Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: หุ้นปีจอ จ่อนิวไฮ

968

 

 



HotNews: หุ้นปีจอ จ่อนิวไฮ
  สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 27 ธันวาคม  2560)-------  HotNews  วันนี้ขอนำเสนอ มุมมอง  SET  ปีจอ จากเทพหุ้นชั้นนำ ที่ระดมทีม ระดมสมอง  มาวิเคราะห์ วิจัย  หลายเสียงมองหุ้นไทย ปีจอ จ่อนิวไฮ  เริ่มที่   บล.เอเซีย  พลัส ชี้ ดัชนีฯ ปี 61ทำสถิติAll-Time High พร้อมปรับเพิ่มดัชนีฯ เป้าหมายมาที่ 1,815 จุด จาก 1,766 เชื่อว่าไตรมาสแรกปีหน้า นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสะสมหุ้นไทยอีกครั้ง 
          ด้านบล.ทรีนีตี้ คาดดัชนี SET ปี 61 ทำสถิติสูงสุดใหม่ มองเป้า 1,815 จุด  เซียนหุ้น   MBKET ให้เป้า SET ปี 61 สูงสุดที่ 1,870 จุด  ขณะที่ CLSA  ทำนายปีหน้าเห็น SET ทะยานแตะ 2,000 จุด    ด้านบล.ไอร่า มอง SET ปี 61นิวไฮ แตะ 1,916 จุด รับผลบวกศก.ไทยดีขึ้น
 

 *** ASPปรับเป้าSET ปีจอสู่ 1,815 จุด-Q1/61 วิ่งในกรอบ 1,693-1,744 จุด***

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(21ธันวาคม 2560)-----บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินดัชนีหุ้นไทยปี 2561 จะขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ตลอดกาล (All-Time High) พร้อมปรับเพิ่มดัชนีฯ เป้าหมายมาที่ 1,815 จุด จาก 1,766 จุด กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นกลุ่มอิงเศรษฐกิจในประเทศขณะที่เชื่อว่าไตรมาสแรกปีหน้า นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อสะสมหุ้นไทยอีกครั้ง
นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปีหน้ายังปรับตัวขึ้นต่อ โดยดัชนีฯ เป้าหมายอยู่ที่ 1,815 จุด หนุนด้วยเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เติบโตได้ดี รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาในบางไตรมาส
"ปีหน้าเรามองเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดี กำไรตลาดก็มองดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ดัชนีฯ เป้าหมายขยับขึ้นจาก 1,766 มาเป็น 1,815 ถือว่าเป็นการทำ All-Time High ของตลาดหุ้นไทย" รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าว
นางภรณี กล่าวว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขยายตัวได้ในอัตรา 4.2% เทียบกับ 3.8% ในปี 2560 รับแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป การลงทุนภาคเอกชนเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2560 หลังจากภาครัฐเร่งเดินหน้าการลงทุนไปก่อนหน้า การบริโภคครัวเรือนได้รับแรงกระตุ้นจากจากนโยบายภาครัฐ
ขณะที่เงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงกลางปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย ยกเว้นฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ที่เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในปี 2561 หลังจากที่ปรับขึ้นในปี 2560 แล้ว เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ
สำหรับกำไรสุทธิตลาดในปี 2561 คาดไว้ที่ราว 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 113.57 บาท เติบโต 14.5% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ 1.07 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 110.4 บาท เติบโต 8.9% เทียบกับปี 2560ที่คาดเติบโต 4.7% โดยกลุ่มธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีในปีหน้า ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มสื่อ-บันเทิง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ในปีหน้าหุ้นไทยมีโอกาสทำ All-Time High ขณะที่การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อพิจารณาจากมูลค่าหุ้น โดยใช้ พี/อีฯ ปี 2561 ราว 16 เท่า พบว่าใกล้เคียงกับตลาดหุ้นโลกเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หุ้นไทยอาจได้รับความน่าสนใจปานกลาง และหากดูผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย 2 ปี (2559-2560) รวมกัน สูงถึง 30% ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน โดยเป็นรองเพียงตลาดหุ้นสหรัฐฯเท่านั้นดังนั้นแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีหน้า แม้จะปรับขึ้นต่อได้ แต่ก็มี upside จำกัด
นางภรณี กล่าวถึง แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาสแรก ปี 2561 ว่า กรอบการเคลื่อนไหนของดัชนีฯจะอยู่ที่ 1,693-1,744 จุด มีค่าพี/อีฯ ราว 16.5-17 เท่า กลยุทธ์การลงทุนให้เน้นเลือกหุ้นรายตัว ที่อิงกับ 3 ธีมหลัก คือ หุ้นที่คาดหวังเงินปันผลได้สูง
มีพี/อีฯ ไม่สูงมาก และแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโต คือ PTTEP และ INTUC หุ้นที่ได้ประโยชน์จากกระแสการลงทุนรอบใหม่ คือ STEC, SEAFCO, WHA, TK และหุ้นที่เกาะกระแสไลฟ์สไตล์สังคมเมืองที่นิยมใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้นคือ PLANB และ RS
ส่วน Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาตินั้น หลังสหรัฐฯ ใช้นโยบายการเงินตึงตัว โดยทยอยยกเลิกการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ตั้งแต่กลางปี 2557 พร้อมทั้งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปลายปี 2558 และลดขนาดของสินทรัพย์ช่วงปลายปี 2560ทำให้ต่างชาติขายหุ้นไทยอย่างหนักและต่อเนื่อง จนยอดซื้อสุทธิสะสมลดลง จากที่เคยสูงสุดช่วงเดือนมีนาคม ปี 2556 ที่ 4.69 แสนล้านบาท ลงมาเหลือเท่ากับศูนย์ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2559 แต่หลังจากนั้น ต่างชาติก็กลับมาซื้อสุทธิในปี 2559สูงสุดราว 1.48 แสนล้านบาท
ส่วนปี 2560 เข้ามาซื้อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ต่อเนื่องถึงกลางเดือนตุลาคม ยอดซื้อสะสมสูงสุดกว่า 2.26 หมื่นล้านบาท และช่วงที่เหลือของปี 2560 ขายสุทธิ และซื้อสลับขายจนถึงสิ้นปี คาดว่าจะทำให้มีฐานะเป็นขายสุทธิในปี 2560ราว 1.90 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต่างชาติมีฐานะการถือครองหุ้นไทยเพียง 31.24% ใกล้ระดับต่ำสุดที่ 28.53% จึงมีโอกาสกลับมาซื้อสะสมรอบใหม่ ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าจะกลับมาซื้อในช่วงไตรมาสแรก


   MBKET ให้เป้า SET ปี 61 สูงสุดที่ 1,870 จุด

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) ประเมินแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2561 จะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อ โดยประเมินครึ่งปีแรก จะปรับตัวขึ้นเด่นกว่าครึ่งปีหลัง ที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองรออยู่ สำหรับดัชนีเป้าหมายปีหน้าประเมินในกรณีฐาน (base case) ที่ 1,760 จุด เทียบเคียง PE Ratio 16 เท่า และกรณีดีสุด (best case) ที่ 1,870 จุด เทียบเคียง PE Ratio 17 เท่า โดยเน้น Theme การลงทุนที่น่าสนใจ คือ 1) เศรษฐกิจโลกปี 2561 ฟื้นตัว แนะสะสมกลุ่ม Logistic เลือก WICE, PORT เด่น และ 2) การบริโภคของชนชั้นกลางเร่งตัวขึ้น แนะสะสมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (AP, CPN,LPN, GOLD) และกลุ่มสื่อโฆษณา (MACO, VGI) ผสานหุ้น Big Caps ที่น่าสนใจ นำโดย BANK (BBL, KBANK), ENERG (PTT, PTTEP), PETRO (IVL, PTTGC) และค้าปลีก (BJC, CPALL) เด่น
สำหรับปีนี้ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นราว 11% โดยปรับขึ้นเด่นในช่วงปลายปี ตอบรับสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวขึ้น โดยหากอธิบายจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งประกอบด้วยฟันเฟืองหลัก 4 ตัว คือ 1) การบริโภคในประเทศ 2) การลงทุนภาคเอกชน 3) การใช้จ่ายภาครัฐฯ และ 4) การส่งออกสุทธิ จะพบว่าตัวหลักที่มีสัญญาณเชิงบวกมากสุดคือ การส่งออกสุทธิ ซึ่งพบว่า ยอดรวมการส่งออก 10 เดือนแรกปี 2560 มีมูลค่าถึง 195,518 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำจุดสูงสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งคาดปีหน้าการส่งออกไทยยังสามารถเติบต่อไปต่อเนื่องอีกราว 5-6% ขานรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวทั้งใน สหรัฐฯ ยุโรป รวมถึง จีน 
ด้านการบริโภคในประเทศปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณการเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/60 เป็นต้นมา โดยสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เร่งตัวขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน ล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 78 จุด รวมถึงตัวเลขอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (% same store sale growth : %SSSG) ในกลุ่มค้าปลีกหลาย ๆ บริษัทที่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ถือเป็นตัวบ่งชี้ภาคการบริโภคที่เริ่มกลับมา โดยในปีหน้า คาดว่าแรงหนุนจากการบริโภคในประเทศยังคงมีทิศทางขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรก ที่ได้อานิสงส์จากช่วง High Season และการรับประโยชน์จากฐานต่ำ เมื่อเทียบกับการบริโภคในปี 2560 คาดเป็นตัวเร่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัว 
   ขณะที่ปัจจัยอีก 2 ตัว คือ การใช้จ่ายภาครัฐฯ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งถือว่าทำได้ไม่ค่อยดีนักในปีนี้ อย่างไรก็ดี คาดปีหน้ามีแนวโน้มจะดีขึ้นกว่าปีนี้ โดยสังเกตได้จาก โครงการประมูลภาครัฐฯในปีหน้าที่คาดจะฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเมย์แบงก์ฯ คาดจะมีเม็ดเงินประมูลปี 2561 ราว 9 แสนล้านบาท ผสานกับความคืบหน้าที่มากขึ้นในการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มเติม
   ส่วนปัจจัยต่างประเทศ จากแนวโน้มความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการเปลี่ยนประธานเฟด ในช่วงต้นเดือน ก.พ. จากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน มาเป็น นายเจอโรม พาวเวล รวมถึงคะแนนเสียงที่ค่อนข้างสูสีในวุฒิสภาสหรัฐฯ ถือเป็นแรงกดดันต่อการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯต่าง ๆ ออกมา ถือเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา (EM) กลับดูน่าสนใจมากกว่า ซึ่งอาจเป็นตัวขับเคลื่อน Fund Flow ไหลเข้าไทยในปีหน้าได้ ส่วนปัจจัยสุดท้ายคงต้องฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งของไทย ซึ่งหากสามารถเป็นไปได้ตามแผนคือ ช่วงเดือน พ.ย. ปีหน้า ก็จะเป็นแรงผลักดันการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ขณะที่หากมีการเลื่อนออกอาจเป็น Downside Risk ได้

   บล.ทรีนีตี้ ชี้ สภาพคล่องการเงินโลกยังสูง 
       SET ปี61  ทำนิวไฮ  เป้า 1,815 จุด 

        นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้  เปิดเผยว่า SET Index ในปี 2561 คาดว่าจะปรับตัวทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยมองเป้าหมายดัชนีที่ระดับ 1,815 จุด (โดยใช้ค่าเฉลี่ยของ Earning Yield Gap และค่าเฉลี่ยของค่ากลางของ Forward P/E 3 ปีย้อนหลัง) มีปัจจัยสนับสนุนจากภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4% ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ถือเป็นภาวะที่ตลาดหุ้นไทยชื่นชอบ
  ขณะที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ซึ่งน่าจะทำให้ภาพลักษณ์การลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างชาติปรับตัวดีขึ้น ประเมินรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นรัฐบาลส่วนผสมที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นตัวผลักดันเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้ไหลเข้าสู่ประเทศ พร้อมทั้งผลักดันการจ้างงานและการบริโภคให้เกิดขึ้น ซึ่งยังมีแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตร เช่นข้าว ที่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
  สำหรับปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล แต่เป็นการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนั้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยจนถึงเดือนกันยายนปี 2561 และการที่มีดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบทำให้นักลงทุนให้ความสนใจในตลาดทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ Fund Flow ไหลเข้าตลาดไทย
นอกจากนี้การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งของนายเจอโรม พาวเวล ว่าที่ประธานเฟด คนใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯให้ปรับเปลี่ยนไปจากยุคของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน เนื่องจากมีแนวคิดนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปที่คล้ายกันอย่างมาก คาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังคงทรงตัวอ่อนค่าต่อไป
รวมถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้วที่น่าจะผ่อนคลายต่อไป ทำให้คาดว่าจะมีกระแสทุนต่างชาติส่วนหนึ่งไหลออกจากประเทศพัฒนาแล้วเข้าสู่ประเทศเกิดใหม่ได้อีก โดย Valuation ของประเทศเกิดใหม่หลายประเทศยังคงมีความน่าสนใจกว่าโดยเปรียบเทียบ
    อีกทั้งเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวสูงขึ้นจนส่งผลบวกต่อราคาโภคภัณฑ์ คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยืนอยู่ในระดับสูงได้อย่างน้อยจนถึงกลางปี 2561 ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยประคับประคองกลุ่มพลังงานและ SET Index ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องระวังสำคัญที่สุด ได้แก่ ปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งประเด็นเกาหลีเหนือ ความขัดแย้งที่กรุงเยรูซาเล็ม ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย ความเสี่ยงต่อการล่มสลายภาคธนาคารเงาและระบบสถาบันการเงินของประเทศจีน
  รวมถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในยุโรปจากฝ่ายชาตินิยมขวาจัดโดยเฉพาะในอิตาลี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยง Tail risk ที่สำคัญ (โอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่หากเกิดขึ้นผลกระทบจะรุนแรง) เนื่องจากประเมินว่า ณ ขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้มากนัก สะท้อนจากดัชนี VIX Index (ดัชนีชี้วัดความผันผวนและความเสี่ยง) ที่ตอนนี้อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
          ทั้งนี้ ประเมินกลยุทธ์การลงทุนในปี 2561 จะต้องเลือกลงทุนเป็นรายบริษัทมากขึ้น  เช่น บริษัทที่ผ่านช่วงของการใช้เงินลงทุนในระดับสูงไปแล้วจนมีกระแสเงินสดอิสระอยู่ในระดับสูง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มองว่ามี Upside น่าสนใจสำหรับการลงทุนในปี 2561 ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เตรียมได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ในประเทศ พร้อมทั้งมี Valuation ที่ถูก ซึ่งตลาดอาจให้มูลค่าเพิ่มขึ้น หากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง


บลจ.ทาลิส คาด SET ปี 61 พุ่งแรง มีลุ้นยืนเหนือ 1,800 จุด 

 
          บลจ.ทาลิส คาดหุ้นไทยปี'61 มีลุ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ แตะ 1,800 จุด รับเศรษฐกิจฟื้น-รัฐเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ส่งออกโตต่อเนื่อง เปิดตัวกองทุนประหยัดภาษีคู่แฝด LTF-RMF 2 กองใหม่ TLDIVRMF และ TLDIVLTF-D ลงทุนหุ้นพื้นฐานแกร่ง-ปันผลสม่ำเสมอ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่มองหาลู่ทางการลงทุนในช่วงปลายปี เตรียมเปิดขายระหว่างวันที่ 16-23 พ.ย.นี้
          นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมเปิดขายกองทุนเปิดทาลิสDIVIDEND STOCK เพื่อการเลี้ยงชีพ (TLDIVRMF) และกองทุนเปิดทาลิส DIVIDEND STOCK หุ้นระยะยาวปันผล (TLDIVLTF-D) โดยเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 16-23 พฤศจิกายน 2560 นี้โดยคัดสรรบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดี และมีแนวโน้มจ่ายปันผลสม่ำเสมอ
          ทั้ง 2 กองทุนเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี รวมถึงมีแนวโน้มที่จ่ายเงินปันผล ตามหลักเกณฑ์คัดเลือกที่บริษัทจัดการกำหนด เช่น หุ้นที่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดีและสม่ำเสมอ และ/หรือ หุ้นที่มีอัตราการเติบโตของอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดี เป็นต้น โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน 
          สำหรับกองทุน TLDIVLTF-D จะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเมื่อกองทุนมีกำไรสะสม โดยพิจารณาจ่ายจากเงินปันผลหรือดอกเบี้ยรับที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุน หรือพิจารณาจ่ายไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสะสมดังกล่าว หรือกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผลนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า แต่ทั้งนี้การจ่ายเงินปันผลจะต้องไม่ทำให้กองทุนมีผลขาดทุนสะสมขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น
          ""ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีถือเป็นช่วงที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนสำหรับการวางแผนเกษียณควบคู่กับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบของการลงทุนผ่านกองทุน LTF และ RMF เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ซึ่งกองทุน TLDIVRMF และ TLDIVLTF-Dที่เปิดขายในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เพราะคัดสรรหุ้นพื้นฐานที่ดีและมีแนวโน้มจ่ายปันผลสม่ำเสมอ"" นายประภาสกล่าว
          ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด กล่าวอีกว่า แม้ตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับฐาน แต่ด้วยแรงซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะจากกองทุน LTF และ RMF ในช่วงปลายปีที่มีมูลค่าประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท จะช่วยผลักดันดัชนีในช่วงไตรมาส 4 ปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2561 คาดว่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1,600-1,900 จุด โดยประเมินจากค่า P/E ที่ 15-18 เท่า ขณะที่ประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตในอัตราร้อยละ 10 เนื่องจากปัจจัยบวกสนับสนุนทั้งแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ดีในอัตราร้อยละ 4 จากการสนับสนุนภาครัฐในการเดินหน้าการลงทุนขนาดใหญ่ และแนวโน้มการส่งออกฟื้นตัว
          สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนกองทุน LTF, RMF กองทุนตราสารทุน กองทุนส่วนบุคคล กับ บลจ.ทาลิส สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ.ทาลิส โทร. 02-015-0222 หรือ www.talisam.co.th ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนรวมตราสารแห่งทุนอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจและศึกษาลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน


 CLSA  ทำนายปีหน้าเห็น SET ทะยานแตะ 2,000 จุด 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 7 พฤศจิกายน 2560)--------นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) หรือ CLSA เปิดเผยว่าคาดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 61 ยังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีนี้ โดยมีโอกาสที่ดัชนีฯ จะปรับขึ้นไปแตะระดับ 2,000 จุด หลังได้รับปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่เชื่อว่าในปีหน้าการลงทุนจากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าปีนี้ โดยเฉพาะการเริ่มลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นโครงการที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติได้อย่างดี
ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในพื้นที่ EEC ถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อภาพรวมของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่และยกระดับประเทศไทยให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ช่วยเสริมศักยภาพของการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้ก้าวหน้าขึ้น
อีกทั้งประเมินถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางการเติบโตขึ้นจากปีนี้จากการส่งออกที่ดีขึ้นตามทิศทางของการค้าและเศรษฐกิจโลกที่จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลัก เช่น สหรัฐอเมิรกา ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่การบริโภคในประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
" ปัจจัยที่ผลักดันดัชนี SET ให้เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นความมั่นใจในการลงทุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนใน EEC การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยในตอนนี้ แต่ระหว่างทางอาจจะเกิดความตะกุกตะกักเกิดขึ้น เพราะมีบางปัจจัยที่กดดัน เช่น การบริโภคในประเทศที่ยังไม่ได้ดีขึ้นอย่างเต็มที่ แต่เป็นลักษณะของการค่อย ๆ ดีขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นต้น"นายปริญญ์ กล่าว
สำหรับคำแนะนำในการลงทุนแนะนำนักลงทุนลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบได้ต่อเนื่อง อาทิ หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมียังมีความน่าสนใจลงทุน เพราะราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่ดี และส่วนต่างผลิตภัณฑ์ (สเปรด) มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม มีแนวโน้มที่ดีจากผลการดำเนินงานที่จะเริ่มกลับมาสดใสอีกครั้ง จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนใน EEC ที่จะเห็นการซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้หุ้นกลุ่มค้าปลีกเองก็ยัง เป็นหุ้นที่น่าสนใจจากการเติบโตดีตามภาคบริโภคที่ขยายตัว


บล.โกลเบล็ก  ชู แบงก์ -รับเหมา - นิคม - สื่อสาร ดาวเด่นปี61 


          บล.โกลเบล็ก มองว่าหุ้นไทยปี 2561 ได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ บวกกับเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวต่อเนื่องตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ให้กรอบดัชนี 1,655 -1,860 จุด แนะเก็งกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน- กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง- กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม - กลุ่มส่งออก - กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสื่อสาร ด้านราคาทองคำแนะนำให้เก็งกำไรในกรอบการแกว่งตัวทางเทคนิคระหว่าง 1,225-1,345 ดอลลาร์
          น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2561 ยังคงให้ความสำคัญกับปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวที่ระดับสูง หลังกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกเห็นพ้องขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันไปจนถึงปลายปี 2561 ประกอบกับกฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2561 และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี มูลค่าเงินลงทุน 1.5 พันล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี และการเมืองไทยเดินหน้าตาม roadmapที่นำไปสู่การเลือกตั้ง
          ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาพรวมการลงทุนในปี 2561 จากการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับ fund flow ในการตัดสินใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้น
          นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองสหรัฐที่อาจนำไปสู่การถอดถอนตำแหน่งประธานาธิดี และปัจจัยทางการเมืองยุโรปเองก็ยังบั่นทอนความมีเสถียรภาพของสหภาพยุโรปเป็นระยะ รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลีจากการทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ และความไม่สงบจากเหตุก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลางที่พร้อมจะปะทุได้ตลอดเวลา หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
          อย่างไรก็ตามมองว่าในปี 2561 ยังคงมีปัจจัยที่ต้องจับตาต่อ อาทิ ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะสามารถยืนที่ระดับสูงได้หรือไม่ หลังราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีกำลังการผลิต Shale Oil จากสหรัฐเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ - ยุโรปที่มีทิศทางเข้มงวดมากขึ้นหลังจากระดับอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมาย และปัจจัยการเมือง - สหรัฐ - ยูโรโซน-ประเทศไทยว่ายังมีเสถียรภาพหรือไม่ 
          ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด ประเมินว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2561 จะแกว่งตัวในกรอบ 1,655-1,860 จุด บนสมมติฐานระดับ PER 16 - 18 เท่า และคาดการณ์ระดับ EPS Growth ที่ราว 11.5%
          ทั้งนี้ แนะนำเก็งกำไรในกลุ่มธนาคารและการเงิน แนะนำ KBANK KTB TMB MTLS SAWAD และ THANI เนื่องจากการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้มีความต้องการเงินลงทุนเพื่อใช้ในโครงการต่างๆ รวมทั้งการขยายกำลังการผลิต กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แนะนำ CK และ SEAFCO ที่ได้ประโยชน์การงานก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหนุน backlog เติบโตแข็งแกร่ง
          นอกจากนี้ยังแนะนำเก็งกำไรในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แนะนำ AMATA และ WHA ซึ่งประกอบกิจการในเขตพื้นที่อีอีซี กลุ่มส่งออก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ได้รับอานิสงส์จากยอดขายรถยนต์ในประเทศฟื้นตัว และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน แนะนำ DELTA และกลุ่มสื่อสารมีการเปิดประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz แนะนำ ADVANC และ TRUE
         ---จบ---
       

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

Microsoft ลงทุนไทย By: แม่มดน้อย

ภาพรวมหุ้นไทยในภาคเช้าที่ผ่านมา แกว่งตัวซิกแซกขึ้น สงสัยตอบรับข่าวดี Microsoft ลงทุนไทย....

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้