Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: PIMO อวดกำไรโค้ง2/64 พุ่ง127.15% ลุ้นปี64รายได้ทะลุเป้า 1พันลบ. /TK โชว์ฝีมือ ปั้นกำไรQ2/64โต 142.6%

4,993

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(11สิงหาคม 2564)----PIMO โชว์งบไตรมาส 2/64 มีกำไรสุทธิ 24.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127.15% จากงวดเดียวกันปีก่อนทำได้ 10.79 ล้านบาท พร้อมปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.018 บาท ด้านหัวเรือใหญ่ วสันต์ อิทธิโรจนกุล เผยครึ่งปีหลังผลประกอบการโตต่อเนื่อง ย้ำเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน รับอานิสงส์ออเดอร์ล้นทะลัก ธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น


นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) PIMO เปิดเผยว่า บริษัทฯยังคงเป้ารายได้รวมปี2564 คาดว่าจะสามารถเติบโตแตะที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ เนื่องจากบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2/64 พร้อมตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 15% เนื่องจากบริษัทได้มีการขยายกำลังการผลิต และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่อง


นอกจากนี้ บริษัทฯยังคงเดินหน้าผลิตสินค้าใหม่ๆโดยคาดว่าจะสามารถออกจำหน่ายในปี 2564นี้ ประกอบด้วย 1.ผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำหอยโข่งภายใต้แบรนด์ Pioneer Motor ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ2.มอเตอร์ภาคอุตสาหกรรม 3 Phase 5HP-20 HP ซึ่งในช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทไม่สามารถเดินไปต่างประเทศได้ จึงไม่สามารถไปดำเนินการเพื่อขอใบรับรองและเจรจากับผู้ขายในต่างประเทศได้ จึงอยู่ในช่วงพักการดำเนินการไปก่อน จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย 3.การพัฒนามอเตอร์พัดลม สำหรับลูกค้าต่างประเทศ เพิ่มจาก2รุ่น เป็น5รุ่น โดยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและสามารถทำยอดขายแล้วในช่วงไตรมาสที่2/64 4.ขยายกำลังการผลิต Batiable Speed Motors สำหรับตลาดต่างประเทศจาก70ลูก เป็น120 ลูก 5.เพิ่มกำลังการผลิตมอเตอร์ปั๊มน้ำใช้สำหรับโหมดผู้ใช้ในประเทศ 40% 6.มอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศมอเตอร์ (BLDC HVAC MOTOR) ปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์แล้วในส่วนของPIMO ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องขอจดลิขสิทธิ์และรอสิทธิบัตรดังกล่าวเสร็จลุล่วง และ7.ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนามอเตอร์สำหรับรถจักรยานไฟฟ้า ร่วมกับ สวทช. ซึ่งปัจจุบันได้ให้สวทช. เป็นผู้พัฒนาออกแบบดีไซน์ตัวมอเตอร์ให้กับทางบริษัท


สำหรับแผนการลงทุนในปี2564 บริษัทฯใช้เงินลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตโดยใช้งบลงทุน 85 ล้านบาท แบ่งออกเป็น การสร้างอาคารแวร์เฮ้าส์หลังใหม่ด้วยงบลงทุน 21.3 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 3,019 ตารางเมตร แต่ปัจจุบันได้มีการชะลอออกไปเนื่องจากติดปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ทางบริษัทจึงยังไม่อนุญาตให้คนงานก่อสร้างเข้ามา เพื่อลดปัญหาและความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อโควิดและจะใช้เงินลงทุนบางส่วนปรับปรุงอาคารส่วนขยายกำลังการผลิต AC โดยปัจจุบันบริษัทได้ซื้อตึงข้างๆบริษัท เพื่อเข้าไปปรับปรุงและขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับคำสั่งซื้อACเพิ่มขึ้น


พร้อมกันนี้ บริษัทฯได้ลงทุนติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เพิ่มเติมตึก BLDC ด้วยงบลงทุน 8.3ล้านบาท ซึ่งได้มีการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการรอ BOI อนุมัติให้กับโซลาร์รูฟส่วนเพิ่มเติม คาดว่าจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อยภายในไตรมาส3/64
และได้มีการลงทุนหุ่นยนต์ Automation 3ตัว และเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต1เครื่อง ประกอบด้วย โรบอทหยิบชิ้นงานแผนกฝา 1ตัว, โรบอทหยิบชิ้นงานแผนกแกน 1ตัว และเครื่องฉีด Rotor Auto 1 เครื่องและในส่วนนี้จะมีการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมในส่วงของมอเตอร์AC ได้แก่ เครื่องฉีดอะลูมิเนียม 1เครื่อง, เครื่องCNC 1เครื่อง, เครื่องกลึงเปลือก1 เครื่อง, เครื่องพันลวด 2เครื่อง และเครื่องมัดเชือก 2เครื่อง


ทั้งนี้ บริษัทได้ประเมินถึงปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของบริษัทนั้น คือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเงินบาทขณะนี้อยู่มนระดับอ่อนค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมาที่ 33 บาท ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 4.7% และเงินสกุลดอลลาร์ออสเตรเลีย มาที่ 24 บาท เพิ่มขึ้น 11.6% ขณะที่ราคาวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/64 มาไตรมาส 264 ได้แก่ ทองแดง เพิ่มขึ้น 53% อลูมิเนียม เพิ่มขึ้น 42% และ ซิลิคอน เพิ่มขึ้น 78 โดยแนวโน้มราคาวัตถุดิบ ในช่วงครึ่งปีหลังมีอนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะซิลิคอนยังพุ่งสูงต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/64 มีรายได้อยู่ที่ 244.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.58 ล้านบาท หรือ 49.29% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 163.49 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 24.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.72 ล้านบาท หรือ 127.15% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 10.79 ล้านบาท

 

ด้านบริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 142.6% จาก 48.8 ล้านบาท เป็น 118.4 ล้านบาท รายได้รวม 499.5 ล้านบาท ลดลง 19.7% จาก 622.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ผ่านมา ภาพรวมครึ่งปีแรกกำไรสุทธิ 215.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.1% จาก 142.8 ล้านบาท รายได้รวม 1,038.3 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 1,363.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกในปี 2563 เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย หนี้ครัวเรือนในประเทศปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 90.5% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ คาดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก มองสถานการณ์มหาวิกฤติยังไม่สามารถประเมินผลกระทบทั้งหมด TK เดินหน้ากลยุทธ์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และมีสภาพคล่องสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมีเงินสดและเงินฝากธนาคารรวม 2,335 ล้านบาท เพื่อพร้อมลุยการซื้อกิจการ MFIL ในเมียนมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย และเพื่อกลับมาเร่งขยายตัวทันทีที่สถานการณ์ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 


นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติงบการเงินสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,038.3 ล้านบาท ลดลง 23.8% จาก 1,363.2 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิ 215.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.1% จาก 142.8 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนช่วงเวลาเดียวกัน โดยในไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 118.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142.6% จาก 48.8 ล้านบาท รายได้รวม 499.5 ล้านบาท ลดลง 19.7% จาก 622.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยมีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,947.6 ล้านบาท ลดลง 14.0% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563


"ผลประกอบการภาพรวมยังคงมีกำไร ซึ่งเกิดจากบริหารจัดการทั้งการหารายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้อื่น ๆ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยรวมภายในองค์กร รวมทั้งการบริหารต้นทุนทางการเงิน ในภาวะวิกฤติที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งในประเทศของเรา การปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่เปราะบางจากสถานการณ์ของโรคระบาดในเวฟ 3 จึงจำเป็นต้องเข้มงวด มากกว่าการพยายามแย่งชิงลูกค้าโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่างวดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ TK ยังคงใช้กลยุทธ์ระมัดระวังกับการปล่อยสินเชื่อ และมีสภาพคล่องสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมีเงินสดและเงินฝากธนาคารรวม 2,335 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ TK มีความพร้อมเสมอที่จะเร่งขยายธุรกิจทั้งภายในประเทศและที่ต่างประเทศ ทันทีที่สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย" นางสาวปฐมา กล่าว


ทั้งนี้ ถึงรายได้รวมลดลง แต่รายได้อื่น ๆ ของ TK ในไตรมาส 2 ปี 2564 จำนวน 134.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.5% จาก 104.1 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีรายได้อื่น ๆ รวม 286.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จาก 239.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านการติดตามหนี้ ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามหนี้ค้างชำระโดยเฉพาะ เพื่อติดตามลูกหนี้ให้ชำระค่างวดอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 2 ปี 2564 ได้ลดลง 38.1% เหลือ 336.7 ล้านบาท จาก 544.1 ล้านบาท โดยรวมตลอดครึ่งปีแรก สามารถบริหารค่าใช้จ่ายรวมลดลง 35.9% เป็น 730.5 ล้านบาท จาก 1,139.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีการลดต้นทุนนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกหน่วยงาน เพื่อลดเอกสารและลดการทำงานซ้ำซ้อน ด้านต้นทุนทางการเงิน TK บริหารจัดการแหล่งต้นทุนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ไตรมาส 2 ปี 2564 มีจำนวน 7.6 ล้านบาท ลดลง 64.3% จาก 21.3 ล้านบาท รวมตลอดครึ่งปีแรกต้นทุนทางการเงินมีจำนวน 17.9 ล้านบาท ลดลง 60.8% จาก 45.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา


ทางด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 TK มีลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ยืมสุทธิรวม 3,947.6 ล้านบาท ลดลง 14.0% จาก 4,591.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 จากนโยบายเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องมากว่า 2 ปี แต่เนื่องจากไม่ได้ใช้สิทธิ์ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวของสภาวิชาชีพบัญชีของประเทศไทย ทำให้สำรองลูกหนี้สูงกว่าผู้ประกอบการประเภทเดียวกันที่ใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 มีจำนวน 490.7 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 9.1% Coverage Ratio เท่ากับ 120.9% ซึ่งเปรียบเทียบกับ ณ สิ้นปี 2563 ที่มีสำรองลูกหนี้ จำนวน 561.7 ล้านบาท ลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน 9.2% Coverage Ratio เท่ากับ 118.3% ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 6,780.3 ล้านบาท ลดลง 7.8 % จาก 7,356.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 และมีหนี้สินรวม 1,392.0 ล้านบาท ลดลง 30.4% จาก 2,000.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563
"จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงกับการบริโภคในประเทศ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 90.5% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 และยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินผลกระทบทั้งหมดที่จะเกิดจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้อย่างชัดเจน และคาดว่าจะยังคงเผชิญอีกหลายปัจจัยเสี่ยง จึงส่งผลให้ TK คงนโยบายระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและการควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในระยะกลาง และระยะยาวต่อไป ในขณะที่ยังมีเงินสดพร้อมที่จะสามารถนำไปใช้ในการซื้อกิจการ MFIL ในเมียนมา ตามที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ทันทีที่สามารถเข้าไปดำเนินกิจการได้ รวมถึงนำไปใช้ในการเร่งขยายพอร์ตลูกค้าในประเทศเมื่อสถานการณ์ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นทันที" นายประพล กล่าวทิ้งท้าย


---จบ--

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

เล่นตามข่าว By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ นักเก็งกำไร เล่นตามข่าว ตามความแรงของเงินสกุลดิจิตอล ตามบิทคอยน์ ขณะที่เส้นกราฟ.....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้