Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง...คาดการส่งออก

12,493


ประเด็นสำคัญ

เศรษฐกิจไทยหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 0.3% (QoQ, s.a.) ในไตรมาสที่ 2/2556 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่หดตัว 1.7% (QoQ, s.a.) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการปรับโมเมนตัมมาสู่การเติบโตตามปัจจัยพื้นฐาน หลังจากที่การขยายตัวสูงในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากแรงผลักดันพิเศษจากหลากหลายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวดีขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5.0% (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 3/2556 โดยได้รับอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ และสภาพเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีเสถียรภาพ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี สำหรับภาพรวมของปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงตัวเลขคาดการณ์กรณีพื้นฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ประมาณ 4.0% ไว้ตามเดิม

เศรษฐกิจไทยปี 2557 อาจขยายตัวที่ประมาณ 4.5% ตามประมาณการเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยอาจมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุน

ข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 2/2556 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สะท้อนทิศทางที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการชะลอตัวของการลงทุนและการบริโภค รวมถึงการกลับมาหดตัวอีกครั้งของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในไตรมาส 2/2556 (ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 2.5%) หลังจากที่ขยายตัว 5.4% (YoY) ในไตรมาส 1/2556 ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแล้ว จีดีพีประจำไตรมาส 2/2556 ที่ปรับฤดูกาลหดตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สองที่ 0.3% (QoQ, s.a.) ทั้งนี้ สศช.ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 2556 ลงมาอยู่ที่ 3.8-4.3% เท่ากับกรอบคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ซึ่งประเมินไว้ ณ 28 มิ.ย. 2556)

เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ
ณ ราคาคงที่    %YoY    %QoQ, s.a.
    3Q/2555    4Q/2555    1Q/2556    2Q/2556    1Q/2556    2Q/2556
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย    3.1    19.1    5.4    2.8    -1.7    -0.3
การบริโภค    6.0    12.4    4.4    2.4    -1.3    -1.9
การลงทุนสินทรัพย์ถาวร    15.5    22.9    5.8    4.5    -3.1    3.9
การใช้จ่ายของภาครัฐ    10.0    12.5    2.9    5.8    -4.2    7.5
การส่งออกสินค้าและบริการ    -2.8    19.6    8.3    2.8    -0.6    -1.4
 ที่มา: สศช. รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การใช้จ่ายของรัฐบาลช่วยประคองทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โดยอัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 2/2556 ชะลอลงมาที่ 2.8%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (Year-on-Year: YoY) จากที่ขยายตัว 5.4% (YoY) ในไตรรมาส 1/2556 ท่ามกลางหลายปัจจัยลบโดยเฉพาะทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กดดันให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกของไทย ขณะที่ ภาพรวมของการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงตามการระมัดระวังการใช้จ่ายและการชะลอซื้อในกลุ่มสินค้าคงทนและกึ่งคงทนของภาคครัวเรือน ส่วนทิศทางการลงทุนโดยรวมนั้น ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมในภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ดี โมเมนตัมที่เร่งขึ้นของการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ก็ทำหน้าที่ช่วยประคองทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ได้บางส่วน
 

เศรษฐกิจไทยกำลังปรับโมเมนตัมมาสู่การเติบโตตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีที่ปรับฤดูกาลประจำไตรมาส 2/2556 หดตัวลง 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter: QoQ, s.a.) ต่อเนื่องจากตัวเลขหดตัวที่ทบทวนใหม่ 1.7%  (QoQ, s.a.) ในไตรมาส 1/2556 นำโดย สัญญาณลบจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (-1.9% QoQ, s.a.) และการส่งออกสินค้าและบริการของไทย (-1.4% QoQ, s.a.)

ทั้งนี้ ตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์ การที่ตัวเลขจีดีพีหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าสองไตรมาสติดต่อกันนั้น ถือได้ว่าเศรษฐกิจได้เผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวเลขจีดีพีที่หดตัวต่อเนื่องติดต่อกันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการปรับโมเมนตัมมาสู่การเติบโตตามปัจจัยพื้นฐาน หลังจากที่การขยายตัวสูงในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากแรงผลักดันพิเศษจากหลากหลายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตหรือปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรง รวมทั้ง คาดว่า อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) จะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี 2556…ความหวังขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของการส่งออก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวดีขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5.0% (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 3/2556 โดยได้รับอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน ตลอดจนสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ทยอยมีภาพที่ดีขึ้น ซึ่งย่อมจะเป็นผลดีต่อทิศทางการเริ่มฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย (แม้จะยังคงต้องจับตาหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยต่อไป) นอกจากนี้ บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศ อาจได้รับแรงหนุนจากการเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556 และทิศทางเงินเฟ้อที่ยังอาจผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงมากในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ที่ขยายตัวสูงถึง 19.1% YoY) จึงทำให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวอาจเป็นระดับที่ไม่สูงนัก แม้ว่าการส่งออกอาจสามารถบันทึกอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น รวมทั้งน่าจะได้รับผลบวกจากการเร่งใช้จ่ายงบประมาณและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ตาม  ด้วยเหตุนี้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีอาจขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 4.0% (YoY) ซึ่งใกล้เคียงช่วงครึ่งแรกของปีที่ขยายตัว 4.1% (YoY) โดยตัวแปรสำคัญ ยังคงเป็นจังหวะการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงต้องรับมือกับการแข่งขันในตลาดโลก และความอ่อนไหวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ จากโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 ตามภาพประเมินดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ประมาณ 4.0% (ในกรณีพื้นฐาน) โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ 3.8-4.3% ไว้ตามเดิม โดยการเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินจากงบประมาณของรัฐบาล อาจช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยได้บางส่วน ในขณะที่ หากสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดได้เต็มที่ ก็อาจจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในกรณีพื้นฐานได้ 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557...ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เบื้องต้นที่ 4.5%
สำหรับแนวโน้มในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรณีพื้นฐานที่ประมาณ 4.5% โดยสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ทยอยเริ่มมีภาพด้านบวกตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556 น่าจะช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกของไทยเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นมาที่ 7.0% ในปี 2557 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2556 อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในปี 2557 อาจขยายตัวที่ประมาณ 2.4% ซึ่งสะท้อนทิศทางประคองตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับปีนี้ ท่ามกลางความกังวลต่อค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนบรรยากาศการลงทุนในปีหน้านั้น อาจมีภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาครัฐสามารถผลักดันการลงทุนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ที่มา  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้