Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

“เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนเทียบกับดอลลาร์ฯ ขณะที่หุ้นไทยปรับลง จากแรงขายทำกำไร”

1,684

“เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนเทียบกับดอลลาร์ฯ ขณะที่หุ้นไทยปรับลง จากแรงขายทำกำไร”

ตลาดเงินระยะสั้นและตลาดตราสารหนี้
อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้น
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตัดจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนผ่านระบบธนาคารในช่วงกลางสัปดาห์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) มีระดับหนาแน่นที่ 3.40-3.45% เทียบกับ 3.40% ในสัปดาห์ก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน อยู่ที่ 3.50% เทียบกับ 3.49991-3.50% ในสัปดาห์ก่อน

ในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ย. 2554 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินน่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.50% โดยยังไม่มีปัจจัยที่มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ตลาดเงินคงจะจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 20-21 ก.ย.  
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐฯ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี ปิดที่ระดับ 3.51% ในวันศุกร์ เพิ่มขึ้นจาก 3.44% ในสัปดาห์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่การซื้อขายเป็นไปด้วยความระมัดระวังท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาหนี้ในยุโรป

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ปิดที่ระดับ 2.06% ในวันศุกร์ เพิ่มขึ้นจาก 1.91% ในสัปดาห์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามการปรับขึ้นของตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลจากความหวังที่ว่าอิตาลีอาจได้รับความช่วยเหลือผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรจากทางการจีน ความพยายามอย่างเร่งด่วนครั้งใหม่ของผู้นำยุโรปที่จะควบคุมวิกฤตหนี้ และการที่ธนาคารกลางสำคัญ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ จะร่วมกันสนับสนุนเงินกู้สกุลดอลลาร์ฯ แก่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนจะขยับลงในวันศุกร์ จากความคาดหวังต่อมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมของเฟด

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ค่าเงินบาท (Onshore)
เงินบาทอ่อนค่ากว่าระดับ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย หลังจากความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารบางแห่งในยุโรปโดยมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้กระตุ้นแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ของนักลงทุน พร้อมๆ กับเพิ่มแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ อนึ่ง แม้ว่ามาตรการเสริมสภาพคล่องเงินดอลลาร์ฯ ให้กับระบบธนาคารยุโรปของธนาคารกลางชั้นนำ 5 แห่ง จะช่วยหนุนสินทรัพย์เสี่ยงและเงินเอเชียให้ฟื้นตัวขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ แต่เงินบาทก็ยังคงอ่อนค่ากว่า 30.35 โดยเข้าแตะระดับต่ำสุดในรอบประมาณ 2 เดือนที่ 30.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ในวันศุกร์ (16 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.37 จากระดับ 30.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ก.ย.)
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ถัดไป (19-23 ก.ย. 2554) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 30.20-30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยคงต้องจับตาผลการประชุมของรัฐมนตรีสหภาพยุโรป ความคืบหน้าในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (20-21 ก.ย.) รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ข้อมูลยอดขายบ้านมือสอง การเริ่มสร้างบ้าน การอนุญาตก่อสร้างเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

เงินยูโร และเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ
เงินยูโรทยอยฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินยูโรได้รับแรงหนุนในช่วงต้นสัปดาห์หลังหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า อิตาลีได้ขอให้จีนซื้อพันธบัตรของอิตาลีจำนวนมาก ขณะที่ สัญญาณที่บ่งชี้ว่า ผู้นำยุโรปกำลังดำเนินการเพื่อควบคุมวิกฤตหนี้ (ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่า จะเปิดเผยผลการศึกษาการออกพันธบัตรยูโร) แถลงการณ์ร่วมของผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสที่สนับสนุนให้กรีซมีสถานะเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป และมาตรการร่วมของธนาคารกลางชั้นนำในการสนับสนุนสภาพคล่องสกุลเงินดอลลาร์ฯ เพื่อป้องกันภาวะตึงตัวของตลาดเงินยุโรป ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินยูโรด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินยูโรต้องลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดยังไม่เห็นความคืบหน้าถัดไปของกลไกการแก้วิกฤตหนี้ของทางการยุโรป

เงินเยนพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน หลังจากปัญหาหนี้ในยุโรปมีภาพในด้านลบมากขึ้น

ในวันศุกร์ (16 ก.ย.) เงินยูโรอยู่ที่ 1.3799 เทียบกับ 1.3651 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ก.ย.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 76.77 จาก 77.55 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า

ตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทย
ดัชนี SET ปรับตัวลดลง จากแรงขายต่างชาติ ท่ามความกังวลต่อปัญหาหนี้ยูโรโซน โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,033.34 จุด ลดลง 2.73% จากสัปดาห์ก่อน ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 6.48% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 22,592.76 ล้านบาท โดยนักลงทุนรายย่อย และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 291.40 จุด ลดลง 2.26% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพุธ โดยมีแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มหลัก จากความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหนี้สินในยุโรป ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี จากคาดหวังในด้านบวกต่อการแก้ปัญหาหนี้ในยุโรป อย่างไรก็ดี ดัชนีขยับลงอีกในวันศุกร์ จากแรงขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรป

สำหรับแนวโน้มสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19-23 ก.ย. 2554 บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีอาจยังคงผันผวน โดยมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นหากสถานการณ์ในต่างประเทศไม่เลวร้ายลง ขณะที่ คงจะต้องจับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจพิจารณาดำเนินมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมในการประชุม FOMC วันที่ 20-21 ก.ย. และความคืบหน้าของการแก้ปัญหาหนี้ในยุโรปซึ่งจะมีการครบกำหนดของพันธบัตรกรีซ ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ เครื่องชี้วัดที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,030 และ 1,011 ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,044 และ 1,051 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ดัชนี DJIA ปิดเพิ่มขึ้น จากมุมมองเชิงบวกในการแก้ปัญหาหนี้ยูโรโซน โดยในวันศุกร์ ดัชนี DJIA ปิดที่ 11,509.09 จุด เพิ่มขึ้น 4.70% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ จากความหวังว่าอิตาลีอาจได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากจีน และความพยายามของผู้นำยุโรปที่จะควบคุมวิกฤตหนี้ ขณะที่ นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินแผนการรัดเข็มขัด นอกจากนี้ ตลาดยังมีแรงหนุนจากความร่วมมือของธนาคารกลาง 5 แห่งในการปล่อยสภาพคล่องเงินดอลลาร์ฯ เพื่อลดภาวะตึงตัวในตลาดเงินยุโรป

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ดัชนี Nikkei ปรับเพิ่มขึ้น จากท่าทีเชิงบวกในการแก้ปัญหาหนี้ในยูโรโซน โดยเมื่อวันศุกร์ ดัชนี Nikkei ปิดที่ 8,864.16 จุด เพิ่มขึ้น 1.45% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลงในวันจันทร์ จากความวิตกต่อวิกฤตหนี้ของยุโรปที่มีความรุนแรงมากขึ้น ก่อนที่ตลาดจะปรับขึ้นในวันอังคาร จากแรงซื้อคืน จากนั้น ดัชนี Nikkei ปรับลดลงอีกในวันพุธ จากข่าวการปรับลดอันดับเครดิต 2 ธนาคารฝรั่งเศสโดยมูดี้ส์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีปรับตัวขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากฝรั่งเศสและเยอรมนีประกาศว่ากรีซจะยังคงเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป อีกทั้งธนาคารกลาง 5 ประเทศประกาศว่าจะร่วมมือกันในการปล่อยกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน แก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อป้องกันภาวะตึงตัวในตลาดเงินยุโรป

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความล่าสุด

Microsoft ลงทุนไทย By: แม่มดน้อย

ภาพรวมหุ้นไทยในภาคเช้าที่ผ่านมา แกว่งตัวซิกแซกขึ้น สงสัยตอบรับข่าวดี Microsoft ลงทุนไทย....

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้