Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

การประชุม 20-21 ก.ย. 2554คาดเฟดคงดอกเบี้ย และอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

1,849

การประชุม 20-21 ก.ย. 2554คาดเฟดคงดอกเบี้ย และอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ในวันที่ 20-21 กันยายน 2554 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะมีการประชุมรอบที่หกของปี 2554 เพื่อตัดสินใจนโยบายการเงิน โดยเฟดได้มีการขยายระยะเวลาการประชุมเป็น 2 วัน เพื่อพิจารณาถึงมาตรการต่างๆ ที่อาจจำเป็น หลังจากเฟดได้ให้คำมั่นที่จะคง อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ต่อเนื่องถึงกลางปี 2556 ในการประชุม FOMC รอบก่อนหน้าเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อผลการประชุมของเฟดในรอบที่จะถึงนี้ ดังนี้

เฟดอาจพิจารณาดำเนินมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องและมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะออกมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติม ในภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น โดยเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่ามีโอกาสมากขึ้น (จาก 33% เป็น 40%) ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

พัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ภาพไปในเชิงลบมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนจากเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ซึ่งทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เข้ามากระทบ อาทิ ปัจจัยทางการเมืองของสหรัฐฯ การถูกปรับลดอันดับเครดิต ตลอดจนปัญหาหนี้ในยูโรโซนที่เลวร้ายลงอย่างมาก ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งผู้บริโภค และผู้ผลิต โดยส่งผลให้ผู้ผลิตมีการชะลอการผลิต การลงทุน และการจ้างานออกไป ในขณะที่ผู้บริโภคก็มีการชะลอการบริโภคท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ อันจะเห็นได้จาก ตัวเลขเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกในสหรัฐฯ ในเดือน สิงหาคม ที่ไม่มีการขยายตัว (+0%)  ในขณะที่หากมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องเชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะประเด็นการปรับลดการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มมีผลในปี 2556 ( ค.ศ.2013) เป็นต้นไป

การผลิตสหรัฐฯ มีทิศทางที่ไม่ค่อยสดใส
ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้อาจจะดูค่อนข้างย่ำแย่ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่น่าจะถึงภาวะถดถอยในปีนี้ ขณะที่แถลงการณ์ที่การประชุมธนาคารกลางโลก ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังในปีนี้ น่าจะให้ภาพการขยายตัวที่ดีกว่าครึ่งแรกที่ผ่านมา โดยพัฒนาการล่าสุดพบว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. ขยายตัว 0.2% ในขณะที่เครื่องชี้นำเศรษฐกิจก็ให้ภาพที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง ซึ่งถ้าหากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจกลับคืนมา ก็คงน่าจะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะถดถอยในปีหน้าน่าจะลดลง

ประเด็นทางการคลัง...ยังเป็นปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจสหรัฐฯ
จากพัฒนาการการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ให้ภาพการขยายตัวที่อ่อนแรงลงอย่างมาก โดยการจ้างงานภนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (+0K) ในเดือนสิงหาคม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเด็นทางการเมืองในการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ โดย S&P แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาการว่างงานของสหรัฐฯ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งคงต้องใช้เวลานานในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ในวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โอบามา จึงได้มีการแถลงถึงแผนการสร้างงาน (Obama’s Jobs Plan) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 447 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยเป็นการลดภาษี ให้กับบริษัทที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งมุ่งเน้นการสร้างงานด้านการศึกษา การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการให้ความช่วยเหลือกับคนอเมริกันในช่วงหางาน  ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ในหลักการ หากดำเนินการได้ตามแผน น่าจะช่วยฟื้นฟูตลาดแรงงานที่ย่ำแย่ให้ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงกระตุ้นจีดีพีสหรัฐฯ ได้ประมาณ 2% ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม แผนการสร้างงานของโอบามาอาจเผชิญกับอุปสรรคเนื่องจากจะต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส ท่ามกลางปัจจัยการเมืองที่ยังคงร้อนแรงในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พฤศจิกายน 2555 ขณะที่การผ่านกฎหมายของสภา คองเกรสมีสัดส่วนที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ตลาดก็คงไม่สามารถคาดหวังในประสิทธิผลของแผนการสร้างงานของโอบามาในระดับสูง


นอกจากนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องติดตาม แผนการปรับลดการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดว่าจะต้องมีการเสนอสภาคองเกรสภายในวันที่ 23 พ.ย. 54 และจะต้องลงมติให้ได้ภายใน 15 ม.ค. 55 (หากไม่สามารถทำได้ การตัดลดรายจ่ายในรายการที่กำหนดไว้จะถูกปรับลดโดยอัตโนมัติในมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) ตลอดจนรายละเอียดในการปรับลดงบประมาณ ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด

สภาวะการปล่อยสินเชื่อในสหรัฐฯ ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
สภาวะการปล่อยสินเชื่อในสหรัฐฯ ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยพบว่าธนาคารสหรัฐฯ ยังมีความเข้มงวด (Tighten) ที่จะปล่อยสินเชื่อ อันจะเห็นได้จากผลสำรวจสภาวะการปล่อยสินเชื่อที่อยู่ในแดนลบ (แสดงถึงความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) ในขณะที่ปริมาณการถือเงินสดของธนาคารสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ คดีฟ้องร้องสถาบันการเงินสหรัฐฯ เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพสินทรัพย์จำนองที่สูงเกินจริง การถูกปรับลดอันดับเครดิตของรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจน ปัญหาหนี้ในยุโรปที่อาจจะลุกลามไปยังสถาบันการเงินสหรัฐฯ โดยจากรายงานล่าสุดของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)  สหรัฐฯ ถือครองทรัพย์สินในธนาคารยุโรปประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยมีธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้อง (Exposures) กับธนาคารในยุโรปสูงถึงประมาณ  2.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2553 โดยหากสถานการณ์ปัญหาหนี้ยุโรปบานปลายและกระทบภาคธนาคาร ก็ย่อมส่งผลต่อฐานะการเงินของธนาคารสหรัฐฯ โดยอาจจะต้องมีการสำรองเพิ่มเติม และส่งผลต่อกิจกรรมการปล่อยกู้ของธนาคารในสหรัฐฯ ได้ ซึ่งทางเฟดก็คงจะต้องติดตามพัฒนาการของการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปอย่างใกล้ชิด และมีโอกาสที่เฟด อาจจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น


การแก้ปัญหาหนี้ในยุโรป...อีกปัจจัยที่ท้าทาย
เมื่อไม่นานมานี้ ปัญหาหนี้ในยุโรปได้กลับมาเป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจอีกครั้ง โดยตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับ ความสามารถของกรีซในการที่จะดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด เพื่อลดการขาดดุลการคลังลง อันเป็นเงื่อนไขที่ต้องบรรลุ ก่อนที่ IMF และ EU จะอนุมัติวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ท่ามกลางข่าวที่ ผู้นำในยุโรปเริ่มหมดความอดทนในการแก้ปัญหาหนี้ของกรีซ ส่งผลให้เกิดความกังวลอย่างมากในภูมิภาคยุโรป โดยส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรเทียบกับพันธบัตรประเทศเยอรมัน ของประเทศที่มีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง เช่น อิตาลี และสเปน ปรับตัวสูงขึ้นมาก และส่งผลไปสู่ภาคธนาคารในยุโรป ที่อาจได้รับความเสียหาย หากกรีซผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารยุโรปลดลง และส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารเหล่านั้นสูงขึ้น อันสะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารยุโรป (EU LIBOR OIS) ที่ปรับตัวสูงขึ้น จนกระทั่งล่าสุด ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์(SNB) ได้ร่วมกันสนับสนุนเงินกู้สกุลดอลลาร์ฯ แก่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป เพื่อป้องกันไม่ไห้เกิดปัญหาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในยุโรปที่อาจจะลุกลามไปยังภาคธนาคารสหรัฐฯ นั้น ยังไม่อยู่ในภาวะที่ต้องกังวลโดยจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารของสหรัฐฯ (US LIBOR OIS) ยังคงอยู่ในภาวะปกติ ขณะที่สถานะทางการเงินภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง
ปัญหาหนี้ในยุโรปส่งผลกระทบจำกัดต่อธนาคารในสหรัฐฯ    


ปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ ทำให้เฟดอาจจะมีการพิจารณาออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม
ท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น การปรับลดการขาดดุลการคลังสหรัฐฯ (Budget Act Control) ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวทางการเมือง (Political Dysfunction) รวมถึงปัญหาหนี้ในยูโรโซนที่เริ่มจะลุกลามขยายตัวไปยังภาคธนาคาร ทำให้เฟดคงต้องประเมินปัจจัยท้าทายดังกล่าว และดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไป โดยมีโอกาสมากขึ้นที่เฟดจะออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เฟดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมไปจากเดิม โดยมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่เฟดอาจทำการการซื้อคืนพันธบัตรรอบใหม่ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (Quantitative Easing : QE3) โดยหันมาซื้อพันธบัตรระยะกลาง-ยาว ซึ่งหวังผลลดอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เพื่อเป็นการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของประชาชนสหรัฐฯ และยังเป็นการช่วยให้ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวขึ้น (จากความสามารถในการผ่อนที่สูงขึ้นซึ่งน่าจะลดการยึดจำนองบ้านลง) รวมไปถึงการที่เฟดอาจจะประกาศขยายระยะเวลาครบกำหนดของตราสารที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของเฟด นอกจากนี้เฟดยังอาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงอาจมีการเพิ่มตัวเลขเงินเฟ้อเป้าหมายในระยะกลาง (ซึ่งมาตรการอันหลังมีความเป็นไปได้น้อยกว่ามาตรการอันอื่นเนื่องจากอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแม้เฟดอาจไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากการดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับสู่เส้นทางของการขยายตัว ผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามประสิทธิผล จากมาตรการเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นการคลังว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่การดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมของเฟด อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวผันผวนต่อเนื่องอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงในลักษณะเดียวกันกับช่วงที่เฟดดำเนินมาตรการ QE1 และ QE2 ที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อการปรับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แถลงการณ์หลังการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ 0.00-0.25% ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2556 รวมถึงอาจมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติ่ม หลังจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น


ท่ามกลาง พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ภาพไปในเชิงลบมากขึ้นประกอบกับสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังมีความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัญหาทางการเมือง (Political Dysfunction) รวมถึงปัญหาหนี้ในยูโรโซนที่อาจจะลุกลามขยายตัวไปยังภาคธนาคาร ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่น่าที่จะเกิดภาวะถดถอยในปีนี้ โดยมองว่า การฟื้นตัวของการบริโภค ขณะที่ภาคเอกชน รวมถึง ภาคธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง ก็น่าจะเป็นตัวสนับสนุนให้มีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะออกมาดีกว่าในช่วงครึ่งแรก อีกทั้ง แผนการจ้างงานของโอบามา หากสามารถทำได้ในหลักการแล้วก็น่าจะช่วยประคองการจ้างงานที่ย่ำแย่ของสหรัฐฯ ให้ค่อยๆทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความท้าทายในระยะข้างหน้า ทั้งจากปัจจัยการเมืองที่อาจกระทบต่อแผนการสร้างงานของโอบามา ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งอาจถูกต่อรองทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 2555 รวมถึง มาตรการการปรับลดการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลในปี 2556 เป็นต้นไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป

สำหรับผลต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาวะตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวผันผวน คงจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการปรับตัวของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ขณะที่คาดการณ์ว่า ทางการไทยคงจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจทั้งในประเทศ อันได้แก่ ผลจากนโยบายรัฐบาล และภาวะน้ำท่วม รวมถึงปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป อย่างใกล้ชิด ในขณะที่คงจะพิจารณาน้ำหนักความเสี่ยงเศรษฐกิจ และเงินเฟ้ออย่างรอบคอบ เพื่อเป็นการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมต่อไป

บทความล่าสุด

Microsoft ลงทุนไทย By: แม่มดน้อย

ภาพรวมหุ้นไทยในภาคเช้าที่ผ่านมา แกว่งตัวซิกแซกขึ้น สงสัยตอบรับข่าวดี Microsoft ลงทุนไทย....

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้