Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

การสำรวจธุรกิจครอบครัวปี 2025 ชี้ บรรษัทภิบาลและความเป็นผู้ประกอบการเป็นกุญแจสำคัญของการรักษาการเติบโตของธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น

98


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(9กรกฎาคม 2568)-----------ประเด็นสำคัญ
• ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ มักมีโครงสร้างบอร์ดบริหารที่เป็นทางการมากกว่าธุรกิจครอบครัวทั่วไปถึงร้อยละ 10
• ความเป็นผู้ประกอบการและการเติบโตเป็นสิ่งที่ฝังลึกในธุรกิจครอบครัว ซึ่งใช้ประโยชน์จากเงินทุนเพื่อเติบโต และใช้การควบรวบกิจการและการซื้อกิจการ (mergers and acquisitions: M&A) เพื่อขยายธุรกิจและสร้างนวัตกรรมมากขึ้น
• บริษัทลงทุนภาคเอกชนให้ความสนใจที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจครอบครัวมากขึ้น

KPMG Private Enterprise และ STEP Project Global Consortium ได้เผยแพร่รายงาน Global Family Business Report 2025 ซึ่งเจาะลึกถึงภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจครอบครัว และกลยุทธ์ในการรักษาการเติบโตจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโต และความเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่มีรากฐานจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

รายงานฉบับนี้อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวจำนวน 2,683 แห่งใน 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย STEP Project Global Consortium และ KPMG Private Enterprise การศึกษานี้ชี้ให้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจครอบครัวในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นไปที่ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจเหล่านี้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นแนวโน้มบางประการที่พบในธุรกิจครอบครัวที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น

“ความเข้าใจและการปรับปรุงปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ไม่เพียงเพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจของการส่งต่อความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นด้วย การเติบโตในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่การขยายตัวด้านการเงิน แต่ยังรวมถึงความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวด้วย” รอบบิน แลงสฟอร์ด ผู้นำระดับโลก ฝ่ายธุรกิจครอบครัว KPMG Private Enterprise เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว “การรับมือกับความท้าทายดั้งเดิม เช่น บรรษัทภิบาลของธุรกิจครอบครัว ควบคู่ไปกับการคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างการเข้าถึงเงินทุนเพื่อการเติบโต จะช่วยรับประกันความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว ท่ามกลางภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องได้” แลงสฟอร์ดอธิบาย

ข้อมูลเผยให้เห็นว่าธุรกิจครอบครัวยังมีช่องทางในการเติบโตอีกมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานในการทำธุรกิจ แรงผลักดันสำคัญของยุคนี้ ได้แก่ การกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ การเปลี่ยนแปลงในการกำกับดูแลกิจการ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, social and governance: ESG) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งล้วนต้องการให้ผู้นำธุรกิจครอบครัวตัดสินใจอย่างเป้าหมายว่าจะเปิดรับหรือปฏิเสธสิ่งใด และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน.

“ขณะที่เราเข้าสู่ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งในด้านการกำกับดูแลกิจการ การนำเทคโนโลยีมาใช้ และความเปลี่ยนแปลงของตลาด ธุรกิจครอบครัวต้องใช้แนวทางที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จและมีความยืดหยุ่นในระยะยาว การทำให้กรอบการกำกับดูแลกิจการเป็นทางการ การวางแผนการสืบทอดธุรกิจเชิงรุก การบูรณาการ ESG เข้าไปในกลยุทธ์ธุรกิจหลักพร้อมโอบรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ล้วนช่วยเสริมสร้างมรดกของครอบครัว เพิ่มความผูกพันระหว่างรุ่น และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การควบรวมและการซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และปลดล็อกศักยภาพในอนาคตได้” ศศิธร พงศ์อดิศักดิ์ หุ้นส่วน และหัวหน้าฝ่าย KPMG Private Enterprise เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

มีหลักฐานที่ชี้ว่า การกำกับดูแลกิจการมีความสำคัญ โดยธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จมีแนวโน้มสูงกว่าร้อยละ 10 ที่จะมีโครงสร้างคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ ซึ่งช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การวางแผนเส้นทางการเติบโตไว้อย่างชัดเจนและรอบคอบ จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวสามารถใช้ประโยชน์จากเงินทุนเพื่อการเติบโตได้มากขึ้น พร้อมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เพื่อขยายธุรกิจและสร้างนวัตกรรม การศึกษาเน้นย้ำว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา มีธุรกิจครอบครัวเกือบ 500 รายที่เข้าร่วมกิจกรรม M&A โดยร้อยละ 60 เป็นการเข้าซื้อกิจการของธุรกิจครอบครัวอื่น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า บริษัทลงทุนภาคเอกชนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจครอบครัว โดยมองว่าธุรกิจเหล่านี้ต้องการทั้งแหล่งเงินทุนและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น และสร้างการเติบโตในระยะยาว

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการที่ธุรกิจครอบครัวเปิดรับการเป็นพันธมิตรกับบริษัทลงทุนภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและการสืบทอดธุรกิจ

“ประเทศไทยมีธุรกิจครอบครัวที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นกรณีที่กองทุน private equity ได้ร่วมมือกับเจ้าของธุรกิจ ทั้งในด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต การแนะแนวทางในการปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการ และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงยังสนับสนุนเรื่องการสืบทอดกิจการอีกด้วย” เอียน ธอร์นฮิลล์ หุ้นส่วนและหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการซื้อขายกิจการ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

“นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจครอบครัว และสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ นี่อาจเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกเขา” แอนเดรีย คาลาโบร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของ STEP Project Global Consortium กล่าว “สิ่งที่น่าสังเกตคือ การเข้าซื้อกิจการระหว่างประเทศไม่ใช่แค่การทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่เป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างความเป็นเจ้าของของธุรกิจ ผู้บริหาร และวิสัยทัศน์ระยะยาว บอร์ดบริหารที่มีการกำกับดูแลที่ดีต้องตระหนักถึงปัจจัยที่ซับซ้อนเหล่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์การซื้อกิจการสอดคล้องกับทั้งเป้าหมายทางการเงิน และคุณค่าทางจิตใจที่ครอบครัวให้ความสำคัญ” คาลาโบรกล่าวเพิ่มเติม

รายงานฉบับนี้ระบุแนวทางหลายประการที่ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและความยั่งยืนในระยะยาว ขยายกรอบความคิดเกี่ยวกับความสำเร็จให้ครอบคลุมมากกว่าแค่การสืบทอด แต่ควรหมายถึงการส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย
• เสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการ: จัดตั้งโครงสร้างบอร์ดบริหารอย่างเป็นทางการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการตัดสินใจและความยั่งยืน พร้อมพิจารณาองค์ประกอบของบอร์ดอย่างรอบคอบ
• สร้างช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น: เกือบร้อยละ 40 ของสมาชิกครอบครัวตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของการสื่อสารระหว่างสมาชิกครอบครัวและธุรกิจครอบครัว
• ส่งเสริมการมีส่วนร่วมข้ามรุ่น: สมาชิกครอบครัวรุ่นถัดไปเพียงร้อยละ 52 เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนากลยุทธ์ ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวจากหลายรุ่นมีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น เพื่อเพิ่มความยั่งยืนและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
• ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน: บูรณาการแยวคิดด้านความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
• ใช้ประโยชน์จากเงินทุนเพื่อการเติบโตและ M&A: มองหาโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อการเติบโต และพิจารณา M&A เชิงกลยุทธ์เพื่อขยายตัวสู่ตลาดใหม่และสร้างนวัตกรรม
• พิจารณาความร่วมมือกับบริษัทลงทุนภาคเอกชน: สร้างความสัมพันธ์กับบริษัทลงทุนภาคเอกชนและสำนักงานธุรกิจครอบครัว (family office) เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ และความเชี่ยวชาญที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ และการเติบโตในระยะยาวให้ประสบความสำเร็จ
• ทบทวนความหมายของ “ความสำเร็จ” สำหรับธุรกิจครอบครัว: เมื่อธุรกิจครอบครัวต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ความสำเร็จในอนาคตควรมีหน้าตาอย่างไร และคุณจะวัดความสำเร็จนั้นอย่างไร
อ้างอิง:
รายงาน Global Family Business Report 2025: Sustaining Growth Across Generations ของเคพีเอ็มจี

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ไม่ผ่อนผัน By : แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็นข่าว ประธานาธิบดีสหรัฐ ทรัมป์ แจ้งว่า จดหมายแจ้งถึงแต่ละประเทศคู่ค้าจะถูกทยอยส่งออกไป...

มัลติมีเดีย

CRD ครึ่งปีหลัง68 เร่งเครื่องสร้างผลงาน ชูBacklog กว่า700 ลบ. #งานmaiforum2025

CRD ครึ่งปีหลัง68 เร่งเครื่องสร้างผลงาน ชูBacklog กว่า700 ลบ. #งานmaiforum2025

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้