Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด GDP มาเลเซียปี 61 ชะลอลงมาที่ 5.3% จากปี 60 ที่ขยายตัวกว่า 5.9%

29,103

แมกกาซีนหุ้นอินไซด์  ( 6 มิถุนายน 2561)   นโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศโดยนายมหาธีร์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุนของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทบทวนโครงการก่อสร้าง Mega projects ซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูงระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เพิ่งถูกยกเลิกไปนั้น คงจะไม่กระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในระยะสั้น ขณะเดียวกันอาจมีส่วนช่วยลดภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว จากปัจจัยพื้นฐานด้านฐานะการคลังของมาเลเซียที่ยังเปราะบาง ณ ขณะนี้ ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต

 

ส่วนรูปแบบของนโยบายส่งเสริม FDI ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อปริมาณเม็ดเงิน FDI ของมาเลเซียไม่มากนัก หากพรรครัฐบาลใหม่สามารถทำให้เอกชนมั่นใจถึงความต่อเนื่องของทิศทางการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการลงทุนต่างๆที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่นมากขึ้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราการขยายตัวของ GDP มาเลเซียในปี 2561 อาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 5.3 จากปี 2560 ที่ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 5.9 โดยยังคงมุมมองเชิงระมัดระวังความชัดเจนทางด้านนโยบายการบริหารประเทศของมาเลเซียในระยะ 5 ปีนับจากนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว



การเมืองมาเลเซียภายหลังปรากฎการณ์ที่นายมหาธีร์ โมฮามัด ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปัน ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 นั้นและพลิกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียอีกครั้ง นับว่าเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ได้ประกาศยกเลิกแผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศมูลค่ากว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียกับสิงคโปร์ สะท้อนว่าการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของมาเลเซียครั้งสำคัญนี้ย่อมนำมาซึ่งการความไม่แน่นอนเชิงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ และคงผลโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของมาเลเซียในระยะข้างหน้า

 

จับตาการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่อาจส่งผลต่อบรรยากาศและโครงสร้างการลงทุนของมาเลเซียในระยะข้างหน้า

ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายการบริหารประเทศของมาเลเซียนับเป็นประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลทั้งต่อแผนงานการลงทุนภาครัฐและความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เป็นการผูกมัดการลงทุนในระยะยาว โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก กล่าวคือ

 

การเปลี่ยนขั้วของฝ่ายบริหารและความไม่แน่นอนของการสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ

การเลือกตั้งในครั้งนี้ นอกเหนือจากการเปลี่ยนขั้วของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลครั้งสำคัญของมาเลเซียในรอบ 60 ปี (Major cabinet change) แล้ว ยังมีประเด็นสำคัญทางด้านอายุของผู้นำคนใหม่ที่สูงถึง 92 ปี ทำให้เริ่มมีการกล่าวถึงแผนการถ่ายโอนอำนาจและการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องทางการเมือง รวมถึงนโยบายต่างๆที่นายมหาธีร์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้ว

 

ภาพจาก pixelbay.com

ทั้งนี้ ประเด็นความไม่แน่นอนของความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนรัฐบาลข้างต้นนั้น ประกอบกับแนวคิดการทบทวนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ นอกเหนือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ที่ได้ประกาศยกเลิกไปแล้วก่อนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศที่ก่อตัวสูงขึ้นจนมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 65 ของ GDP นั้น คงส่งผลต่อแผนงานและเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega projects) ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องของนโยบายในระดับสูง (High commitment) รวมถึง การลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจเครื่องจักรกลสำหรับงานก่อสร้าง หรือธุรกิจผลิตสายไฟอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งนี้ นอกเหนือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ยกเลิกไปแล้ว มูลค่าโครงการที่อาจมีการพิจารณาใหม่นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 4 ของมูลค่าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนงาน โดยส่วนมากเป็นโครงการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับจีน อาทิ โครงการ East Coast Rail Link (ECRL)

 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทบทวนโครงการก่อสร้าง Mega projects ย่อมมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพทางด้านการคลังของประเทศในระยะยาว ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต อันจะช่วยลดแรงกดดันที่อาจมีต่อตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ แนวคิดการทบทวนการลงทุนโดยตรงจากจีนของรัฐบาลมาเลเซียชุดใหม่นั้น มาเลเซียจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน โดยไม่ให้ได้รับผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของมาเลเซียและมาเลเซียก็เป็นคู่ค้าอันดับสองของจีนในอาเซียนรองจากเวียดนามด้วยเช่นเดียวกัน โดยอาจนำมาซึ่ง “การเจรจาต่อรอง” ระหว่างจีนและมาเลเซียเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของประเทศในอนาคตมากขึ้น (Quality over quantity) โดยเฉพาะการเน้นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนจีนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงอย่าง ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะ e-Commerce เป็นต้น

 

รูปแบบของนโยบายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนพรรครัฐบาลจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ประเด็นด้านนโยบายภาครัฐที่อาจส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาตินั้นจำต้องจับตาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบต่างๆ ว่าจะกลับมาเอื้อผลประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่นมากขึ้น (Non FDI-friendly policies) ดังที่นายกรัฐมนตรีมหาธีร์เคยใช้มาแล้วในอดีตหรือไม่ อาทิ การพิจารณาอนุมัติการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้มงวดขึ้น หรือความเป็นไปได้ของการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

 


ภาพจาก pixelbay.com

 

ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายที่จำเป็นต้องจับตามองคือ ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพดานสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทสัญชาติมาเลเซียของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งเคยได้รับการคุ้มครองค่อนข้างมากจากนายมหาธีร์เมื่อครั้งในอดีต ทั้งนี้ มูลค่าของ FDI ในภาคบริการขยายตัวสูงขึ้นมากนับตั้งแต่การเปิดเสรีภาคบริการในปี 2552 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัคจนส่งผลทำให้สัดส่วนของเม็ดเงิน FDI ในภาคบริการคิดเป็นกว่าร้อยละ 40.5 ของเม็ดเงิน FDI ในปี 2560 ทั้งหมด

 

ดังนั้น ความเป็นไปได้ของนโยบายข้างต้นจึงอาจส่งผลต่อรูปแบบและเม็ดเงิน FDI ที่จะเข้ามายังมาเลเซียให้ชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการลงทุนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง Software implementation service, database service, data processing service ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) อาทิ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและเด็ก (Elderly and children welfare service) ธุรกิจสถานพักฟื้นบำบัดสำหรับผู้พิการ (Rehabilitation service for handicapped) หรือธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจสวนสนุก ธุรกิจโรงแรม รวมถึงการประกอบกิจการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มสำหรับสถานที่พักระดับ 4-5 ดาว (Hotel and restaurant service)

 

นอกจากนี้ ภาคการผลิตบางประเภทอาจได้รับการพิจารณาคุ้มครองเพิ่มเติมให้กับบริษัทท้องถิ่นมากขึ้น โดยอาจกำหนดให้ดำเนินการในลักษณะกิจการร่วมค้า (Joint Venture) แทนการลงทุนเองได้ทั้งหมด อาทิ กิจการโทรคมนาคม กิจการพลังงานรวมถึงพลังงานทดแทน กิจการเกษตรและเกษตรแปรรูป

 

ในระยะสั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รูปแบบของนโยบายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากนัก หากพรรครัฐบาลใหม่สามารถทำให้เอกชนมั่นใจถึงความต่อเนื่องของทิศทางการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ ซึ่งการเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติดังกล่าวจะมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพของเม็ดเงินลงทุนจริงในระยะข้างหน้าไม่ให้ชะลอลงมาก เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับช่วงปี 2009 ที่ “มูลค่า FDI ที่ลงทุนจริงในมาเลเซียชะลอตัวลงมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน” โดยส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของมาเลเซียในช่วงนั้น

 

ภาพจาก pixelbay.com

 

ส่วนในระยะยาว หากรัฐบาลมาเลเซียปรับใช้มาตรการที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศนั้น อาจส่งผลกระทบต่อแนวทางพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นที่มาเลเซียยังคงต้องพึ่งพาการถ่อยทอดเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology transfer) เนื่องจากการจำกัดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะลดทอนความสมัครใจของการถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีในประเทศที่กำลังพัฒนาย่อมมีต้นทุนค่อนข้างสูง อันเกิดจากความพร้อมของเครื่องจักรและกำลังแรงงานที่อาจไม่สามารถรองรับการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินของมาเลเซียนั้น ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายต่างๆในระยะข้างหน้าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมาเลเซียยังคงประสบความท้าทายจากภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง ดังที่สะท้อนได้จากค่าเงินริงกิจของมาเลเซียคาดที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางค่อนข้างผันผวนและอ่อนค่าแล้วกว่าร้อยละ 0.75 (ณ 4 มิ.ย. 61) จากระดับ 3.95 ริงกิตต่อดอลลาร์ฯ ก่อนการเลือกตั้ง (8 พ.ค. 61) มาอยู่ที่ 3.98 ริงกิตต่อดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบต่อตลาดเงินของมาเลเซียอาจไม่มีขนาดเท่าที่เคยเกิดในปี 2556 และ 2559 เนื่องจากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลโดยนักลงทุนต่างชาติลดลงไปมากจากในอดีตที่เคยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 อีกทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการเงินของมาเลเซียอาจไม่ขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่น เนื่องจากพื้นฐานที่เปราะบางข้างต้นของมาเลเซียเกิดจากในประเทศเป็นสำคัญ

 

กล่าวโดยสรุป ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพรรครัฐบาลมาเลเซียข้างต้นนั้นย่อมส่งผลต่อทิศทางการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐให้ชะลอลงในปี 2561 และ 2562 จนกว่าจะมีความชัดเจน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2561 คาดว่าจะชะลอลงมาที่ร้อยละ 5.3 จากปี 2560 ที่ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 5.9 (ไตรมาสที่ 1/2561 GDP มาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.4 (YoY) ต่ำสุดนับตั้งแต่ Q4/2559) โดยยังคงมุมมองเชิงระมัดระวังต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียในระยะต่อไป

คำค้นหา 
  มาเลเซีย  

 

บทความล่าสุด

แนวรบเก็งกำไร By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ แม้สภาพตลาดหุ้นไทย นักลงทุน ยังไม่กลับมา แต่สำหรับแนวรบ หุ้นเก็งกำไร ......

พีทีจี เอ็นเนอยี ส่ง ออโต้แบคส์ เข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 เตรียมประกาศความพร้อมการแข่งขัน PT Maxnitron Racing Series 2024

พีทีจี เอ็นเนอยี ส่ง ออโต้แบคส์ เข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 เตรียมประกาศความพร้อมการแข่งขัน PT Maxnitron Racing..

มัลติมีเดีย

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้