Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

เศรษฐกิจไทย...ยังมีทิศทางอ่อนแอในช่วงเริ่มครึ่งหลังปี 2556

13,571



ประเด็นสำคัญ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนก.ค. 2556 สะท้อนบรรยากาศที่ซบเซาในหลายภาคส่วน โดยการบริโภค-การลงทุนภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตภาคเกษตร การส่งออก ล้วนหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอย่างระมัดระวัง โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจมีค่าเฉลี่ยตลอดครึ่งหลังของปี 2556 ที่ประมาณร้อยละ 4.0 เนื่องจากแม้เศรษฐกิจชั้นนำของโลก จะเริ่มทยอยมีภาพในเชิงบวก แต่ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นมาใหม่ ก็ทำให้บรรยากาศที่เชื่อมโยงมาจากเศรษฐกิจโลก และการอ่อนค่าของเงินบาท ยังคงมีผลที่ค่อนข้างจำกัดที่จะหนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ขณะที่ สัญญาณระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง ก็ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ อาจยังคงมีภาพที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง       


ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ไว้ที่กรอบร้อยละ 3.8-4.3 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 4.0 ตามเดิม
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนก.ค. 2556 ยังสะท้อนบรรยากาศที่ซบเซาในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งหดตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน พร้อมกันทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ขณะที่ สถานการณ์ในฝั่งการผลิตภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ก็สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ต้องล่าช้าออกไป เช่นเดียวกับการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แม้จะเทียบกับฐานมูลค่าการส่งออกที่ต่ำในเดือนก.ค. 2555 ก็ตาม ดังนั้น ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงเริ่มครึ่งหลังของปี 2556 ที่ยังอ่อนแอดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังไว้ตามเดิม

สัญญาณล่าสุดของเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางอ่อนแอในช่วงเริ่มครึ่งหลังปี 2556
การใช้จ่ายของภาคเอกชน...ยังถูกกดดันจากหลายปัจจัยแวดล้อม
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนก.ค. พลิกกลับมาหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ที่ร้อยละ 0.7 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 (YoY) ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 5.4 (YoY) ในเดือนก.ค. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.3 (YoY) ในเดือนมิ.ย.

           ทั้งนี้ แม้ฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน จะทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนหดตัวลง (YoY) ในเดือนก.ค. อย่างไรก็ดี การหดตัวลงต่อเนื่องของดัชนีการบริโภคและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนจากเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ 0.5 (MoM) และร้อยละ 0.2 (MoM) ตามลำดับ  ก็บ่งชี้ว่า โมเมนตัมของอุปสงค์ในประเทศก็ยังคงแผ่วตัวลง ท่ามกลางความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือน และทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม


สถานการณ์ภาคการผลิต...ยังคงหดตัวต่อเนื่อง
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนก.ค. ที่ร้อยละ 4.5 (YoY) หลังจากที่หดตัวร้อยละ 3.2 (YoY) ในเดือนมิ.ย. โดยการผลิตในหมวดอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออกยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องอีกร้อยละ 8.1 (YoY) ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรม และการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ในขณะที่ การหดตัวของการผลิตยานยนต์เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง ก็กดดันให้การผลิตในหมวดอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศและตลาดส่งออกพลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 4.9 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 17 เดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนว่า ผลจากโครงการรถคันแรกกำลังจะสิ้นสุดลง

 ส่วนผลผลิตในภาคเกษตรกรรมนั้น ลดลงร้อยละ 2.7 (YoY) ในเดือนก.ค. ท่ามกลางปัญหาภัยแล้งและโรคระบาดในกุ้ง (หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 YoY ในเดือนมิ.ย.) ซึ่งกดดันให้รายได้เกษตรกรลดต่ำลงร้อยละ 1.2 (YoY) (เทียบกับที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.3 YoY ในเดือนมิ.ย.) แม้ราคาสินค้าเกษตรจะเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ก็ตาม

การส่งออกเดือนก.ค.56 ยังไม่กลับมาขยายตัว...แม้มีอานิสงส์จากฐานเดือนก.ค. 55 ที่ต่ำ

มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 1.3 (YoY) ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 3.5 (YoY) ในเดือนมิ.ย. ท่ามกลางความเปราะบางของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า (ที่เพิ่งจะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวก) และการขาดแคลนกุ้งจากปัญหาโรคระบาดที่กินเวลายาวนานหลายเดือน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเป็นรายสินค้า จะพบว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยาง และมันสำปะหลัง เริ่มปรับตัวดีขึ้น (กลับมาขยายตัวร้อยละ 12.8 ร้อยละ10.0 และร้อยละ 88.8 ตามลำดับ) และช่วยหนุนให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรในภาพรวม สามารถพลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ทั้งนี้ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคการส่งออก ส่งผลให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้าเพียง 257.5 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค. (ลดลงจากที่เกินดุล 587.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิ.ย.) ซึ่งเมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่ขาดดุล 966.4 ล้านดอลลาร์ฯ ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศ ก็ทำให้ไทยยังคงบันทึกยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อีก 708.9 ล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่ขาดดุล 644.3 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิ.ย.  

 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง: ยังประเมินอย่างระมัดระวังไว้ที่ร้อยละ 4.0
แม้สัญญาณในช่วงระหว่างเดือนก.ค.และส.ค. 2556 ที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน จะเริ่มทยอยมีภาพในเชิงบวก แต่ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นมาใหม่ และดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ทำให้บรรยากาศที่เชื่อมโยงมาจากเศรษฐกิจโลก และการอ่อนค่าของเงินบาท ยังคงมีผลที่ค่อนข้างจำกัดในการหนุนทิศทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยในช่วงเริ่มครึ่งปีหลัง  ขณะที่ สัญญาณระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง ก็ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศยังคงมีภาพที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง

จากภาพที่อ่อนแอดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอย่างระมัดระวัง โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจมีค่าเฉลี่ยตลอดครึ่งหลังของปี 2556 ที่ประมาณร้อยละ 4.0 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยตัวแปรที่คงต้องจับตาใกล้ชิด คือ ช่วงเวลาการฟื้นตัวของการส่งออก และสัญญาณเสถียรภาพของการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งหากกิจกรรมทั้ง 2 ด้าน ยังคงซบเซาลงในช่วงไตรมาส 3/2556 (ซึ่งจะมีอานิสงส์จากฐานที่ต่ำในปีก่อน และการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556) ก็อาจส่งผลให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ไว้ที่กรอบร้อยละ 3.8-4.3 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 4.0 ตามเดิม
 
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความล่าสุด

ไม่ไกล By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง สอดส่อง SET วันศุกร์ ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวในสุดสัปดาห์นี้ ขณะที่สัญญาณขายของนักลงทุน...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้