Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บล.เอเซีย พลัส มองภาพการลงทุนครึ่งปีหลัง 2568 ชัดเจนขึ้น – แนะทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวและความเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม

219

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (22 กรกฎาคม 2568 )-----ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ประเมินว่าภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ครึ่งปีแรกเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวและความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะนโยบายภาษีการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณที่ “ผ่อนปรนมากขึ้น” จากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ช่วยคลายความกังวลของตลาด พร้อมหนุนให้นักลงทุนหันไปให้ความสำคัญกับ “ผลกระทบที่แท้จริง” ต่อธุรกิจ เช่น ต้นทุนและพฤติกรรมผู้บริโภค ที่จะมีผลต่อกำไรในระยะต่อไป

ตลาดสหรัฐฯ ฟื้นตัวจากการบริโภค-บริการ หนุนแนวโน้ม EPS S&P 500 ทำจุดสูงสุดใหม่ ในด้านเศรษฐกิจ แม้ประเด็นภาษียังเป็นแรงกดดัน แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเดินหน้าขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการบริโภคและภาคบริการ Bloomberg จึงปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนี S&P 500 ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ และลดโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ เหลือเพียง 35% ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 45% เมื่อเดือนเมษายน

ASPS มองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังโดดเด่นจากการเป็นศูนย์กลางของบริษัทนวัตกรรมระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่ม Big Tech ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสร้างโอกาสการเติบโตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ยังคงเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก

ประเมิน Upside ของ S&P 500 ยังเปิดกว้าง หากสหรัฐฯ เดินหน้าลดดอกเบี้ยและผ่านงบใหม่ แม้ Forward P/E ของ S&P 500 อยู่ที่ระดับสูงราว 22.3 เท่า (ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2568) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี แต่ Bloomberg Consensus ยังคงให้เป้าหมายสิ้นปีที่ 6,732 จุด คิดเป็น Upside ประมาณ 7.8% โดยได้แรงหนุนจากทั้ง Big Tech และกลุ่มหุ้นที่เคยเป็น “Laggard” ซึ่งอาจฟื้นตัวตามแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศ หากสหรัฐฯ สามารถลดอัตราดอกเบี้ย และผลักดันงบประมาณชุดใหม่ผ่านสภาได้ ก็จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการทำจุดสูงสุดใหม่ของตลาด

ปัจจัยเสี่ยงยังต้องติดตาม – แนะสร้างสมดุลระหว่างโอกาสและความมั่นคง อย่างไรก็ตามปัจจัยที่อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดในระยะสั้นยังมีอยู่หลายประเด็น เช่น ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่อาจต่ำกว่าคาดการณ์, การชะลอตัวของการบริโภคและการจ้างงาน, นโยบายใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ, การเปลี่ยนแปลงในท่าทีของธนาคารกลาง และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังส่งผลต่อกระแสเงินทุนและราคาสินทรัพย์ทั่วโลก

กลยุทธ์แนะนำ: ทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี ควบคู่กระจายพอร์ตสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ASPS แนะนำให้นักลงทุนใช้จังหวะ “แรงขาย” เป็นโอกาสในการ “ทยอยสะสม” หุ้น โดยเน้นกลุ่มบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและมีความมั่นคงในเชิงโครงสร้าง เช่น กลุ่ม Big Tech และ AI Supply Chain และ กลุ่ม Financials, Travel, และ Defense

ควรเสริมพอร์ตด้วยหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เช่น Consumer Staples และ Health Care เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในช่วงตลาดผันผวน พร้อมทั้งเปิดรับโอกาสการลงทุนในตลาดต่างประเทศที่ยังมีศักยภาพในระยะกลาง เช่น ยุโรป, จีน, ฮ่องกง, และ เวียดนาม

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงในระยะสั้น ASPS ยังแนะนำให้จัดสรรพอร์ตบางส่วนไว้ใน สินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ตราสารหนี้รัฐบาล และ ทองคำ ซึ่งช่วยเสริม Buffer และลดแรงกระเพื่อมของพอร์ตในช่วงที่ตลาดยังไม่เข้าสู่จุดมั่นคง

ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 3 “SET ดูสดใสขึ้น แต่ยังต้องติดตามหลายปัจจัยเสี่ยง แนะกระจายพอร์ตหุ้นใหญ่เน้นปันผล-กำไรโต

สายงานวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ประเมินภาพในช่วงไตรมาสที่ 3 SET ดูสดใสขึ้น แต่ยังต้องติดตามหลายปัจจัยเสี่ยง เริ่มที่ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลาง หลัง NATO บรรลุข้อตกลงเพิ่มงบกลาโหม 5% ของ GDP ภาย ใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่สภาวะการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากความกังวลอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯต่อประเทศต่างๆที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และเพิ่มโอกาสเกิด Recession ท่ามกลางเงินเฟ้อที่อาจขยับขึ้นในช่วง 2H68 ทำให้ทั่วโลกโน้มเอียงไปทางภาวะ Stagflation (Stagnation + Inflation) สิ่งที่ส่งผลตามมา คือ การเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยยากขึ้นของธนาคารกลางต่างๆ รวมถึง FED ที่ส่งสัญญาณ Hawkish มากขึ้น สอดคล้องกับ Fed Watch Tool ที่คาดว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกปีนี้ในเดือน ก.ย. 68 (4.50% สู่ 4.25%) จากช่วงก่อนหน้าที่คาดลดครั้งแรก ณ ก.ค.68 ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกดังกล่าว น่าจะกดดันเศรษฐกิจไทยให้โตระดับใกล้เคียง 2%YoY ดังหลายสำนักเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ และมีโอกาสเห็นมาตรการที่จะเข้าประคับประคองทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินในอนาคต

คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ทิศทางดอกเบี้ยไทย 2H68 มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ราว 0.25-0.50% สะท้อนผ่านตราสารหนี้ไทยอายุน้อยกว่า 7 ปีที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย ขณะที่นโยบายการคลัง น่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาในช่วง 2H68 ตามการเบิกจ่ายงบประจำปี 69 ที่ยังคงกรอบเวลาเดิม หากกระบวนการของสภายังคงอยู่ และไม่มีการยุบสภาในเร็ววัน ส่วนกำไรตลาดฯ ฝ่ายวิจัย ASPS คาดอยู่ที่เฉลี่ย 2.62 แสนล้านบาทต่อไตรมาส โดยประเมินกำไรทั้งปี 1.06 ล้านล้านบาท หรือ 86 บาท/หุ้น (เติบโต 17%YOY) ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และถือว่า CONSERVATIVE กว่า BLOOMBERG CONSENSUS ส่วน Sector ที่กำไรเติบโตต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ถึง 3 มักจะปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงไตรมาสที่ 3 อาทิ กลุ่ม ETRON, HELTH, PROP, TRANS เป็นต้น ขณะที่ช่วง 3Q68 หวังแรงขายจากนักลงทุนสถาบัน-ต่างชาติ จะเบาลงตามยอดเม็ดกองทุน LTF ที่อยู่เพียง 1.17 แสนล้านบาท (ลดลงมา 1.02 แสนล้านบาท YTD) และสัดส่วนต่างชาติถือหุ้นไทยทางตรงที่น้อยลงเรื่อยๆจนล่าสุดอยู่ระดับ 24.2% โดยปัจจุบันดัชนี SET มี VALUATION ถูก มี PBV68F ต่ำกว่า 1.0 เท่า (-2SD) ต่ำสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (MSCI ACWI มี PBV 3.0 เท่า) และ SET มี DIVIDEND YIELD 68F สูง 4.8% (+1SD) สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินเป้าหมายดัชนีปลายปี 68 แบบอนุรักษ์นิยม (CONSERVATIVE) ภายใต้ EPS68F ที่ 86 บาทต่อหุ้น, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% อิง MEYG 4.50% (+1 SD) ได้ดัชนีเป้าหมายปี 2568 ที่ 1,376 จุด มี UPSIDE เปิดจากระดับดัชนีในปัจจุบันที่อยู่ในช่วง 1,140-1,170 จุดพอสมควร

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำหุ้นใหญ่กระจายหลายอุตสาหกรรม และมี High Dividend Yield หรือ Profit Growth 68 เติบโต อย่าง PTT, SCC, CPALL, BDMS, TRUE, PLANB

คิดจะพัก(เงิน) คิดถึงตราสารหนี้ไทย – Yield ต่ำ แต่ยังน่าลงทุนด้วยกลยุทธ์ Selective Buy

ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุน แม้ภาวะอัตราผลตอบแทน (Yield) โดยเฉพาะในฝั่งพันธบัตรอายุยาวจะปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.00% แต่ยังมีแนวโน้มลดลงต่อ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี

คุณลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า “แม้ผลตอบแทนจะลดต่ำลงต่อเนื่อง นักลงทุนยังคงเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยอย่างคึกคัก โดยมีแนวโน้มลงทุนแบบ Selective Buy มากขึ้น โดยเน้นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่า BBB และอายุไม่เกิน 2 ปี ขณะที่ Perpetual Bonds ของบริษัทชั้นนำซึ่งให้ผลตอบแทน 3.00–4.00% ยังคงเป็นที่ต้องการสูง เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ส่วนใหญ่ในตลาดที่ให้ Yield ต่ำกว่า 3.00%”

ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/2568 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างรวม 17.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% จากปีก่อน โดยเป็นการเติบโตของพันธบัตรภาครัฐ ในขณะที่มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวปรับลดลง (-19.3%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น: Investment Grade ลดลง (-19.7%) และ High yield (-13.2%) ที่มีมูลค่าการออกลดลงมาอยู่ที่ 372,697 ล้านบาท และ 26,123 ล้านบาท ตามลำดับ

มูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวครบกำหนดช่วงครึ่งปีหลังนี้ 414,810 ล้านบาท โดยจะครบในช่วงไตรมาสสาม 194,385 ล้านบาท และ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย 220,424 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังครองอันดับหนึ่งของการมีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวสูงสุด คือ กลุ่มพลังงาน (ENER) ซึ่ง 5 อันดับแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มเดิม คือ กลุ่มพลังงาน (ENER) กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (PROP) กลุ่มพาณิชย์ (COMM) และ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดย 5 กลุ่มนี้มียอดคงค้างประมาณเดิมอยู่ที่ 61% ของมูลค่ารวมทั้งตลาด แต่ถ้ามองในมุมของอันดับเครดิตแล้ว หุ้นกู้กลุ่มอันดับเครดิต A ยังคงมีมูลค่าคงค้างสูงสุด แต่ถ้ามองทุกอันดับเครดิตรวมกันกว่า 94% เป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade (BBB-) ขึ้นไป

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนพันธบัตร ตลาดคาดการณ์ว่า แบงก์ชาติไทย มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% ลงมาอยู่ที่ 1.50% หรือต่ำกว่า เพราะศักยภาพที่มีเหลือเพื่อรองรับการปรับลงได้อีก โดยประเมินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยต่ำสุดที่ 0.5% ช่วงปี 2565 อีกทั้งตอนนี้อัตราดอกเบี้ยแท้จริง (real interest rate) ของเราอยู่ที่ +2.00% ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งเนื่องจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโดยปกติแล้วตลาดจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อรองรับการคาดการณ์ล่วงหน้า สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ตอนนี้ลงมาต่ำกว่า 1.75% โดยตลาดคาดว่าแบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุม 1-2 ครั้ง ที่เหลือจากทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับลงเป็นครั้งที่สองในการประชุม กนง เดือนสิงหาคม โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการปรับตัวลงมาเรื่อยๆ ซึ่งถ้านับจุดเริ่มต้น ณ สิ้นปีที่แล้ว อัตราผลตอบแทนภาครัฐอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับลง 53-54 bps มาอยู่ที่ประมาณ 1.43% ส่วนอัตราผลตอบแทนภาครัฐอายุมากกว่า 1 ปี ปรับลงไม่ต่ำกว่า 65 bps จาก ณ สิ้นปีที่ยังเห็นอัตราผลตอบแทนสำหรับตัวยาวเกิน 36 ปี ไม่ต่ำกว่า 3.00% มา ณ ตอนนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่อายุยาวที่สุด 46 ปี (LB726A) ยังลงมาต่ำกว่า 2.30%

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำสำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ ซื้อตราสารหนี้ตัวอายุกลางๆ ไว้ทำกำไรระยะสั้น แต่ก็ยินดีถ้าจะต้องถือยาว เนื่องจาก ปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญจากทั้งภายในและภายนอก อย่างภัยพิบัติทางธรรมชาติ หนี้เสีย ภาวะเศรษฐกิจที่โตต่ำ และจะถูกซ้ำเติมจากสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับไทยในอัตรา 36%  จึงกดดัน yield ให้ทรงตัวในระดับต่ำจนถึงลงไปได้อีกตามการคาดการณ์การปรับตัวลงของดอกเบี้ยนโยบายที่มีความเป็นไปได้ที่จะถูกปรับลงอีกอย่างน้อย 25 bps ไปอยู่ที่ต่ำกว่า 1.50% แต่อย่างไรก็ตามก็ควรจะเตรียมพร้อมสำหรับกรณีตลาดพร้อมดีดตัวกลับเมื่อเห็นสัญญาณ bottom out ของภาวะดอกเบี้ย ซึ่งคงยังไม่เห็นในเร็ววันนี้ จึงแนะนำให้ selective buy ตามวัตถุประสงค์การลงทุน ถ้าวัตถุประสงค์เพื่อ trading แนะให้ซื้อตราสารหนี้ภาครัฐ แต่ถ้าวัตถุประสงค์ Buy and Hold แนะให้ซื้อ Perpetual bonds หรือ หุ้นกู้ที่อันดับเครดิตไม่ต่ำกว่า BBB หรือหุ้นกู้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวพันกับปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต อย่างเช่น อาหารและเครื่องดื่ม (Food), การแพทย์ (Helth), ธุรกิจการเกษตร (Agri) เป็นต้น “แม้ตลาดตราสารหนี้จะดูซึมตัว แต่ก็ยังมีโอกาสทำกำไรได้จากการลงทุนอย่างมีชั้นเชิงและมีเป้าหมายที่ชัดเจน”

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ความหวัง By : แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย เขียวสดใส แรงซื้อหุ้นบิ๊ก แคป หนุนนำ ท่ามกลางนักลงทุน ลุ้นผลเจรจาภาษีระหว่าง..

ATLAS โชว์ศักยภาพผู้นำตลาด LPG ร่วมเวทีเสวนาสร้างธุรกิจยั่งยืนก่อนเข้า SET

ATLAS โชว์ศักยภาพผู้นำตลาด LPG ร่วมเวทีเสวนาสร้างธุรกิจยั่งยืนก่อนเข้า SET

มัลติมีเดีย

TMILL วางกลยุทธ์ ขยายตลาดควบคู่เน้นบริหารต้นทุน ดันมาร์จิ้นสดใส

TMILL วางกลยุทธ์ ขยายตลาดควบคู่เน้นบริหารต้นทุน ดันมาร์จิ้นสดใส

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้