Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : 5 แบงก์ ตุนเงินสด รับเทศกาลปีใหม่

2,903

HotNews : 5 แบงก์ ตุนเงินสด รับเทศกาลปีใหม่

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (24 ธันวาคม 2562)  5 แบงก์ ตุนเงินสด รับเทศกาลปีใหม่  นำโดย  SCB  สำรองธนบัตรช่วงเทศกาลปีใหม่ 63  ,BAY  สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่ 63 กว่า 14,300 ล้านบาท ให้บริการผ่านสาขา/กรุงศรีเอทีเอ็มทั่วประเทศ , KBANK สำรองเงินสด 45,800 ล้านบาท รับเทศกาลปีใหม่ ,  BBL  สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่กว่า 30,000 ล้านบาท 'สาขาไมโคร' เปิดบริการปกติไม่มีวันหยุดกว่า 300 แห่ง  และ  CIMBT สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่  รวม 250 ล้านบาท

 

 

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำรองธนบัตรช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าจำนวน 63,000 ล้านบาท โดยเป็นการสำรองที่ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากพฤติกรรมการถอนเงินสดของลูกค้าโดยรวมที่มีแนวโน้มลดลงประมาณ 8% รวมถึงตามสัดส่วนจำนวนสาขาที่ลดลง ทั้งนี้ ธนาคารมีการติดตั้งเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) เพิ่มขึ้นทดแทน โดยแบ่งเป็น ตู้เอทีเอ็ม จำนวน 42,000 ล้านบาท และสาขา จำนวน 21,000 ล้านบาท ปัจจุบัน (ณ เดือน พ.ย. 62) ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 698 สาขา มีเครื่องเอทีเอ็มรวม 9,373 เครื่อง

 

 

 

 

 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)เตรียมสำรองเงินสดเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2563 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 - 1 มกราคม 2563 (จำนวน 6 วัน) รวม 14,367 ล้านบาท ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 9,124 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 5,243 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 650 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 6,898 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนเครื่อง/สาขา ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562)

 

 

 


ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ 28 ธันวาคม 2562 - 1 มกราคม 2563 รวมทั้งสิ้น 45,800 ล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 11,800 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน4,500 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 7,300 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 900 สาขา ทั่วประเทศสำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 8,200 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 34,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 15,000 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 19,000 ล้านบาท

 

 

 

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จัดสรรเงินสดสำรองไว้ให้บริการแก่ลูกค้าในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่กว่า 30,000 ล้านบาท ผ่านตู้เอทีเอ็มที่รองรับการให้บริการเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ ย้ำสาขาไมโครในห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง เปิดให้บริการปกติไม่มีวันหยุด โดยกำหนดแผนดูแลการเติมเงินสดเป็นพิเศษในจุดท่องเที่ยวหลักรายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ระหว่างวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 - วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 นั้น ทางธนาคารได้ดำเนินการสำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีเกือบ 10,000 จุดทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่พร้อมอำนวยความสะดวกและให้สามารถทำรายการธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น บริการบัวหลวงโฟน โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 บริการบัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง และบริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง รวมถึงบริการรับชำระสินค้าและบริการผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เป็นต้น

 


ทั้งนี้ สาขาของธนาคารทั่วประเทศยังคงเปิดให้บริการในวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และในช่วงวันหยุดดังกล่าวลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพที่สาขาไมโคร ที่เปิดให้บริการเป็นปกติภายในห้างสรรพสินค้าและจุดชุมชนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้สาขาทั่วประเทศจะเปิดทำการเป็นปกติตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

 


นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการดูแลและเพิ่มความถี่ในการจัดเตรียมเงินสดในตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพราะฉะนั้นลูกค้าของธนาคารจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกถอนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างสบายใจ
สำหรับลูกค้าที่ต้องการตรวจสอบรายชื่อสาขาไมโครที่เปิดให้บริการ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ www.bangkokbank.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อศูนย์บริการธนาคารทางโทรศัพท์ โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555

 

 

 

 


ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่ ผ่านสาขาและตู้เอทีเอ็มจำนวน 100 ตู้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 250 ล้านบาท

 

 

 

 

 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด เม็ดเงินใช้จ่ายคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลปีใหม่ หดตัว 3.2%

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จะอยู่ที่ 29,800 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากประชาชนมีการประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับประชาชนมีการใช้จ่ายล่วงหน้าจากมาตรการกระตุ้นของทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากในช่วงที่เหลือของเทศกาล ภาครัฐและภาคเอกชนมีมาตรการหรือกลยุทธ์เพื่อสร้างความคึกคักให้กับเทศกาล จะหนุนให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาจกลับมาทรงตัวเทียบกับปีก่อนได้

 

 


หากสังเกต จะพบว่า ปีนี้การซื้อของขวัญของฝาก เป็นกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ มีการปรับลดลง ทั้งในส่วนของการซื้อให้ตนเอง ซื้อให้ครอบครัว การซื้อให้กับลูกค้าองค์กร รวมถึงการซื้อเพื่อจับสลาก ซึ่งนอกจากเป็นการปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อแล้ว ยังเป็นผลจากนโยบายการรณรงค์งดให้งดรับของขวัญในช่วงปลายปี (No gift policy) ที่ได้รับการตอบรับจากองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ากลุ่มสินค้าประเภทกระเช้าของขวัญ น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่นิยมให้กับองค์กรมากที่สุด

 

 

การจัดกิจกรรมอีเว้นท์ (Events) โดยเฉพาะการลดแลกแจกแถมสินค้า ยังคงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความสนใจและช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสูงที่สุด นอกจากนี้ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังเลือกใช้ช่องทางร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านเป็นช่องทางหลักในการเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 แต่ช่องทางออนไลน์ ทั้ง E-marketplace และ Social Commerce ก็ได้รับการตอบรับและมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้น การคัดเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมกับประเภทสินค้า จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

 



เทศกาลปีใหม่ 2563 นี้ คนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 58.2 ของคนที่ทำแบบสำรวจ เลือกที่จะทำกิจกรรมและเฉลิมฉลองอยู่ในกรุงเทพฯ ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ร้อยละ 59.0 โดยภาพรวมนั้นคนกรุงเทพฯ ยังคงมีการทำกิจกรรมในช่วงปีใหม่เช่นเดียวกันปีก่อนๆ แต่ที่มีความแตกต่างคือการตั้งงบประมาณรายจ่ายในแต่ละกิจกรรมที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยเน้นประหยัดมากขึ้น ในเกือบทุกกิจกรรม ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจต้องวางแผนรับมือ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมรวมถึงกลยุทธ์การตลาด ที่จะดึงให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังคงพอมีกำลังซื้อ ให้ออกมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่มากขึ้น

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 29,800 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเหตุผลหลักน่าจะมาจากภาวะกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคประชาชนหันมาประหยัดและใช้จ่ายระมัดระวังในการทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ ทำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการให้เงินกับบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะที่อยู่ในต่างจังหวัด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัว รวมถึงภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้เม็ดเงินส่วนนี้ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว น่าจะมีส่วนช่วยให้เม็ดเงินดังกล่าว กระจายลงสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในต่างจังหวัดได้ในระดับหนึ่ง

 

 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กำลังซื้อของภาคประชาชน ส่วนหนึ่งได้ถูกแบ่งใช้จ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งจากกิจกรรมของภาคเอกชน อาทิ เทศกาลช็อปปิ้งวันคนโสด 11.11 (วันที่11เดือน11) รวมถึงการต่อยอดมาถึงเทศกาลลดราคาครั้งใหญ่ 12.12 (วันที่12 เดือน 12) ซึ่งในปีนี้กิจกรรมข้างต้นได้รับความสนใจจากผู้ซื้อค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหรือ ชิมช็อปใช้ ในช่วงก่อนหน้า (คนกรุงเทพฯ มีการลงทะเบียนทั้งเฟส1 และเฟส2 สัดส่วนร้อยละ 63.8 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม) ซึ่งเบื้องต้นช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่มีมาตรการพอสมควร แต่ก็มีผลต่อการทำกิจกรรมในช่วงปีใหม่ ที่อาจลดลงในส่วนที่ได้ทำไปแล้ว อาทิ การซื้อสินค้า การทานอาหาร หรือการท่องเที่ยว เป็นต้น

 

 


จากผลสำรวจที่เกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,800 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยวในประเทศ (ค่าเดินทางกลับบ้าน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงค่าที่พัก) 8,000 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก 7,800 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,500 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 1,500 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง บริจาคสิ่งของ) 200 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท เทียบกับปี 2562 ที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,600 บาท

 

 

กิจกรรมการซื้อของขวัญถูกลดบทบาทลงจากปัจจัยด้านกำลังซื้อและนโยบาย No gift policy ส่งผลให้เม็ดเงินที่เคยกระจายไปสู่ภาคธุรกิจสินค้าต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ อาจให้ภาพที่ไม่คึกคักหากเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ เลือกที่จะปรับพฤติกรรม โดยการปรับลดการซื้อของขวัญของฝากลงคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 95.7 ของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง แต่ทั้งนี้ หากแยกวัตถุประสงค์ของการซื้อของขวัญ พบว่าคนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะซื้อของขวัญของฝากให้กับครอบครัว/คนสำคัญมากที่สุดสัดส่วนร้อยละ 46.3 ซึ่งสินค้าที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์สามอันดับแรกคือเครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ คุกกี้/ช็อกโกแล็ต และเครื่องใช้ไฟฟ้า/ของใช้ในครัวเรือน

 

 

ขณะที่การซื้อของขวัญให้กับลูกค้าองค์กร มีสัดส่วนน้อยที่สุด โดยมีเพียงร้อยละ 9.5 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายงดให้งดรับของขวัญในช่วงปลายปี (No gift policy) ที่รณรงค์ต่อเนื่องมาหลายปี และค่อนข้างได้รับการตอบรับจากองค์กรธุรกิจต่างๆ สูง โดยสินค้า 3 อันดับแรกที่คนกรุงเทพฯ ที่ยังคงซื้อเพื่อมอบให้กับองค์กรคือ กระเช้าของขวัญ เครื่องสำอาง/สกินแคร์ และสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ ซึ่งพบว่ากระเช้าของขวัญน่าจะได้รับผลกระทบสูงกว่าสินค้าประเภทอื่น ขณะที่สินค้าประเภทอื่นๆ สามารถจับตลาดได้หลากหลายมากกว่า ทั้งการซื้อให้กับตนเอง/ครอบครัว หรือการจับสลาก

 

 

การจัดกิจกรรมอีเว้นท์ (Events) อาจต้องใช้ควบคู่กับการเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนซื้อ เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่คาดว่า ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องยังคงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมและกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับสำหรับกลุ่มที่ยังคงพอมีกำลังซื้อ รวมถึงเพื่อให้เกิดการจดจำในภาพลักษณ์หรือตราสินค้าในช่วงเวลาที่มีคนออกมาทำกิจกรรมมากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชนต่อธุรกิจในระยะต่อๆ ไป โดยเฉพาะกลยุทธ์ลดแลกแจกแถม รวมถึงการจัดชิงโชคแจกของรางวัล และการร่วมสนุกลุ้นรางวัล ณ จุดขาย ถือว่าเป็นที่กลยุทธ์ที่คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่

 

 


อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ตรงใจแล้ว การคัดเลือกช่องทางการจัดจำหน่าย สำหรับสินค้าที่ซื้อเป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่ที่หลากหลาย นอกเหนือจากช่องทางหลักคือร้านค้าปลีกทั่วไป (ห้างสรรพสินค้า, ดิสเคาน์สโตร์, ซูเปอร์มาร์เก็ต) สำหรับสินค้าในแต่ละประเภท จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสินค้า สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงผู้ซื้อได้มากขึ้น อาทิ ผู้บริโภคจะนิยมใช้ช่องทาง E-marketplace (เช่น Lazada/Shopee/JD Central) เป็นช่องทางการซื้อสินค้าประเภทเครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ รองจากร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ช่องทาง Social Commerce (เช่น Facebook/IG/Line) ถูกใช้เป็นช่องทางเสริมในการซื้อเสื้อผ้า/รองเท้าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจที่หวังพึ่งเม็ดเงินจากการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี คาดว่า ภาครัฐและเอกชนน่าจะเห็นทิศทางกำลังซื้อ และอารมณ์การจับจ่ายของประชาชนที่ชะลอตัวลงได้ค่อนข้างชัดเจน และคาดว่าคงมีการผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเทศกาลก่อนสิ้นปี โดยในส่วนของภาครัฐ ก็มีมาตรการออกมาบ้างแล้ว อาทิ การขยายมาตรการชิมช้อปใช้ไปถึงเดือนมกราคม 2563

 

 

พร้อมกับการจัดกิจกรรมแจกของรางวัลสำหรับผู้ใช้จ่าย การจัดรายการสินค้าลดราคาร่วมกับผู้ประกอบการ การยกเว้นค่าทางด่วนและมอเตอร์เวย์ รวมถึงการลดราคาน้ำมันช่วงเทศกาล ขณะที่ภาคเอกชนนั้น นอกจากกิจกรรมลดแลกแจกแถมแล้ว อาจจำเป็นต้องมีการคัดเลือกสินค้าที่อิงกระแสการใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อกำลังซื้อน้อยกว่ากลุ่มอื่น จะช่วยสร้างความแตกต่างและกระตุ้นความสนใจคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้หากทุกฝ่ายเร่งกิจกรรมที่ทำให้บรรยากาศมีความคึกคัก ก็อาจหนุนให้เม็ดเงินใช้จ่าย ช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 29,800 ล้านบาทได้

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

ติดตาม By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ หลังจาก นายกฯคุยกับนายแบงก์ วันนี้ สมาคมธนาคารไทย ก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้