Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

EBC มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเสี่ยง ปัจจัยการเมืองภายในกดดัน ตลาดโลกผันผวน เงินเยนแข็ง ดอลลาร์อ่อน

97



สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 กรกฎาคม 2568)-------แนะจับตาการเมือง-สงครามการค้า โลกการเงินป่วน เงินเยนแข็ง ดอลลาร์อ่อน นักลงทุนต้องวางแผนพอร์ตอย่างรอบคอบ


EBC Financial Group ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังคงมีความเปราะบางจากหลายปัจจัย ทั้งการเมืองภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ สงครามการค้าโลก และแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นที่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำสั่งให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จากกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่าง สมเด็จฮุน เซน จุดชนวนการเมืองไทยให้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง คำสั่งศาลที่ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่นั้นเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ครม. ชุดใหม่ “แพทองธาร 2” สะท้อนว่าการเมืองยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ฉุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

4 ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า เศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมยังคงชะลอตัว โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 7% จากเดือนก่อนหน้า จำนวนผู้เดินทางลดลง 2.9% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวระยะไกลที่มีกำลังใช้จ่ายสูง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ลดกำลังการผลิตลง 0.6% จากแรงกดดันสินค้าคงคลังและการซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ภาคการลงทุนและการบริโภคยังขยายตัวเพียงเล็กน้อย สะท้อนความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนและนโยบายสหรัฐฯ

EBC Financial Group วิเคราะห์ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ยังต้องติดตามใกล้ชิดมี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

· ทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจีน
· ความเปราะบางของการท่องเที่ยว
· การปรับตัวของธุรกิจต่อการแข่งขันและพฤติกรรมผู้บริโภค
· ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และเสถียรภาพทางการเมืองไทย

ตลาดโลกผันผวน

นอกจากปัจจัยภายในแล้ว ความผันผวนในภูมิภาคเอเชียยังรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์ล่าสุดในญี่ปุ่นและจีน โดยค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อ USD/JPY ร่วงลงแตะระดับ 143.50 หลังผลสำรวจ BoJ Tankan ไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นส่งสัญญาณเชิงบวกเหนือคาดเล็กน้อย สะท้อนความเชื่อมั่นธุรกิจภาคการผลิตที่ฟื้นตัว ขณะที่ Manufacturing PMI เดือนมิถุนายนของญี่ปุ่นกลับมาสูงกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน แม้ภาพรวมธุรกิจบริการและผู้ผลิตยังประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้าอาจอ่อนตัวลง

ขณะที่จีนเองก็มีสัญญาณฟื้นตัวในฝั่งอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยดัชนี Caixin Manufacturing PMI เดือนมิถุนายนดีดขึ้นแตะ 50.4 จาก 48.3 เดือนก่อนหน้า ส่งสัญญาณกลับสู่โซนขยายตัว แม้คำสั่งซื้อส่งออกยังอ่อนแรงและภาคจ้างงานยังหดตัว สะท้อนว่าการเติบโตยังต้องพึ่งนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐต่อไป

อีกด้านหนึ่ง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ยังใกล้ระดับต่ำสุดรอบ 3 ปี หลังตลาดเชื่อว่า Fed มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยภายในกันยายนนี้ ประกอบกับความกังวลต่อ “Big Beautiful Bill” ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่อาจเพิ่มภาระหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ อีกกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า สร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศลงทุนทั่วโลก

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียหลายสกุลยังเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ท่ามกลางความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้าใหม่ที่ทรัมป์ขู่จะกดดันญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วยมาตรการภาษีข้าว และยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคมนี้

สำหรับประเทศไทย แม้เงินบาทยังแข็งค่าตามภูมิภาค ล่าสุดอยู่ที่ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบควบคุม แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง โดย GDP อาจขยายตัวได้เพียง 1.5–1.7% ตามการประเมินของหลายสำนักวิจัย หากการเมืองภายในยืดเยื้อ และแรงส่งจากการท่องเที่ยว-การส่งออกแผ่วลง

EBC Financial Group จึงแนะนำนักลงทุนและภาคธุรกิจไทยให้จับตาปัจจัยความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด บริหารพอร์ตลงทุนอย่างระมัดระวัง และติดตามพัฒนาการด้านนโยบายการค้า สงครามภาษี รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางค่าเงินและตลาดการเงินโลกในช่วงครึ่งปีหลังนี้

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้