Today’s NEWS FEED

สัมภาษณ์/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ : ไทยยูเนี่ยน มุ่งหน้านวัตกรรมการเงิน "In-House Banking"

19,993

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (1 สิงหาคม 2565)-------บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือที่คุ้ยเคยกันดีในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อ TU เดินหน้านวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง  ด้วยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงิน หรือ Global Treasury Center ของบริษัท ที่ได้ดำเนินงานด้าน In-House Banking & Automation ในปีนี้ ต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ TU ได้เปิดตัว Blue Finance  หรือการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยนำเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องทำให้สำเร็จเข้ามาเป็นหลักเกณฑ์ประเมินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย  โดยโมเดล In-House Banking นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน ขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ของกระแสเงินสด และการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

ในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ไทยยูเนี่ยน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารและการบริการทางการเงินแบบรวมศูนย์ จึงได้จัดตั้ง Global Treasury Center ในปี 2558  โดยทำงานร่วมกับศูนย์บริหารเงินในลักเซมเบิร์กที่บริหารงานที่เกี่ยวข้องในทวีปยุโรปและอีกศูนย์หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลอสแองเจลีสสำหรับการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกา

 

 

 

ทั้งนี้ ยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงินบมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ผู้นำในธุรกิจอาหารทะเลของโลกเปิดเผยถึงโครงการนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่องครั้งใหม่ของบริษัทฯ ว่า “ในปี 2558  ไทยยูเนี่ยนเริ่มมองถึงนวัตกรรมทางการเงินและการบริหารและการบริการทางการเงินแบบรวมศูนย์  จึงมีแนวคิดในการตั้ง Global Treasury Center ขึ้น”

 

ในการนี้บริษัทจะต้องได้รับใบอนุญาตต่างๆ  ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้ดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ จนได้ใบอนุญาตดังนี้

 

ในปี 2558   ไทยยูเนี่ยน  ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) จากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย และใบอนุญาตจากกรมสรรพากรในการเป็นสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ (International Headquarter: IHQ)

 

พร้อมได้เริ่มระบบการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับบริษัท ในกลุ่มประเทศยุโรป (Global Cash Pooling) โดยมีการบริหารรวบรวมยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์และบริษัทได้ขยายขอบเขตของ Global Cash Pooling ให้ครอบคลุมการจัดการสภาพคล่องทางการเงินระหว่างส่วนกลางกับกลุ่มบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2560

 

คุณยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า “ในปี 2559 ไทยยูเนี่ยน ได้เริ่มรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะยาวของบริษัทในเครือแถบทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก Global Treasury Center ของบริษัทเอง 

 

ต่อมาในปี 2562 บริษัทฯ   ได้รับใบอนุญาตจากกรมสรรพากรข้างต้นได้เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) 

 

สำหรับ In-House Banking ของธุรกิจไทยยูเนี่ยนในประเทศไทยนั้นเริ่มในปี 2563 ขณะที่โครงสร้างหรือโมเดลการทำงาน In-House Banking นั้นได้เริ่มในสำนักงานต่างๆ ของไทยยูเนี่ยนในทวีปยุโรปก่อนแล้ว

 

 

โมเดลการทำงานของศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย นั้นมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ

 

  • ศูนย์บริหารเงินระดับภูมิภาคที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป : ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินทุน เงินสด และสภาพคล่องทางการเงิน  โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่จะคอยบริหารรวบรวมยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ที่ไทยยูเนี่ยนที่ประเทศไทย ในส่วนของการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินนั้น ได้มีการวางนโยบายหลักจาก Global Treasury Center แต่มีการดำเนินการตามนโยบายกับธนาคารในระดับแต่ละภูมิภาค

 

  • Global Treasury Center ที่ประเทศไทย : เป็นแหล่งเงินทุนหลักให้กับบริษัทในเครือทั้งหมด ด้วยการบริหารจัดการเงินสดและสภาพคล่องจากศูนย์กลาง ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำกับธนาคารโดยตรงลดปริมาณธุรกรรมลง และสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองได้มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินและตรวจสอบต่างๆ อีกด้วย

 

ในส่วนของกระบวนการอัตโนมัติทางธุรกิจ (Automation) ไทยยูเนี่ยนเริ่มใช้ Robotic Process Automation (RPA) ในกระบวนการ In-House Banking ของบริษัทสำหรับขั้นตอนและรายงานทางการเงินประเภทต่างๆ ภายในบริษัท ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่บริษัทได้เริ่มนำมาใช้ในปี 2564 ทำให้บริษัทสามารถรวบรวมข้อมูลทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น การเก็บเงิน การจ่ายเงิน และสถานะเงินสด ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปัจจุบันมากขึ้น  เมื่อเทียบกับกระบวนการทำงานแบบเดิมที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 3-7 วัน

 

นอกจากนี้ RPA ยังช่วยให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่ทำเป็นประจำสะดวก รวดเร็วมากขึ้น เช่น การรับข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง การโอนเงิน การบันทึกการโอนเงินเข้าระบบ การจัดทำรายงานทางการเงิน และการส่งรายงานและข้อมูลทางการเงินไปยังฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องได้โดยอัตโนมัติและทันท่วงที

 

กล่าวโดยสรุปคือ นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นโดยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในเรื่องต้นทุนทางการเงินและประสิทธิภาพในการทำงาน และมีข้อดีหลักๆ  3 ประการได้แก่

 

  • ในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้ทีมสามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งขั้นตอนต่างๆ ก็ลดลงและง่ายขึ้น
  • ในแง่ของหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแล บริษัทสามารถเห็นภาพของกระแสเงินสดและบริหารจัดการกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึง การบริหารจัดการแหล่งที่มาของเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ในแง่ของการบริหารจัดการเงินที่คงค้างอยู่ในบัญชี ทั้งในรูปของเงินสด และลดการถือเงินสดในมือ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น

 

ถึงแม้จะธุรกิจหลักของไทยยูเนี่ยนจะเป็นผู้ผลิตอาหารทะเล แต่ด้วยธุรกิจที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และการที่บริษัทให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เราได้นำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาการบริหารจัดการทางการเงินให้ดียิ่งขึ้นยงยุทธกล่าวทิ้งท้าย

 

 

***มารู้จักไทยยูเนี่ยน ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ***

 

                สำหรับไทยยูเนี่ยนนั้น ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2520  ไทยยูเนี่ยนถือเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารทะเลของโลก ที่นอกจากจะมุ่งมั่นผลิตอาหารทะเลคุณภาพยังให้ความสำคัญกับรสชาติ สุขภาพและนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าอาหารให้กับผู้บริโภคทั่วโลก  ไทยยูเนี่ยนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและหนึ่งในผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 141,000 ล้านบาทหรือ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีพนักงานมากกว่าสี่หมื่นคน ที่ทุ่มเททำงานเพื่อผลิตสินค้าอาหารทะเลด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน

 

                ไทยยูเนี่ยนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537 ปัจจุบันมีโรงงาน 14 แห่ง กระจายใน 11 ประเทศทั่วโลก และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายบริษัทมาจากต่างประเทศ โดยหลักๆ จากประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป  จากการที่บริษัทให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนยังได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8ปีติดต่อกัน โดย ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร

 

                 และได้รับการจัดอันดับที่ 1 ในดัชนี Seafood Stewardship Index หรือ SSI จากการทำงานด้านความยั่งยืนที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในกลุ่มบริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลก

 

                ด้านผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของปี2565 ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป รายงานยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 36,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ความต้องการสินค้าทั่วโลกที่สูงขึ้นเนื่องจากหลายประเทศได้กลับสู่สภาวะปกติ และผ่อนคลายมาตรการป้องการการแพร่ระบาดต่างๆ

 

                ด้วยการบริหารจัดการต้นทุน ประกอบกับผู้บริโภคเชื่อมั่นและต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 15.4 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 6,355 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ด้วยแรงกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อและอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งทั่วโลก ทำให้กำไรสุทธิของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสแรกของปีลดลง 3.2 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 1,746 ล้านบาท

 

 /////////////////////////////////////////

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

HotNews: RJH ทุ่ม 420 ลบ. ลุยโครงการซื้อหุ้นคืน

บอร์ด RJH เคาะ โครงการซื้อหุ้นคืน จำนวน 18 ล้านหุ้น วงเงิน 420 ลบ. เริ่ม 15 พ.ย.67 - 30 เม.ย.68

หนาแน่น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย เช้าวันนี้ ยังคงมีความคึกคัก .....

มัลติมีเดีย

รู้จัก เมดีซ กรุ๊ป ก่อนเทรด บนกระดาน SET - สายตรงอินไซด์

รู้จัก เมดีซ กรุ๊ป ก่อนเทรด บนกระดาน SET - สายตรงอินไซด์

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้