
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (28 ธันวาคม 2565)------ส่งท้ายปีเก่า 2565 ต้อนรับปีใหม่ 2566 ทีมข่าวหุ้นอินไซด์ สรุปมุมมองหุ้นไทยปี2566 และหุ้นเด่น จาก4 เทพหุ้น มาฝากคุณผู้อ่านทุกท่าน ขอให้พอร์ตการลงทุนของท่านสดใส น่ารักเหมือนกระต่ายที่ร่าเริง สวัสดีปีใหม่ค่ะ
โหรหุ้นอินโนเวสท์ เอกซ์ เล็ง SET ปีหน้า 1,750 จุด หุ้นเด่น Q1/66 AOT BBL BCP CPALL และ MINT

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านของปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะ 3 ประการ ประการแรก การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างตลาดพัฒนาแล้ว (DM) กับตลาดเกิดใหม่ (EM) จะแตกต่างกัน โดย DM มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ stagflation อย่างรุนแรง หรืออย่างน้อยที่สุดจะเกิดภาวะถดถอยอย่างอ่อนๆ ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจ EM จะชะลอตัวลง แต่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยรุนแรงน้อยกว่า ประการที่สอง อัตราเงินเฟ้อเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และเศรษฐกิจ EM หลายประเทศ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในปี 2023 อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะลดลงจากฐานสูงและอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลงอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ประการที่สาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายเชื่อว่าดอกเบี้ยสูงเกินไปเพื่อให้ครอบคลุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง ในขณะที่ประเทศในฝั่งเอเชีย รวมถึงไทยจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ดังนั้นเราประเมิน SET Index ปี 2023 ที่อิงกับปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,750 จุด จุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ที่ 1,500-1,600 จุด ซึ่งคาดว่าจะเห็นใน 1Q23
กลยุทธ์การลงทุนในแรงกดดันสำหรับภาวะทางการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องใน 1Q23 ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยงที่กำไรจะชะลอตัวลงและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจแสดงสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมกับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้น เราจะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะทำจุดสูงสุด เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงถึงจุดต่ำสุดอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นภายในปลาย 1Q23 ถึงต้น 2Q23 ดังนั้น เราเล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มสถานะโดยเฉพาะกับการเปิดประเทศของจีนและ อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง แนะนำหุ้นที่มีงบดุลและกระแสเงินสดที่ดี ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน กำไรมีแนวโน้มเติบโตและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างชัดเจน
โดยหุ้นเด่นใน 1Q23 คือ AOT BBL BCP CPALL และ MINT
สรุปประเด็นการลงทุนของหุ้นรายตัว
• AOT : เป็นบริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีนและการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐที่จะช่วยหนุนการเติบโตจากตลาดภายในประเทศ และแนวโน้มกำไรจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นในปี 2023
• BBL : เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2022 และได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.25% เป็น 2% ในปี 2023 นอกจากนั้นเรามองการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ที่จะส่งผลกับกระแสเงินไหลเข้า ซึ่งกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากประเด็นนี้
• BCP : เรายังมองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน นอกจากนั้นบริษัทเป็นบริษัทที่มีลักษณะเชิงรับและมีเงินปันผลดีซึ่งสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดได้ดี
• CPALL : เรามองการบริโภคในประเทศที่จะมีการเติบโตได้อย่างโดดเด่นและมีแนวโน้มที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยให้ยอดขายฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์จากช่วงการเลือกตั้งในปี 2023
• MINT : เป็นบริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน ต้นทุนพลังงานในยุโรปเริ่มมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ธุรกิจอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ นอกจากนั้นการประเมินมูลค่าหุ้นของ MINT นั้นต่ำกว่ากลุ่มราว 15-20%
บล.บัวหลวง คาด SET Index ปี 66 มีลุ้นแตะ 1,820 จุด

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2566 คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าปี 2565 เนื่องจากในปีนี้มีการจัดระเบียบเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทำให้หลายอย่างกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะอยู่ในจุดใกล้เคียงกับจุดสูงสุดแล้ว ล่าสุดการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25 - 4.5% ส่วนปี 2566 คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในช่วงไตรมาส 1 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแตะระดับ 4.75% และธนาคารกลางสหรัฐอาจมีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงในปลายปีหากอัตราขยายตัวเศรษฐกิจมีการถดถอยมากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดการณ์
“คาดการณ์เป้าหมายดัชนี SET Index ปี 2566 ที่ 1,820 จุด และกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่ 109 บาทต่อหุ้น โดยเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ต่างชาติคาดว่าจะยังไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น ค่าเงินบาทยังคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง สะท้อนผ่านภาพในปัจจุบันที่เม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้เพียง 20% เทียบยอดขายสุทธิในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมาที่เงินไหลออกไปมาก” นายชัยพร กล่าว
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4% จากปี 2565 ที่โต 3.2% หนุนโดยภาคการบริโภคและท่องเที่ยวที่ยังคงดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะเห็นการชะลอตัวลงบ้างของภาคการส่งออกแต่ก็เป็นการกลับสู่ภาวะปกติของการฟื้นตัว ขณะที่ไทยก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ด้วย ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้การเติบโตของ GDP คาดจะขยายตัว 1% และอาจมีความเสี่ยงเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย (มอง Downside ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัว 0.5%) แต่เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้น S&P500 ของสหรัฐจะไม่ปรับตัวลงลึกมากจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากตลาดหุ้นรับรู้ประเด็นนี้ไปตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาแล้ว สะท้อนผ่านดัชนี S&P500 ตั้งแต่ต้นปีลดลงไปลึกสุด 25% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเชิงสถิติ ขณะที่ดัชนี NASDAQ ตั้งแต่ต้นปีร่วงลงไปต่ำสุด 31% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่ 35% ในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย Recession ค่า P/E ดัชนี S&P500 ก็อยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยประมาณ 16-17 เท่า สำหรับตัวเลขอัตราขยายตัว GDP ของยุโรปคาดติดลบ 0.5% หลังความตึงเครียดระหว่างยุโรปและยูเครนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน
“หนึ่งปัจจัยท้าทายในปี 2566 คือ ต้องจับตาดูเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ว่าจะกลับมาสร้างปัญหาอีกหรือไม่ หากจีนมีการเปิดประเทศอย่างเต็มตัวจนดันเงินเฟ้อขึ้นสูงอีกครั้ง ทั้งนี้คาดการณ์ว่า GDP ของจีนในปีหน้าจะเติบโต 5-5.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่สะท้อนการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มตัว” นายชัยพร กล่าว ในส่วนของการจัดพอร์ตลงทุนในปี 2566 แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกู้, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหุ้นไทย, จีน และสหรัฐฯ มากขึ้น สำหรับธีมการลงทุนเน้นลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค, กลุ่มมีเดีย, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่ม Green Energy ที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้งานมากขึ้น สะท้อนผ่านยอดขายปัจจุบันที่ 15,250 คัน นับจากต้นปีที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินก็ยังน่าสนใจจากคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ขณะที่ปัจจุบันมีค่า P/E ค่อนข้างต่ำ ส่วนกลุ่มที่ควรเลี่ยงลงทุน คือ น้ำมัน, ปิโตรเคมี, โรงกลั่น, กองเรือ และโรงพยาบาล
เมย์แบงก์ ชูหุ้นเด่นปี66 CPALL, SPA,JMART, BBIK

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า “มองหุ้นไทยไปต่อ ขับเคลื่อนด้วย 7ปัจจัยหนุน เน้นสะสมหุ้นอิงการบริโภค ท่องเที่ยว และกลุ่ม GrowthStock โ ด ย แนะนำ CPALL, SPA,JMART, BBIK เป็นหุ้นเด่น”
ได้รวบรวม 7 ปัจจัยที่คาดจะเป็นแรงส่งหนุนให้ตลาดหุ้นไทยยังไปต่อ ดังนี้
1) ท่องเที่ยวไทยเข้าสู่จุดเร่งตัว : คาดนักท่องเที่ยวปีนี้ทะลุ 10 ล้านคนและเร่งตัว +120% สู่ระดับ 22 ล้านคนในปี 2566
2) สัญญาณการบริโภคกลับมาฟื้ นตัว : การจับจ่ายใช้สอยปรับสูงขึ้นรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้า ท่องเที่ยวดี และมาตรการรัฐหนุน
3) เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด หนุนมาตรการการเงินผ่อนคลาย : เงินเฟ้อทั่วโลกกลับสู่ระดับปกติ หนุนให้ธนาคารกลางทั่วโลกชะลอขึ้นดอกเบี้ย
4) เงินบาทแข็งค่า กระตุ้นเงินทุนไหลเข้า : ดุลบัญบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล 2 เดือนติดต่อกัน ผสานดอลล่าร์เข้าสู่ Downtrend
5) การเมืองเดินหน้าสู่ความหวังใหม่ : กฎหมายปลดล็อกหนุนเดินหน้าสู่การเลือกตั้งปีหน้า กระตุ้นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
6) การกลับมาของเศรษฐกิจจีน : ความหวังจีนเปิดประเทศในปี 66 ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทยที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญ
7) SET Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ : ยังเทรดในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว โดยประเมินเป้าหมาย SET ปี 66 ที่ระดับ 1,815 จุด
กลยุทธ์การลงทุน : คาดการลงทุนในปี 2566 ยังมีความหวังโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกจากทั้งมาตรการการเงินที่ผ่อนคลาย ปลดล็อคต้นทุนทางการเงิน รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่เติบโตดี (คาด GDP ปี 66-67 ที่ +3.2%, +3.6%ตามลำดับ) ผสาน Upside Risk จากจีนเปิดประเทศ และการเลือกตั้งของไทยจึงยังประเมิน SET ยังมีแนวโน้มปรับขึ้น โดยแนะธีมการลงทุนที่น่าสนใจ
แนะทยอยสะสมหุ้นอิงการบริโภคฟื้นตัวและหุ้นรับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 66 ผสานกับหุ้น Growth Stock ที่คาดกำไรเติบโตก้าวกระโดด ดังต่อไปนี้
1) CPALL (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 79 บาท) การบริโภคฟื้นเด่นจากท่องเที่ยวเข้าสู่จุดเร่งตัว ผสานมาตรการรัฐฯหนุน
2) SPA (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 15 บาท) เข้าสู่ช่วง Turnaround ขานรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น + ความสามารถทำกำไรดีกว่าช่วง Pre-COVID
3) JMART (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 75 บาท) Growth Stock ที่คาดกาไรเติบโตแข็งแกร่ง ผสาน Synergy บริษัทลูก และ Upside จาก M&A
4) BBIK (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 150 บาท) หุ้น Tech Consult ที่คาดกาไรยังเติบโตก้าวกระโดดในปี 66-67 รับกระแสเมกะเทรนด์
ASP ชู Toppicks AP, ASK, NOBLE, TTW ADVANC, SCB

บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า 5 มุม ที่อาจจะส่งผลต่อตลาดหุ้น หากรัฐเก็บภาษีขายหุ้นในปีหน้าฝ่ายวิจัยฯ ทำการประเมินสิ่งที่นักลงทุนต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง หากรัฐบาลมีการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นในปี 2566 จะส่งผลต่อนักลงทุนและตลาดหุ้น ดังนี้
1. ภาระค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นสูงขึ้นถึง 64% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมโดยปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์มีค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ย 0.086% หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% (ซึ่งเป็นอัตราการเรียกเก็บภาษีที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี2534 แต่ก่อนค่าคอมมิชชั่นสูงกว่าปัจจุบันมาก) จะทำให้นักลงทุนมีภาระภาษีที่จ่ายเพิ่มต่อค่าค่าคอมมิชชั่นสูงขึ้นถึง 64% (0.11%/(0.086*2) =64%)
2. ช่วงระยะเวลาในการขึ้นภาษีปีหน้า ยั้งเป็นช่วงที่ตลาดเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ตามกลไกช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันระดับ P/E ในการซื้อขายจะถูกลดทอนอยู่แล้ว หากขึ้นภาษีตอกย้ำให้สภาพคล่องในระบบลดลงอีก
3. ช่วงระยะเวลาในการเก็บภาษีปีหน้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วง Recession หากมีการขึ้นภาษีเวลานี้ ทำให้เสนห์ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลงไป
4. นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้รับภาระค่าคอมมิสชั่น สูงกว่านักลงทุนในประเทศ เนื่องจาก ต่างชาติซื้อขายหุ้นไทยในปีนี้ อยู่ที่ 8.40 ล้านล้านบาทแต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยทางตรง + NVDR เพียง 28.2% คิดเป็นมูลค่าตลาด 5.58 ล้านล้านบาท แสดงว่ามี Turnover ในการซื้อขายสูงถึง150% ต่อปี ต่างกับนักลงทุนในประเทศทั้งหมดซื้อขายหุ้นไทยในปีนี้สูงกว่าต่างชาติเล็กน้อย 9.12 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยสูงถึง 71.8% คิดเป็นมูลค่าตลาด 14.2 ล้านล้านบาท หรือมีค่าTurnoverในการซื้อขายที่ต่ำกว่า อยู่ที่ 64% ต่อปี
5. สถิติในปี 2011 – 2022 (12 ปี) ชี้ให้เห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยมักไม่ดีในช่วงที่สภาพคล่องซื้อขายต่ำ สะท้อนได้จากข้อมูลHistogram Turnover ของ SET 2011 – 2022 เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยรายวัน พบว่า เวลาที่มูลค่าซื้อขายสูงกว่าค่าเฉลี่ย (Turnover 87%ต่อปี) ถึง +1SD (Turnover 114.5% ต่อปี) ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.3% แต่ถ้ามูลค่าซื้อขายอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ช่วง -1SD ถึง ค่าเฉลี่ย) ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะลดหลั่นลงมาเหลือ +5.6% ต่อปี แต่เวลาที่มูลค่าซื้อขายต่ำกว่า -1SD (Turnover59.7% ต่อปี) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -2.9% ดังนั้นภายใต้มูลค่าซื้อขายที่มีโอกาสลดลงในอนาคต
สรุปจาก 5 มุมมองดังกล่าว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อตลาดหุ้นที่นักลงทุนต้องเตรียมเผชิญ น่าจะกระทบต่อทิศทางตลาดช่วงปรับตัวระยะสั้นๆ และกระทบต่อสภาพคล่องระยะยาว
หุ้นปันผลเด่น หนึ่งในกลยุทธ์รับมือความผันผวนจากการเก็บภาษีขายหุ้นนักลงทุนต้องเตรียมปรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 2566 ให้เหมาะสมมากขึ้น เบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินหุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยนี้ คือ หุ้นธุรกิจหลักทรัพย์, หุ้นขนาดเล็กP/E สูง แต่กลับมีการซื้อขายหนาแน่น และหุ้นที่มีสัดส่วนการใช้Margin สูง ซื้อขายหนาแน่น
ในทางกลับกันหุ้นที่น่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น คือ หุ้นปันผลสูง ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์คลาสสิคที่รับมือความผันผวนของตลาดได้ดี โดยปกติหุ้นปันผลสูงมักจะผันผวนต่ำ สะท้อนได้จากการเปรียบเทียบค่า Beta ย้อนหลัง 1 ปี (แกน Y) กับข้อมูลDividend Yield (แกน X) ของหุ้นทั้งหมดในตลาด พบว่า มีทิศทางเอียงลงอย่างชัดเจนแสดงให้เห็นว่า ภาพรวมหุ้นที่มี Dividend Yield สูงๆ มักมีค่า Beta ต่ำ หรือมีความผันผวนที่น้อยกว่าเพื่อนรวมถึงเวลาตลาดปรับฐานแรง ราคาหุ้นก็มักจะย่อตัวได้น้อยกว่าเสมอ สะท้อนจากสถิติในอดีตย้อนหลังในอดีตตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีช่วงเวลาที่ SET Index ปรับฐานแรง11 ครั้ง แต่ SETHD (ตัวแทนหุ้นปันผลสูง) ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าถึง 9 ใน 11 ครั้ง
ที่สำคัญช่วงต้นปี 2566 ยังถือเป็นจังหวะดีในการเข้าสะสมหุ้นปันผลสูงอีก เนื่องจากหุ้นปันผลมักจะขึ้นได้โดดเด่นในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีเสมอ โดยในปี 2015 –2022 (ไม่นับค่าผิดปกติ หรือ Outlier ช่วง 1Q20 ช่วงเกิด Covid-19
คัดกรองหุ้นปันผลเด่นน่าทยอยสะสมตั้งแต่ช่วงท้ายปี 2565ฝ่ายวิจัยฯ ทำการคัดกรองหุ้นปันผลสูง ที่น่าทยอยสะสมได้ตั้งแต่ช่วงท้ายปี 2565 พร้อมกับ
คาดหวังผลตอบแทนได้ทั้งในระยะ 3 เดือนข้างหน้า หรือในระยะยาว โดยผ่าน 4 เงื่อนไขเบื้องต้น ดังนี้
• เป็นหุ้นที่มี Dividend Yield65F > 3% ต่อปี
• เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิจัยฯ แนะนำ "ซื้อ" และมี Upside >0%
โดยแบ่งหุ้นปันผลสูงออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. หุ้นปันผลสูง จ่ายปีละครั้ง ชอบ TISCO AP ASK NOBLE
2. หุ้นปันผลสูง ผันผวนต่ำ ชอบ QH DCC TTW EGCO
3. หุ้นปันผลสูง มี ESG Score สูง ชอบ SCB RATCH PTT ADVANC
ส่วน Toppicks เลือก AP, ASK, NOBLE, TTW ADVANC, SCB
สรุป กลยุทธ์การลงทุนหุ้นปันผลเด่นในช่วงไตรมาสแรกของปี ถือว่าถูกที่ถูกเวลานอกจากจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี และรับเงินปันผลแล้ว ยังช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตการลงทุนในยามที่นักลงทุนอยู่ในช่วงปรับกลยุทธ์รับมือกับค่าคอมมิสชั่นที่สูงขึ้นจากภาษีขายหุ้น
By:ทีมข่าวหุ้นอินไซด์
*******************************