
ทีมข่าว HoonInside.com ได้เจาะลึกแบบหมดเปลือก สำหรับหุ้น IPO น้องใหม่ป้ายแดงที่จะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในไตรมาส 3/2555 ซึ่งงานนี้ผู้บริหารอนาคตไกล นาม"สมพล ธนาดำรงศักดิ์"ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ FPIได้ให้เกียรติ นั่งพูดคุยสบายๆ ถึงแนวโน้มธุรกิจและความคืบหน้าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ พร้อมทิ้งด้วยประโยคเด็ดๆที่ว่า " ปีนี้ธุรกิจยานยนต์เป็นปีที่รุ่ง ดูจากยอดขายยานยนต์ปีนี้ทะลุเป้า เพราะฉะนั้นเราทำชิ้นส่วนยานยนต์ ผมคิดว่าเป็นจุดหนึ่งที่นักลงทุนจะสนใจธุรกิจยานยนต์"ขอเชิญอ่านบทสัมภาษณ์กันแบเต็มๆ ได้เลยค่ะ...
***ทำไมนักลงทุนต้องซื้อหุ้น FPI
FPI เป็น ผู้ประกอบธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตจากพลาสติก และเป็นศูนย์รวมในการจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ทั้งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing : REM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ต่างๆ (Original Equipment Manufacturing : OEM) รวมทั้งให้บริการรับจ้างฉีดขึ้นรูป ชุบโครเมี่ยม และพ่นสีผลิตภัณฑ์พลาสติก
ปีนี้ธุรกิจยานยนต์เป็นปีที่รุ่ง ดูจากยอดขายยานยนต์ปีนี้ทะลุเป้า เพราะฉะนั้นเราทำชิ้นส่วนยานยนต์ ผมคิดว่าเป็นจุดหนึ่งที่นักลงทุนจะสนใจธุรกิจยานยนต์ เพราะยอดขายปีนี้ทะลุ 2.2 ล้านคัน เราก็มองว่าเราอยู่ในธุรกิจนี้ น่าจะเติบโตไปตามอุตสาหกรรม เพราะเป็นปีที่ต้องยอมรับว่าธุรกิจยานยนต์ในปีนี้เป็นปีที่ดีมาก ๆ ตั้งแต่เมืองไทยทำอุตสาหกรรมยานยนต์มาเลยปีนี้ดีที่สุด
***ตอนนี้หุ้นในกลุ่มยานยนต์ก็มีหลากหลายในตลาดหุ้น อะไรเป็นจุดขายที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าลงทุนมนFPI แล้วไม่ขาดทุนแน่ๆ
จุดเด่นของเราคือเรามีทั้งสองแแบบ ทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตจากพลาสติก และAftermarket (ตลาดหลังการขาย) เป็นศูนย์รวมในการจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ทั้งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing : REM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ต่างๆ (Original Equipment Manufacturing : OEM) ที่แตกต่างจากที่อื่น มีความหลากหลาย โดยที่อื่นจะทำแค่ OEM อย่างเดียว ซึ่งหาก OEM เติบโตดี ธุรกิจก็จะดี แต่หาก OEM เติบโตไม่ดีก็จะส่งผลให้ธุรกิจติดปัญหาได้ นอกจากนี้ลูกค้าของเรามีอยู่ 110 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคนที่ทำOEM ส่วนใหญ่จะทำแค่ในเมืองไทยซึ่งไม่เยอะ
แต่ลูกค้าของเรามีความหลากหลาย เราจะกระจายความเสี่ยงในตรงนี้ คือจุดหนึ่งที่เราแตกต่าง แต่ในความ แตกต่างตรงนี้ จะถือว่าดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับมุมมองที่จะมองกัน แต่เรามองว่าความเสี่ยงจะน้อยกว่า ที่เราไม่ได้ผูกกับลูกค้าใดลูกค้าหนึ่งเป็นเกณฑ์ เราขึ้นอยู่กับทั้งโลกเลยว่าเป็นยังไง และตลาดรถยนต์โลกก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ๆ อย่างเมืองไทย 2 ล้านคัน แต่ถ้าทั้งโลกคือ 80 ล้านคัน ในปีที่แล้วตามข้อมูลที่บันทึกไว้ และรถที่อยู่ในโลกทั้งหมดประมาณ 1 พันล้านคัน ฉะนั้นเรามองว่า เป็นตลาดของ replacement ที่จะจับตลาดได้ ซึ่งเราจะหาช่องว่างตรงนี้ไปทำ
***replacement ในเมืองไทยมูลค่าประมาณเท่าไหร่
จริงๆ มูลค่า มันแล้วแต่ว่าทำชิ้นส่วนตรงไหน แต่บริษัทฯ เราเน้นทำตรงชิ้นส่วนพลาสติก ก็คือตัวกันชนหน้า คือสินค้าหลักของเราเลย คือเรียกว่าเราทำสินค้าพลาสติกที่ครบวงจร คือเมืองไทยตอนนี้คนที่ทำแบบครบวงจรมีน้อย ที่จะมีทั้งกระบวนการขึ้นแม่พิมพ์ กระบวนการฉีดพลาสติก กระบวนการชุบโครเมี่ยมในพลาสติก และกระบวนการพ่นสี ถ้าพูดถึงเมืองไทยบริษัทฯ ที่ทำครบแบบนี้มีน้อยมาก
*** FPI ถือว่าเป็นเบอร์หนึ่ง ในตลาด replacement เลยไหมในประเทศไทย
ถ้าเป็น replacement ในเมืองไทยชิ้นส่วนพลาสติกตรงนี้ เราเป็นเบอร์หนึ่ง ถ้าพูดถึงพลาสติก replacement เพราะว่าในเมืองไทย ไม่มีคนทำ เราก็เลยเป็นเบอร์หนึ่งในด้านนี้ แต่ถ้าเทียบกันทั้งโลกต้องแยกกันเป็น Segment เพราะ ที่อเมริกา ที่ยุโรป ที่ญี่ปุ่น ที่เกาหลี เป็นภูมิภาคไป แต่ถ้าบอกว่าSegment ที่เป็นรถญี่ปุ่น บริษัทฯ เราก็อยู่1 ใน 5 ของโลก แต่บริษัทฯที่ทำพลาสติกก็มีใหญ่กว่าเราอีก เช่น อิตาลี สเปน อาร์เจนตินา มีโรงงานที่ใหญ่ ๆ อีกเยอะ แต่พวกนี้ จะเป็น Segment ยุโรป แต่รถญี่ปุ่นโดยเฉพาะรถที่เป็นปิ๊กอัพ ถ้าเป็นชิ้นส่วนพลาสติกก็ถือว่าเราเป็นเบอร์แรก ๆ ของโลก
***ตรงนี้ ถือว่าเป็นความเสี่ยงไหม ที่เราทำการค้ากับประเทศที่เสี่ยงในเรื่องการปกครอง ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการเก็บเงินไม่ได้ เช่นประเทศอัฟกานิสถาน หรือ พม่า หรือประเทศซูดาน บริษัทฯ แก้เกมตรงนี้อย่างไร
คือเรามองว่าพวกนี้เป็น High Return และประเทศที่ไม่มีคนไปอย่างอิหร่าน อิรัก แต่เราสามารถมองลูกค้าได้ คือประเทศแม้จะมีความเสี่ยง แต่ถ้ามองว่าลูกค้ากลุ่มนั้นไม่เสี่ยง แล้วค้าขายกับเขาก็พอแล้ว คืออย่าไปดูที่ประเทศเพราะประเทศมันมีทั้งดีและไม่ดี คุณไปทำประเทศดี ๆ ลูกค้าไม่ดีก็เสี่ยงอยู่ดี ซึ่งเรามองว่าลูกค้าเป็นหัวใจ ถ้าลูกค้าที่ซื้ออยู่ถึงจะอยู่ประเทศเสี่ยง เราจึงเลือกลูกค้าที่ดีในประเทศเสี่ยง ที่จ่ายเงินดี ทุกอย่างดูดี
***ส่วนใหญ่ประเทศที่เสี่ยงที่เกี่ยวกับเรื่องการปกครอง เช่น ลิเบีย ซูดาน อัฟกานิสถาน มีประมาณกี่เปอร์เซนต์ ที่เราส่งสินค้าไปขาย
แค่ประมาณ 5-6% ไม่เยอะ ถือว่าน้อยมาก แต่ว่าเราขายทั้งโลก 110 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีอยู่ 7 ประเทศที่เป็นบล็อกคั่นทรี่ คือ ลิเบีย อิหร่าน อิรัก ซูดาน ไอเวอรี่โคส พม่า และซีเรีย เป็นบล็อกคันทรี่ ของอเมริกาอยู่ แต่เราก็ขายอยู่ ที่ไม่ได้ขายมีแค่ซีเรีย เพราะมีภาวะสงครามอยู่ ที่ยอดขายตอนนี้ศูนย์เลย
***ตรงนี้กระทบกับภาพบริษัทฯ ไหม
อย่างที่บอกว่าเราขายอยู่ 110 ประเทศทั่วโลก ก็ไม่ได้กระทบอะไรกับเรา เพราะว่าประเทศหนึ่งเต็มที่พอชั่น ใหญ่สุดอยู่ที่ซาอุฯ ซึ่งปีหนึ่งพอร์ชั่นประมาณ 3 ล้านเหรียญ ก็สัก 6-7% ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่เป็นมากมาย อย่างปีที่แล้วลิเบียปิดประเทศผมก็ไม่ได้ขายลิเบีย 1 ปี ยอดขายผมแค่ไตรมาส1 หรือ 3 เดือนแรกขายเท่ากับลิเบีย 1 ปี เลย กลับดีด้วยซ้ำเพราะทำคนที่ลิเบีย เขาซื้อกันหมดเลยของที่รถมันชนกัน ของมันถูกเก็บกด กลายเป็นของขาดตลาด พอเปิดตลาดลูกค้าก็กลับมาซื้อ เหมือนกับบ้านเราน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว พอปีนี้เปิดมา ในช่วงไตรมาส1-2/55 ก็เลยพ่วงมา 3-4 แสนคัน เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจยานยนต์ปีนี้โตขึ้นเยอะ และยังมีนโยบายรถคันแรก ขึ้นไปอีก 5 แสนคันอีโก้คาร์ ดันอุตสาหกรรมยานยนต์พุ่งทะลุทุกอย่าง
***เราทำชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติก ดังนั้นหัวใจของต้นทุนเราก็คือเม็ดพลาสติก ราคาเป็นยังไง
เม็ดพลาสติกของเราที่ใช้หลัก ๆ ก็มี PP ที่ใช้ทำพวกกันชน และตัวกระจังหน้าจะเป็นตัว ABS หากถามว่าความเสี่ยงของเราในPP เราไม่เสี่ยง เพราะอุตสากรรม PP ในบ้านเราใหญ่มาก และเราจะมีสูตร PP ของเราเฉพาะตัว คือเราใช้ PP ของพวกโรงงาน และก็มารวมสตรของเราเอง ฉะนั้น PP ของเราราคาจะไม่ผันผวน ตามราคาตลาด ส่วน ABS เรา จะผันผวนบ้างแต่ว่าที่ผ่านมา เราใช้นโยบายซื้อจากหลาย ๆ ที่ เช่นจากประเทศมาเลเซีย เกาหลี และในไทย ซึ่งถ้าที่ไหนแพงเราก็เปลี่ยนไปซื้อที่อื่น สลับกันไป โดยราคาขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ถ้าเราซื้อแพงคู่แข่งเราก็ซื้อแพงตาม และราคาถูกบังคับตามราคาตลาดโลกอยู่แล้ว
***ราคาABS ตอนนี้อยู่ที่กี่บาทต่อกิโล
กิโลหนึ่งประมาณ 65 บาท ตอนนี้ แต่ราคาก็จะขึ้นๆ ลง ๆ ตอนน้ำมันขึ้นสูงเคยขึ้นไปถึง 73 บาท แต่พอน้ำมันลงก็เหลือ 65 บาท ซึ่งเราก็จะดู เวลาขึ้นก็ซื้อเก็บไว้แต่ชั่วคราว แต่เวลาลงก็จะซื้อเก็บไว้เยอะหน่อย ให้ใช้ได้ 3-4 เดือน ช่วงขึ้นก็จะซื้อแค่พอใช้ ปีที่แล้วเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 70 บาท ราคาก็ขึ้นลงนะ ปีนี้ลงมา เพราะน้ำมัน ABS ปรับตัวไปตามน้ำมัน
***แล้วราคา PP
ตอนนี้เราซื้ออยู่ 30 กว่าบาท เทียบกับปีที่แล้วก็ไม่เปลี่ยน และในโรงงานที่ผลิต PP จะมีล็อทที่ตกสเปคส่วนหนึ่ง ซึ่งเราเอาตรงนั้นมาผสมสูตรของเราเอง
*** หากราคาABS ขึ้นมาแรง จะทำให้ มาร์จินส์เราบางด้วยไหม
ใช่ ดูจากปี 2552 ที่มาร์จิ้นส์เราหายไป ตอนนั้นราคาน้ำมันขึ้นไป 150 เหรียญ/ บาร์เรล ในช่วงวิกฤติน้ำมัน แต่ก็ยังโชคดีที่เก็บเม็ดพลาสติกไว้เกือบ 200 ตัน ทำให้มีโอกาสที่จะดึงราคาเก่าได้ยาวขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้ามันขึ้นมาร์จินส์ก็จะหายไป
*** FPI ค้าขายเป็นเงินดอลลาร์ ที่ตอนนี้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนไหวมาก เราจะมีวิธีป้องกันความเสี่ยงตรงนี้อย่างไร
เรามีฟอร์เวิร์ดคอนเท็คไว้ประมาณ 6 เดือน คือ เรามีวงเงินไว้ประมาณเกือบ 17-18 ล้าน เหรียญ ซึ่งมองว่าสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ ถ้าราคาโค๊ทวันนนี้ แล้วราคาจะขึ้นจะลงแต่ถ้ามีกำไรก็โอเค แล้วอีก 6 เดือนค่อยว่ากันอีกที ทุก 6 เดือนเราจะมี ฟอร์เวิร์ดคอนเท็คไว้ตลอด ป้องกันไว้ แต่ถ้าเรทปรับลงมาเรื่อยๆ ทุกวันอันนี้ก็คือช่วยไม่ได้ ถ้าเป็นขาลงอย่างเดียว 6 เดือน จะล็อกยังไงเราก็เจอ แต่ถ้าเรทขึ้นๆ ลงๆ เราสามารถป้องกันได้
***ปี 2558 จะเปิดเสรีอาเซียนหรือ AEC เรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน
เราถือว่าเราพร้อมเพราะว่าเราทำส่งออก อย่างวันก่อนผมไปเป็นวิทยากร ให้กับทางกรมศุล ก็คุยกันถึงเรื่องนี้ ผมมองว่าบริษัทฯไหนที่มีส่งออกคุณไม่ต้องกลัว แต่ถ้าทำในประเทศอย่างเดียว มองว่ามาร์เก็ตคุณจะหายไป แต่ถ้าคุณส่งออกได้บริษัทคุณมีแบรนด์ สินค้ามีคุณภาพก็จะมีความได้เปรียบ เราผลิตรถในปีที่แล้ว ประมาณ 3 ล้านคัน แล้ว 50 % มาจากไทย อันดับ 2 มาจากอินโดนีเซีย ประมาณ 8-9 แสนคัน ที่ 3 เป็นของประเทศมาเลย์เซีย ประมาณ 5 แสนคัน ของเราคือ 1.5 ล้านคัน 50% เป็นของคนไทยรวมอาเซียนทั้งหมด มองว่าไทยเหนือกว่าคู่แข่งนะเพราะ ไทยกินไป 50% ของอาเซียน
ถ้าพูดถึงเรื่องคุณภาพ เราแพ้อินโดนีเซีย เราจะเป็นเบอร์2 แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมชินส่วนยานยนต์ไทยถือว่าได้เปรียบ เพราะSuply Chain เรามาเบอร์ 1 เรามีฐานSuply Chain ในไทยประมาณ 2,300 Suply Chain แบ่งเป็น First-Tier ประมาณ 650 เป็น Secon -Tier เทียร์ประมาณ 1200-1300 ถ้าเทียบกับ First-Tier ในอินโดฯ ที่มีประมาณ 200 ราย ฉะนั้นในเรื่อง Suply Chain เราเหนือคู่แข่ง เยอะ และถ้าเปิด AEC แล้วถ้าเทียบกันแล้วเราน่าจะเก่ง กว่าประเทศอาเซียนด้วยกัน อย่างบริษัทฯ เราทำส่งออกกว่า 88% ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับเรา ทำให้เราได้เปรียบเพราะสามารถซอสติ้ง กลุ่มอาเซียนทั้งหมด และเราทำ เทรดดิ้งด้วย นั่นคือจุดหนึ่งที่เทรดดิ้งเราโตขึ้นได้ ซึ่งทุกวันโตขึ้นมาเยอะ
***ตอนนี้เรามีเครื่องฉีดพลาสติกกี่เครื่อง ที่ใช้ทำกันชนมีประมาณกี่เครื่อง
เครื่องฉีดเรามีทั้งหมด 24 ตัว และก็จะมีเพิ่มมาอีก 5 ตัว เป็น 29 ตัว
***จะทำให้ตัวกำลังการผลิตเราเพิ่มขึ้นไหม
ถ้าเครื่องจักรเราเพิ่มเข้ามาในไตรมาส3 อีก 5 ตัว กำลังเราจะเพิ่มขึ้นอีก 30% จากปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,800 ตัน/ปี จากเครื่องจักรที่เรามีอยู่จำนวน 24 เครื่อง ถ้าเพิ่มอีก 5 เครื่อง กำลังการผลิตเราก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30% จาก 4,800 แต่จริง ๆ ของเราจะนับยากนะเพราะเราทำกันชน และเราก็มีสินค้าหลายอย่าง ส่วนเครื่องพ่นสี เราสามารถทำสายการผลิตไปเรื่อย เช่นสายการผลิตพ่นสี อย่างที่ผ่านมาปี 2553-2554 เราเพิ่มปีละสายการผลิต ยกตัวอย่าง เช่น ออเดอร์โตโยต้ามาเราก็เปิดสายการผลิตพ่นสี หรือ สายการผลิตของอิซูซุ เราก็เปิดสายการผลิตเพิ่ม โดยงานพ่นสีเป็นงานที่เราลงทุนไม่เยอะ สายการผลิตหนึ่งอาจจะลงทุน 5-10 ล้านบาท เปิดสายการผลิตหนึ่งได้ออเดอร์มาเราก็ทำไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นสายการผลิตพ่นสีเป็นสายการผลิตที่สามารถเพิ่มได้ต่อเนื่อง ถ้ามีออเดอร์เข้ามาใหม่ ตอนนี้เรามี 4 สายการผลิตก็เต็ม ตอนนี้ก็ทำให้โตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ ทาทามอเตอร์ ทำให้โตชิบา โตชิบ้าเป็นอิเล็กโทรนิกส์ พวกเครื่องใช้ไฟฟ้า คือเราทำพลาสติกแบบครบวงจร ผมมองว่าอะไรที่เป็นพลาสติก เราทำได้หมด เราเป็น OEM ลูกค้าให้เราทำอะไรเราก็ทำหมด ที่ทำแล้วเรามีกำไร
***ย้อนกลับไปคำถามเรื่องAEC ตอนนี้คนไปให้ความสนใจประเทศอินโดนีเซีย ถ้าเรามีโรงงานอยู่ในอินโดนีเซียที่ตอนนี้ตลาดกำลังเติบโตมาก ตรงจุดนี้จะคุ้มค่ากว่าไหม
ถ้าพูดถึงประเทศอินโดนีเซีย จะรู้ว่าอินโดฯ เกลียดคนจีน แล้วถามผมว่าจะไปอินโดไหมผมคงไม่ไป จำไม่ได้ว่าปีไหนที่มีการฆ่าคนจีนไปเยอะมาก ลูกค้าผมก็โดนกันเยอะ การไปลงทุนในอินโดฯ อาจะเป็นประเทศที่มีประชากรมาก มีคนประมาณ 220 ล้านคน เพราะฉะนั้นตลาดถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ถ้าเทียบในอาเซียน คุณภาพของเขาก็เป็นเบอร์หนึ่งอีก บ้านเราเป็นที่2 เรื่องคุณภาพเขาเหนือกว่า และตลาดเยอะกว่าแต่เรื่องของ ความเป็นอยู่คนมุสลิมจะแตกต่างกัน คุณอาจจะโดนเก็บ ถึงตลาดจะใหญ่แต่ผมว่ายังไงเมืองไทยน่าอยู่ที่สุดแล้ว รัฐบาลก็สนับสนุน คนไทยก็มีความเป็นมิตร อาจจะมีเรื่องค่าแรง ตอนนี้ค่าแรงของเราแพงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน อันดับที่ 1 คือ ประเทศสิงคโปร์ มีค่าแรงต่อวันอยู่ที่ 22 เหรียญ เมืองไทย 300 บาท ต่อวัน ถ้าเป็นเงินเหรียญก็ตก 98 เหรียญต่อวัน และในประเทศพม่าประมาณ 1.1 เหรียญ หรือ 30 กว่าบาทต่อวัน กัมพูชา ลาว ประมาณ 1-2 บาท ของเราอยู่ประมาณ 9 บาท 9 เหรียญ ถ้ามองในเรื่องของคน มองว่าการเปิดเสรีอาเซียน จะทำให้คนไหลเข้าเมืองไทยเยอะ เพราะว่าค่าแรงดีที่สุด
***เรามีปัญหาเรื่องทรัพยากรบุคคลบ้างไหม
คนเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยายนยนต์ตอนนี้ขาดคน ประมาณ 6 แสนคน
***แล้วบริษัทฯ แก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้าง
ตอนนี้ในสมาคมชิ้นส่วน เราทำโครงการร่วมกับทางรัฐบาล ทำโครงการโรงงานโรงเรียน ปีหนึ่งก็ตั้งขึ้นมาว่าจะทำกี่คน ซึ่งคนที่ไปเรียนก็จะสามารถไปทำงานในโรงงานได้เลย ซึ่งเราก็เริ่มทำมาปีนี้ ก็มีคนสนใจ และเราพยายามจะพลักดันสร้างคนขึ้นมาในอุตสาหกรรมให้มากขึ้น อีกจุดหนึ่งก็คือ เราใช้ หุ่นยนต์ ( Robort ) ซึ่งมีความจำเป็นถ้าหากเราจะแข่งกันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องเร็วต้องไว จะพึ่งแรงงานคนอย่างเดียวคงไม่ได้ ของเราตอนนี้หลายชุดก็เปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์หมดเลย อย่างสมัยก่อนสายการผลิตชุดหนึ่งเราใช้คน 58 คน เท่ากับถ้า 2 สายการผลิตต้องใช้คน 116 คน แต่ผมใช้หุ่นยนต์ เหลือแค่ 8 ตัว หุ้นยนต์ 2 สายการผลิตก็ 8 ตัว สามารถแทนคนได้ 56 คน คือหุ่นยนต์ข้อดีคือไม่มีเหนื่อย คนมีล้ามีเหนื่อย หุ่นยนต์ยกตามที่เราสั่ง ถ้าพูดถึงเงินเดือนประมาณ 10,000 บาท ถ้าใช้คน 56 คน แต่ถ้าใช้หุ่นยนต์ 6 เดือนก็คืนทุนแล้ว หุ่นยนต์ตัวหนึ่งราคาประมาณ 3-4 แสนบาท ผมจึงบอกว่าจริงแล้วอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องพึ่งหุ่นยนต์เข้ามาช่วย ถ้าคุณจะแข่งขันในระดับโลกคุณต้องพึ่งหุ่นยนต์
***ปีนี้FPI ตั้งเป้ารายได้ประมาณเท่าไหร่
เราตั้งโตจากปีก่อน 20% จากยอดขายปีที่แล้วอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ครึ่งปีเราได้ 738 ล้านบาท จริง ๆ ปกติครึ่งปีหลังยอดขายจะอยู่ประมาณ 55% ครึ่งปีแรก 45% โดยทั่วๆ ไป เพราะไตรมาส3-4 ยอดขายจะโตกว่า
***รายได้ FPI จะได้สักประมาณ 1,400-1,500 ได้ไหม
น่าจะประมาณนั้นถ้าโต 20% ของปีที่แล้ว
***แล้วปีหน้าจะโตเยอะกว่านี้ไหม
เราเพิ่มกำลังการผลิตของเครื่องฉีดพาลสติกไปประมาณ 38% แค่เครื่องฉีดตัวเดียวแค่ส่วนหนึ่งของเครื่องฉีดทั้งหมด เราน่าจะโตได้ 20% เพราะมองว่าเครื่องฉีดตัวนี้เป็นตัวเริ่มต้นของเครื่องฉีดทั้งหมด และก็ตัวแม่พิมพ์ด้วย การเพิ่มยอดขายของชิ้นส่วน ที่เป็น After Market (ตลาดหลังการขาย) ต้องทำแม่พิมพ์ ถ้าอยากไปเจาะตลาดก็ต้องทำแม่พิมพ์
***ตอนนี้บริษัทฯ มีแม่พิมพ์อยู่เท่าไหร่
1,400 ตัวเมื่อปีที่แล้ว ครึ่งปีนี้เราซื้อแม่พิมพ์ไป 100 กว่าล้านบาท อย่างที่บอกว่าเราจะโตเท่าไหร่ อยู่ที่แม่พิมพ์ อย่างล่าสุดเราจะไปเปิดตลาดอิตาลี คนอาจจะกังวลเพราะอิตาลีอยู่ในกลุ่มยูโร แต่เราคิดว่าไม่เป็นไรเราก็ไปเลือกลูกค้าที่ไม่มีปัญหา อย่างที่บอกว่าแม้ประเทศจะมีปัญหา นั่นคือจุดหนึ่งที่เรามองว่ามันเป็นโอกาสด้วย
***อิตาลีเริ่มทำไปหรือยัง
อิตาลี จริง ๆ เขาส่งตัวอย่างมาให้หมดแล้ว เราก็จะลองทำเป็นโครงการลงทุนสัก 10 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่เยอะเรามองว่าลงทุน 10 ล้านเราก็ได้ยอดขายขึ้นมา 10 ล้าน ก็ถือว่าโอเคแล้ว และก็มองว่าจะเป็นการเติบโตของเราเรื่อย ๆ ปีต่อไปก็เติบโตไปเรื่อย
***นอกจากประเทศอิตาลีแล้วได้เล็งประเทศไหนอีกไหม
มองว่าที่ไหนในโลกที่น่าไปเราก็ไปได้หมด จากที่ผ่านมาเราทำแค่ในประเทศไทยประเทศเดียว ปัจจุบันเราทำ 110 ประเทศ เราก็มองว่า โลกเรามีอยู่ 196 ประเทศ แล้วเราขาย 110 ประเทศ ก็ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ผมก็มองว่าเรายังไปได้เรื่อย ๆ อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้มองแค่ตลาดเดียว ทุกคนตอนนี้มอง AEC 6 ประเทศ 10 ประเทศ แต่ผมมองทั้งโลกเลย อย่างAEC ผมมองว่าเป็นสปริงบอร์ดไปทั่วโลกได้ ที่จะสามารถซอสติ้งจากตรงนี้ เพราะค่าแรงยังถูก
***แล้วปี 2556 การเติบโตของกำไรจะเป็นอย่างไร จะเท่ากับปี 54 ไหม
คิดว่าอัตรากำไรขั้นต้น ของเราพยายามจะตั้งดีไซน์ อย่างที่บอกว่าหลังๆ นี่ Aftermarket (ตลาดหลังการขาย) มีข้อเสียอย่างคือคู่แข่งมาเมื่อไหร่ ราคาจะลง ฉะนั้นจะทำยังไงให้กำไรมากขึ้นก็คือต้องทำอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่ง คือใช้นวัตกรรม (Innovation) คือเราต้องทำอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ทำอะไรที่แปลก ๆ แต่ถ้าถามว่าเสี่ยงไหมก็ต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็สูง(high risk high return) แต่ผมมองคนยังนิยม ยังชอบแต่งรถอะไรแบบนี้ เราก็ทำรถให้มันแปลก ๆ เข้าไป เราก็เพิ่งเริ่มทำปีที่แล้วเอง แต่ว่ากำไรมันดีมาก ยกตัวอย่างเช่น หน้ากระจังธรรมดา เราขายตัวละ 400 บาท ถ้าเป็นรถแต่งผมขาย 1,200 บาท ขณะที่ต้นทุนเท่ากัน จุดนี้ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูง แต่คนไม่ชอบแต่งรถเราก็ยังจับตลาดส่วนนี้ด้วย กลุ่มนี้วอลุ่มจะไม่เยอะ เราจับตัววอลุ่มไม่เยอะกำไรเยอะ อีกอันหนึ่งคือวอลุ่มเยอะกำไรน้อย เราทำทั้งวอลุ่มเยอะ ทำทั้งกำไรเยอะ เราเลือกทั้งสองอย่าง จุดนี้จะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นมันขยับไปได้เรื่อย ๆ เราจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้น ให้กระโดขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือสิ่งที่บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายไว้
*** (ROE) ผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น ของ FPI โดยเฉลี่ยที่ผ่านมาอยู่ที่เท่าไหร่
ถ้าพูดถึงคืนทุนส่วนใหญ่จะไปคิดที่แม่พิมพ์ เพราะการลงทุนแม่พิมพ์ปกติอาจจะคิดว่า 3 ปีคืนทุน ถ้าเรามอง 3 ปี คืนทุน ก็ตีว่า return ของแม่พิมพ์ จะอยู่ที่ประมาณ 33% โดยโครงการอะไรก็ตามที่ 3 ปี คืนทุนเราทำหมด แต่ถ้า 5 ปี คืนทุนต้องมาดูว่าจะทำดีหรือไม่ทำดี ต้องดูตลาดถ้าเป็นไปได้ก็ค่อยไปว่ากัน แต่ส่วนใหญ่ผมจะมองที่ 3 ปีคืนทุนก่อน อย่างแม่พิมพ์บางตัว 3 เดือนผมก็คืนทุนแล้ว แล้วแต่โครงการด้วย
***คิดว่าจะได้เงินจากการระดมทุนขายหุ้น IPO รอบนี้เท่าไหร่
เรายังไม่ได้ตัวเลขที่แน่นอน คือเรากระจายหุ้น 63 ล้านหุ้น เงินที่เข้ามาก็ขึ้นอยู่กับ บล.ฟินันเซียไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และแกนนำอันเดอร์ไรท์ ที่กำหนดว่าว่า IPO เท่าไหร่ ผมคิดว่าน่าจะอาทิตย์หน้าจะรู้เรื่อง หลังจากไปโรดโชว์ที่เชียงใหม่และหาดใหญ่ก็น่าจะมีตัวเลขออกมา ตอนนี้ยังไม่ฟันธงแล้วกัน
***บริษัทฯ ได้ประมาณการไหมว่าถ้าได้เงินก้อนนี้มาจะพอใช้ได้อีกกี่ปี
ปกติแล้วเราลงทุนแม่พิพม์ เป็นหัวใจอันแรก เมื่อแม่พิมพ์มีจำนวนเยอะขึ้นสิ่งที่ตามมาคือเครื่องฉีด แต่การลงทุนเพิ่มก็ขึ้นอยู่ กับยอดขายที่มันจะโตขึ้น โดยเราจะไม่ลงทุนก่อน เราจะรับออเดอร์มาแล้วก็ไป ลงแล้วก็ไปคือเราจะทำอะไรแบบ Conservative นิดหนึ่ง ผมคิดว่าอย่าทำอะไรที่ aggressive เกินไป คือตอนนี้เราออนไลน์แล้ว เราก็ไปได้หลายตลาด
***จะมีการลงทุนแบบใหญ่ ๆ ไหมสำหรับธุรกิจที่อยู่ในสายการผลิต
ถ้าสมมุติผมจะจับตลาดอเมริกา ผมต้องควักปีหนึ่ง 200 ล้านบาท ถ้าหากผลจะไปอเมริกาเมื่อไหร่ อเมริกาผลิตรถปีหนึ่ง 6 ล้านคัน เป็นเบอร์2 ของโลก จีนเป็นเบอร์หนึ่งผลิตรถ 17 ล้านคันต่อปี และถ้าเราจะไปเจาะตลาดในอเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่ แต่จะเป็นคนละสายการผลิตกัน ที่ผ่านมาเรามีญี่ปุ่น เกาหลี และเราต้องต่อสู้กับคนที่อยู่ในตลาดเก่า และถ้าเราจะไปเราต้องหาพันธมิตรให้ได้ก่อนถึงจะไปลงทุน และถ้ามีโอกาสดี ๆ หรือมีพันธมิตรดีๆ ก็เป็นไปได้ที่เราจะไปลงทุนในอเมริกา แต่ก่อนหน้านี้เราพยายามจะไม่ทำ เพราะว่าอย่างที่บอกว่าปีหนึ่งลงทุน 200 ล้านบาท กับตลาดใหม่ แต่กับปีหนึ่งลงทุน 100 กว่าล้านสำหรับ 110 ประเทศ จะเห็นว่าลงทุนสูงกว่ามากในการลงทุนแค่ประเทศเดียว ถามว่าอีกกี่ปีจะไปอเมริกาก็ต้องดูจังหวะถ้าเมื่อไหร่ที่เราได้พันธมิตรดี ๆ เพราะการทำตลาดลูกค้าจะเป็นหัวใจ ถ้าลูกค้าคนนั้นบอกว่าจะทำกับเรา ก็โอเค แต่ของอเมริกามันเสียอย่าง คือคนทำงานคือ CEO ที่จะเปลียนทุก 2 ปี ผมว่ายังไม่ใช่จังหวะที่จะไปตอนนี้ ต้องใช้เวลา สู้เราทำตลาดที่เราแข็งดีกว่า
อนึ่งผลประกอบการของ FPI มีรายได้รวมจำนวน 955.14 ล้านบาทในปี 2552 ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 1,197.44 ล้านบาทในปี 2553 และ 1,300.37 ล้านบาทในปี 2554 และงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ FPI มีรายได้รวม 735.38 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทฯ อยู่ที่ 35.11 ล้านบาทในปี 2552 และ 26.61 ล้านบาทในปี 2553 ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 63.43 ล้านบาทในปี 2554 และงวด 6เดือนแรกของปีนี้ FPI มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 62.93 ล้านบาท
BY:ทีมข่าวHoonInside.com