Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: SUPER มั่นใจปี61 กำไร-รายได้ ทำนิวไฮใหม่ -คาดยื่นขอตั้ง Infrastructure Fund ต้นปี61

1,182

 
 
 
 
 
HotNews: SUPER มั่นใจปี61 กำไร-รายได้ ทำนิวไฮใหม่
-คาดยื่นขอตั้ง Infrastructure Fund ต้นปี61

  สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 4   มกราคม  2561)------- บิ๊กบอส “จอมทรัพย์ โลจายะ”มั่นใจผลงานปี61 ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง พร้อมลุยซื้อโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเต็มเหนี่ยว คาดยื่นขอตั้ง Infrastructure Fund ต้นปี61 เซียนหุ้นเชียร์ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 1.70 บาท/หุ้น 

นายจอมทรัพย์ โลจายะ  ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER กล่าวว่า แนวโน้มรายได้และกำไรในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำสถิติสูงสุดใหม่ ตามจำนวนกำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ขณะที่การเดินเครื่องจ่ายไฟ (COD ) จะอยู่ที่ 124โครงการ จำนวน 740.6 เมกะวัตต์ 
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) มูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2561 จึงจะสามารถยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนได้
ล่าสุดบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “BBB-” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และแนวโน้มเชิงบวกของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ซึ่งก็ถือเป็นประเด็นบวกสะท้อนการมุ่งมั่น และความน่าเชื่อถือในการขยายธุรกิจในอนาคต 
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนซึ่งบริษัทได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และแนวโน้มเชิงบวกของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากกลยุทธ์การลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงของบริษัทและความเป็นไปได้ที่ระดับการก่อหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านการดำเนินงานและความเสี่ยงของประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ด้วยเช่นกัน
บริษัทซุปเปอร์บล็อกก่อตั้งในปี 2537 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอิฐมวลเบาและได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548 ต่อมาบริษัทได้หยุดดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอิฐมวลเบาและได้ขายธุรกิจดังกล่าวให้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ในปี 2556 หลังจากนั้นบริษัทได้เริ่มธุรกิจใหม่ คือธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและธุรกิจพลังงานทดแทน โดยบริษัทได้ซื้อหุ้นจำนวน 76.25% ใน บริษัท โอเพ่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2555 อีกทั้งยังได้ซื้อกิจการของ บริษัท รูทฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงปลายปี 2556 ด้วย ปัจจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักซึ่งสร้างรายได้ให้บริษัทเกือบทั้งหมด ณ เดือนกันยายน 2560 กลุ่มโลจายะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยถือหุ้นประมาณ 28% ในบริษัท
ความแข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเกิดจากความสำเร็จในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากของบริษัทซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย หลังจากที่บริษัทได้ซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สร้างเสร็จพร้อมดำเนินการหลายโครงการในช่วงปี 2556 และปี 2557 แล้ว บริษัทก็เติบโตอย่างมากในปี 2558 โดยบริษัทได้ซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างจำนวนหลายโครงการ ซึ่งมีกำหนดเริ่มดำเนินงานภายในปลายปี 2558 แม้บริษัทต้องบริหารจัดการกับโรงไฟฟ้าหลายโครงการพร้อม ๆ กัน แต่เกือบทุกโครงการก็เริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ทันภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ณ เดือนพฤศจิกายน 2560 กำลังการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 680 เมกะวัตต์ ซึ่งเกือบทุกโครงการได้ดำเนินการผลิตแล้ว และหากรวมกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทอื่นที่บริษัทเข้าไปลงทุน กำลังการผลิตรวมจะอยู่ที่ประมาณ 770 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทมีกำลังการผลิตรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง
อันดับเครดิตของบริษัทมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นปัจจัยสนับสนุน ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งในแต่ละสัญญามีการระบุราคาซื้อขายไฟฟ้าไว้อย่างชัดเจนด้วย ดังนั้น ความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าจึงอยู่ในระดับต่ำ 
ผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิต ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ของบริษัทสูงกว่าปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ 75% (ระดับ P75) แม้ผลการดำเนินงานดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ผลการดำเนินงานในระยะยาวยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไปเนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทส่วนใหญ่เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2559
ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อแนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนเมื่อพิจารณาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการบริโภคไฟฟ้า ตลอดจนแผนระยะยาวของภาครัฐที่จะพัฒนาพลังงานทางเลือกต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม และการสนับสนุนที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้รับจากภาครัฐ
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากกลยุทธ์การลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงของบริษัท โดยบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2558 จากการซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมาก ซึ่งแม้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำ แต่การมีโรงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจำนวนมากพร้อม ๆ กันก็ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มกำลังคนและระบบในการควบคุมดูแลเพื่อให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจำเป็นต้องเพิ่มกำลังคนโดยเฉพาะในระดับผู้บริหารเพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท นอกจากนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วก็ทำให้ระดับการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งแผนการลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงของบริษัทก็จะเป็นปัจจัยที่ลดทอนปริมาณกระแสเงินสดอิสระของบริษัท
บริษัทมีแนวโน้มที่จะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงในการดำเนินงานมากขึ้น บริษัทวางแผนใช้เงินประมาณ 2,600 ล้านบาทเพื่อที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะในประเทศจำนวน 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 17 เมกะวัตต์ โดยทั่วไปแล้วโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะจะมีความเสี่ยงในการดำเนินงานสูงเนื่องจากมีความซับซ้อนมากกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลหรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่บริษัทมีความชำนาญในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ค่าความร้อนที่ได้จากเชื้อเพลิงขยะก็อาจผันแปรแตกต่างกันอย่างมาก อีกทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
บริษัทมีความเสี่ยงของประเทศจากการที่บริษัทเริ่มขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ โครงการแรกในต่างประเทศของบริษัทคือโครงการเทียนจิน (Tianjin) ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 20 เมกะวัตต์ในประเทศจีนที่บริษัทต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทยังวางแผนจะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นด้วย โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตรวมกันทั้งสิ้น 700 เมกะวัตต์ โดยโครงการระยะแรก (100 เมกะวัตต์) ต้องใช้เงินลงทุน 7,000-8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่สูงกว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ซับซ้อนกว่า อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านการก่อสร้างที่มากกว่าด้วย
บริษัทมีโอกาสที่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลารวมถึงความเสี่ยงจากเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศที่โครงการดำเนินงานอยู่ ซึ่งหากระบบการจัดการความเสี่ยงของบริษัทไม่ดีพอก็อาจทำให้บริษัทเกิดความผิดพลาดเสียหายได้ โดยความผิดพลาดเสียหายอาจส่งผลลบต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัทจากการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ของบริษัท
อันดับเครดิตยังถูกลดทอนลงจากโครงสร้างเงินทุนที่ต้องก่อหนี้จำนวนมาก โดยบริษัทมีสินทรัพย์และหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2557 จากการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 64.5% ณ เดือนกันยายน 2560 นอกจากนี้ ต้นทุนเงินกู้ยืมของบริษัทก็ยังสูงกว่าบริษัทในประเทศรายอื่น ๆ ที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งอีกด้วย ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ของบริษัทลดต่ำลงแม้บริษัทจะมีประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงก็ตาม ส่งผลให้กำไรสุทธิมีความอ่อนไหวสูงต่อผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับสูงเพื่อให้มีกำไรสุทธิที่น่าพอใจ
ระดับการก่อหนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายการลงทุน โดยบริษัทวางแผนจะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บางส่วนให้แก่กองทุนดังกล่าว ซึ่งการขายดังกล่าวจะช่วยลดภาระงบดุลของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินสุทธิประมาณ 8,000 ล้านบาทหลังจากที่กลับเข้าไปลงทุนในกองทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งที่ไม่รวมเงินรับสุทธิจากการขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดำเนินงานแล้วให้แก่กองทุนแต่จะรวมการลงทุนในต่างประเทศ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจนเกือบถึง 70% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อนึ่ง การก่อหนี้ในระดับสูงและกลยุทธ์การลงทุนที่ค่อนข้างเสี่ยงเป็นปัจจัยลดทอนอันดับเครดิตของบริษัท
ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการเปิดดำเนินงาน รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นประมาณ 3,600 ล้านบาทในปี 2559 และประมาณ 4,300 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 จากระดับต่ำกว่า 400 ล้านบาทในช่วงปี 2555 จนถึงปี 2558 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,500-6,500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ลดต่ำลงในช่วงลงทุน โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) เพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2559 และ 85.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนในปี 2557 และปี 2558
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่เหนือระดับ 75% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 5,000 ล้านบาทในปี 2562 อย่างไรก็ดี แม้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้น แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเมื่อเทียบกับภาระหนี้จะลดลง โดยภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้กำไรจากการดำเนินงานหลังหักดอกเบี้ยจ่ายลดต่ำลง ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะลดลงเหลือ 2-3 เท่า จาก 3.5 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับ 7%-8% เมื่อเทียบกับ 11.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทวิเคราะห์หุ้น บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER แนะนำ "ทยอยซื้อ ให้ราคาเป้าหมายที่ 1.70 บาทต่อหุ้น โดยประเมินว่ายังมีประเด็นสนับสนุนการเติบโตในอนาคต จากการให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เป็นที่ปรึกษาเพื่อจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อนำโครงการในมือทยอยขายเข้ากองทุนซึ่งเป็นอีกช่องทางในการเสริมสภาพคล่องสำหรับการต่อยอดโครงการใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 
บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า พื้นฐานของ SUPER เริ่มแสดงความชัดเจนในการเติบโตขณะที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากการรับรู้รายได้โครงการต่างๆใหม่เต็มปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามขนาด 700 MW (ถือหุ้น 51% กับพันธมิตรในเวียดนาม) ซึ่งใช้เงินลงทุนทั้งโครงการรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท (คาดเป็นส่วนเงินลงทุนของ SUPER ราว 7 – 8 พันล้านบาท) โดยบริษัทฯมีแผนเริ่มพัฒนาโครงการแรกราว 100 MW ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปสนับสนุนการสร้างรายได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังอยู่การเตรียมการใช้สิทธิการรับรู้รายได้ของโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดประมาณ 118 MW เพื่อจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีขนาดกว่า 9,000 –10,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส1/61 ด้วย จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีมุมมองเป็นบวกต่อแผนดังกล่าว เพราะจะช่วยเพิ่มเงินสดและทำให้ SUPER มีเงินลงทุนเพียงพอ ต่อการขยายการลงทุนในอนาคตได้อีกด้วย ดังนั้นจึงแนะนำ “ซื้อ” โดยให้ราคาเป้าหมาย 1.60 บาทต่อหุ้น
 

----จบ---- 
 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้