Today’s NEWS FEED

สัมภาษณ์/รายงานพิเศษ

7 เรื่องน่ารู้ "มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล MGI" หุ้นไอพีโอน้องใหม่

22,616

               ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตแบบคำเสนอขายหลักทรัพย์ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) แก่ บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) แล้ว ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการต่อไป เช่น กำหนดราคา, เปิดจองซื้อ และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะพาไปทำความรู้จักกันก่อนว่าบริษัทนี้ที่มาอย่างไร ดำเนินธุรกิจอะไร ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร รวมถึงผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมีใครบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

1.ที่มา

                บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) ก่อตั้งเมื่อ 6 พ.ย.56 โดย "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" และ "รัชพล จันทรทิม" ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจจัดประกวดนางงามทั้งระดับในประเทศและระดับต่างประเทศ จนปัจจุบันต่อยอดธุรกิจจนแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce), ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ (Pageant), ธุรกิจสื่อ/บันเทิง (Media and X-Periences) และธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Talent)

                ทั้งนี้เมื่อ 30 พ.ย.63 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ จากนั้น 11 มี.ค.65 เพิ่มทุนอีกครั้งเป็น 75 ล้านบาท และ 8 ม.ย.65 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จาก 100 บาทต่อหุ้น เป็น 0.50 บาทต่อหุ้น พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้งเป็น 105 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 60 ล้านหุ้น พาร์ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายไอพีโอ ซึ่งหลังการเสนอขายแล้วเสร็จ บริษัทจะมีจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นเป็น 210 ล้านหุ้น จากเดิม 150 ล้านหุ้น

 

 

2.โครงสร้างธุรกิจ

                ปัจจุบัน MGI ดำเนินธุรกิจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

                1.ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) : จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งสินค้าที่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ได้แก่ Miss Grand, MGI และ NangNgam รวมถึงสินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ซึ่งสินค้าจะประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย, กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล, กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอม, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริม

                2.ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ (Pageant) : จัดประกวดนางงามทั้งระดับในประเทศและระดับต่างประเทศ โดยการประกวดนางงามในประเทศเพื่อค้นหาผู้หญิงไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสม มาดำรงตำแหน่ง "มิสแกรนด์ ไทยแลนด์" เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดเวทีระดับนานาชาติต่อไป

                3.ธุรกิจสื่อและบันเทิง (Media and X-Periences) : แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจสื่อ (Media) จะซื้อเวลาออกอากาศ (Airtime) รายการที่มีชื่อเสียงตามสื่อโทรทัศน์ และจำหน่ายช่วงเวลาออกอากาศให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจจะโฆษณาสินค้า รวมถึงผลิตรายการผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย เช่น Youtube, TikTok, Facebook, Instragram และ Netflix เป็นต้น

                สำหรับธุรกิจบันเทิง (X-Periences) เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้กลุ่มลูกค้าได้มีส่วนร่วมกับนางงามและศิลปินของบริษัท เช่น การจัดคอนเสิร์ต "อิงฟ้ามหาชน", "MGT x ระเบียบวาทศิลป์" และกิจกรรม "Meet & Greet" เป็นต้น โดยรายได้หลักจากธุรกิจบันเทิงจะมาจากรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดง รวมถึงค่าสมาชิกในการสมัครเข้าชมการแสดงของบริษัทบนแพลทฟอร์ม Facebook นอกจากนี้มีการถ่ายทำซีรีย์เพื่อออกอากาศช่องทาง Youtube ภายใต้ชื่อ GrandTV อาทิ "Show Me Love" ซึ่งมีรายได้จากการขายค่าสมาชิกรายเดือนให้ผู้ที่สมัครสมาชิกสามารถเข้าชมซีรีย์

               4.ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Talent) บริษัทจะทำสัญญากับผู้ชนะการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์, ผู้ได้รับอันดับรองลงมา และผู้ชนะมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นศิลปินในสังกัดของบริษัทเพื่อปฎิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายตามที่บริษัทจัดหางานมาให้ ได้แก่ งานรีวิวสินค้า งานพิธีกร งานโชว์ตัว งานเดินแบบ งานแสดงภาพยนตร์ เป็นต้น

 

3.โครงสร้างรายได้และผลการดำเนินงาน

                สำหรับโครงสร้างรายได้ของ MGI ณ สิ้นปี 65 มาจาก ธุรกิจพาณิชย์ 118.83 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.96%, ธุรกิจประกวดนางงาม 71.66 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.40%, ธุรกิจสื่อและบันเทิง 68.52 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 21.42%, ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 63.09 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.73% และรายได้อื่น ๆ 4.76 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.49 ล้านบาท

                ด้านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (63-65) มีรายได้ 338.76 ล้านบาท, 344.93 ล้านบาท และ 319.61 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีกำไรสุทธิ 44.81 ล้านบาท, 29.01 ล้านบาท และ 47.85 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ไตรมาส 1/66 มีรายได้ 83.03 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 9.22 ล้านบาท

                ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/66 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 219.80 ล้านบาท, หนี้สินรวม 122.58 ล้านบาท, ส่วนผู้ถือหุ้นรวม 97.22 ล้านบาท, อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น 1.26 เท่า, อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ 15.12% และ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 30.38%

     

        

4.รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่

                MGI มี ผู้ถือหุ้นใหญ่เพียง 3 ราย ก่อนขายไอพีโอ ประกอบด้วย

                1.ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ถือหุ้นจำนวน 90 ล้านหุ้น สัดส่วน 60%

                2.รัชพล จันทรทิม ถือหุ้นจำนวน 59.99 ล้านหุ้น สัดส่วน 39.99%

                3.นพวรรณ จุลเจือ ถือหุ้นจำนวน 200 หุ้น สัดส่วนต่ำกว่า 0.01%

                โดยหลังจากการขายหุ้นไอพีโอ "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" จะเหลือสัดส่วนถือหุ้น 42.86%, "รัชพล จันทรทิม" เหลือถือ 28.56%, "นพวรรณ จุลเจือ" ถือต่ำกว่า 0.01% เท่าเดิม และจะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มมา 60 ล้านหุ้น สัดส่วน 28.57%

 

5.รายชื่อผู้บริหาร

                ณ 31 มี.ค.66 บริษัทมีผู้บริหารและกรรมการรวม 7 ราย ดังนี้

                1.ดร.มนัส โนนุช : ประธานกรรมการ/กรรมการอิสระ

                2.รศ.สุชาติ เหล่าปรีดา : ประธานกรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ/กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน/กรรมการบริหารความเสี่ยง

                3.ดร.วิเชียร ชุบไธสง : กรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

                4.ผศ.ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ : กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ

                5.นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล : กรรมการ/ประธานกรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

                6.นายรัชพล จันทรทิม : กรรมการ/กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน/ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง/กรรมการบริหาร/รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

                7.นายศักดิ์สิทธิ์ บุญวานิช : กรรมการ/กรรมการบริหารความเสี่ยง/กรรมการบริหาร/ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน

 

6.รายละเอียดการเสนอขายหุ้นไอพีโอ

                MGI เสนอขายหุ้นไอพีโอ 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาทต่อหุ้น โดยมี บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด และ นาย ชัยสิทธิ์ เล่าเรียนดี เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ณ 31 มี.ค.66 มูลค่าทางบัญชีของบริษัท (Book Value) อยู่ที่ 0.65 บาทต่อหุ้น โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai หมวดธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งล่าสุด ก.ล.ต.อนุญาตแบบคำเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว

 

7.วัตถุประสงค์การระดมทุน

                สำหรับเงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ บริษัทจะนำไป ลงทุนซื้ออาคารและดำเนินการปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารสำนักงานใหม่ ประมาณ 165 ล้านบาท, พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า และผลิตรายการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ในทุกช่องทาง ประมาณ 50 ล้านบาท, พัฒนาขีดความสามารถของระบบสารสนเทศ (Information Technology) ประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

เก็งกำไรงบ บจ. By : นายกล้วยหอม

นายกล้วยหอม มองห้วงการเก็งกำไร ประเด็นงบไตรมาสแรกปีนี้ น่าจะเป็นสตอรี่ที่นักลงทุน ให้น้ำหนักการเก็งกำไร หรือ แม้งบอาจ...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้