Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

SCB EIC ส่งออก มิ.ย. ยังขยายตัวแรง และอานิสงส์สหรัฐฯ เลื่อนเก็บศุลกากรตอบโต้ไปอีก 1 เดือน ช่วยให้มุมมองทั้งปีขยายตัวได้

142

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (25 กรกฎาคม 2568 )-----มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน มิ.ย. 2025 ขยายตัว 15.5%YOY อยู่ที่ 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เดือนก่อน 18.4%YOY) ชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ (SCB EIC ประเมิน 17.1% และค่ากลาง Reuter Poll 18.7%) และข้อมูลส่งออกแบบปรับฤดูกาลหดตัวลง -0.9%MOM_SA จากเดือนก่อน ภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 15% (รูปที่ 1 และ 2)

 

ส่งออกเดือนนี้ยังได้รับแรงสนับสนุนหลายช่องทาง แต่หลายกลุ่มเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง

(1) วัฏจักรขาขึ้นในสินค้ากลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้ากลุ่มนี้ขยายตัวสูง 57.7% ชะลอลงจาก 104% ในเดือนก่อน โดยตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 118% เร่งขึ้นจาก 88.3% ในเดือนก่อน ขณะที่ตลาดจีนชะลอลงมาเป็น 122.8% จาก 311.6% ในเดือนก่อน และตลาดอื่นเริ่มหดตัว -2.4% จากที่เคยขยายตัวสูง 66.8% ในเดือนก่อน ทั้งนี้ การส่งออกกลุ่มนี้มีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยเดือนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น (CTG) 5.5% จากการเติบโตส่งออกรวม 15.5%

(2) การเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ ก่อนได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีเต็มที่ ขยายตัวสูงถึง 41.9% จาก 35.1% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลักที่ยังไม่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ขยายตัว 118%, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัวที่ 9.4%, แผงวงจรไฟฟ้าขยายตัวที่ 36.9% ขณะที่การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ถูกเก็บภาษีเฉพาะเจาะจงรายสินค้า 25% ไปแล้วนั้น หดตัว -2.6% ในเดือนนี้ ทั้งนี้การส่งออกไปสหรัฐฯ มีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น (CTG) 7.5% จากการเติบโตส่งออกรวม 15.5%

(3) ทองคำยังเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญ การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปยังคงขยายตัวสูงมากถึง 115.6% เร่งขึ้นจาก 59.6% ในเดือนก่อน แต่นับว่าชะลอลงมากเมื่อเทียบกับ 256% และ 272.2% ในเดือน เม.ย. และ มี.ค. 2025 โดยตลาดส่งออกสำคัญในเดือนนี้คือ สวิตเซอร์แลนด์ที่ขยายตัวสูงถึง 421.5% ทั้งนี้การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปนี้มีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น (CTG) 2.4% จากการเติบโตส่งออกรวม 15.5% สำหรับประเด็นแรงส่งจากปัจจัยทองพิเศษที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นปีจากการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าผสมทองคำผสมไปตลาดอินเดียมีสัญญาณหมดลงชัดเจน

(4) ปัจจัยฐาน มูลค่าส่งออกเดือน มิ.ย. ในปี 2024 ค่อนข้างต่ำหากเทียบค่าเฉลี่ยเดือนอื่น และค่าเฉลี่ยปกติเดือน มิ.ย. ในช่วงก่อนวิกฤติโควิด ส่งผลให้การส่งออกในเดือน มิ.ย. 2025 เติบโตค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐาน

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าชะลอตัวสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออก

มูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 27,588.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.1% จาก 18.0% ในเดือนก่อน ชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้เช่นเดียวกัน (SCB EIC ประเมิน 14.5% และค่ากลาง Reuter Poll 17.8%) โดยสินค้าทุนเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่ขยายตัวสูงถึง 38.2% (โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีนที่ขยายตัว 48.7% จาก 45.9% ในเดือนก่อน คิดเป็นกว่า 48.6% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนของไทยทั้งหมดในเดือนนี้) ขณะที่การนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัย, สินค้าอุปโภคบริโภค, ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (รวมทองคำ) ขยายตัว 29.8%, 19.8%, 11.7% และ 7.2% ตามลำดับ ด้านการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและหดตัวต่อเนื่อง -10.6% (รูปที่ 3) ดุลการค้าไทย (ระบบศุลกากร) เดือนนี้เกินดุล 1,061.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้กับที่ SCB EIC ประเมินไว้ (SCB EIC ประเมิน 1,200 และค่ากลาง Reuter Poll ที่ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ดุลการค้าขาดดุลสะสม -62.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

SCB EIC ประเมิน Frontload ส่งออกที่ดีในช่วงครึ่งปีแรก และผลจากทรัมป์เลื่อนเก็บภาษีตอบโต้อีก 1 เดือน ช่วยให้มุมมองส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้บ้าง แต่ปีหน้าจะเสี่ยงหดตัวแรงขึ้น

มุมมองมูลค่าส่งออกสินค้าไทยปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวได้บ้าง จากที่เคยมองว่าจะไม่เติบโต หลังข้อมูลมูลค่าส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในไตรมาสสองจากการเร่งผลิตเพื่อส่งออกก่อนได้รับผลกระทบจากศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) ของสหรัฐฯ และผลจากสหรัฐฯ เลื่อนกำหนดขึ้นภาษีตอบโต้นี้ออกไป 1 เดือนเป็นวันที่ 1 ส.ค. ช่วยให้ภาพเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นบ้างเป็น 2.4% จากเดิม 2.3% (รูปที่ 4)

 

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในช่วงท้ายปี 2025 และภาพรวมปี 2026 ยังเสี่ยงหดตัวจากผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มชัดขึ้นหลังสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษี Reciprocal tariff และ Specific tariffs ครบตามที่ประกาศไว้
และปัจจัยหนุนหลักของการส่งออกที่มีในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 เริ่มหมด เช่น วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจัย Frontload ก่อนสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า และปัจจัยทองพิเศษ

 

Special Highlight (1) : มีเพียง 6 ประเทศที่บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้แล้วหลังสหรัฐฯ ชะลอการเก็บ Reciprocal tariffs ออกไปนานกว่า 100 วัน หลายประเทศต่างทบทวนข้อเสนอหลายรูปแบบเพื่อเร่งบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ให้เร็วที่สุดก่อนเส้นตายวันที่ 1 ส.ค. อย่างไรก็ดี นับถึงขณะนี้มีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้แก่

 

ประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน

    สหราชอาณาจักร : สหรัฐฯ ตกลงคงอัตราภาษีตอบโต้ที่ 10% แต่ลด Product specific tariff สำหรับรถยนต์ 100,000 คันแรก เหลือ 10% จาก 25% ยกเว้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอากาศยานบางรายการ และกำหนดโควตาภาษีในอัตราต่ำสำหรับการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ ขณะที่สหราชอาณาจักรตกลงจะลด Non-tariff barriers ขยายการเปิดตลาดสำหรับสินค้าสหรัฐฯ เช่น เนื้อวัวและเอทานอล ปฏิบัติตามมาตรฐานความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และเข้าร่วมการเจรจาอย่างเป็นระบบในภาคส่วนสำคัญ เช่น ยานยนต์, อากาศยาน, เหล็ก และอะลูมิเนียมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสอดคล้องกับกฎระเบียบที่สหรัฐฯ วางไว้
    จีน : สหรัฐฯ ลดภาษีตอบโต้เหลือ 30% (เดิม 145%) เป็นการชั่วคราว แต่หากรวมภาษีในช่วงทรัมป์ 1.0 เดิม 25% รวมสินค้าจีนถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีเพิ่มขึ้น 55% และสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าขนาดเล็กจากจีน (De Minimis) 54% (เดิม 120%) รวมถึงผ่อนคลายมาตรการกีดกันที่เคยใช้ต่อจีน ในขณะที่จีนเก็บสหรัฐฯ 10% และผ่อนคลายการควบคุมส่งออกแม่เหล็กและแร่ธาตุหายากลงบ้าง
    ญี่ปุ่น : สหรัฐฯ ตกลงจะลดภาษีตอบโต้เหลือ 15% (เดิม 25%) รวมทั้งอาจลด Product specific tariff รถยนต์ญี่ปุ่นลงเหลือ 15% ด้วย (ประกาศโดย ข้อมูลจากทางการญี่ปุ่น แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากสหรัฐฯ) ขณะที่ญี่ปุ่นจะยอมให้สินค้าบางรายการของสหรัฐฯ เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น (เช่น รถบรรทุกและข้าว) อีกทั้งญี่ปุ่นจะลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมูลค่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ประเทศในภูมิภาคอาเซียน

    เวียดนาม : สหรัฐฯ ลดภาษีตอบโต้เหลือ 20% (เดิม 46%) และ 40% สำหรับสินค้าประเทศอื่นที่ส่งออกผ่านเวียดนาม (ป้องกัน Transshipment โดยเฉพาะจากจีน) ขณะที่เวียดนามยอมเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ทั้งหมดโดยลดภาษีเหลือ 0% และลด Non-tariff barriers (ประกาศจากทางสหรัฐฯ) ทั้งนี้เวียดนามจะยังคงเดินหน้าต่อรองเพื่อให้ขอลดภาษีตอบโต้ลงต่ำกว่า 20%
    อินโดนีเซีย : สหรัฐฯ ลดภาษีตอบโต้เหลือ 19% (เดิม 32%) และกรณีสินค้าประเทศที่อัตราภาษีสูงกว่าส่งออกผ่านอินโดนีเซียจะเก็บ 19% + อัตราภาษีประเทศเจ้าของสินค้าเดิม ขณะที่อินโดนีเซียยอมเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เกือบทั้งหมด (99% ไม่รวมเนื้อหมูและแอลกอฮอล์ ซึ่งขัดหลักศาสนาของประเทศ) โดยลดภาษีเหลือ 0% และลด Non-tariff barriers สำคัญหลายรายการ ยอมรับมาตรฐานการกำกับดูแลด้านสินค้าบางชนิดของสหรัฐฯ และปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน
    ฟิลิปปินส์ : สหรัฐฯ ลดภาษีตอบโต้เหลือ 19% (เดิม 20%) ขณะที่ฟิลิปปินส์เปิดตลาดให้สหรัฐฯ โดยลดภาษีเหลือ 0% รวมทั้งสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์มีข้อตกลงจะขยายความร่วมมือทหารระหว่างกัน (ประกาศจากทางสหรัฐฯ)

 

Special Highlight (2) : ความคืบหน้าการเจรจาของไทย และผลกระทบหากเปิดตลาดเสรี

การที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ก่อน โดยยอมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ ทั้งหมด (Full access) แลกกับการขอลดอัตราภาษีตอบโต้ รวมถึงยอมให้สหรัฐฯ เก็บภาษี Transshipment (ภาษีนำเข้าสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตโดยใช้สินค้าจากห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศต่ำ) ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ซึ่งอาจกดดันให้ไทยจำเป็นต้องรีบเจรจากับสหรัฐฯ และยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้นต่อสหรัฐฯ เพื่อต่อรองขอลดอัตราภาษีตอบโต้ให้ใกล้เคียงคู่แข่ง เพื่อช่วยไม่ให้สินค้าออกของไทยโดยรวมเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ ล่าสุดผู้แทนทีมเจรจาของไทยสื่อสารว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอรอบใหม่ยอมเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าข้อเสนอรอบแรก (เพิ่มจากที่เคยเสนอสัดส่วน 64% เป็นราว 90% ของสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยสัดส่วนที่เหลือคาดว่าจะเป็นสินค้าเกษตรสำคัญ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบวงกว้างต่อผู้ผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ) เพื่อขอลดกำแพงภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ ประกาศจะเก็บไทยสูงถึง 36% ให้อยู่ในช่วง 18%-20% ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าคู่แข่ง

 

การที่คู่ค้าสหรัฐฯ (โดยเฉพาะอาเซียน) เปิดตลาดเสรีให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะกระทบการส่งออกไทยสูง ผ่าน

    1.ความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างภูมิภาคอาเซียน : หากประเทศอาเซียนตกลงตามบรรทัดฐานใหม่ในการเจรจากับสหรัฐฯ อาจเห็นสินค้าสหรัฐฯ ไหลเข้าตลาดอาเซียนมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาสินค้าจีนล้นตลาดที่มีอยู่เดิม (Twin influx) ส่งผลกดดันให้การส่งออกในภูมิภาคอาเซียนลดลง ซึ่งจะกระทบภาคส่งออกไทยสูง เนื่องจากพึ่งพาตลาดอาเซียนสูงถึง 23.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2024 รวมถึงจะกระทบต่อภาคเกษตรและภาคการผลิตในประเทศที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจีนและสหรัฐฯ มากขึ้น
    2.ผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน : หากข้อตกลง Transshipment ระหว่างประเทศอาเซียนกับสหรัฐฯ สร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจจีน อาจกดดันให้จีนใช้มาตรการภาษีตอบโต้ด้วย และกลายเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อภาคส่งออกของอาเซียนและไทยได้เช่นกัน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าหลักของไทยเช่นกัน (สัดส่วนการส่งออกไทยไปจีนราว 11.7% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด)

 

SCB EIC มองว่า หากไทยเปิดตลาดเสรีให้สหรัฐฯ อาจเจอปัญหาสินค้าสหรัฐฯ ไหลเข้ามากกว่าประเทศในอาเซียน เนื่องจาก

    1.ปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีความต้องการสินค้าสหรัฐฯ มากกว่าหลายประเทศในอาเซียน แม้ไทยจะปกป้องตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศจากสหรัฐฯ ด้วยอัตราภาษีนำเข้าที่สูงกว่า โดยอัตราภาษีนำเข้าที่บังคับใช้จริง (Effective Applied Tariff Rate : EATR) ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer goods) ของสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน แต่ปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน แม้ไทยจะปกป้องตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจากสหรัฐฯ สูงกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไทยมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาค (รูปที่ 5)
    2.ปัจจุบันไทยปกป้องตลาดภายในประเทศสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน หากเปรียบเทียบ EATR ของการนำเข้ารวม รายหมวด และรายกลุ่มสินค้าที่ไทยและประเทศในอาเซียนเก็บสินค้าสหรัฐฯ พบว่า ไทยเก็บภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน สะท้อนจาก (รูปที่ 6 และ 7)

    •การนำเข้ารวม ไทยเก็บ EATR สินค้าสหรัฐฯ (เฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) สูงอันดับ 2 ของอาเซียนอยู่ที่ 6.2% รองจากกัมพูชาที่ 12.9% (ค่าเฉลี่ยอาเซียนไม่รวมไทย อยู่ที่ 3.9%)
    •การนำเข้ารายหมวด ไทยเก็บ EATR สินค้าสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียนไม่รวมไทยมากถึง 3 ใน 4 หมวด โดยมีแค่สินค้าวัตถุดิบ (Raw materials) เท่านั้นที่ไทยเก็บ EATR สินค้าสหรัฐฯ น้อยกว่า
    •การนำเข้ารายกลุ่มสินค้า ไทยเก็บ EATR สินค้าสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียนไม่รวมไทยมากถึง 9 ใน 16 กลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (กลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดตลาด) เช่น ผักและเนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ ที่ EATR ไทยสูงถึง 38% และ 44.3% และกำหนดอัตราภาษีสูงสุดถึง 218% ในบางรายการ เทียบกับ EATR ค่าเฉลี่ยอาเซียนไม่รวมไทยที่เก็บจากสหรัฐฯ ในกลุ่มผักและเนื้อสัตว์ที่ 3.1% และ 4.8% ตามลำดับ และกำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 107%

 

 

บทวิเคราะห์โดย...  https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-240725

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

NER ร่วมทำดี บริจาคโลหิต เฉลิมพระเกียรติ จัดหาโลหิตสำรอง...ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์

NER ร่วมทำดี บริจาคโลหิต เฉลิมพระเกียรติ จัดหาโลหิตสำรอง...ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์

HotNews: เปิดหุ้นเสี่ยง! ปมข้อพิพาท ไทย-กัมพูชา

เปิดหุ้นเสี่ยง!ปมข้อพิพาท ไทย-กัมพูชา กลุ่มไหน เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย ในทางกลับกัน ธีมไหนได้ได้อานิสงส์ ไปดู...

รอดูสถานการณ์ By : แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ยามนี้ ต้องจับตา รอดู สถานการณ์ ชายแดน ไทย-กัมพูชา คณะมนตรีความมั่นคง UN นัดประชุมฉุกเฉิน....

มัลติมีเดีย

DEXON แผนครึ่งปีหลัง เดินหน้าขยายฐานลูกค้า ยุโรป-อเมริกา

DEXON แผนครึ่งปีหลัง เดินหน้าขยายฐานลูกค้า ยุโรป-อเมริกา

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้