HotNews: SUPER ติดปีกเป้ารายได้โตปีละ 25%
เล็งซื้อโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม-ลมเพิ่ม
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 28 กุมภาพันธ์ 2561)--------SUPER ติดเครื่องกำไรปี60 โต189% ตั้งเป้ารายได้โตอย่างน้อยปีละ 25% คาดโรงไฟฟ้าจากขยะอุตฯ 9 เมกะวัตต์ COD เม.ย. , โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์เฟส2 ขนาด 28 เมกะวัตต์ COD ไตรมาส 4/61 - เล็งซื้อโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม-ลมเพิ่ม
SUPER โชว์งบปี 60 กำไรพุ่ง 1,511.63ล้านบาทเพิ่มขึ้น 189% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านบิ๊กบอส “จอมทรัพย์ โลจายะ” พร้อมใส่เกียร์เดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเต็มสูบ จ่อบุ๊ครายได้ โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกว่า 9 MW-โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ฯเฟส 2 จำนวน 33 MW โดยปัจุบันเตรียมพร้อมเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 1,000 ล้านบาท ภายในเดือนมี.ค.นี้ และเตรียมเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติออกหุ้นกู้อีก 36,000 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงินครั้งใหญ่-รองรับแผนขยายธุรกิจ มั่นใจช่วยผลักดันรายได้-กำไร เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ผู้ดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านการปฏิบัติการดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งบริการ ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจพลังงานทดแทน ประกอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานขยะ และพลังงานลม เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2560 (มกราคม-ธันวาคม 2560) ของบริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,511.63ล้านบาท เพิ่มขึ้น 989.47 ล้านบาท หรือ 189% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 522.21 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 5,510.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,898.58 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52.57% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 3,611.60 ล้านบาท
โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการรับรู้รายได้จากการขายไฟจากโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ภาคการเกษตรเฟส 1 รวม 64.70 เมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ปลายปี2559 ซึ่งในปี 2560 รับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี
“ ผลการดำเนินงานในปี2560 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับอานิสงส์จากการรับรู้รายได้โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ภาคการเกษตรในเฟส 1 ที่ค้างมาจากในช่วงกลางปีและปลายปี 2559 ซึ่งในปี 2560 รับรู้รายได้เข้ามาเต็มปี ผนวกกับบริษัทฯสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กำไรในปีนี้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ”นายจอมทรัพย์กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2561 นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า จะเป็นปีที่บริษัทฯขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง ทั้งในส่วนของการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง
โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว ขนาดกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ( COD )ได้ในช่วงเดือนเมษายน และโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ภาคการเกษตรในเฟสที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 28 เมกะวัตต์จะ COD ในช่วงไตรมาส 4/2561
นอกจากนี้ SUPER ยังมีงานขายไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP Hybrid Firm ของ กกพ. ที่บริษัทฯเข้าประมูลก่อนหน้าและผ่านการคัดเลือกโดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 32 เมกะวัตต์ และมีปริมานการขายไฟฟ้า 16 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นแล้วยังมีโครงการที่จะขายไฟฟ้าให้กับภาคเอกชน ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนผลประกอบการให้เพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย
โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 740.60 เมกะวัตต์ แต่หากเมื่อรวมกับโครงการที่อยู่ระหว่างกำหนดวันจำหน่ายไฟฟ้าและงานที่ประมูลได้เพิ่มจากโรงไฟฟ้าสหกรณ์ฯ และ SPP Hybrid Firm จะทำให้มีกำลังติดตั้งกว่า800 เมกะวัตต์
ส่วนการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศระหว่างปี 2561-2562 บริษัทฯจะมุ่งเน้นการลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทฯลงทุนร่วมกับพันธมิตรเวียดนาม ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 เพสแรกจำนวน 240 เมกะวัตต์ จากที่ได้ทำ MOA ไว้จำนวน 698 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 และคาดว่าจะ COD ในปี 2563 ผลักดันรายได้และกำไร เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว SUPER ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะอยู่ในมืออีก 3 โครงการจำนวน 26 เมกะวัตต์ที่ได้ใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการแรกตั้งอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว จำนวน 9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟได้ประมาณเดือนมีนาคม 2561 นี้ ส่วนอีก 2 โครงการจำนวน 17 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการก่อสร้างและคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าพาณิชย์ได้ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน SUPER ยังคงมองหาโอกาสในการซื้อกิจการธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะเลือกลงทุนเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเท่านั้น ซึ่งมีประเทศกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มประเทศใน CLMV รวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย เพื่อผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียภายในปี 2563 ตามเป้าหมาย
ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตอย่างน้อยปีละ 25% จากการขายไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และเตรียมพร้อมออกหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาท ในเดือน มี.ค. 2561 จากวงเงินหุ้นกู้ที่ขออนุมัติผู้ถือหุ้นไว้ในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท และยังเตรียมเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติออกหุ้นกู้อีก 36,000 ล้านบาทเพื่อปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงินครั้งใหญ่ และรองรับการขยายการลงทุนตามแผนงานของบริษัทฯและบริษัทในเครือ เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่ง และมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
SUPER ระบุว่าที่ประชุมคณะกรรมการมีมติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จาก "บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน)" ("Superblock Public Company Limited") เป็น "บริษัท ซุปเปอร์เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" ("Super Energy Corporation Public Company Limited") โดยไม่เปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์ และเปลี่ยนแปลงตราประทับของบริษัท
พร้อมกันนี้มีมติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 เพื่อพิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้ โดยมีมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 36,000,000,000 บาท เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจทั่วไป และ/หรือ ชำระคืนเงินกู้ และ/หรือ ใช้ในการลงทุนของบริษัทและบริษัทย่อย และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและบริษัทย่อย หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร
นอกจากนี้มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทย่อยจำนวน 4 บริษัท รวม 20,320 ล้านบาท เพื่อการปรับโครงสร้างทุนของกลุ่มบริษัทให้เหมาะสม และเพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ติดตั้ง บนพื้น ดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 ได้แก่ บริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) 1 หมื่นล้านบาท , บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SE) 1 หมื่นล้านบาท บริษัท กรีน ไบ-โอ มหาสารคาม จำกัด (GBOM) 250 ล้านบาท และบริษัท อีเลคตริก้า เอเชีย เพาเวอร์ จำกัด (ELT) 70 ล้านบาท
อนึ่งSUPER รายงานผลประกอบการงวดปี 2560 มีกำไรสุทธิงบการเงินรวม 1,511.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 189% จากปี 2559 ที่มีกำไร 522.21 ล้านบาท ขณะที่ รายได้จากการขายและรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้ามีจำนวน 5,397.244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,869.345 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับรอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากใน ปี 2560 บริษัทรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทย่อยของบริษัท ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 122 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 730.60 เมกะวัตต์
รายได้อื่นมีจำนวน 73.783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 58.980 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 398 เมื่อเทียบกับรอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นรายได้อื่นที่เกิดจากบริษัทย่อยได้รับสิทธิพิเศษและประโยชน์จากการได้รับการส่งเสริมการลงทุน
คณะกรรมการมีมติงดจ่ายปันผล เนื่องจากบริษัทต้องการสำรองเงินลงทุนไว้เพื่อการขยายธุรกิจในอนาคต
----จบ----