Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : GPSC ซื้อ GLOW ดันปี 62 EBITDA พุ่ง คืนทุน 3-5 ปี

4,664

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (22 มิถุนายน 2561)     GPSC เผย D/E พุ่งเป็น 4 เท่า หลังกู้เงินกู้ซื้อ GLOW แต่คาดหลังเพิ่มทุนจะลดต่ำกว่า 1 เท่า คาดบุ๊ครายได้ GLOW ในต.ค. นี้ หลังแผนการเข้าซื้อหุ้น 69% แล้วเสร็จ คาดรายได้-EBITDA ปี 62 โตก้าวกระโดด หลังรับรู้กำลังการผลิตจาก GLOW แบบเต็มปี

ดร. เติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า คาดการเข้าซื้อหุ้น บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ในสัดส่วน 69% จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม นี้ ขณะที่จะเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือ 31% ในช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน นี้ หลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่จะจัดขึ้นวันที่ 24 ส.ค. นี้ อนุมัติการเข้าซื้อ GLOW และอนุมัติวงเงินการออกหุ้นกู้เพื่อปรับโครงสร้างการเงิน 68,500 ล้านบาท

 

โดยในระยะสั้นบริษัทจะกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ หรือจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 142,500 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อกิจการ ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ขึ้นไปสูงถึง 4 เท่า จากปัจจุบัน 0.3 เท่า หลังจากนั้นบริษัทจะออกหุ้นกู้ 68,500 ล้านบาท เพื่อเสนอขายทั้งในและต่างประเทศ และเสนอขอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในไตรมาส 1 ปี 2562 เพื่อออกหุ้นเพิ่มทุน 74,000 ล้านบาท เพื่อคุม D/E ไม่เกิน 1 เท่า

 

 

ทั้งนี้ คาดว่าดีลการซื้อกิจการดังกล่าวจะสามารถคืนทุนได้ 3-5 ปี โดยมองว่าราคาที่เข้าซื้อถือว่าอยู่ในระดับเหมาะสม หลังจากประเมินจากความสามารถในการดำเนินงานดร. เติมชัย กล่าวสรุปว่า แหล่งเงินทุนทั้งหมดในการซื้อกิจการครั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินและ/หรือผู้ถือหุ้นใหญ่และภายหลังจากนั้น GPSC มีแผนทางการเงินสำหรับชำระเงินกู้ยืมระยะสั้นเพื่อปรับโครงสร้างเงินทุน โดยคาดว่าจะออกหุ้นกู้ และ/หรือเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน ในสัดส่วนประมาณกึ่งหนึ่งของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด และส่วนที่เหลือจะเป็นการเพิ่มทุนส่วนการรับรู้รายได้และกำไรจาก GLOW จะรับรู้เข้ามาทันทีช่วงไตรมาส 4/61 โดยหลังจากนี้ ต้องทำแผนธุรกิจร่วมกัน ส่วนแผนการนำ GLOW ออกจากตลาดอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นเริ่มต้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

 


ทั้งนี้ หลังจากเข้าซื้อ GLOW สำเร็จคาดรายได้จะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2562 เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จาก GLOW เต็มปี สนับสนุนให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4,835 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,940 เมกะวัตต์ ทำให้ขึ้นเป็นบริษัทที่มีสัญญากำลังการผลิตสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จากเดิมอันดับ 6 ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มพอร์ตโรงไฟฟ้า SPP ให้เติบโตมากขึ้น มีประสิทธิภาพสูง??โดย GLOW มี EBITDA สูงกว่า GPSC ถึง 3 เท่า ซึ่ง GPSC มี EBITDA อยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี และผลประกอบการปี 60 GLOW มีรายได้ 52,537.32 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 9,075.95 ล้านบาท
“การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ นับเป็นการขยายธุรกิจที่สำคัญของGPSC ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยกำลังการผลิตภายหลังควบรวมเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4,835 เมกะวัตต์ บรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะยาวของบริษัทฯ ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถจากการขยายฐานลูกค้าสู่อุตสาหกรรมอื่น นอกจากลูกค้ากลุ่ม ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งตอบโจทย์การเติบโตตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ จากสัดส่วนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทฯ เชื่อว่าโรงไฟฟ้า SPP เป็นหัวใจสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ดร.เติมชัยกล่าว

 

 

***ฟิทช์ ให้เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่ GPSC หลังประกาศซื้อหุ้น GLOW***

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแก่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ ‘A+(tha)’ ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC การประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เกิดขึ้นเนื่องจาก GPSC ได้ประกาศที่จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ในสัดส่วนร้อยละ 69.11ของหุ้นทั้งหมดของ GLOW และทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 141.2 พันล้านบาท โดยในช่วงแรกบริษัทจะใช้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 142.5 พันล้านบาท ในการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะครบกำหนดชำระคืนหนึ่งปีหลังจากวันที่เข้าซื้อขายการเข้าซื้อหุ้นและแผนการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นยังต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ GPSC และต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต


การเข้าซื้อกิจการกระทบฐานะการเงิน : เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าสถานะทางการเงินของ GPSC จะอ่อนแอลง เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่อาจเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตของบริษัทที่ ‘A+(tha)’ ฟิทช์จะพิจารณาอันดับเครดิตของ GPSC และยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เมื่อการเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และโครงสร้างเงินทุนระยะยาวที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการ และสถานะทางการเงินของบริษัทหลังจากการเข้าซื้อกิจการมีความชัดเจนมากขึ้น การเข้าซื้อกิจการน่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน แต่บริษัทอาจต้องใช้เวลาสำหรับการดำเนินการตามแผนการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่วางไว้บริษัทมีแผนในการจัดหาแหล่งเงินทุนในการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งประกอบการออกหุ้นกู้และการเพิ่มทุน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในระยะยาว ดังนั้นการพิจารณายกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบอาจใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ซึ่งนานกว่าในกรณีทั่วไป

 

การพิจารณาสถานะทางเครดิต: ในการพิจารณายกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ ฟิทช์จะพิจารณาถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นหลังจากการเข้าซื้อกิจการ ในการพิจารณาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นในส่วนที่ได้จากกระแสเงินสดรับที่ไม่ได้มาจากการกู้ยืม โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มทุน ฟิทช์จะพิจารณาเฉพาะในกรณีที่กระแสเงินสดที่จะเข้ามาที่มีความแน่นอนเท่านั้น นอกจากนี้ฟิทช์จะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง GPSC และบริษัทแม่ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)ซึ่ งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยรวมถึงการสนับสนุนเพิ่มเติมพิเศษ และความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน และกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท.

 

การกระจายตัวของสินทรัพย์ที่มากขึ้น: ฟิทช์เชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการจะทำให้สถานะทางธุรกิจของ GPSC ดีขึ้น เนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และการกระจายตัวด้านสินทรัพย์และด้านภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น GPSC จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 4,425 เมกกะวัตต์ และ 2,718 ตันต่อชั่วโมง จาก 1,530 เมกกะวัตต์ และ 1,512 ตันต่อชั่วโมง ณ สิ้นปี 2560 ตามลำดับ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 และกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 6 นอกจากนี้ GPSC กำลังพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มเติมจำนวน 410 เมกกะวัตต์ และ 73 ตันต่อชั่วโมง ตามลำดับ

 

คุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงแข็งแกร่ง : ฟิทช์คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ GPSC จะยังคงแข็งแกร่งหลังจากการเข้าซื้อกิจการ เนื่องจากโรงไฟฟ้าของ GLOW เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยรายได้ของ GLOW ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้า และไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และบริษัทร่วมของ ปตท. สัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในด้านปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยลูกค้าต้องรับซื้อไฟฟ้าและไอน้ำ ในระดับขั้นต่ำของกำลังการผลิตตามสัญญา

 

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
GPSC ณ ปัจจุบันที่ยังไม่รวมการเข้าซื้อกิจการของ GLOW มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัทที่ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ โดยบริษัทมีความสม่ำเสมอของกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ใกล้เคียงกันกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย โดยทั้งสองบริษัทนี้มีกำไรที่มีความสม่ำเสมอเนื่องจากการแข่งขันที่ต่ำ และในกรณีของ GPSC ที่มีสัญญาซื้อขายกับลูกค้าระยะยาว อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ GPSC อยู่ในระดับที่ดีกว่า BAFS อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ BAFS ได้พิจารณาถึงสถานะทางการเงินที่จะดีขึ้นตามลำดับหลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทแล้วเสร็จ


สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ


- เงินที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการจำนวน 141.2 พันล้านบาท โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นของ GLOW จะรับคำเสนอซื้อทั้งหมด


- รายได้ของ GLOW อยู่ที่ 4.8-4.9 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงปี 2561 และ 2562 (ปี 2560 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท)


- กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ GLOW อยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วงปี 2561 และ 2562 (ปี 2560 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท)


- ประมาณการงบการเงินรวมของ GPSC ได้ถูกปรับโดยใช้วิธี Proportionate Consolidation ทั้งในส่วน รายได้, กระแสเงินสด, เงินสด และหนี้ของ บริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่มีกำลังการผลิต 240 เมกกะวัตต์ โดย GPSC ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51


- โครงการการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (เฉพาะส่วนการผลิตเชื้อเพลิง) และการขยายกำลังการผลิตของโรงผลิตสาธารณูปโภค เริ่มดำเนินงานในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ


- เงินปันผลรับจากบริษัทย่อย และบริษัทร่วมที่ประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี ในปี 2561 และปี 2562 (2560: 564.5 ล้านบาท)


- เงินลงทุนจำนวน 5.3 พันล้านบาท ในปี 2561 และ 1.4 พันล้านบาทในปี 2562 และเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยจำนวน 1.2 พันล้านบาทในปี 2561 และ 870 ล้านบาทในปี 2562


- จ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

 

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต


ปัจจัยบวก


- ปัจจัยที่ทำให้ฟิทช์ยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบและคงแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย การเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และโครงสร้างเงินทุนระยะยาวที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการ และสถานะทางการเงินของบริษัทหลังจากเข้าซื้อกิจการมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ GPSC สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน

 

ปัจจัยลบ


- โครงสร้างเงินทุนของบริษัทหลังจากเข้าซื้อกิจการซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage สูงขึ้นเกินกว่าระดับปัจจุบันอย่างมากอย่างต่อเนื่อง


- สถานะทางการเงินของ GPSC ที่อ่อนแอลงเมื่อพิจารณาเทียบกับความเสี่ยงด้านธุรกิจหลังจากการเข้าซื้อกิจการ


- อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลด หากอัตราส่วน Secured Debt to EBITDA ของ GPSC เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง

 

สภาพคล่อง


สภาพคล่องของ GPSC มีความแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีเงินสดจำนวน 4 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 990 ล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องสำหรับการก่อสร้างโครงการใหม่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำนเนินงานที่แข็งแกร่งและวงเงินที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวน 6.5 พันล้านบาท โดยบริษัทจะใช้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 142.5 พันล้านบาท ในการเข้าซื้อกิจการของ GLOW

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

"สโตนวัน (STX)" ลั่นระฆังเทรด หุ้นเหมืองหินรายแรกในตลท.

"สโตนวัน (STX)" ลั่นระฆังเทรด หุ้นเหมืองหินรายแรกในตลท.

จบในวัน By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง เมื่อข่าวบวก ข่าวดีมา เล่นหุ้น ก็ต้อง เผด็จศึก จบในวัน ทำกำไร ไม่ต้องรอ ฟ้าสาง เพราะฟ้า...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้