Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

เฟดเริ่มชะลอมาตรการ QE...จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ

15,349



เฟดเริ่มชะลอมาตรการ QE...จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ
ที่ประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีมติให้ลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนภายใต้มาตรการ QE ทั้งในส่วนของหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อจำนองและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวม 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ โดยให้มีผลตั้งแต่เดือนม.ค. 2557 เป็นต้นไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดการเงินตอบรับมติชะลอมาตรการ QE ของเฟดในรอบนี้อย่างเป็นระเบียบ ไม่ได้ตื่นตระหนกมากนัก โดยเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเฟดยังคงยืนยันกับตลาดว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป แม้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในปี 2557 มีโอกาสปรับลดลงต่อเนื่องไปอยู่ต่ำกว่าระดับ 6.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ และเครื่องมือดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินไทยของธปท. น่าจะสามารถรองรับสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่อาจผันผวนไปตามแนวทางการชะลอมาตรการ QE ของเฟดในช่วงปีข้างหน้าได้ แม้คงต้องยอมรับว่า ทิศทางของตลาดการเงินไทยบางส่วน อาทิ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและค่าเงินบาท อาจต้องเคลื่อนไหวไปตามภาพใหญ่ที่ถูกกำหนดมาจากตลาดการเงินของสหรัฐฯ ก็ตาม


แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีมติที่เกือบเป็นเอกฉันท์ 9:1 เสียง ให้ลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (มาตรการ QE) รวม 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (แบ่งเป็นการชะลอซื้อหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อจำนอง 5 พันล้านดอลลาร์ฯ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 5 พันล้านดอลลาร์ฯ) ซึ่งทำให้ขนาดของมาตรการ QE ปรับลดลงมาที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตั้งแต่เดือนม.ค. 2557 เป็นต้นไป (จากวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ซึ่งเฟดได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนม.ค. 2556 จนถึงปัจจุบัน) อย่างไรก็ดี เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ที่กรอบ 0.00-0.25% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง  
อนึ่ง ผลการประชุมเฟดดังกล่าว สอดคล้องกับเสียงคาดการณ์ส่วนน้อยของตลาดที่ประเมินว่า เฟดจะตอบรับกับทิศทางเชิงบวกของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงาน (ทั้งการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร และการปรับตัวลงของอัตราการว่างงาน) ด้วยการเริ่มถอยออกจากมาตรการ QE ตามสัญญาณที่เคยได้สื่อสารกับตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้

การปรับตัวของตลาดการเงินหลังเฟดประกาศชะลอมาตรการ QE

หลังจากที่เฟดประกาศมติลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE แล้ว นักลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รับข่าวนี้ ด้วยคำสั่งขายพันธบัตร ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ 2.92% ก่อนจะปรับตัวลงมาปิดตลาดนิวยอร์กวันที่ 18 ธ.ค. 2556 ที่ 2.89% (เนื่องจากเฟดยังคงย้ำเรื่องอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ระดับต่ำต่อไป) ในขณะที่ ฟากฝั่งเอเชีย เปิดตลาดเช้าวันนี้ ด้วยสัญญาณที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือนใกล้ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียที่เผชิญแรงขายรับข่าวเฟดชะลอมาตรการ QE เช่นกัน

มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ตลาดการเงินน่าจะยังอยู่ภายใต้สภาวะที่ไม่ตื่นตระหนกมากนัก
แม้การทะยานแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ จะปรากฏขึ้นในวงกว้าง ทั้งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก สกุลเงินในเอเชีย รวมถึงเงินบาท ก็ตาม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้การตัดสินใจลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE รอบนี้ จะเป็นทิศทางที่ผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า แต่การปรับตัวของตลาดการเงินเพื่อรับข่าวนี้ น่าจะอยู่ภายใต้สภาวะที่เป็นปกติ/ไม่สะท้อนภาวะที่ตื่นตระหนกมากนัก เพราะเป็นทิศทางที่เฟดได้พยายามสื่อสารกับตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว และเฟดเองก็สร้างสมดุลด้วยการปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเล็กน้อย เพื่อส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นกับตลาดการเงินว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะยังคงยืนที่ระดับใกล้ 0% แม้อัตราการว่างงานจะลดต่ำลงกว่าระดับ 6.5% ในระยะข้างหน้า และการเริ่มทยอยถอยออกจากมาตรการ QE ครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นจุดเปลี่ยนไปสู่การคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด 
 
ผลกระทบต่อไทยน่าจะอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะประคองโมเมนตัมการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในกรณีพื้นฐานว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวประมาณ 2.2 % ในปี 2557 ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556) จะเอื้อให้เฟดสามารถเดินหน้าชะลอมาตรการ QE อย่างค่อยเป็นค่อยได้ตั้งแต่ต้นปี 2557 ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุน-กลุ่มกองทุนทำการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลก และตลาดการเงินไทยทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ก็อาจจะต้องเตรียมรับสภาวะที่ผันผวนของกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง แต่กระนั้น ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ เครื่องมือทางการเงินของธปท. และสภาพคล่องในระบบการเงินไทยน่าจะยังสามารถรองรับกับภาวะดังกล่าวได้ในช่วงปีข้างหน้า

oระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย รวมฐานะสุทธิฟอร์เวิร์ด (ล่าสุด ณ วันที่ 6 ธ.ค. 2556 อยู่ที่ 191.2 พันล้านดอลลาร์ฯ) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเพียงพอ เมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศของไทยซึ่งอยู่ที่ 141.0 พันล้านดอลลาร์ฯ (แบ่งเป็นหนี้ระยะสั้น 64.3 พันล้านดอลลาร์ฯ และหนี้ระยะยาว 76.7 พันล้านดอลลาร์ฯ) และมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ซึ่งอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อคิดเป็นรูปดอลลาร์ฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 21.7 พันล้านดอลลาร์ฯ

oสภาพคล่องของระบบการเงินไทยยังมีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ ธปท.สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับตลาดเงินระยะสั้นผ่านการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ มียอดคงค้างการถือครองพันธบัตรธปท. ณ สิ้นเดือนพ.ย. 2556 อยู่ราว 1.54 ล้านล้านบาท
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เครื่องมือของธปท. น่าจะสามารถรองรับสถานการณ์เงินทุนไหลออก พร้อมๆ กับดูแลระดับสภาพคล่องให้มีความเพียงพอได้ท่ามกลางทิศทางการชะลอมาตรการ QE ของเฟดในช่วงปีข้างหน้า ขณะที่ การกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของกนง. ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นกลไกในการส่งสัญญาณไปที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้ แม้ว่าเครื่องชี้ของตลาดเงินบางส่วน เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อาจต้องทยอยปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินบาทอาจจะแกว่งตัวในช่วงปี 2557 ก็ตาม

ทั้งนี้ คงต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ของตลาดแรงงาน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเฟดสามารถเดินหน้าทยอยลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE ได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรักษาจังหวะการขยายตัวได้อย่างราบรื่น ตลาดการเงินคงจะเริ่มคาดการณ์ถึงขั้นตอนถัดไปที่จะเกิดขึ้นหลังจากมาตรการ QE ของเฟดได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งเป็นนัยว่า ทิศทางตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะปรับตัวสะท้อนการคาดการณ์เกี่ยวกับวัฏจักรการคุมเข้มด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2557
 
ที่มา  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความล่าสุด

HotNews: IND เตรียมศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานสะอาด

IND เตรียมศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานสะอาด ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ไม่ต่ำกว่า 15%

สถานบันเทิงครบวงจร By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ยินดี สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ลงมติ รายงานผลการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร...

มัลติมีเดีย

QTCG กระแสตอบรับดี/เปิดพื้นฐานก่อนเทรดวันที่ 4 เม.ย. - สายตรงอินไซด์ - 29 มี.ค.67

QTCG กระแสตอบรับดี/เปิดพื้นฐานก่อนเทรดวันที่ 4 เม.ย. - สายตรงอินไซด์ - 29 มี.ค.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้