Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ส่งออกยุโรป 8 เดือนแรกเติบโต22.4%(YoY)แต่ช่วงที่เหลือของปี’54 อ่อนแรงลงคาดทั้งปีขยายตัว16-20%(YoY)

1,660

ส่งออกยุโรป 8 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 22.4 (YoY)...แต่ช่วงที่เหลือของปี’54 อ่อนแรงลง คาดทั้งปีขยายตัวร้อยละ 16-20 (YoY)

By: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน การส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 เติบโตได้ดีเกินคาดในอัตราร้อยละ 22.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจหลักยุโรปที่ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี แต่ในช่วงที่เหลือของปี 2554 ไทยอาจเผชิญแรงกดดันด้านการส่งออกมากขึ้นจากปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรป ประกอบกับล่าสุด IMF ได้เผยแพร่รายงาน  World Economic Outlook เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2554 โดยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2554 ของสหภาพยุโรป (EU27) และยูโรโซน (Eurozone) ลงเหลือขยายตัวร้อยละ 1.7 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ (จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในอัตราเดียวกันที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเดือนมิถุนายน 2554) นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2555 ลงด้วย  โดยคาดว่าเศรษฐกิจ EU27 จะขยายตัวร้อยละ 1.4 (จากเดิมร้อยละ 2.1) และเศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.1 (จากเดิมร้อยละ 1.7) สะท้อนทิศทางเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปที่เปราะบางมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2554 ให้เติบโตชะลอลงได้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าเศรษฐกิจยุโรปอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงมากกว่าที่คาดการณ์ดังกล่าวข้างต้น

เศรษฐกิจยุโรป...ทิศทางขาลงในช่วงที่เหลือของปี ’54 และปี ’55
ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2554 นี้ เศรษฐกิจ EU27 และยูโรโซน มีแนวโน้มเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาวิกฤติหนี้ที่เลวร้ายลงทั้งในมิติของขนาดความรุนแรงและผลกระทบที่มีโอกาสแผ่ขยายไปทั่วยุโรป ได้สร้างความผันผวนในตลาดเงินจนส่งผลฉุดรั้งการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริงให้ย่ำแย่ลงไปด้วย ทั้งนี้ ประเทศที่มีปัญหาในเชิงโครงสร้างจะมีการชะลอตัวลงชัดเจนกว่าและอาจถึงขั้นเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะอิตาลีที่มีสัดส่วนหนี้สูงเป็นอันดับสองของ EU27 ที่ร้อยละ 119 ของ GDP ในปี 2553 (รองจากกรีซที่อยู่ในระดับร้อยละ 142.8 ของ GDP) และสเปน ที่มีปัญหาในตลาดแรงงานโดยมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงสุดของ EU27 (ล่าสุดแตะร้อยละ 21.2 ในเดือนกรกฎาคม 2554) ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ก็มีทิศทางขยายตัวชะลอลงชัดเจนขึ้น โดยดัชนีเศรษฐกิจของเยอรมนีสะท้อนการชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรงนับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ไตรมาส 3 ซึ่งล่าสุดในวันที่ 22 กันยายน 2554 Markit Economic ได้เผยแพร่ดัชนี PMI Composite Output Index ของเยอรมนีเดือนกันยายน 2554 พบว่า ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.8 (จากระดับ 51.3 ในเดือนสิงหาคม) ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน ทั้งยังมีแนวโน้มเข้าใกล้ภาวะหดตัวมากขึ้น (ดัชนีที่มีค่าต่ำกว่า 50 ถือว่าหดตัว) สอดคล้องกับดัชนีคำสั่งซื้อของยูโรโซนที่ปรับตัวลดลงและเข้าสู่ภาวะหดตัวที่ระดับ 49.2 (จากระดับ 50.7 จากเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552  สัญญาณความอ่อนแรงของเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนี ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทยไปยังภูมิภาคยุโรปตามมาได้ ไม่เพียงแต่สินค้าส่งออกเพื่อรองรับภาคการผลิตที่ได้รับผลจากการปรับตัวชะลอหรือลดคำสั่งซื้อของภาคการผลิตยุโรป  แต่ยังครอบคลุมถึงสินค้าส่งออกด้านอุปโภคบริโภค ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดของหลายประเทศยุโรปเพื่อลดยอดขาดดุลการคลังที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นใช้มาตรการลดการจ้างงานและเพิ่มการจัดเก็บภาษี อีกทั้งตลาดแรงงานในยุโรปส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันจะมีผลบั่นทอนอำนาจซื้อของตลาดผู้บริโภคในยุโรปที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผลกระทบต่อการส่งออกไทย
ภาพรวมส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี ’54 ยังเติบโตร้อยละ 22.4 (YoY)
ตลาด EU27 ยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทย แต่มีสัดส่วนในโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยลดลงจากร้อยละ 13.2 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2551 เหลือร้อยละ 10.8 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 นี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นการกระจายตลาดส่งออกของไทยไปยังตลาดส่งออกอื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในตลาดยุโรป ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 มูลค่าส่งออกของไทยไปยังตลาด EU27 อยู่ที่ 17,109.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยได้อานิสงส์มูลค่าส่งออกไปตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น อาทิ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเติบโตร้อยละ 42.1 (YoY)  เยอรมนี ร้อยละ 25.6 (YoY) สหราชอาณาจักร ร้อยละ 14.3 (YoY) ฝรั่งเศส ร้อยละ 19.0 (YoY) และ อิตาลี ร้อยละ 14.3 (YoY) ตามลำดับ สำหรับประเทศที่ประสบวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน อาทิ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส รวมถึงสเปนและอิตาลี หรือกลุ่ม PIIGS ที่มีความเสี่ยงด้านภาระหนี้ในระดับสูงและมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากนั้น พบว่า ไทยยังส่งออกไปตลาด PIIGS เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 (YoY) เป็นมูลค่า 1,329.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ดี ตลาด PIIGS เป็นตลาดที่ไทยมีการส่งออกไปไม่มากนักด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 1.66 ของส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 (ลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 1.8 ในปี 2553) จึงยังไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกของไทย

มูลค่าส่งออกไทยไป EU27 เดือนสิงหาคมเริ่มบันทึกยอดหดตัว
อย่างไรก็ดี มูลค่าส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป (EU27) เดือนสิงหาคม 2554 ได้ส่อทิศทางอ่อนแรงลง โดยหดตัวลงร้อยละ 3.04 (MoM) จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.05 (MoM) ในเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน บ่งชี้ถึงการเริ่มเข้าสู่ภาวะอ่อนแรงของการส่งออกไปยังตลาดยุโรป และคาดว่าจะอยู่ในทิศทางที่อ่อนแรงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2554 จากสัญญาณชะลอตัวในภาคการผลิตของประเทศยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี โดยกลุ่มสินค้าที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (หดตัวลงร้อยละ 2.63, MoM) ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (สัดส่วนส่งออกร้อยละ 6.2 ของการส่งออกไป EU27ในเดือนสิงหาคม, ลดลงร้อยละ 14.5 (MoM) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วนร้อยละ 3.9, ลดลงร้อยละ 4.6 และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2) เครื่องนุ่งห่ม (สัดส่วนร้อยละ 3.8, ลดลงร้อยละ 17.0 และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ (สัดส่วนร้อยละ 3.7, ลดลงร้อยละ 20.6) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (สัดส่วนร้อยละ 1.8, ลดลงร้อยละ 33.6) รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ยางพารา (สัดส่วนส่งออกร้อยละ 3.4, ลดลงร้อยละ 6.4) เลนซ์ (สัดส่วนร้อยละ 1.8, ลดลงร้อยละ 21.9) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (สัดส่วนร้อยละ 1.6, ลดลงร้อยละ 13.5) และรองเท้าและชิ้นส่วน (สัดส่วนร้อยละ 1.5, ลดลงร้อยละ 5.9 และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2) ซึ่งสินค้าดังกล่าวมาข้างต้นอยู่ในรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 20 อันดับแรกด้วยสัดส่วนรวมราวร้อยละ 27.6 ของการส่งออกของไทยไป EU27 ในเดือนสิงหาคม

สินค้าพึ่งพาตลาดยุโรปหลายรายการอาจเผชิญแรงกดดันชะลอตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปตลาด EU27 หลายรายการเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนสูงในการส่งออกของไทยโดยรวม หรืออาจกล่าวได้ว่าไทยค่อนข้างพึ่งพาตลาดยุโรป ที่สำคัญอาทิ สินค้าหมวดอาหาร เช่น ไก่แปรรูป ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น  สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ รถจักรยานและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

โดยสรุป การส่งออกในช่วงที่เหลือของไทยไปตลาดยุโรปโดยรวม อาจชะลอตัวลงจากภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปที่ยังอ่อนแอ ทั้งยังมีปัจจัยฉุดรั้งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซ ที่ยังคงเป็นประเด็นและมีความไม่แน่นอนว่าจะยุติในรูปแบบใด ซึ่งได้สร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจยุโรปและตลาดโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้พิจารณาแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2554 ใน 2 กรณี คือ     

-กรณีที่ 1 เศรษฐกิจยุโรป (EU27) ยังสามารถขยายตัวได้ในอัตราใกล้เคียงกับที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.6-1.7 และปัญหาวิกฤติหนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่แผ่ขยายไปในวงกว้างออกไปจากปัจจุบันที่มีประเทศที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่ม PIIGS คาดว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปยุโรปในปี 2554 น่าจะขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 16-20 แต่การขยายตัวอาจชะลอลงเป็นเพียงตัวเลขหลักเดียวในปี 2555

- กรณีที่ 2 เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอการขยายตัวอย่างรุนแรงจนเข้าสู่ภาวะถดถอย และปัญหาวิกฤติหนี้ได้แผ่ขยายไปในวงกว้าง ภาพรวมการส่งออกของไทยไปยุโรปในปี 2554 น่าจะขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 13-18 และอาจเห็นการเติบโตที่ติดลบในปี 2555

ทั้งนี้ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีทิศทางขาลงและยืดเยื้อในระยะยาว อาจครอบคลุมสินค้าหลายรายการที่ไทยพึ่งพาตลาดยุโรปเป็นหลัก อาทิ สินค้ากลุ่มอาหาร เช่น ไก่แปรรูป ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ รถจักรยานและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจครอบคลุมถึงสินค้าที่เคยพึ่งพากำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดยุโรป อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ และยังอาจกระทบถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ จากมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มข้นมากขึ้นและตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้น ซึ่งยิ่งบีบคั้นอำนาจใช้จ่ายของชาวยุโรปลงไปอีก  ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น  เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปรอบใหม่นี้ อาจส่งผลในหลายภาคส่วนเศรษฐกิจมากขึ้น และผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ทำให้อาจเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการจับกลุ่มลูกค้าเดิมและมองหาลูกค้าใหม่ โดยควรเน้นในการบริหารต้นทุนการจัดการและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน ศึกษาตลาดและฐานะสภาพคล่องของลูกค้า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนปรับกลยุทธ์การส่งออกและรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับลักษณะความต้องการผู้บริโภคที่มีความมัธยัสถ์มากขึ้น

บทความล่าสุด

Microsoft ลงทุนไทย By: แม่มดน้อย

ภาพรวมหุ้นไทยในภาคเช้าที่ผ่านมา แกว่งตัวซิกแซกขึ้น สงสัยตอบรับข่าวดี Microsoft ลงทุนไทย....

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้