Today’s NEWS FEED

สัมภาษณ์/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ : เมย์แบงก์ รุกทุกมิติ

26,544

 

25 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ดีเดย์เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ชื่อย่อ MST จากเดิม MBKET "อารภัฏ สังขรัตน์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST (Maybank Securities Thailand) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการรวมความแข็งแกร่งทุกด้าน ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ และความสามารถของเมย์แบงก์ทั่วทั้งภูมิภาคจะถูกผนึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน

และสำหรับเมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ภายใต้การนำของ "อารภัฏ สังขรัตน์"  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตในทุกมิติให้กับกลุ่มเมย์แบงก์  และตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจการลงทุนชั้นนำในระดับภูมิภาค 

"ผมคิดว่าเมืองไทย เป็นประเทศที่สำคัญมากในภูมิภาคเซาธ์อีสท์เอเชีย ซึ่งทางกลุ่มเมย์แบงก์ก็ให้ความสำคัญมากที่สุด สำหรับเป้าหมายระยะยาวในอีก 3 ปี เรื่อง Institutional brokerage เมืองไทยจะใหญ่กว่ามาเลเซีย รวมถึงเมืองไทยยังเป็น Innovation Hub ของหลายประเทศในกลุ่มเมย์แบงก์" นายอารภัฏ กล่าว

 

 

ทั้งนี้ "อารภัฏ สังขรัตน์" เข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่คุมเมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ในตำแหน่ง CEO และกรรมการบริหาร เมื่อ 31 สิงหาคม 2564 ด้วยชั่วโมงบินไม่ธรรมดา สั่งสมประสบการณ์การทำงานในธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร และการให้คำปรึกษาด้านการจัดการกับบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมานานกว่า 24 ปี เคยทำงานมาแล้วใน 5 ประเทศทั้งในเอเชียและสหรัฐอเมริกา อารภัฏยังดำรงตำแหน่งในระดับภูมิภาคเป็น Regional Head of Transformation ของ Maybank Investment Banking Group อีกด้วย

เขาเล่าให้ทีมข่าวหุ้นอินไซด์ฟังด้วยความเป็นกันเองว่า เมย์แบงก์ถือเป็นองค์กรที่มีฐานลูกค้าอยู่ทุกมุมโลก ด้วยเครือข่ายที่แข็งแกร่งและเป็นแบรนด์ใหญ่ไม่แพ้โบรกเกอร์รายอื่นๆ  ดังนั้นเราต้องรักษาจุดแข็งในส่วนนี้ ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็ยังให้ความสำคัญกับลูกค้าในทุกๆกลุ่ม โดยมุ่งมั่นตามเจตนารมณ์ขององค์กรในการช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับลูกค้าทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีฐานเงินลงทุนเท่าไหร่ก็ตาม หรือ “Making Social Impact” ให้กับการลงทุนของทุกกลุ่มในสังคม

แม้ปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์จะมีคู่แข่งค่อนข้างมากในตลาด ซึ่งทั้งหมดต่างก็ต้องพยายามปรับตัวและพัฒนาระบบขององค์กรให้รองรับต่อพฤติกรรมของกลุ่มนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มโบรกเกอร์ที่พร้อมปรับเปลี่ยนนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มบริษัทโบรกเกอร์ที่มีงบลงทุนสูง สามารถขยายองค์กร มีศักยภาพในการพัฒนาระบบดิจิทัล และสามารถรับความเสี่ยงได้สูง 2.กลุ่มบริษัทโบรกเกอร์ขนาดเล็ก ที่มีงบลงทุนน้อย จากขนาดบริษัทและต้นทุนการดำเนินงาน แต่ก็พร้อมที่จะใช้งบลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้รองรับกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต 

สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2565 แม่ทัพใหญ่เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ประเมินว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน แต่ธุรกิจโบรกเกอร์เป็นธุรกิจที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ นอกจากนี้ยังมองเห็นการเติบโตของธุรกิจโบรกเกอร์อย่างมีนัยสำคัญในทุกๆประเทศ ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของนักลงทุนภายหลังที่มีการ Work From Home เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป มีเวลาว่างอยู่กับตัวเองมากขึ้น จึงสามารถใช้เวลาในการศึกษารวมถึงกำลังทรัพย์ที่มี เข้าลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม ภาพการลงทุนในปีนี้ก็เริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปจาก 2 ปีที่ผ่านมา จากการเริ่มปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 ได้บ้างแล้ว ประกอบกับมีปัจจัยใหม่ๆที่ก่อให้เกิดความกังวลของนักลงทุน เช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่สร้างผลกระทบและความกังวลในวงกว้างทั่วโลก และอีกหลายปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ ส่งผลให้จิตวิทยาของนักลงทุนในปีนี้อาจเป็นไปในทิศทางของการชะลอการลงทุน หรือเพิ่มการตัดสินใจที่มากขึ้นในการเข้าลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง

แต่ในสถานการณ์ดังกล่าว ก็ยังมีผลดีกับภาคธุรกิจโบรกเกอร์ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเมย์แบงก์เป็นผู้ที่มีความเข้าใจและความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้ลูกค้าเห็นความสำคัญต่อโบรกเกอร์มากขึ้น  โดยเชื่อว่าการได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีความเข้าใจการลงทุนทั้งในไทยและตลาดทุนทั่วโลก จะเป็นข้อได้เปรียบทางการลงทุนที่เหนือกว่าคนอื่นๆ

 

 

ด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ในปี 2565 นั้น บริษัทฯ มีแผนออกดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆได้ครบใน Application เดียว ทั้ง หุ้น, กองทุน, ตราสารหนี้  และอื่นๆมากมายที่เป็นการลงทุนต่างๆทั่วโลก หรือที่เราเรียกว่า “Digital Wealth” เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดใช้บริการได้อย่างเป็นทางการภายในช่วงไตรมาส 3/2565

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารรายใหญ่ระดับโลก ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับลูกค้าของเมย์แบงก์ที่อยู่ในกลุ่ม “Global Mutual Fund” ให้มี Portfolio ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองสไตล์การลงทุนของลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นความชัดเจนและประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 2/2565

นายอารภัฏ กล่าวเสริมว่า  เมย์แบงก์  (ประเทศไทย) ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโตต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 20% ด้วยการผลักดันและการเติบโตในทุกๆ ด้าน  พร้อมขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นทั้งในส่วนของ Institutional brokerage, ขยาย Derivatives, รุกธุรกิจ Offshore, ต่อยอดธุรกิจ Wealth ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา  พร้อมกับพัฒนา  Innovation ใหม่ๆ  โดยการลงทุนในเทคโนโลยี เสริมทีม New Generation ที่สามารถทำงานร่วมกับทีมงานเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนผสมของ DNA ใหม่ที่ลงตัว

"ผมคิดว่ามาร์เก็ตแชร์ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ตอนนี้แนวคิดเรื่องการลงทุนของลูกค้าเปลี่ยนไปมาก ไม่ได้เน้นเรื่องลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะกระจายการลงทุนไปในผลิตภัณฑ์และทางเลือกในการลงทุนอื่นๆที่มีอยู่ในตลาดมากมายหลายประเภท ซึ่งบริการของเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่เราต้องการเห็นก็คือ การเป็นที่ 1 ในใจของลูกค้า เราหวังจะให้เมย์แบงก์เป็นชื่อแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่อต้องการลงทุน ผมมองว่านั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า" นายอารภัฏ กล่าว

 

 

ด้าน นางสาวเนธิตา กระบวนรัตน์  รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายลูกค้าสถาบัน ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของบริการของผู้ลงทุนสถาบัน เมย์แบงก์ได้ตอบสนองความต้องการลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มได้เป็นอย่างดี คือ 1) กลุ่มสถาบันในประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าสถาบันครอบคลุมกว่า 90% อาทิ กลุ่มลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.), บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.), บริษัทประกันภัย ,บริษัทประกันชีวิต, ธนาคาร, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), บริษัทเอกชนต่างๆ  เป็นต้น โดยการให้บริการลูกค้าสถาบันในประเทศจะประกอบด้วย 1.การลงทุนหุ้นในประเทศไทย 2.ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมองเห็นการเติบโตกว่า 100% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเทรนด์ของตลาดนักลงทุนสถาบันในประเทศไทยตอนนี้มีการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศอย่างมาก และทางเมย์แบงก์ก็มีแพลตฟอร์มเพื่อให้ลูกค้าสามารถเทรดได้ทุกตลาดเกือบทั่วโลก    2) กลุ่มลูกค้าสถาบันต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้บริษัทฯ มีสาขาการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และในแถบอเมริกา ราว 10 ประเทศ ทำให้ลูกค้ามีความหลากหลาย โดยสิ่งที่เป็นเป้าหมายสำหรับปีนี้คือ เมย์แบงก์ต้องการที่จะขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศและสถาบันต่างประเทศให้เติบโตไปพร้อมๆกัน 

ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มงานลูกค้าสถาบัน เมย์แบงก์ได้วางเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยอย่างน้อย10% ต่อปี รวมทั้งตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มงานนี้จะมีการเติบโตขึ้นเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของกลุ่มการลงทุนในเมย์แบงก์ทั่วโลก จากปัจจุบันเมย์แบงก์ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 3 (อันดับที่1 ได้แก่ เมย์แบงก์มาเลเซีย และอันดับที่ 2 ได้แก่ เมย์แบงก์สิงคโปร์)

 

 

สำหรับ Investment Banking หรือ “วาณิชธนกิจ”  โดย นายธีร์ จารุศร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ กล่าวว่า ในปีนี้เมย์แบงก์มีดีล IPO  จำนวน 4  บริษัท ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง,  ธุรกิจอาหารเสริม, ไฟแนนซ์, ทรานส์สปอร์ต  มูลค่าประมาณ  6,000-10,000 ล้านบาท  โดยมองว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรม IB  ยังมีความต้องการด้านการระดมทุน  แม้ช่วงต้นปีจะมีสถานการณ์ปัจจัยเรื่องสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเข้ามาส่งผลต่อเซนติเมนท์ ขณะที่มองว่าหุ้นใหม่ๆ ที่เข้ามาจดทะเบียนขนาดธุรกิจใหญ่ๆ จะน้อยลง ในขณะเดียวกันหุ้นใหม่ขนาดเล็กจะเพิ่มขึ้น และ Growth ไปได้สูง  นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจด้านเทคโนโลยีรอคิวเข้ามาในตลาดทุนมากขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ M&A หรือ การควบรวมกิจการ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสมัยนี้การเติบโตด้วยตัวเองอาจจะยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการซื้อขายหรือหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ  โดยที่บริษัทฯ มีการจัดหาเงินกู้สำหรับการซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศให้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศให้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย นายธีร์ กล่าวเพิ่มเติม 

"Maybank Securities (Thailand) ในยุคใหม่ ที่นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อแล้ว ยังได้มีการปรับเปลี่ยน Strategy ภายในองค์กรอย่างมีนัยสำคัญด้วย จะเห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราเสริมทัพความแข็งแกร่งในสายงานต่างๆด้วยการต้อนรับ Management ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาเสริมทีม วางกลยุทธ์องค์กรใหม่ จากที่เคยมุ่งเน้นการลงทุนใน Equity ก็ขยายการให้บริการที่กว้างขึ้น และหลายหลายมากขึ้น ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ รองรับความต้องการของนักลงทุนได้ทุกกลุ่ม ทุกสไตล์  ในขณะที่กลุ่มเมย์แบงก์ ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยวางให้ประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลาง (Innovation Hub) ในส่วนงานต่างๆ อาทิเช่น  “Digital Wealth Platform” ที่เราพัฒนาขึ้น  ผมมองว่า เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ในวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และอีกสิ่งที่เราต้องการเห็นก็คือ การให้เมย์แบงก์เป็นชื่อแรกที่ลูกค้านึกถึง (First to Mind) และมั่นใจที่จะมาลงทุนกับเรา ด้วยความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งขององค์กรและความเชี่ยวชาญของทีมงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มายาวนาน"  นายอารภัฏ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับท่านที่สนใจเปิดพอร์ตเพื่อการลงทุน โปรดติดต่อได้ที่ https://bit.ly/Maybank_Open_MST

หรือ ติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ โทร 0-2658-5050 อีเมล mst.clientservice@maybank.com

www.maybank.com/investment-banking/th   

----จบ----

By: อณุภา ศิริรวง , สิริวัฒนา กลางประพันธ์

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

ติดตาม By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ หลังจาก นายกฯคุยกับนายแบงก์ วันนี้ สมาคมธนาคารไทย ก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้