Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ส่งออกเดือนส.ค. ขยายตัว 3.9%ลุ้นทิศทาง 4 เดือนสุดท้าย...หนุนทั้งปีเติบโต 1.5%

13,338



ประเด็นสำคัญ

•การส่งออกในเดือนส.ค.2556 พลิกกลับมายืนในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 3.9 (YoY) จากอานิสงส์การฟื้นตัวของคำสั่งซื้อทั้งในตลาดหลักและตลาดศักยภาพ ซึ่งหนุนให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญมีภาพที่สดใสขึ้น

•แม้การส่งออกเดือนส.ค.จะขยายตัวสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่ก็ไม่อาจช่วยเสริมให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้าดูดีขึ้นมากนัก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ประกอบกับแรงเสริมจากปัจจัยฤดูกาลและฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ ก็น่าจะช่วยให้ภาคการส่งออกทยอยปรับตัวดีขึ้น และรักษาอัตราการขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงสุดท้ายของปี 2556

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การทยอยฟื้นตัวขึ้นของการส่งออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจช่วยหนุนให้ภาพรวมของการส่งออกในปี 2556 นี้ ขยายตัวได้ในกรอบประมาณการร้อยละ 0.5-3.0 (ประมาณการ ณ วันที่ 16 ก.ย. 25

การส่งออกของไทยในเดือนส.ค.2556 สะท้อนให้เห็นผลจากบรรยากาศเชิงบวกของเศรษฐกิจโลก ที่ช่วยหนุนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของภาคการส่งออกไทยได้มากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายชนิดเพิ่มสูงขึ้น และช่วยชดเชยผลการหดตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรซึ่งยังเผชิญปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานและความเสียเปรียบการแข่งขัน ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกในเดือนส.ค.2556 สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 1.5 (YoY) ในเดือนก.ค. 2556 

    ทั้งนี้ แม้ว่าการส่งออกในเดือนส.ค. จะขยายตัวสูงกว่าที่คาด แต่ก็คงต้องยอมรับว่า สัญญาณบวกที่เพิ่งปรากฏขึ้นนี้ อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยภาพการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นอย่างล่าช้านับจากต้นปี ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2556 ลงมาที่ร้อยละ 1.5 เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2556 ที่ผ่านมา โดยที่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี


การส่งออกเดือนส.ค.2556 ขยายตัวตามแรงส่งของความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม

การส่งออกของไทยในเดือนส.ค. 2556 มีมูลค่า 20,468 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) หลังจากที่บันทึกอัตราการหดตัวต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อน ทั้งนี้ หากไม่นับรวมทองคำ (ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาที่ 1,029 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนส.ค. จาก 440 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค.) การส่งออกของไทยจะขยายตัวถึงร้อยละ 4.9 (YoY)  โดยทิศทางที่ดีขึ้นของการส่งออกในเดือนส.ค. ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของคู่ค้าในตลาดหลัก นำโดย สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีน เช่นเดียวกับตลาดศักยภาพที่ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ทั้ง อาเซียน-9 ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ขณะที่ มูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 6.0 (YoY) 

ทิศทางที่สดใสของอุปสงค์ทั้งในตลาดหลักและตลาดศักยภาพ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 (YoY) ในเดือนส.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 1.2 (YoY) ในเดือนก.ค. นำโดย สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่ มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเริ่มมีอัตราการหดตัวที่น้อยลง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร (โดยเฉพาะข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง รวมไปถึงอาหารทะเลประป๋องและแปรรูป) ยังคงมีภาพรวมที่ไม่สดใส โดยหดตัวร้อยละ 8.0 (YoY) และร้อยละ 10.8 (YoY) ในเดือนส.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 6.5 (YoY) และร้อยละ 8.7 (YoY) ในเดือนก.ค.2556 ตามลำดับ 


ด้านการนำเข้าในเดือนส.ค. 2556 มีมูลค่า 20,563 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 2.1 (YoY) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 (YoY) ในเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 7.3 (YoY) เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 3.6 (YoY) ในเดือนก่อน และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปที่หดตัวร้อยละ 4.9 (YoY) ทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวลงดังกล่าว ส่งผลให้ไทยบันทึกยอดขาดดุลการค้าลดลงมาอยู่ที่ 94.7 ล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่ขาดดุล 2,281.3 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค.


จับตาการส่งออกช่วงท้ายปี...ลุ้นแรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกและคำสั่งซื้อช่วงปลายปี

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของไทยต้องเผชิญกับหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ซึ่งสร้างแรงกดดันทั้งต่อทิศทางอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ข้อจำกัดด้านอุปทานวัตถุดิบของสินค้าบางชนิด  รวมถึงทิศทางที่ผันผวนของเงินบาท ซึ่งกดดันให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 (YoY) แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ภาคการส่งออก มีแนวโน้มจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากอานิสงส์บรรยากาศเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งปัจจัยฤดูกาลที่จะช่วยหนุนคำสั่งซื้อให้เร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี ดังนี้:- 

•สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย ทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ รวมถึงยูโรโซน ที่ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงต้นครึ่งปีหลังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนล่าสุด (Flash PMI เดือนก.ย.2556) ของหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะจีน ยังมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อเนื่องมายังคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของไทยในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกัน ทิศทางที่ดีขึ้นของตลาดส่งออกหลักดังกล่าว ก็คงจะทำให้การค้าในภูมิภาคอื่นที่เป็นตลาดศักยภาพของไทย อาทิ อาเซียน ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง รวมทั้งแอฟริกา มีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยสินค้าที่น่าจะได้รับอานิสงส์ ได้แก่ สินค้าเกษตรบางชนิด (โดยเฉพาะที่มีจีนและญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก) อาทิ ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น สินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง อาทิ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

• แรงหนุนจากปัจจัยฤดูกาลจากการเตรียมตัวเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี  ซึ่งส่วนใหญ่มักมีการเริ่มส่งคำสั่งซื้อสินค้าตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 เพื่อเตรียมจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อผนวกกับแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น ก็น่าจะช่วยเสริมแรงของปัจจัยฤดูกาล และช่วยเร่งคำสั่งซื้อสินค้าในหมวดของขวัญของฝาก เครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึง    อัญมณีและเครื่องประดับ ให้ปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน



โดยสรุป พัฒนาการเชิงบวกของบรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏชัดเจนขึ้น ช่วยให้การส่งออกของไทยในเดือนส.ค.2556 สามารถพลิกจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า มาบันทึกอัตราการขยายตัวได้อีกครั้งที่ร้อยละ 3.9 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และช่วยหนุนให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของไทย ขยายตัวร้อยละ 1.0 (YoY)
แม้การส่งออกในเดือนล่าสุดจะมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น แต่ก็คงไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลของกระบวนการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นอย่างล่าช้าในช่วงที่ผ่านมาจากหลายปัจจัยกดดัน และคงทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2556 ขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1.5 โดยมีกรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.5-3.0 (ปรับทบทวนลงมาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2556) ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2555 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีตามอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคงจะส่งผลต่อเนื่องมายังการเติบโตของตลาดศักยภาพ ทั้งอาเซียน ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย ผนวกกับแรงเสริมของปัจจัยฤดูกาลและฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ น่าจะช่วยหนุนให้การส่งออกของไทยพลิกกลับมาบันทึกอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสิ้นปี 

ทั้งนี้ คงต้องติดตามประเด็นทิศทางค่าเงินบาทที่อาจเคลื่อนไหวผันผวน (ตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอันเนื่องมาจากความกังวลต่อท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ) ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานสินค้ากลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง/แช่แข็งบางรายการ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของสินค้าบางชนิดที่เคยเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


บทความล่าสุด

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

GUNKUL ลุยขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

ติดตาม By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ หลังจาก นายกฯคุยกับนายแบงก์ วันนี้ สมาคมธนาคารไทย ก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย...

รายงานพิเศษ : ได้เวลา "SPREME" ผู้นำธุรกิจ System Integrator ครบวงจร ลุยระดมทุน ติดปีกธุรกิจ High Growth

ได้เวลา "SPREME" ผู้นำธุรกิจ System Integrator ครบวงจร ลุยระดมทุน ติดปีกธุรกิจ High Growth

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้