคาดมากจากค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น  ปรับคำแนะนำลงมาเป็น "ถือ" จากเดิม "ซื้อ" และอยู่ระหว่างการปรับราคาเป้าหมายลง จากเดิมที่ 133.00 บาท

 

 

ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB ระบุว่า รายงานผลประกอบการประจําปี 2562 ก่อนตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมี กําไรสุทธิ (ตามงบการเงินรวม) จํานวน 40,436 ล้านบาท กําไรจากการดําเนินงานก่อนหักสํารองเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 จากปีก่อน เป็นผลมาจากกําไรพิเศษจากการขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) การ เพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ ซึ่งสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการ ดําเนินงาน ธนาคารได้ตั้งสํารองหนี้สงสัยจะสูญรวมจํานวน 36,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.7 จากปีก่อน) เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร

 

 

ในไตรมาส 42562 กําไรสุทธิลดลงร้อยละ 22.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจํานวน 5,506 ล้าน บาทในไตรมาส 4/2562 กําไรจากการดําเนินงานก่อนหักสํารองลดลงร้อยละ 6.2 ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้ ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนที่ลดลงหลังจากธนาคารขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต และค่าใช้จ่ายในการ ดําเนินงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากรายได้ใหม่ที่ได้รับจากการเป็น พันธมิตรทางธุรกิจด้าน bancassurance และกําไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น

 

 

เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 กําไรจากการดําเนินงานก่อนหักสํารอง (ไม่รวมกําไรพิเศษจากการ ขายบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในไตรมาส 3/2562) ลดลงร้อยละ 12.3 เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งสุทธิกับรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่เพิ่มขึ้น

 

 

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลพิเศษในอัตราอัตรา0.75 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) ในวันที่ 30 ม.ค. 2563 และกำหนดจ่ายวันที่จ่ายปันผลในวันที่ 14 ก.พ. 2563

 

 


อย่างไรก็ตาม SCB และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองของปี 2562 จำนวน 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ทั้งนี้ธนาคารมีการตั้งสำรองพิเศษในปี 2562 ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) จำนวน 40,436 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารประกาศเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น โดยมีกำหนดจ่ายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

 


รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 3% จากปีก่อนเป็นจำนวน 99,402 ล้านบาท แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ในขาลง และยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ธนาคารยังคงสามารถขยายฐานรายได้จากการปรับพอร์ตสินเชื่อด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อน เป็นจำนวน 66,696 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกำไรของเงินลงทุนที่เกิดจากการขายหุ้นของธนาคารในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากไม่รวมกำไรพิเศษดังกล่าว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 2% จากปีก่อน โดยรายได้ประเภท recurring ปรับตัวดีขึ้น และในไตรมาสที่สี่ธนาคารมีการรับรู้รายได้ใหม่จากความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรด้านประกันชีวิต

 


ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนเป็นจำนวน 70,538 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงการ Transformation ทั้งนี้จากการเติบโตของรายได้รวมที่ 20% จากปีก่อน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในปี 2562 ปรับลดลงมาเป็น 42.5%

 


อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 3.41% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3% ในครึ่งแรกของปี การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพสะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอันเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและการที่ธนาคารใช้นโยบายระมัดระวังในการจัดชั้นลูกหนี้ จากแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อในปัจจุบันและความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 36,211 ล้านบาท ในปี 2562 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 134%

 


เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.1% ดังนั้น ภายหลังการขายหุ้นของธนาคารในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมการธนาคารได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เงินปันผลปกติจากการดำเนินงานของธนาคารประจำปี 2562 จะได้รับการพิจารณาและอนุมัติในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในเดือนเมษายน 2563

 

 

 


นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากความผันผวนของเศรษฐกิจธนาคารใช้หลักความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ จากการคาดการณ์ว่าสินเชื่อทั้งระบบจะเติบโตในระดับปานกลาง ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญต่อการปรับพอร์ตสินเชื่อไปสู่ธุรกิจที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และธุรกิจการบริหารจัดการความมั่งคั่ง พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ จากความสำเร็จในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ผ่านโครงการ Transformation ธนาคารกำลังนำขีดความสามารถดังกล่าวมาใช้ในเชิงรุกยิ่งขึ้น และทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและฟินเทคชั้นนำในการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว

 

 


สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า SCB รายงานผลประกอบการ 4Q19 น่าผิดหวัง โดยปรับประมาณการปี 2020 - 21F ลง 19 - 10% ตามลำดับ เนื่องจาก OPEX และ Credit Cost ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราปรับมูลค่าที่เหมาะสมลง 27% เป็น 102 บาท และปรับคำแนะนำลงเป็น "ถือ" และเราจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้งหลังการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 27 ม.ค. ที่จะมีการเผยเป้าสำหรับปี 2020

 

 



ผลประกอบการของ SCB ในช่วง 4Q19 ลดลง 22% YoY และ 63% QoQ เป็น 5.51 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาดที่ 1.02 หมื่นล้านบาท และ Bloomberg ที่ 9.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาด จาก 1) รายได้จากดอกเบี้ยที่ลดลง และ NIM ที่ลดลง 2) คุณภาพของสินเชื่อที่ลดลง และ Credit Cost ที่เพิ่มขึ้น และ 3) OPEX ที่สูงกว่าคาด

 

 



ผลประกอบการการที่น่าผิดหวังนั้นมาจากเหตุผลที่น่าผิดหวังยิ่งกว่าคือ OPEX ที่สูงกว่าคาด นอกจากนี้ NPL Formation ที่เพิ่มขึ้นมาก และคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลง ทำให้เรามองว่าการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารจะปรับตัวแย่กว่าตลาดต่อ แนะนำให้ "ถือ" โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 102 บาท (GGM)

 

 




บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า SCB

 

ประกาศกำไรสุทธิสำหรับ 4Q62 ที่ 5,506 ล้านบาท อ่อนตัวลง 63%QoQ และ 22%YoY ต่ำกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้าถึง 40% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานอยู่ในระดับใกล้เคียงคาด โดยมีประเด็นสำคัญคือ

 

1. รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอ่อนตัวลง 12%QoQ โดยทั้งสินเชื่อและเงินลงทุนปรับตัวลดลงหลังการขาย SCB Life ออกไป ขณะเดียวกันรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เคยได้รับจาก SCB Life ก็ลดลงเช่นกัน ทำให้ NIM ในไตรมาสนี้ลดลงเหลือ 3.17%


2. รายได้ค่าธรรมเนียมดีขึ้นถึง 14%QoQ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันให้ Prudential นอกนั้นเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันและกองทุนรวมที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล


3. คาดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นราว 5%QoQ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ทำให้ Cost-to-income ratio เพิ่มขึ้นเป็น 52.8%


4. ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ลดลง 37%QoQ แต่ยังเป็นระดับสูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่มีสำรองพิเศษ ทั้งนี้เนื่องจากสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้นจาก 2.97% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 3.38% โดยส่วนหนึ่งเรามองว่ามีการจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพ เพื่อรองรับมาตรฐาน TFRS9

 

รอการปรับประมาณการกำไรปี 63-64 ในเบื้องต้นเราคาดกำไรปี 63-64 ที่ 40,121 ล้านบาท (-1%YoY) และ 42,525 ล้านบาท (+6%YoY) ตามลำดับ โดยมองภาพรวมปี 63 อาจยังมีปัจจัยกดดันทั้งในด้านสินเชื่อและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ยังต้องติดตามประเด็นด้านคุณภาพหนี้ว่าใน 4Q62 ที่ NPL ปรับตัวขึ้นเป็นเพียงการจัดชั้นเชิงคุณภาพหรือไม่ โดยเราอาจมีการปรับประมาณการภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง

 

ยังคงแนะนำ "ถือ" ปรับคำแนะนำเป็น "ถือ" เพื่อรอปรับประมาณการกำไร ทั้งนี้ธนาคารประกาศจ่ายปันผลพิเศษ 0.75 บาท (XD 30 ม.ค. 63) คิดเป็น Dividend Yield ราว 0.64%

ความเสี่ยง: เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้าส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อ / แนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้น

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย)

 

ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า SCB รายงานกำไรสุทธิช่วง 4Q62 ที่ 5,506 ลบ. หดตัว 22.3%YoY แย่กว่าที่เราและตลาดคาดไว้มาก โดยแม้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังเติบโตได้ดีที่ 34.4%YoY หลังมีรายได้ค่า Access Fee ของ FWD และ SCBLIFE เพื่อขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านสาขาของ SCB แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยปัจจัยลบจาก 1) รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิหดตัว 7.4%YoY รับผลลบของทั้งอัตราโตของสินเชื่อรวมที่หดตัวราว 1.3%YoY หลังบริษัทเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อกับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และแรงกดดันจาก NIM ที่หดตัวเล็กน้อยเหลือ 3.2% จาก 3.25% ในช่วง 4Q62 (Asset Yield ปรับดีขึ้นเป็น 4.4% จากเพียง 4.2% ในช่วงปีก่อน แต่ Cost of Fund กลับปรับขึ้นเล็กน้อย) 2) ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 9.9%YoY

 

 

ซึ่งสูงกว่าคาดมาก โดยหลักเป็นการตั้งสำรองเพื่อชดเชยคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงตามภาวะ ศก. สะท้อนได้จาก NPL ของบริษัทได้ปรับขึ้นจาก 3.3% ในช่วง 4Q61 เป็น 4% และ Coverage Ratio ที่ลดลงเหลือ 134.1% จาก 142.5% ในปีก่อน และ 3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังคงปรับขึ้นต่อ 14.6%YoY จากผลของการทยอยเพิ่มพนักงานและการรับรู้ค่าเสื่อมจากโครงการ SCB Transformation ทำให้ Cost to Income Ratio ดีดตัวขึ้นเป็น 52.8% จากเพียง 47.5% ในช่วง 4Q61 ทำให้ทั้งปี 2562 SCB มีกำไรสุทธิเพียง 40,436 ลบ. ทรงตัว YoY
SCB ยังไม่มีการเปิดเผยผลกระทบและความเพียงพอของเงินสำรองภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ในรายงานงบการเงินครั้งนี้

 

 

สำหรับปี 2563 คาดจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ค่อนข้างเหนื่อยสำหรับแบงค์ใหญ่ โดยเราคาดการดำเนินงานของ SCB จะมีแรงกดดันจากทั้งการเติบโตของสินเชื่อที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังบริษัทเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อกับลูกหนี้รายใหญ่มากขึ้น ขณะที่ ศก. ไทยยังอยู่ในภาวะ ซบเซา นอกจากนี้ยังคาดได้รับผลกระทบด้านลบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้สินเชื่อจะถูกเอาไปทยอยรับรู้แทนการรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีแรก ทำให้ปีแรกที่เริ่มปรับใช้มาตรฐานดังกล่าวรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะหดตัวลง YoY ขณะที่การทยอยปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย จากค่าเสื่อมของการลงทุนในระบบต่างๆ เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เราคงความระมัดระวังและคาดปี 2563 SCB จะมีกำไรสุทธิ 40,330 ลบ. หดตัวเล็กน้อยจากปี 2562

 

 

ด้วยกำไรช่วง 4Q62 ที่แย่กว่าที่ตลาดคาด อีกทั้งคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา SCB ประกาศจ่ายปันผลพิเศษเพียงหุ้นละ 0.75 บาท ต่ำกว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน และยังมีรายงานว่าคณะกรรมการมีมติลดนโยบายปันผลจาก 30-50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม เหลือเพียง 30% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการจ่ายปันผลของ SCB อาจไม่สูงเท่ากับในอดีต (รอรายละเอียดเพิ่มในงานประชุมนักวิเคราะห์) ทำให้เราคาดราคาหุ้นจะตอบรับเชิงลบ แต่เรายังคงคำแนะนำ "ซื้อ" เนื่องจาก 1) ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PBV ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี - 2 S.D. และมี Upside 21.2% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2563 ที่ 142 บาท และ 2) คาดเห็นการฟื้นตัว QoQ ในช่วง 1Q63 เนื่องจากคาดการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจะไม่เร่งขึ้นมากเช่นในช่วง 4Q62 และปัจจุบัน SCB ยังมี Coverage Ratio อยู่ในระดับสูงที่ 134.1% ซึ่งคาดเพียงพอสำหรับรองรับ TFRS9 แล้ว

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

 

SCB รายงานกำไรสุทธิ 4Q62 ออกมาแย่กว่าคาด…โดยมีกำไรสุทธิ 5.5 พันล้านบาท (-22%YoY, -63%QoQ) ต่ำกว่าที่เราคาด 43% และต่ำกว่า Bloomberg consensus 45% เนื่องจากตั้งสำรองค่าเผื่อฯสูงกว่าที่ประเมินไว้มาก โดยตั้งใน 4Q62 สูงที่ 9.6 พันล้านบาท คิดเป็น Credit cost 180bps ส่วนทั้งปี 62 มีกำไรสุทธิ 40.4 พันล้านบาท (+1%YoY) โดยมี Credit cost เพิ่มเป็น 170bps (ปี 61 เท่ากับ 167bps) กำไรก่อนสำรอง (PPOP) งวด 4Q62 อยู่ที่ 14.7 พันล้านบาท (-13%YoY, -13%QoQ) เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาก (+15%YoY, +5%QoQ) โดยหลักเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน, ค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตซอฟท์แวร์, ค่าเสื่อมราคาโครงการ Transformation และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับไอที รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มจาก NIM ที่สูงขึ้น ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยายตัวจากรายได้ค่าธรรมเนียมโต (+26%YoY, +14%QoQ ใน 4Q62 และ +4% ในปี 62) เพราะมีรายได้ขายประกันร่วมกับ FWD และรายได้จากธุรกิจบลจ.เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 4Q62 กับ 3Q62 จะลดลงเพราะช่วง 3Q62 มีกำไรจากขาย SCBLIFE ก้อนใหญ่

 

 


สินเชื่อหดตัว -1.3%YoY ในสิ้นปี 62; ส่วนของ 4Q62 สินเชื่อหดตัว QoQ จากการชำระคืนหนี้ของลูกค้ารายใหญ่ แต่สินเชื่อรายย่อยและ SME ยังเติบโตได้  คุณภาพสินทรัพย์ยังอ่อนแอลงต่อ โดย NPL งวด 4Q62 เพิ่ม +10%QoQ และ +21%YoY เป็น 85.2 พันล้านบาท ส่วน NPL ratio เพิ่มเป็น 3.41% ในสิ้นปี 62 เทียบกับ 3.01% ในสิ้น 3Q62 และ 2.85% ในสิ้นปี 61 ทั้งนี้ NPL formation เพิ่มทุกกลุ่มลูกค้า ยกเว้นกลุ่มสินเชื่อที่พักอาศัย ส่วน Special mention loans เพิ่ม +20%YoY ใน 4Q62 ซึ่งหลักๆ มาจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย (เช่าซื้อรถยนต์) และ SME แต่ยังลดลง -0.5%QoQ เป็น 65 พันล้านบาท การตั้งสำรองฯสูงขึ้นดังข้างต้น ส่วน Coverage ratio สิ้นปี 62 อยู่ที่ 134% ลดลงจาก 147% ในสิ้นปี 61

 

 


ประกาศจ่ายปันผลพิเศษ 0.75 บาท/หุ้น ซึ่งมาจากมีกำไรในการขาย SCBLIFE กำหนด XD 30 ม.ค.63 และชำระเงิน 14 ก.พ.63 (ธนาคารจ่ายปันผลระหางกาลงวด 1H62 ไปแล้ว 1.50 บาท/หุ้น) และธนาคารเปลี่ยนนโยบายการจ่ายปันผลเป็นไม่น้อยกว่า 30% ของกำไร (จากเดิมประมาณ 30-50% ของกำไร) ปรับลดคำแนะนำเป็น Fully Valued โดยปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 63F ลง 9% สะท้อนค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่ม และการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่มากขึ้น ซึ่งทำให้กำไรสุทธิปี 63F จะ -12%YoY ปรับลดราคาพื้นฐานเป็น 104 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 63F ที่ 0.85 เท่า (-2SD)

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด

 

ปรับคำแนะนำลงมาเป็น "ถือ" จากเดิมที่ให้ "ซื้อ" และอยู่ระหว่างการปรับราคาเป้าหมายลง จากเดิมที่ 133.00 บาท อิง PBV ที่ 1.07x (-1.25SD below 5-yr average PBV) โดย SCB ประกาศกำไรสุทธิใน 4Q19 อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท ลดลง -22% YoY และ -63% QoQ ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาด 40% และ 45% จากค่าใช้จ่ายพนักงานและสำรองที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อรวมกลับมา -1.1% YoY เพราะสินเชื่อรายใหญ่ลดลง ด้าน NPLs กลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.41% จาก 3.01% ในไตรมาสก่อนจากสินเชื่อทุกประเภท และมีการทำ quantitative ในสินเชื่อรายใหญ่, SME และเช่าซื้อ โดยเรายังประมาณการกำไรสุทธิในปี 2020E อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท ลดลง -3% YoY ขณะที่เราคาดว่า ประมาณการของเรามี downside risk จากค่าใช้จ่ายและการตั้งสำรองฯที่อยู่ในระดับสูง

 

 

โดยเรารอการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 22 ม.ค. นี้ ซึ่งจะมีการแถลงการณ์ถึงเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ ขณะที่ SCB มีการประกาศจ่ายปันผลพิเศษจากการขาย SCBLife ที่ 0.75 บาทต่อหุ้น XD วันที่ 30 ม.ค. คิดเป็น dividend yield ที่ 0.64% ทั้งนี้ ราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง -6% เมื่อเทียบกับ SET เพราะแนวโน้มผลประกอบการใน 4Q19 ที่ออกมาแย่ ขณะที่เราคาดว่าราคาหุ้นจะยังมีแรงขายออกมาอีกจนกว่าจะมีเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาว SCB ยังมี catalyst จากการการเข้าซื้อกิจการใหม่ซึ่งเราเชื่อว่า น่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ consumer finance ที่ให้ ROE มากกว่า 20%

 

 

กำไรสุทธิ 4Q19 ต่ำกว่าคาดเยอะจากค่าใช้จ่ายพนักงานและสำรองที่เพิ่มขึ้น SCB ประกาศกำไรสุทธิใน 4Q19 อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท ลดลง -22% YoY และ -63% QoQ ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาด 40% และ 45% จากค่าใช้จ่ายพนักงานและสำรองที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาสนี้เป็นไตรมาสแรกที่ต้องหัก SCBLife ออกไปเต็มไตรมาส ซึ่งเราคาดว่าค่าใช้จ่ายพนักงานจะต้องลดลงไปราว 3.5 พันล้านบาท แต่กลับไม่ลดลงเลยเพราะมีการปรับเปลี่ยนและฝึกให้พนักงานมีทักษะเฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงมีการจ้างพนักงานทางด้าน data scientists เพิ่มมากขึ้น และมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ประกอบกับ มีการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +8% YoY ส่วนสินเชื่อรวมกลับมา -1.1% YoY เพราะสินเชื่อรายใหญ่ลดลงซึ่งตรงตามนโยบายของแบงก์ที่ต้องการสินเชื่อรายย่อยในส่วนของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตซึ่งมีผลตอบแทนที่มากกว่า ขณะที่ NIM ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.13% จาก 3.28% ใน 4Q18 เพราะไม่มี SCBLife ทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยส่วนของเงินลงทุนลดลงและได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงขาเดียว ในด้านของ cost to income ratio ปรับตัวสูงถึง 53% จาก 47% ใน 4Q18 เพราะมีการตัดค่าเสื่อมด้าน software เพิ่มมากขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมกลับมาเติบโตได้ดีถึง +26% YoY และ +14% QoQ เกิดจากธุรกิจกองทุนรวมและ Banassurance ที่ทำได้ดีซึ่งรวมถึงการขายประกันให้กับ SCBLife และมีกำไรจากเงินลงทุนเข้ามาถึง 2.3 พันล้านบาท จาก 4Q18 ที่ระดับเพียง 9 ร้อยล้านบาท เพราะเป็นการเร่งขายก่อนเริ่มใช้ TFRS9 ในส่วนของ NPLs กลับมาเพิ่มขึ้นมากขึ้นอยู่ที่ 3.41% จาก 3.01% ในไตรมาสก่อนจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แม้ว่าจะมีการ write-off NPL ออกไปถึง 6 พันล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่อทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อบ้านที่เริ่มทรงตัวได้ ประกอบกับมีการทำ quantitative มากขึ้นในสินเชื่อรายใหญ่, SME และสินเชื่อเช่าซื้อ

 

 


คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2020E คาดหดตัว -3% YoY และมี downside risk หาก guidance ที่จะประกาศวันที่ 22 ม.ค. ให้เป้าหมายของค่าใช้จ่ายและสำรองฯเพิ่มขึ้น เรายังประมาณการกำไรสุทธิในปี 2020E อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท ลดลง -3% YoY จากการหักรายการจาก SCBLife ออกไป ขณะที่เราคาดว่า ประมาณการของเรามี downside risk มากขึ้นหลังจากที่ผลประกอบกรใน 4Q19 ออกมาน่าผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก รวมถึงการตั้งสำรองฯที่อยู่ในระดับสูงถึง 9 พันล้านบาท จากระดับปกติที่ 5 พันล้านบาท โดยเรารอการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 22 ม.ค. นี้ ซึ่งจะมีการแถลงการณ์ถึงเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ ขณะที่ SCB มีการประกาศจ่ายปันผลพิเศษเพิ่มเติมจากการขาย SCBLife ที่ระดับ 0.75 บาทต่อหุ้น น้อยกว่าที่เราคาดไว้ที่ 1.60 บาทต่อหุ้น เพราะนำเงินส่วนหนึ่งไปตั้งสำรองฯเพิ่ม โดยจะ XD วันที่ 30 ม.ค. คิดเป็น dividend yield ที่ 0.64%

 

 


ปรับคำแนะนำลงมาเป็น "ถือ" จากเดิมที่ให้ "ซื้อ" และอยู่ระหว่างการปรับราคาเป้าหมายลง จากเดิมที่ 133.00 บาท อิง PBV ที่ 1.07x (-1.25SD below 5-yr average PBV) โดยผลประกอบการมีความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายและการตั้งสำรองที่ยังคงเร่งตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี เราคาดว่า SCB มี key catalyst จากการศึกษาเข้าซื้อกิจการที่มี ROE มากกว่า SCB Life ที่ 13-15% ซึ่งเราเชื่อว่า น่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ consumer finance ที่ให้ ROE มากกว่า 20% ขณะที่มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีโอกาสปรับลดลงได้อีกในอนาคต

 

 

 

 

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า SCB ผลประกอบการกำไร 4Q62 ลดลง 22.3% y-y และ 62.8% q-q: ต่ำกว่าที่ทางฝ่ายและตลาดคาดมาก โดยกำไรที่ลดลง y-y เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ย และการตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่ลดลงมาก q-q เนื่องจากในไตรมาสก่อนมีการรับรู้กำไรจากการขาย SCBLIF ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งสำรองลดลงมากก็ตาม  กำไรปี 62 เพิ่มขึ้นเพียง 0.9% y-y: ถึงแม้ว่าปี 62 SCB จะมีกำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวนมาก แต่ก็มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมาก

 

 

รวมไปถึงรายได้จากธุรกิจประกันที่ลดลงหลังจากการขายออกไป โดยที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าประกันชีวิตนั้นยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้จากธุรกิจประกัน ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% y-y สินเชื่อในปีนี้หดตัวลง 1.1% ytd เนื่องจากการชำระคืนของสินเชื่อรายใหญ่ ในขณะที่ NPL กลับเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% จาก 2.9% ในปีก่อน ปรับลดประมาณการ ลดราคาพื้นฐานเป็น 119.00 บาท ลดคำแนะนำเป็น "ทยอยซื้อ": ปรับลดกำไรปี 63 เป็น 38.4 พันล้านบาท ลดลง 5.1% y-y จากการลดลงของกำไรจากการขายเงินลงทุน ปรับลดราคาพื้นฐานเป็น 119 บาท ปรับลดคำแนะนำเป็น "ทยอยซื้อ" SCB ประกาศจ่ายปันผลพิเศษ 0.75 บาท/หุ้น

 

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

ระบุว่ากำไรสุทธิของ SCB ใน 4Q62 ออกมาต่ำเกินคาดเนื่องจากมีรายการที่ไม่ปกติหลายรายการ (ทั้งด้านบวกและลบ) โดยในด้านบวก รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 14% QoQ และ 25% YoY แต่ในด้านลบ opex และ NPL กลับเพิ่มขึ้นเกินคาด ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอใน 1H62 เราจึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2563/64 ลง -6%/-4% ด้วยการ 1.) ปรับเพิ่ม credit cost ปี 2563/64 เป็นปีละ 125bps (จากเดิมที่ 115bps) 2.) ลด NIM ลง 10bps เหลือ 3.28% 3.) เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และสัดส่วนต้นทุน/รายได้เป็น 46% (จากเดิม 45%) ทั้งนี้ เนื่องจาก ROE ในช่วงสองปีข้างหน้ายังคงสูงกว่าต้นทุนของเงินทุน ดังนั้น เราจึงใช้ P/BV ที่ 1.0x (คิดเป็น P/E ที่ 11x) ซึ่งจะทำให้ได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 128 บาท (ลดลงจากเดิมที่ 135 บาท)

 

 

กำไรสุทธิของ SCB ใน 4Q62 อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท (รวมกำไรจากการลงทุน 2.3 พันล้านบาท) ลดลงถึง 63% QoQ but -22% YoY ต่ำกว่าประมาณการของเรา/consensus ถึง 41%/46% ตามลำดับ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท (+1% YoY)

 

 

การแยก SCBlife ออกจากงบรวมทำให้รายได้จากดอกเบี้ยลดลงมากเกินคาด 1.) ประมาณ 2.5 พันล้านบาท (เราคาดว่าจะลดลงแค่ 1.0 พันล้านบาท) 2.) หากไม่รวมสำรองพิเศษ 9.1 พันล้านบาทใน 1Q62 สำรองฯของไตรมาส 4 จะเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 54% QoQ และ 8% YoY ใน 4Q62 3.) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร) เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงประมาณ 6% QoQ และ 14% YoY ใน 4Q62 และเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2562 แต่มีรายการในด้านบวกคือกำไรจากการลงทุนของ SCB เพิ่มขึ้นถึง 2.3 พันล้านบาท (จากที่เราคาดไว้แค่ 1.0 พันล้านบาท) แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นใน 4Q62 ได้

 

 

ตามปกติแล้ว พอร์ตสินเชื่อของ SCB จะโตแรงในช่วงไตรมาส 4 แต่ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยสินเชื่อลดลงเกือบทุกกลุ่ม (-1.7% QoQ และ -1.3% YoY ใน 4Q62) ทั้งสินเชื่อธุรกิจ (-5% QoQ และ -9% YoY) สินเชื่อ H/P ก็ลดลงเป็นครั้งแรก (-1.4% QoQ แต่ +8% YoY) และสินเชื่อจดจำนอง (-0.3% QoQ แต่ +0.8% YoY) มีเพียงสินเชื่อผู้บริโภคที่ yield สูงเท่านั้นที่ยังคงเติบโตอย่างสม่ำเสมอ (+6% QoQ และ +25% YoY) ดังนั้น yield สินเชื่อโดยรวมจึงทรงตัว จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 50bps ใน 3Q-4Q62 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)ลดลงประมาณ 11bps QoQ และ 7bps YoY

 

 

แม้ว่าจะมีการจัดชั้นลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงเป็น NPL ใน 3Q62 แต่ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ใน 4Q62 ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 10% QoQ และ 21% YoY ใน 4Q62 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อหลายกลุ่ม โดย NPL เร่งตัวขึ้นจากทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย รถยนต์ และ SME ทั้งนี้ NPL ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนถึงการขาย NPL ลดลง และมีการตัดหนี้สูญลดลง

 



ปรับสมมติฐานดังนี้ 1.) เพิ่ม credit cost ปี 2563/64 เป็นปีละ 125bps (จากเดิมที่ 115bps) 2.) ลด NIM ลง 10bps เหลือ 3.28% 3.) เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และสัดส่วนต้นทุน/รายได้เป็น 46% (จากเดิม 45%) ทั้งนี้ เนื่องจาก ROE ในช่วงสองปีข้างหน้ายังคงสูงกว่าต้นทุนของเงินทุน ดังนั้น เราจึงใช้ P/BV ที่ 1.0x (คิดเป็น P/E ที่ 11x) ซึ่งจะทำให้ได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 128 บาท (ลดลงจากเดิมที่ 135 บาท)

 

 

Risks
GDP โตไม่ถึง 2.8% ในปี 2562/63 กดดันให้เกิด NPL ใหม่มากขึ้น.

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้

ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า คงคำแนะนำ "ถือ" สำหรับ SCB โดยกำไรสุทธิ 4Q19 ที่ออกมาน่าผิดหวังเมื่อเทียบกับทั้งคาดการณ์ของเราและตลาด หลักๆ เป็นผลจากสารองหนี้ที่สูงกว่าคาด จากหนี้เสียที่เร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ แม้เราเห็นประเด็นหนุนระยะสั้นจากมูลค่าหุ้นที่ถูก โดยมีค่า P/BV ปัจจุบัน ใกล้ระดับกรอบล่างในอดีตที่ -2.5 S.D ซึ่งอาจช่วยจากัดความเสี่ยงขาลงของหุ้น อย่างไรก็ดี เรายังคงมีประเด็นกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่คาดยังมีแนวโน้มถดถอยลง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และในด้านผลกระทบเชิงลบจาก TFRS 9

 


บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ระบุว่า SCB รายงานกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9%YoY โดยกำไรสุทธิ 4Q62 อยู่ที่ 5,506 ล้านบาท ลดลง 62.8%QoQ และ ลดลง 22.3%YoY ต่ำกว่าที่เราคาดเป็นผลมาจาก (1) รายได้ดอกเบี้ย 4Q62 ลดลง 12.3%QoQ และลดลง 7.4%YoY จากรายได้ดอกเบี้ยของ SCBLIFE ที่หายไป และอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 3.3% ทรงตัว YoY แต่ลดลงเมื่อเทียบกับ 3.7% ในช่วง 3Q62 (2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการปรับเพิ่มเงินเดือนประจำปี การตัดจำหน่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นตามการลงทุนโครงการ Transformation ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost-to-Income Ratio) อยู่ที่ 52.8% เทียบกับ 3Q62 ที่ 29.1% และ 4Q61 ที่ 47.8%

 

 

SCB รายงานสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2.11 ล้านล้านบาท ลดลง 1.3%YoY จากการชำระคืนสินเชื่อของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงมีการหักยอดสินเชื่อ โดยมีกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นหลักประกันออกไป หลังจากขาย SCBLIFE เมื่อเดือน ก.ย. 62 ที่ผ่านมา ด้านอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ปี 2562 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.4% เทียบกับปี 2561 ที่ 2.9% เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SME) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 134.1% เทียบกับปี 2561 ที่ 146.7%

 

 

อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการผลประกอบการปี 2563 - 2564 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อ NPL ของ SCB มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก (เดิมประเมิน NPL ปี 2563 ไว้ที่ 2.9% - 3.0%) รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะมีการนำเสนอในบทวิเคราะห์ Company Update ทันที หลังการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 22 ม.ค. 63 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับลดลงกว่า 4.5% ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งสะท้อนความผิดหวังต่อผลประกอบการ 4Q62 (ก่อนหน้านี้ที่เราและ Consensus ประเมินกำไรสุทธิลดลง QoQ) และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราคาดว่าหลังปรับประมาณการผลประกอบการ มูลค่าเหมาะสมใหม่จะยังมี Upside เพียงพอสำหรับการลงทุน ขณะที่ SCB ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลพิเศษ 0.75 บาทต่อหุ้น โดย SCB จะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 30 ม.ค. 63

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

สถานบันเทิงครบวงจร By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ยินดี สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ลงมติ รายงานผลการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร...

รอดเท่ากับไม่เทรด By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง มองไม่ค่อยเห็น ผู้ชนะในเกมหุ้น แต่นักลงทุนที่รอด ชัวร์ๆ นั่นคือ หยุดเทรด ไม่เทรด ไม่ซื้อขาย ...

มัลติมีเดีย

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้