ปรับโครงสร้างภาษี เรื่องดี สำหรับตลาดหุ้น
แนวคิดเรื่องปรับโครงสร้างภาษี คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ บุคคลธรรมดา ปรับลดลงมาอยู่ที่ 15% ขณะเดียวกันปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จากเดิม 7% ขึ้นมา อย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีเพดานสูงสุดที่15% โดยภาพรวมเรามองว่าเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นบ้านเราเฉพาอย่างยิ่งในส่วนของอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากการปรับลดลงมาจะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้น หนุน EPS GROWTH ในปีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มราว 6%และในอีกทางหนึ่งน่าจะหนุนให้FDI ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาได้มากขึ้น สำหรับ VAT และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สุดท้ายต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ดีมากน้อยเพียงใด ส่วนปัจจัยอื่นวันนี้ มีประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นบนกระแสเรื่อง OPEC+ เลื่อนเวลาการเพิ่มการผลิตออไป 1 ไตรมาสเป็นไปได้ที่จะเห็น MOMENTUM ในการเหวี่ยงขึ้นของ SET INDEX ได้ แต่ยังมองว่าน่าจะเป็นภาพในระยะสั้น สำหรับวันนี้คาดอยู่ในกรอบ 1448 –1470 จุด TOP PICK เลือก BDMS, CPALL และ INTUCH
ปัจจัยภายนอกมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ... มาดูกัน
เช้านี้ปัจจัยภายนอกมีอยู่ 3 ประเด็นที่น่าสนใจ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. วิกฤตการเมือง “เกาหลีใต้”(-) โดยคืนที่ผ่านมาประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกโดยกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านได้เข้าครอบงำรัฐสภาด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจเกาหลีเหนือ หลังจากนั้นมีการรวมตัวกันของ สส.เกาหลี และมีมติคัดค้านการกระทำ จึงทำให้ทหารเริ่มถอนกำลังออกไป และได้ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว อย่างไรก็ตามเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องจากเห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งหากพิจารณาในมุมประเทศคู่ค้า “เกาหลีใต้” เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 13ของไทยและมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 2% ของทั้งหมด
2. จีนเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า (+) วานนี้ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน(PBOC) ยืนยันว่า PBOC จะใช้นโยบายด้านการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า พร้อมทั้งเตรียมปรับลดต้นทุนการกู้ยืมสำหรับบริษัทเอกชนและผู้อยู่อาศัย ซึ่งการกระทำดังกล่าว เพื่อรับมือสงครามการค้าหลัง “ทรัมป์” คัมแบ็คทำเนียบขาว(TRUMP 2.0) อีกทั้งการเติบโตของเม็ดเงิน M1 และ M2 ในประเทศจีนยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนดีขึ้น จะหนุนภาคการส่งออกของไทยดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย(อ้างอิงข้อมูล ม.ค.-ต.ค.67)
3. ราคาน้ำมันดิบดีดตัวแรง (+) วานนี้ราคาน้ำมันดิบ BRENT และ WTI ปรับตัวขึ้น 2.6% และ 2.7% หลังจากที่อิสราเอลขู่ว่าจะโจมตีเลบานอนหากข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ล้มเหลว(SUPPLY ลดลง) นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC+ จะขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า(1Q25) จากเดิมที่ระบุว่าจะเริ่มยุติการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันสิ้นเดือนธ.ค. 2567 ประเด็นดังกล่าว คาดหนุนให้ SET INDEX สามารถพยุงตัวในระดับใกล้เคียงเดิมได้ จากหุ้นกลุ่มพลังงาน-โรงกลั่นที่มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3ของน้ำหนักทั้งหมดเป็นตัวพยุงคลังจ่อปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ จะกระทบภาคส่วนไหนบ้าง ?
วานนี้ รมว. คลัง เผยแนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้แก่
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจพิจารณาปรับลดการจัดเก็บภาษีเหลือ 15%(เดิม 20%) เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติฝ่ายวิจัยฯ มองเป็นบวกต่อภาค
ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น และการจ้างงานอาจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ทำให้รายได้ลดลง
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจพิจารณาปรับลดการจัดเก็บภาษีเหลือ15%(เดิมเป็นอัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้สูงสุด 35%) หวังดึงดูดแรงงานมีฝีมือกลับไทย ฝ่ายวิจัยฯ มองเป็นบวกต่อกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ต้องแลกมาด้วยการจัดเก็บภาษีของผู้มีรายได้สูงลดลง อีกทั้งโอกาสกระทบต่อกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้านแหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยกับ THESTANDARD WEALTH ว่า เบื้องต้นรัฐบาลวางแผนปรับขึ้นภาษีเป็น 8%(เดิม 7%) ขณะที่ทั่วโลกมีการเก็บระหว่าง 15-25% เพื่อนำรายได้ภาษีช่วยผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยฝ่ายวิจัยฯ มองเป็นบวกต่อการเพิ่มรายได้ของภาครัฐซึ่งจะลดขนาดการขาดดุล และลดความเสี่ยงต่อการถูกปรับลด CREDITRATING แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งจะลดกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย การบริโภคน้อยลง
เมื่อพิจาณาแหล่งรายได้ของรัฐบาลในงบประมาณปี 2567 (ต.ค.66 - ก.ย.67) ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูล่าเพิ่ม (VAT) คิดเป็นสัดส่วน 28% และหากมีการปรับโครงสร้างภาษีให้มาอยู่ที่ฐาน 15% เบื้องต้น ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่าจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้มากกว่าที่สูญเสียไป
ปรับโครงสร้างภาษี หนุน FUND FLOW ไหลกลับหุ้นไทยได้
วานนี้มีสัญญาณดีขึ้น จาก FUND FLOW ต่างชาติที่กลับมาซื้อสุทธิในตลาดการเงินไทยทุกแห่ง คือ ต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 3.17 พันล้านบาท ซื้อสุทธิหุ้นไทย1.4 พันล้านบาท และซื้อ SET50 FUTURES สูงถึง 36,951 สัญญา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ได้รับ SENTIMENT บวกจากการที่คลังจะปรับโครงสร้างภาษีแบบ 15 – 15 -15โดยเฉพาะประเด็นการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15%
เบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมินประเด็นการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15%ช่วยหนุนตลาด และแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นได้ดังนี้
- หนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นราว6.25% หรือเพิ่ม EPS 6 บาทต่อหุ้น
- เพิ่ม UPSIDE ให้ SET INDEX เพิ่มขึ้นราว 100จุด (อิง EPS 97 บาท/หุ้น และPE 16.5เท่า)
- จูงใจให้ FUND FLOW ไหลเข้ามาลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น
สรุปประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล มีโอกาสหนุน EPS ตลาดเพิ่มขึ้นได้6% พร้อมกับจูงใจเห็นการลงทุนทั้งทางตรง และทางอ้อมขึ้นได้
Research Division
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส
ภราดร เตียรณปราโมทย์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ภวัต ภัทราพงศ์
นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์
เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 117985
สิริลักษณ์ พันธ์วงค์
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์