Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

กระทรวงอุตฯ ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ตะลุยปั้นเชฟไฟแรง 1.7 หมื่นคน พร้อมต่อยอดสร้างเชฟมืออาชีพสู่ครัวโลก คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,500 ล้านบาท

99



สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 กรกฎาคม 2568)-------กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ แสดงพลังความร่วมมือสุดยิ่งใหญ่ จัดกิจกรรม “THAI MASTER CHEF POWER : พลังเชฟไทย สร้างชาติ” เดินหน้าปั้นเชฟไทยสร้างอาชีพต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตั้งเป้าพัฒนาทักษะประชาชน 17,000 คน สู่เชฟชุมชน ผ่าน 2 หลักสูตร ได้แก่ Master Chef Program 50 ตำรับ และ Master Chef Program Plus 70 ตำรับ หวังสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ พร้อมผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยอวดสายตาเวทีโลก โดยคาดว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท อันจะเป็นพลังใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต


นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การใช้อาหารเป็น “Soft Power” ไม่ใช่เพียงแนวคิด หากแต่เป็น “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ด้วยการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อยกระดับสินค้าทั้งด้านมาตรฐานและดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล


กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) บูรณาการความร่วมมือ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เร่งเดินหน้า “โครงการยกระดับหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย (Master Thai Chef)” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นกลไกในการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ
ลดความเหลื่อมล้ำ และทักษะที่ได้รับการรับรอง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้กับประชาชน แต่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายเชฟไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโตยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบาย OFOS (One Family One Soft Power) การยกระดับรายได้ให้ประชาชนของรัฐบาลผ่านการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,500 ล้านบาท

 

นางสาวณัฎฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อมได้ตระหนักถึงบทบาทของอุตสาหกรรมอาหารไทย ในฐานะ Soft Power ที่ทรงพลังของประเทศ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านการส่งออก การท่องเที่ยว การสร้างอาชีพในระดับชุมชน และยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ โดยมุ่งพัฒนาเชฟชุมชนให้เป็นผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารเชิงสร้างสรรค์ ไม่เพียงเน้นการฝึกอาชีพ แต่ครอบคลุมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาด พร้อมเชื่อมโยงเชฟกับ SME ท้องถิ่น เกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบ ผู้ผลิตเครื่องปรุง และร้านอาหาร ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ที่นี่มีแต่ให้” เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบผ่าน “โครงการยกระดับหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย (Master Thai Chef)” เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และยกระดับทักษะให้ประชาชนสามารถเป็นเชฟมืออาชีพในระดับชุมชน โดยในปี 2568 ดีพร้อมได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติทั้ง 13 สาขาเขตขยายพื้นที่เป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพให้ประชาชน จำนวน 17,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตร Master Chef Program 50 ตำรับ จำนวน 12,000 คน และ 2. Master Chef Program Plus 70 ตำรับ จำนวน 5,000 คน โดยจะพัฒนาขึ้นมาใหม่จาก 7 กลุ่มอาหาร ประกอบด้วย อาหารไทยต้นตำรับเพื่อการประกอบอาชีพ อาหารไทยสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ ขนมหวานไทยประยุกต์สำหรับตลาดสากล อาหารไทย Street Food ฟิวชั่นอาหารไทยกับรสชาติสากล อาหารเจ และอาหารชาววัง ซึ่งออกแบบให้สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรมทำให้สามารถต่อยอดสู่อาชีพ เกิดการสร้างรายได้ และสร้างแบรนด์ท้องถิ่นอันจะนำไปสู่การยกระดับเชฟชุมชนให้เป็น Soft Power ระดับประเทศและการยอมรับอาหารไทยในเวทีสากลต่อไป


“ดีพร้อม” เชื่อมั่นว่า พลังของความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาชน และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ จะผลักดันให้ชุมชนสร้างเชฟคุณภาพที่สามารถยกระดับวิถีชีวิตของตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในชีวิตจริง วันนี้ทักษะอาหารไทยไม่ใช่เพียงแค่ฝีมือในครัวแต่คือพลังในการสร้างเศรษฐกิจของชาติ เป็นพลังใหม่ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งนี้ ในปี 2567 ดีพร้อม ได้นำร่อง Master Thai Chef โดยมีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 1,304 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 356 ล้านบาท สามารถประกอบอาชีพได้จริงในพื้นที่ของตนเอง อันนำไปสู่การลงทุนต่อเนื่องในระดับชุมชนและเกิดผลสัมฤทธิ์เชิงรูปธรรม”


โดยล่าสุด ดีพร้อม ได้จัดกิจกรรม “THAI MASTER CHEF POWER : พลังเชฟไทย สร้างชาติ” เพื่อเป็นการคิกออฟ “โครงการยกระดับหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย (Master Thai Chef)” และประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวในวงกว้าง รวมถึงแสดงผลการดำเนินงานและสื่อสารพลังความร่วมมือกับหน่วยงานร่วม MOU ได้แก่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการ “รูป รส กลิ่น สี ครบทุกสัมผัส” แบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ และการสาธิตเมนูอาหารไทยสร้างสรรค์โดยเชฟรุ่นใหม่ เพื่อยืนยันว่า Soft Power ของไทยนั้นสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง


นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานฯ มีภารกิจในการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองด้วยการเรียนรู้และพัฒนาความคิดริเริ่ม ตลอดจนเสริมศักยภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านและชุมชนเมือง มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของคนในหมู่บ้านและชุมชนให้สามารถพัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ ซึ่งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ มีเครือข่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้ง 13 สาขาเขต เชื่อมโยงกับชุมชนในระดับหมู่บ้านอย่างใกล้ชิด และจะเป็นส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานฯ พร้อมขับเคลื่อนโครงการฯ ผ่านความร่วมมือในหลายมิติ ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ ผ่านกิจกรรมสื่อสารเชิงรุกในพื้นที่ การรับสมัครผู้เข้าร่วมอบรม โดยอาศัยการเชื่อมโยงจากผู้นำชุมชน กรรมการกองทุน และกลุ่มอาชีพ ตลอดจน การหาลูกค้าเป้าหมาย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างตรงจุดผ่านกลไกและฐานข้อมูลสมาชิกของแต่ละเขต โดยจะได้จัดให้มี “กิจกรรมสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ณ สถานที่ตั้งของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯหรือสถานที่ที่เหมาะสมในพื้นที่รับผิดชอบของทั้ง 13 สาขาเขต ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะ เกิดแรงจูงใจในการเข้าร่วมอบรมและสร้างอาชีพใหม่อย่างจริงจัง รวมทั้งผลักดันให้เกิดการสร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพให้ครอบคลุม 17,000 คน ทั่วประเทศ


“ความร่วมมือในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนที่ผนึกกำลังกันเพื่อสร้างโอกาสที่ดีของการพัฒนาทักษะอาชีพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วยการสนับสนุนและเชื่อมโยงการขับเคลื่อนโครงการให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง”

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้