Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: BANPU ซุ่มศึกษาธุรกิจเหมืองแร่

8,637


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (2 กรกฎาคม 2564)—— BANPU อยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจเหมืองแร่ รองรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) เล็งออกหุ้นกู้ อายุ 3-5-10 ปี วงเงิน 7พัน-1หมื่นลบ. ใช้ทดแทนหุ้นกู้ครบกำหนด-รองรับธุรกิจพลังงานสะอาด พร้อมแจงเพิ่มทุน 5.07 พันล้านหุ้น นำเงินไปลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ตามแผน Greener&Smarter


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) BANPU เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติ อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน 5,074,581,516 บาท จากเดิม 5,074,581,515 บาท เป็น 10,149,163,031 บาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 5,074,581,516 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่จะออกและจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อเพิ่มทุนนั้น บริษัทจะใช้เงินที่ได้ในครั้งนี้นำไปต่อยอดในการลงทุนด้านธุรกิจพลังงานสะอาดในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter หรือนโยบายของบริษัทที่จะเน้นขยายพอร์ตสัดส่วนธุรกิจพลังงานสะอาดให้สูงกว่าระดับ 50% ภายในปี 2568


ด้านแผนการลงทุน บริษัทได้จะใช้เงินลงทุน จาก 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจถ่านหิน,ก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้า ซึ่งเงินส่วนนี้บางส่วนอาจนำมาชำระหนี้และจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น 2.เงินทุนจากการออกหุ้นกู้ 3.เงินกู้จากสถาบันทางการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 4.เงินระดมทุนจากการเพิ่มทุนของบริษัท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีฐานทุนและโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงดึงดูดให้มีผู้ประกอบการที่สนใจขายโครงการหรือร่วมลงทุนกับบริษัทได้มากขึ้น


ส่วนแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ คาดว่าในช่วงเดือน ส.ค.64 จะมีการออกเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 3 ชุด แบ่งเป็นอายุ 3-5-10 ปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะนำเงินมาที่ได้มาชำระคืนหนี้เดิมที่ครบกำหนด (รีไฟแนนซ์) และใช้สำหรับลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม),โรงไฟฟ้าพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม),โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ได้แก่ ธุรกิจเหมือนแร่ ที่จะสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจ Tech Minerals ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยปัจจุบันบริษัทได้มีการเข้าไปศึกษาธุรกิจเหมืองแร่นิกเกิลในประเทศอินโดนีเซียและประเทศออสเตรเลีย ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินใน 2 ประเทศนี้อยู่แล้ว โดยทั้งอินโดนีเซียและออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินแร่แห่งอนาคตอยู่มากเช่นเดียวกัน เบื้องต้นในการเข้าไปลงทุนในช่วงแรกๆนั้นอาจจะเริ่มจากเหมืองแร่ในระดับเล็กๆก่อน

ทั้งนี้ บริษัทฯยังเตรียมเดินหน้าเปลี่ยนผ่านองค์กรในประเทศออสเตรเลียด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการขยายพอร์ตฟอลิโอพลังงานสะอาด รวมถึงมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทรวมเป็น 6,100 เมกะวัตต์ (MW) ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้าหรือปี 68 จากปัจจุบันที่ระดับ 2,500 MW โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติประมาณ 4,500 MW และอีกราว 1,600 MW จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย,จีน,เวียดนาม และญี่ปุ่น


นางสมฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการเดินหน้าตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ในทุกกลุ่มธุรกิจของบ้านปูทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งนับว่ามีความโดดเด่นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการปฏิวัติดิจิทัล ไปพร้อม ๆ กับการปรับพอร์ตธุรกิจให้สอดคล้องกับกลยุทธ์พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยสนับสนุนกลุ่มบ้านปูให้เดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (International Versatile Energy Provider) ด้วยความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ" บ้านปูเริ่มลงทุนธุรกิจในประเทศออสเตรเลียในปี 2552 โดยเริ่มต้นดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ่านหิน และจากการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Greener & Smarter ทั่วทั้งองค์กร ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจในออสเตรเลียมีการต่อยอดด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) เข้ามาเพิ่มศักยภาพและเสริมความแข็งแกร่ง

กรอบการทำงานสำหรับ Digital Transformation ของกลุ่มบ้านปู อยู่ภายใต้แนวคิด Triple-Transformation Framework ได้แก่ ด้านธุรกิจ มุ่งสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหม่ผ่านการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลโซลูชัน ตลอดทั้งระบบงานของธุรกิจอย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยี วางโครงสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีจากนวัตกรรมที่ทันสมัย พัฒนาระบบการทำงานแบบ Agile สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และผู้พัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และ ด้านบุคลากร มุ่งบ่มเพาะดีเอ็นเอแบบ Agile สร้างค่านิยมการทำงานแบบ Hackathon ให้ทุกคนพร้อมทดลอง เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

บริษัทฯ ได้ก่อตั้ง Digital Capability Center (DCC) ในประเทศออสเตรเลียขึ้นในปี 2561 เพื่อสร้างความสามารถภายในองค์กรในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของพนักงานและเครื่องจักรให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดจากทั้งมนุษย์ และอุปกรณ์ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ที่ผ่านมาหน่วยงาน DCC ของออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปเสริมแกร่งการทำงานถึง 14 เคส ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่สำคัญ อาทิ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management Platform) ที่นำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์บน IIoT และการวิเคราะห์บนคลาวด์แพลตฟอร์ม ‘SwitchDin’ เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานในทุกเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด Real-Time Condition Monitoring Using AI เป็นการนำอุปกรณ์ที่มีอยู่ (เช่น ปั๊ม มอเตอร์ คอมเพรสเซอร์ ฯลฯ) มาติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อเห็นมุมมองการทำงานของอุปกรณ์แบบองค์รวม โดยสามารถตรวจสอบสภาพอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่ออุปกรณ์เริ่มทำงานผิดปกติ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้สำหรับการวางแผนงานเชิงป้องกันและการคาดการณ์ในอนาคต เป็นต้น


สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด (Greener Portfolio) ในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มบ้านปูได้จัดตั้ง บริษัท Banpu Energy Australia เพื่อดำเนินงานโดยจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ โครงการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Decarbonization Projects) การพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solutions) และการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด (Portfolio Optimization) โดยล่าสุด ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์

นอกจากนี้ โครงการปั๊ม ไฮโดร เอ็นเนอจี สตอเรจ (Pump Hydro Energy Storage Project) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีและการวิจัยชั้นนำของโลกที่ทางบริษัทฯ ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพลังงานทดแทนแห่งออสเตรเลีย (ARENA) และรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ที่เหมืองใต้ดินในบริเวณที่ทำเหมืองเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ จ่ายให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ การจัดหาพลังงานหมุนเวียนผ่านนวัตกรรมในโครงการนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของบ้านปู ให้ก้าวสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568


“บ้านปูยังคงมุ่งมั่นเดินตามกลยุทธ์แผน 5 ปี ต่อยอด Greener & Smarter ขยายพอร์ตพลังงานสะอาด ด้วยแนวทางที่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีธุรกิจแบบ Never Normal ในปัจจุบัน และสอดรับกับเทรนด์พลังงานโลก เดินหน้าเปลี่ยนผ่านองค์กรในทุกประเทศที่บ้านปูดำเนินธุรกิจ นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจพลังงาน (Banpu Ecosystem) เพื่อส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนภายใต้จุดยืน “อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน” หรือ Smarter Energy for Sustainability ต่อไป” สมฤดีกล่าวสรุป

 

 

---จบ---

 

 

 

 

 

สิริวัฒนา กลางประพันธ์

สิริวัฒนา กลางประพันธ์ : รายงาน / อณุภา ศิริรวง : เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

TERA เปิดเทรดวันแรกราคาพุ่งเหนือจอง 122.86 %

TERA เปิดเทรดวันแรกราคาพุ่งเหนือจอง 122.86 %

คุมเชิง By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองเกมหุ้นภาพรวม น่าจะเป็นรูปแบบการเทรด การเล่นคุมเชิง เน้นเล่นรอบ เล่นสั้น บนปัจจัยบวกใหม่...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้