Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

SCB EIC จับตาโดมิโนภาษีสหรัฐฯ...จากเหล็กสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า

113


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 กรกฎาคม 2568)----------KEY SUMMARY

สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ โดยมีอัตราภาษีสูงสุดถึง 50%

นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ได้เริ่มทยอยประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยเริ่มโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกประเทศ (Universal tariffs) และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่อยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2025 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้าเพิ่มเติม โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ซึ่งรวมถึงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ HS code 84 และ 85 รวม 10 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, เครื่องอบผ้า และเครื่องล้างจาน เป็นต้น โดยทุกประเทศจะถูกเก็บภาษีสูงสุดถึง 50% ตามสัดส่วนของมูลค่าเหล็กที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ยกเว้นสหราชอาณาจักร (UK) ที่อยู่ระหว่างได้รับการผ่อนผันให้เสียภาษี 25% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ส่วนประกอบของเหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 0% ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2025 ที่ผ่านมา โดยการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เป็นต้น

การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยใน 5 กลุ่มสินค้า

มาตรการภาษีระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ตู้เย็น (HS CODE 8418.10), ตู้แช่แข็ง (HS CODE 8418.40), เครื่องอบผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8451.29), เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8450.20) และเครื่องล้างจาน (HS CODE 8422.11) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ รวมกัน 153.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 คิดเป็นสัดส่วนราว 4.1% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีครั้งนี้ค่อนข้างสูง ได้แก่ เครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น เนื่องจากมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ 56%, 28% และ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในแต่ละหมวดสินค้า ตามลำดับ

SCB EIC คาดว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2025 จะหดตัวที่ -1.9%YOY และมีแนวโน้มจะหดตัวมากขึ้นที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จาก Trump’s tariffs
การปรับขึ้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น และจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ทั้งหมดสำหรับสินค้าในรายการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี นอกจากนี้ อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าที่ผู้บริโภคสหร้ฐฯ ต้องจ่ายแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากไทยและแนวโน้มการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย (รวมสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โดนเรียกเก็บภาษีรอบนี้) มีแนวโน้มหดตัว -1.9%YOY ในปี 2025 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์

ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจาก Specific tariffs ที่เพิ่งประกาศอย่างเร่งด่วน ด้วยการประเมินความเสี่ยงในกลุ่มสินค้าที่เสี่ยงสูง มีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของชิ้นส่วนในการผลิตที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบและบริหารต้นทุนเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีเหล็กที่จะถูกเก็บเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการค้า โดยจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน, ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จะต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ทั้งการเลือกใช้วัสดุ การเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งส่งเสริมการทำ R&D เพื่อเลือกใช้วัสดุทดแทนการใช้เหล็ก เช่น อะลูมิเนียมรีไซเคิล และคอมโพสิตไฟเบอร์ เป็นต้น และสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณด้าน R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ และส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สำคัญของอาเซียน

ความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเผชิญอาจไม่ใช่จุดจบ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวและยกระดับศักยภาพการผลิต เพื่อรับมือกับสมรภูมิการค้าโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในอนาคตต่อไป

KEY POINTS
______
สหรัฐฯ ออกประกาศใหม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ
นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกประเทศ (Universal tariffs) และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่อยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2025 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ภายใต้มาตรา 232 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการภาษีเฉพาะสินค้าที่ไทยถูกเรียกเก็บไปแล้ว ได้แก่ สินค้าในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนฯ 25%, สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม 50% และยังมีสินค้าบางรายการที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาสอบสวนเพื่อเรียกเก็บภาษี เช่น เซมิคอนดักเตอร์, ผลิตภัณฑ์ยา และสินค้าเกษตร เป็นต้น โดยในระยะข้างหน้าคาดว่ากลุ่มสินค้าไฮเทค เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์สื่อสาร จะเป็นกลุ่มสินค้าในลำดับถัดไปที่สหรัฐฯ เล็งที่จะพิจารณาเก็บภาษีเฉพาะสินค้าเพิ่มเติม (รูปที่ 1)

ท่ามกลางมาตรการภาษีที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ได้มีคลื่นลูกใหม่ที่ซัดเข้ามายังฝั่งไทย เมื่อกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศการปรับขึ้นภาษีเฉพาะเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) กับเหล็กภายใต้มาตรา 232 ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับขึ้นภาษีตามประกาศดังกล่าวได้รวมถึงการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญ ที่ครอบคลุมทั้งการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ ในหมวด HS code 84 กับ 85 ยกเว้นสหราชอาณาจักร (UK) ที่อยู่ระหว่างได้รับการผ่อนผันให้เสียภาษี 25% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ส่วนประกอบของเหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งประกาศดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศสามารถแข่งขันได้มากขึ้นและลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจากต่างประเทศ สำหรับเม็กซิโกที่มีข้อได้เปรียบจากความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ (USMCA) และเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญ ก็จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น Samsung และ LG ที่มีฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในเม็กซิโก ไม่ได้ใช้เหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องเสียภาษีเท่ากับประเทศอื่น ๆ ด้วย

 

รายการสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) กับเหล็ก ภายใต้มาตรา 232 มีทั้งหมด 6 หมวด (10 รายการ) คือ
1) ตู้เย็นตู้แช่แข็ง (HS Code 8418.10.00, 8418.30.00 และ 8418.40.00)
2) เครื่องอบผ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (HS Code 84521.21.00 และ 8451.29.00)
3) เครื่องซักผ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (HS Code 8450.11.00 และ 8450.20.00)
4) เครื่องล้างจาน (HS Code 8422.11.00)
5) เตาอบ (HS Code 8516.60.40)
6) เครื่องกำจัดขยะอาหาร (HS Code 8509.80.20)

อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้าจะพิจารณาภาษีเฉพาะมูลค่าส่วนประกอบของเหล็กในสินค้าเท่านั้น
การเรียกเก็บภาษีในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะไม่ได้ประเมินภาษีจากมูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ แต่จะพิจารณาเฉพาะมูลค่าส่วนประกอบเหล็ก (Steel content) ในแต่ละสินค้าเท่านั้น โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบและอยู่ในพิกัดศุลกากรที่สหรัฐฯ กำหนด (HS Code 9903.81.91 และ 9903.91.98) ในทุกประเทศ จะโดนเรียกเก็บภาษี 50% ของมูลค่าของเหล็กในสินค้า ยกเว้นสินค้านำเข้าจากสหราชอาณาจักรที่จะถูกเรียกเก็บเพียง 25% จากมูลค่าของเหล็กในสินค้า ขณะที่สินค้าเหล็กแปรรูปที่ใช้เหล็กหลอมในสหรัฐฯ จะถูกจัดอยู่ในหมวดยกเว้นภาษี หรือ 0% (รูปที่ 2)


______
การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบของไทยไปสหรัฐฯ เช่น เครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เกี่ยวกับเหล็กระลอกใหม่
ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าหลักในการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย โดยมีรายการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้า
ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ตามพิกัดที่คาดว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ สินค้าตู้เย็น (HS CODE 8418.10) ตู้แช่แข็ง (HS CODE 8418.40) เครื่องอบผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8451.29) เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8450.20) และเครื่องล้างจาน (HS CODE 8422.11) โดยสินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีทั้ง 5 รายการดังกล่าวข้างต้น มีมูลค่าการส่งออกในปี 2024 รวมกัน 153.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย SCB EIC คาดว่าเครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) กับเหล็กภายใต้มาตรา 232 มากกว่าสินค้ารายการอื่น ๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ทั้งสัดส่วนและมูลค่าที่มากกว่าสินค้ารายการอื่น ๆ สะท้อนได้จากข้อมูลของ Trade map ในปี 2024 ที่พบว่า ไทยมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องล้างจาน (HS Code 8422.11.00), เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS Code 8450.20.00) และตู้เย็น (HS Code 8418.10.00) ไปยังตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ 56%, 28% และ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในแต่ละหมวดสินค้า ตามลำดับ


SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมของไทยในปี 2025 จะหดตัวที่ -1.9%YOY และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งจากผลกระทบของ Trump’s tariffs และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาด

แม้ว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2025 จะขยายตัวสูงถึง 14%YOY จากอานิสงส์ในระยะสั้นของการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ (Front load) และได้รับประโยชน์บางส่วนจากผลกระทบของกำแพงภาษีของจีน

ที่สูงกว่าไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในภาพรวมซึ่งรวมตลาดอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปสหรัฐฯ
ราว 30% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมดในปี 2024 เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ทั้งความเสี่ยงจากภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่ยังอยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้และรอผลการเจรจาการค้า อีกทั้ง การปรับขึ้นภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องกับภาษีเหล็กคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยไปตลาดสหรัฐฯ บางรายการ SCB EIC คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย (รวมสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โดนเรียกเก็บภาษีรอบนี้) ในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว -1.9%YOY จากผลกระทบของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ ขณะที่ในปี 2026 SCB EIC คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจะยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -2.1%YOY (รูปที่ 4) จากปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ ได้แก่


• เศรษฐกิจโลกชะลอตัว : ความไม่แน่นอนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ, เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น


• การแข่งขันที่สูงขึ้น : แม้ว่าประเทศคู่แข่งหลักอย่างเม็กซิโกจะเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี แต่เม็กซิโกยังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ นอกเหนือจากรายการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีเหล็กและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) และมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าไทย และยังมีข้อได้เปรียบจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้สหรัฐฯ (Nearshoring) ซึ่งส่งผลให้เม็กซิโกสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง


การปรับขึ้นภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เกี่ยวกับเหล็ก คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในภาพรวม ทั้งทางตรงและทางอ้อม 1) ผลกระทบทางตรง การปรับขึ้นภาษีคาดว่าจะส่งผลให้กำลังซื้อและอุปสงค์ในตลาดสหรัฐฯ ลดลง จากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในระยะข้างหน้า และ 2) ผลกระทบทางอ้อม ความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยหากผู้ประกอบการเลือกใช้ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบของเหล็กตามพิกัดศุลกากร (HS Code 9903.81.91 และ 9903.91.98 ) ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ผู้ประกอบการจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งอาจนำไปสู่การย้ายฐานการผลิตในระยะต่อไปได้

ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่กำลังจะมาถึง

ท่ามกลางพายุจากสงครามการค้าที่คอยซัดเข้าฝั่งไทยอยู่เป็นระลอก ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องเร่งวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่กำลังจะมาถึง โดยต้องเริ่มจากสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินความเสี่ยงสำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ โดยพิจารณาจากโครงสร้างต้นทุนของชิ้นส่วนในการผลิตที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ รวมถึงจะต้องมีการบริหารต้นทุนเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีเหล็กที่จะถูกเก็บเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน, ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน จะต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนการผลิต และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เช่น การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย รวมทั้งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งส่งเสริมการทำ R&D เพื่อเลือกใช้วัสดุทดแทนการพึ่งพาการใช้เหล็กในระยะข้างหน้า เช่น อะลูมิเนียมรีไซเคิล และคอมโพสิตไฟเบอร์ เป็นต้น แต่หัวใจสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะต้องมีการลงทุนส่งเสริมการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยภาครัฐจะต้องมีการสนับสนุนการให้งบประมาณ R&D ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ รวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุนและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สำคัญของอาเซียน

ความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเผชิญอาจไม่ใช่จุดจบ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งมือพัฒนาศักยภาพในการผลิตเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในระยะข้างหน้า

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้