สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 7 กรกฎาคม 2568 )----- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ เรื่อง แนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่า
ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 6.5%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าของคู่ค้าฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพื่อกักตุนสินค้าก่อนครบกำหนดเส้นตายปรับขึ้นอัตราภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบในวันที่ 8 กรกฎาคม 2025 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการชะลอออกไปอีก 90 วัน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังหลายประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกทูน่ากระป๋องในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้อาจจะชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหลังการบังคับใช้ภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปี 2025 เติบโตได้ที่ราว 4%YOY โดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกจะยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่มีราคาที่จับต้องได้ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความต้องการกักตุนสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน เช่น ทูน่ากระป๋อง เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในระยะต่อไปคือ การแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งสำคัญอย่างเอกวาดอร์และจีน ทั้งนี้กำแพงภาษีที่สูงขึ้นจากนโยบายภาษีทรัมป์จะทำให้คู่แข่งหลักของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างเอกวาดอร์ มีแต้มต่อที่ดีขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มโดนเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำกว่าไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลให้คู่ค้าบางส่วนหันไปนำเข้าทูน่ากระป๋องจากเอกวาดอร์เพิ่มขึ้นแทน ขณะที่คู่แข่งอีกรายที่จะมองข้ามไม่ได้คือ จีน ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้น เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิต วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อม ๆ ไปกับขยายการส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง และการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG รวมถึงความท้าทายจากการปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์รักสุขภาพ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
นางสาวโชติกา ชุ่มมี
ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)