Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: DTAC เซ็นสัญญาสินเชื่อเชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน มูลค่า 6 พันลบ. /SPALI เล็งเป้าปีเสือรายได้2.9หมื่นลบ. เปิด 34 โครงการใหม่ /FPI ตั้งเป้าปี65 รายได้เติบโต 10% สู่นิวไฮใหม่

2,727

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(24มกราคม 2565)------ดีแทคลงนามสัญญาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR เป็นครั้งแรก กับธนาคารมิซูโฮ

 

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) จำกัด หรือดีแทค ได้ลงนามสัญญาสินเชื่อระยะยาวอายุ 5 ปี ที่เชื่อมโยงกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance) เป็นครั้งแรก โดยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) กับ ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด

เงินกู้ระยะยาวที่เชื่อมโยงกับ ESG โดยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR มูลค่า 6 พันล้านบาทนี้ มีการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เชื่อมโยงกับคะแนน ESG ของดีแทค ซึ่งเงินกู้นี้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดการเงินทั้งในแง่การส่งเสริมการใช้อัตราอ้างอิง THOR ใหม่และเครื่องมือทางการเงินที่เชื่อมโยงกับ ESG ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ธุรกรรมที่ไม่เหมือนใครนี้แสดงถึงหมุดหมายใหม่ในการร่วมส่งเสริมแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการใช้ THOR เพื่อปรับปรุงเสถียรภาพของตลาดการเงินควบคู่ไปกับการรับรู้ถึงความสำคัญของด้าน ESG ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นายนกุล เซห์กัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า "เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมลงนามสัญญาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล กับธนาคารมิซูโฮ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น นี่เป็นโอกาสอันดีสำหรับดีแทคในการตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราจะยังคงเดินหน้าบูรณาการแนวคิดด้านความยั่งยืนหรือ ESG ในการดำเนินงานของเราในมิติต่างๆ เนื่องจากเราเชื่อว่านี่เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้างในสังคมไทย และในการสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งยั่งยืน อีกทั้งเรามีความยินดีที่ได้ร่วมส่งเสริมอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ THOR ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และถือเป็นหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการตลาดการเงินไทย"

นาย เคอิ ชิโรตะ ผู้จัดการทั่วไปของ ธนาคาร มิซูโอ จำกัด สาขากรุงเทพ กล่าวว่า "มิซูโฮขอแสดงความยินดีต่อความสำเร็จครั้งแรกของ DTN สำหรับสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับ ESG ที่ใช้ THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และเราภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ เราประทับใจในนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของดีแทค ตลอดจนความพยายามที่จะนำอัตราอ้างอิง THOR ที่เพิ่งเปิดตัวไปใช้ในธุรกรรมทางการเงินของบริษัท ซึ่งจะกระตุ้นการพัฒนาตลาดการเงินของประเทศไทยในอนาคตให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลก

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า "ธุรกรรมสินเชื่ออ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR และเชื่อมโยงกับคะแนน ESG ที่ ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพ ได้ทำสัญญาร่วมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของทั้ง 2 หน่วยงานที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมถึงความพร้อมของธนาคารในการทำธุรกรรมอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ขณะเดียวกันยังเอื้อให้ภาคธุรกิจมีแหล่งเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยต้นทุนที่ลดลง ธปท. จึงขอขอบคุณในความร่วมมือที่ได้ส่งเสริมให้มีเครื่องมือระดมทุนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระยะยาวทั้งในด้านการสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR และการร่วมสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม"

 

 

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) พร้อมลุยทุกสถานการณ์ปีเสือทอง ชูจุดแข็งสินค้าที่อยู่อาศัยหลากหลาย สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง เดินหน้าเต็มสูบเปิดโครงการใหม่ทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียมรวม 34 โครงการ มูลค่า 40,000 ล้านบาท มั่นใจปี 2565 เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งรายได้และกำไร ควบคู่กับจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าแม้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 จะขยายตัวเล็กน้อยจากปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรง ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ แต่ศุภาลัยก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯปี 2565 จะเป็นไปในทิศทางบวก ด้วยอุปทานจากกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง หรือ เรียลดีมานด์ โดยเฉพาะสินค้าบ้านเดี่ยวที่มียอดขายทรงตัวแม้จะอยู่ในช่วงวิกฤต ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของไทยยังคงส่งผลต่อการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งในปี 2565 คาดการณ์ว่าการเติบโตจะดีขึ้นตามการกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง แต่เนื่องจากกิจการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงหายไป ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในระยะสั้น ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ด้วยความมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่อยู่อาศัย ภายใต้สินค้าที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มความต้องการ แบ่งเป็น สินค้าที่อยู่อาศัยโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม รีสอร์ทหรูมาตรฐานระดับสากล และเดินหน้ารุกตลาดภูมิภาค ขยายการลงทุนในต่างประเทศ และขยายการเช่าเพิ่มขึ้น

ปีที่ผ่านมา 2564 บมจ.ศุภาลัยมียอดขายรวม 31,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 24,000 ล้านบาท และยอดขายจากโครงการร่วมทุนในต่างประเทศ 7,000 ล้านบาท ขณะที่การขยายตลาดที่อยู่อาศัยออกสู่ต่างจังหวัดก็ยังเดินหน้ากระจายการลงทุนต่อเนื่อง โดยปัจจุบันศุภาลัยพัฒนาโครงการครอบคลุม 24 จังหวัด โดยในปี 2565 ตั้งเป้าปีนี้เริ่มพัฒนาโครงการใหม่ใน 5 จังหวัดใหม่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ลำพูน นครสวรรค์ นครปฐม และ ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้เพราะบมจ.ศุภาลัย มีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง มีจำนวนโครงการและสินค้าที่หลากหลายในแต่ละจังหวัด ประกอบกับมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และมีระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ISO 9001 เป็นต้น

นอกจากมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จด้านผลประกอบการแล้ว บมจ.ศุภาลัย ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้แนวคิด “ศุภาลัย ใส่ใจ...สร้างสรรค์สังคมไทย” โดยบริษัทฯ ได้คำนึงถึง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกภาคส่วน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามกระบวนการ SDGs (Sustainable Development Goals) ขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรตามแนวทาง CSR-IN-PROCESS ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเริ่มจากการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียงในจังหวัดต่างๆที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย อาทิ โปรเจ็คท์ Waste Management จัดการกับของเสียในกระบวนการก่อสร้าง เพื่อลดปริมาณความสูญเสียของวัสดุก่อสร้าง และสามารถจัดการกับเศษวัสดุก่อสร้างให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสามารถลดมลพิษทางอากาศในปัจจุบัน โครงการ Supalai Happiness Camp ส่งมอบความช่วยเหลือไปยังแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมของศุภาลัย ซึ่งมีคนงานในแคมป์ก่อสร้างกว่า 6,000 คน เป็นต้น

ด้าน นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2564 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง บริษัทฯได้ใช้ช่วงเวลานั้นพัฒนา ปรับปรุงสินค้าและบริการโดยยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ผสานการทำงานที่รวดเร็วแบบ Agile สร้างองค์กรยุคใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำงานมากขึ้น โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการ อีกทั้งสานต่อระบบ Online Booking ให้รองรับทั้งการขายแนวราบและอาคารสูง เพื่อรองรับวิถีชีวิตยุคดิจิตอลของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมที่อยู่อาศัยเพื่อสอดคล้องกับวิถีชีวิต New Normal เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทำให้บริษัทฯก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆอย่างมั่นคง ส่งผลให้ผลงานในปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างน่าพึงพอใจ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวโครงการทั้งแนวราบ และคอนโดมิเนียม รวม 23 โครงการ มูลค่ารวม 24,790 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการแนวราบ 21 โครงการ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล 9 โครงการ, ภูมิภาค 12 โครงการ) และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ

ขณะที่ในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายยอดขายในประเทศ 28,000 ล้านบาท และเป้าหมายรายได้ 29,000 ล้านบาท โดยวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 34 โครงการ แบ่งเป็น โครงการแนวราบ 31 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียม 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท และกำหนดงบประมาณการจัดซื้อที่ดิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ ตั้งมั่นก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกโครงการให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นดังที่ตั้งมั่นมาตลอด 33 ปี โดยมีเป้าหมายหลักคือการสร้างความพึงพอใจในระดับสูงให้กับลูกค้า ปรับปรุงและสร้างนวัตกรรมการทำงาน พร้อมพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกระดับในองค์กรผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆทั้งภายในและนอกองค์กร รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2565

นอกจากนี้บริษัทฯยังเปิดตัวแบรนด์บ้านใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า โดยทะยอยเปิดตัวตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้วถึง 4 แบรนด์ ซึ่งออกสตาร์ทกับโครงการแรกของปี 2565 กับแบบบ้านเดี่ยวใหม่ล่าสุด 3 แบบ 3 สไตล์ ระดับลักซ์ชูรี่ ปักหมุดทำเลแรกบนถนนบรมราชชนนี “ศุภาลัย เอเลแกนซ์ บรมราชชนนี121” โดยหวังเป็นทางเลือกแรกของบ้านเดี่ยว 3 ชั้น เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนในทำเลดังกล่าว

 

 

บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้(FPI) กางแผนปีเสือทองโตแรงทุกมิติ ผลจากอุตสาหกรรมส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์แนวโน้มดีต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทย่อยในอินเดียฟื้นตัวคึกคัก ออเดอร์ไหลเข้าเท่าตัว ฟากเอ็มดี " นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์"ระบุตั้งเป้าปี65 รายได้เติบโต 10% ยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เน้นกลยุทธ์สร้างมาร์จิ้นเพิ่ม เตรียมยื่นประมูลงานใหม่อีก 300-400 ล้านบาท หวังได้งาน 50% หนุน Backlog มีโอกาสทะลุ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 800 ล้านบาท ผลักดันอนาคตสดใส

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด(มหาชน)หรือ FPI เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2565 มีแนวโน้มที่สดใส เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมการส่งออกฟื้นตัวแรง ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในปี 2564 เติบโตได้มากถึง 26% และ ยังคงมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง ขณะที่บริษัท FPI AUTO PART INDIA PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศอินเดีย ดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, บริการรับออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตแม่พิมพ์พลาสติก, รับจ้างฉีด, ชุบโครเมียม, พ่นสี, ประกอบ ชิ้นงานทุกประเภท ปัจจุบันมีการฟื้นตัวอย่างคึกคัก โดยมีออเดอร์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อน ซึ่งมีมูลค่างานในมืออยู่แล้วกว่า 700 ล้านรูปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ มียอดคำสั่งซื้อในมือ (Backlog) ทั้งงานในประเทศ และต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 800 ล้านบาท โดยทยอยรับรู้ในปีนี้ประมาณ 500 ล้านบาท และที่เหลือจะรับรู้ในปีถัดไป ขณะเดียวกันมีแผนเตรียมยื่นประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีก 300-400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะประมูลได้ประมาณ 50% ดังนั้น มีโอกาสที่จะสนับสนุนให้งานในมือปีนี้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,000 ล้านบาท

"ในปี 2565 บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 10% จากปีก่อน และยังคงสามารถรักษาผลงานให้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพทั้งด้านวัตถุดิบ และค่าขนส่ง เน้นผลิตสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น"นายสมพลกล่าว

กรรมการผู้จัดการกล่าวต่อว่า สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจบริการให้เช่าแม่พิมพ์มีแนวโน้มเติบโตได้ดี หลังจากที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้บริษัทฯ ได้หันมาให้ความสนใจธุรกิจที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งโลจิสติกส์มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ค่าบริการขนส่ง โดยเฉพาะทางเรือ มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ซึ่งจะมีผลต่อการบริหารต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยมองว่าระบบการขนส่งสินค้าเป็นส่วนสำคัญในธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์อยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาหาช่องทางในการเข้าไปลงทุน เพื่อที่จะช่วยลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้และกำไรในอนาคต

 



----จบ------

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

HotNews: MTC กำไร Q1/67 โต 29.8% ดีกว่าโบรกฯคาด ทั้งปีคาดพุ่ง 22%

MTC ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่ไมโครไฟแนนซ์มาตรฐานระดับโลก เน้นจุดแข็งความยั่งยืน.....

ชมงบ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ช่วงนี้ คงต้องรอชมนก ชมไม้ เอ้ย รอชม ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ของบริษัทจดทะเบียน เริ่มทยอย...

CFARM จับมือ APM UOBKH และ BYD ประเดิมโรดโชว์ให้ข้อมูลนักลงทุน จ.ชลบุรี

CFARM จับมือ APM UOBKH และ BYD ประเดิมโรดโชว์ให้ข้อมูลนักลงทุน จ.ชลบุรี

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้