Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ส่งออกเดือนก.ย.หดตัว 7.1%...จับตาการเติบโตไตรมาสสุดท้าย หนุนภาพรวมทั้งปีให้ขยายตัวในกรอบ 0.5-3.0%

13,597

ประเด็นสำคัญ
•    การส่งออกในเดือนก.ย.2556 หดตัวลงร้อยละ 7.1 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า จากผลของฐานที่สูงและการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดหลัก ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลง สวนทางการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรบางรายการที่ปรับตัวดีขึ้น 
•    แม้การส่งออกในเดือนก.ย. และช่วง 9 เดือนแรกของปี อาจไม่สดใสนัก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มมีพัฒนาการเชิงบวกในช่วงหลังจากนี้ ประกอบกับแรงเสริมจากปัจจัยฤดูกาลและฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ จะช่วยหนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีทยอยปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกทั้งปี 2556 ขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 0.5-3.0 (YoY)

การส่งออกของไทยในเดือนก.ย.2556 พลิกกลับมาหดตัวลงอีกครั้งที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) (แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 0.4) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในเดือนก.ย. 2555 ที่มูลค่าการส่งออกทองคำสูงถึง 1,685 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่สัญญาณฟื้นตัวยังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม โดยหากไม่นับรวมการส่งออกทองคำแล้ว การส่งออกของไทยหดตัวลงเพียงร้อยละ 0.6 (YoY) เท่านั้น
    แม้การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อาจยังสะท้อนภาพที่ไม่สดใส โดยขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.05 (YoY) แต่เมื่อพิจารณาในรายสินค้าจะพบว่า การส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการยังคงประคองทิศทางการฟื้นตัวไว้ได้ ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับแรงเสริมจากปัจจัยฤดูกาลและฐานเปรียบเทียบช่วงปลายปี 2555 ที่ลดต่ำลง ก็ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยน่าจะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556


การส่งออกเดือนก.ย.2556 หดตัวมากกว่าที่คาด
การส่งออกของไทยในเดือนก.ย.2556 หดตัวลงร้อยละ 7.1 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 19,303.7 ล้านดอลลาร์ฯ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออกทองคำ และน้ำมันสำเร็จรูปค่อนข้างสูง (หากไม่นับรวมทองคำ การส่งออกเดือนก.ย. หดตัวเพียงร้อยละ 0.6 YoY) ขณะที่ อีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นผลมาจากจังหวะการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดหลักที่ถูกกดดันด้วยหลายประเด็นกังวล นำโดย การส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่หดตัวลง ทั้งญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 13.6 YoY) สหภาพยุโรป 15 ประเทศ (หดตัวร้อยละ 2.7 YoY)  และสหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 0.7 YoY) ขณะที่ การส่งออกไปจีน และอาเซียน ก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง (ขยายตัวร้อยละ 1.2 YoY และร้อยละ 6.6 YoY) อย่างไรก็ดี การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง เช่น ตะวันออกกลาง ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี (ขยายตัวร้อยละ 21.0 YoY)

ทั้งนี้ แม้การส่งออกทองคำจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนก.ย. หดตัวลงร้อยละ 8.5 (YoY) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 (YoY) ในเดือนส.ค. อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยประเภทอื่นๆ อีกหลายรายการ ก็ยังสามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ได้ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 4.4 (YoY) และร้อยละ 0.95 (YoY) ตามลำดับ นำโดย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป

ด้านการนำเข้าในเดือนก.ย.2556 มีมูลค่า 18,830.5 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 5.2 (YoY) เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.1 (YoY) ในเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ 5.8 (YoY)  และร้อยละ 12.4 (YoY) ตามลำดับ ขณะที่ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปพลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยร้อยละ 0.7 (YoY) อนึ่ง การนำเข้าที่หดตัวลงดังกล่าว ส่งผลให้ไทยบันทึกดุลการค้าเกินดุล 473.3 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 94.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนส.ค.

การส่งออกโค้งสุดท้ายปี 2556...หลายสินค้าอาจเติบโตต่อเนื่อง แต่คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหลายชนิดชนิดยังต้องเร่งปรับตัว

บรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มปรากฎสัญญาณบวก ตลอดจนปัจจัยทางฤดูกาลของไตรมาสสุดท้าย น่าจะช่วยหนุนให้มูลค่าการส่งออกของไทยทยอยปรับตัวขึ้นจนถึงสิ้นปี 2556 แม้ว่ายังอาจมีสินค้าบางรายการที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดเดิมที่มีมาตั้งแต่ต้นปีต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีไว้ดังนี้

ยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รวมถึงมันสำปะหลัง ยังคงเป็นดาวเด่นในช่วงสุดท้ายของปี จากอานิสงส์ของตลาดส่งออกหลัก เช่นเดียวกับแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งได้รับประโยชน์จากการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ที่ยังคงขยายตัวได้ รวมทั้งความนิยมในสินค้าไฮเทค โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริม (Gadget) ขณะเดียวกัน แรงเสริมจากการก้าวเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง ก็น่าจะทำให้สินค้าในกลุ่มเครื่องดื่ม รวมทั้งของขวัญของฝากและของใช้ในเทศกาล (ของเล่น เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม ประทีปโคมไฟ ของใช้ในบ้านและของใช้ในเทศกาลรื่นเริงต่างๆ) ขยายตัวได้ดี


สินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง อาทิ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผ้าผืน น่าจะยังประคองอัตราการขยายตัวไว้ได้ ตามอุปสงค์ในตลาดอาเซียนที่คงทยอยฟื้นคืนมา โดยเฉพาะหากการค้าระหว่างอาเซียนและตลาดหลักเริ่มภาพที่สดใสขึ้น ด้านสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แม้ว่าภาพรวมจะยังคงหดตัว แต่หากพิจารณาเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับโดยไม่รวมทองคำที่มีราคาปรับลดลง พบว่า ยังสามารถขยายตัวได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องประดับเงินและอัญมณี ที่คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ เช่นเดียวกับไก่แปรรูปที่มีญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลัก

สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ ยางพารา อาหารแปรรูป (อาหารทะเลกระป๋อง และผัก/ผลไม้กระป๋อง) และกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง อาจไม่ได้รับประโยชน์จากสัญญาณที่ทยอยมีภาพบวกของเศรษฐกิจโลกมากนัก เนื่องจากประสบกับข้อจำกัดด้านอุปทาน ด้านไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ก็ยังต้องรอการอนุมัตินำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักต่อไป เช่นเดียวกับข้าวไทย ที่คงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขันด้านราคาที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ขณะเดียวกัน สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม ก็คงต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากจากความนิยมในสินค้าและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และการสูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านราคาเช่นกัน

โดยสรุป ผลจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้าที่มีทั้งการส่งออกทองคำและน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงประเด็นกังวลของทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า กดดันให้การส่งออกของไทยในเดือนก.ย.2556 พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 7.1 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า และทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.05 (YoY) อย่างไรก็ ดี หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำแล้ว จะพบว่า การส่งออกของไทยสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 (YoY)
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออก น่าที่จะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4/2556 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการน่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้น สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่น่าจะมีภาพที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ผนวกกับแรงเสริมจากอุปสงค์ในตลาดศักยภาพ และปัจจัยฤดูกาลที่จะเป็นตัวหนุนคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อให้ทันจำหน่ายในเทศกาลเฉลิมฉลองทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้ ผลของฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำในปีก่อน ก็น่าจะช่วยประคองภาพการเติบโตในแดนบวกให้ปรากฎขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งย่อมจะช่วยหนุนให้ภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปี 2556 สามารถขยายตัวใกล้เคียงกับประมาณการในกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 1.5 ได้
แม้จะมีสินค้าหลายประเภทที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากพัฒนาการเชิงบวกดังกล่าว ทั้งสินค้าดาวเด่นตั้งแต่ต้นปี อาทิ ยานยนต์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่น่าจะประคองตัวต่อไปได้ ทั้งไก่แปรรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) รวมไปถึงสินค้าวัตุดิบขั้นกลาง แต่ก็มีสินค้าบางประเภท (ในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร) ที่อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องมาจากยังไม่สามารถหลุดพ้นจากโจทย์ปัญหาเดิม ทั้งปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ข้อจำกัดด้านอุปทาน รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวเข้ากับความนิยมสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว อาจต้องพิจารณาถึงการปรับตัวเพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนการผลิตจากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างน้อยมาสู่การผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง และมีอุปสงค์ต่อเนื่อง รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยในระยะข้างหน้ามีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 











บทความล่าสุด

รอดเท่ากับไม่เทรด By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง มองไม่ค่อยเห็น ผู้ชนะในเกมหุ้น แต่นักลงทุนที่รอด ชัวร์ๆ นั่นคือ หยุดเทรด ไม่เทรด ไม่ซื้อขาย ...

มัลติมีเดีย

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้