Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ฟิทช์ คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ 'BBB+' และ ‘AAA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

221


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(3กรกฎาคม 2568)---------ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศ คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F1' อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่ 'bbb+' และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb'

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิต: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY พิจารณาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (SSR) ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) จากบริษัทแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคือ Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. ('MUFG, A-' /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/a-) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ BAY ที่ 'F1' ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สูงกว่านั้น สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนมีความแน่นอนมากกว่าในระยะสั้น

ทั้งนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศ ยังพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างอันดับเครดิตของ BAY เทียบกับสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ และอับดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ที่ ‘AAA(tha)’ บ่งชี้ถึงระดับของโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดในประเทศไทย

เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์: ฟิทช์เชื่อว่า BAY มีบทบาทสำคัญเชิงกลยุทธ์ในการสนับสนุนเป้าหมายการขยายธุรกิจของ MUFG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BAY ให้การสนับสนุนลูกค้าของกลุ่มสำหรับการให้บริการด้านการเงินในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายการลงทุนที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่น นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทแม่ยังใช้ความเชี่ยวชาญของ BAY ในด้านสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเพื่อขยายธุรกิจไปยังตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม MUFG มีสัดส่วนการถือหุ้น 76.9% ใน BAY และมีการควบคุมดูแล รวมไปถึงการผสานการดำเนินงานในระดับสูง ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะดำเนินต่อไป

ภาวะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่อ่อนแอลง: อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (open economy) ที่มีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นข้อจำกัดต่อโอกาสการเติบโตและผลการดำเนินงานของธนาคาร ฟิทช์ให้อันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' ซึ่งเป็นในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอันดับคะแนนที่ ‘bb’ตามเกณฑ์ของฟิทช์ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทย มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน อาทิ มาตรการกำกับดูแลและมาตรการทางการคลังที่นำมาใช้ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า
มีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่มั่นคง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจของ BAY ที่ ‘bbb’ สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่มั่นคงและรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย BAY เป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยของไทย เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของธนาคาร ยังได้รับประโยชน์จากการแนะนำลูกค้าและความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินจาก MUFG

โครงสร้างความเสี่ยงสะท้อนถึงความท้าทายในการดำเนินงาน: อัตราส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร มีการปรับด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อด้อยคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศ และส่งผลให้ฟิทช์ทำการทบทวนและปรับลดอันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างความเสี่ยงเป็น ‘bbb-’ จาก ‘bbb’ ทั้งนี้อันดับคะแนนดังกล่าวได้พิจารณารวมถึงการที่ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำในสินเชื่อธุรกิจกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นและกลุ่มบริษัทข้ามชาติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตามอาจถูกลดทอนบางส่วนจากสินเชื่อรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

แรงกดดันต่อเนื่องในด้านคุณภาพสินทรัพย์: อันดับคะแนนปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ ถูกปรับเป็น ‘bbb-’ จาก ‘bbb’ ซึ่งสะท้อนถึงการที่อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญด้านคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับด้อยลงอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 (2567: 4.2%, 2564: 2.6% ) ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยภายในประเทศและสินเชื่อด้อยคุณภาพในต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Stage 3)ยังทำให้อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับลดลงมาอยู่ที่ 113% ณ สิ้นไตรมาส ที่ 1 ปี 2568 จากระดับสูงสุดที่ 171% ในปี 2564

ความสามารถในการทำกำไรยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้: ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของ BAY อาจมีการปรับตัวอ่อนแอลงบ้าง จากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวลดลง และการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ BAY ได้ทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2% มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำพอสมควรสำหรับอันดับคะแนนด้านความสามารถในการทำกำไรณ ปัจจุบันที่ ‘bbb-’ ทั้งนี้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 2.2% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 (ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.1%) ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.1% ในปี 2567

ฐานะเงินกองทุนช่วยรองรับความเสี่ยง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านเงินกองทุนของธนาคาร ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเป็น ‘bbb+’ จาก ‘bbb’ จากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนเงินกองทุนหลักของธนาคาร โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของ BAY อยู่ที่ 17.7% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ซึ่งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจาก 17.8% ในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเป็นกันชนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โครงสร้างการระดมเงินทุนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทแม่: อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ BAY ที่ 'bbb+' เป็นหนึ่งในระดับสูงสุด เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงประโยชน์ที่ได้รับความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทแม่ MUFG มีการให้วงเงินสินเชื่อโดยตรงแก่ธนาคารรวมไปถึงการสนับสนุนจากกลุ่มในด้านการบริหารจัดการด้านสภาพคล่อง ฟิทช์คาดว่าโครงสร้างการระดมเงินทุนจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในระยะสั้น

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศอาจถูกปรับลดอันดับลง หากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นถูกปรับลดอันดับ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นอาจถูกปรับลดอันดับเครดิตได้ หากมีการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างเครดิตของ BAY กับบริษัทและธนาคารรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศอีกด้วย

อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ BAY อาจได้รับการปรับลดอันดับ หากสมมุติฐานในด้านความสามารถหรือโอกาสในการให้การสนับสนุนจาก MUFG มีการปรับตัวด้อยลง ตัวอย่างเช่น การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ MUFG จะสะท้อนถึงความสามารถในการสนับสนุนที่ลดลงแก่ธนาคารลูกในประเทศไทย และอาจส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ BAY

นอกจากนี้ การปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญของความเชื่อมโยงและการผสานความร่วมมือระหว่าง MUFG และ BAY อาจบ่งชี้ถึงโอกาสในการให้การสนับสนุนที่ลดลง และนำไปสู่ผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นได้ ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นของ MUFG ลงมาต่ำกว่า 50% ควบคู่ไปกับการลดระดับการควบคุมกิจการ การร่วมมือในการดำเนินงาน และความเชื่อมโยงด้านการตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับได้ หากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีการปรับตัวแย่ลงกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ หรืออันดับเครดิตของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับเครดิตลง ซึ่งอาจนำไปสู่การทบทวนการพิจารณาอันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน และนำไปสู่การทบทวนปัจจัยความแข็งแกร่งทางการเงินด้านอื่นๆ ด้วย เช่น อันดับคะแนนด้านโครงสร้างธุรกิจและอันดับคะแนนด้านโครงสร้างความเสี่ยงของธนาคาร

ทั้งนี้ การปรับลดลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ยังอาจเกิดขึ้นได้ จากการการปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงสร้างทางการเงินของ BAY โดยเฉพาะด้านคุณภาพสินทรัพย์ ตัวอย่างเช่น หากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ย 4 ปี ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4% (ปี 2564-2567 เฉลี่ยที่ 3.2%) ควบคู่ไปกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ลดลง เช่น
- การมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่น้อยกว่า 120% ซึ่งบ่งชี้ถึงการควบคุมความเสี่ยงของธนาคารอาจอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ และ/หรือ
- การมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย 4 ปีที่ต่ำกว่า 1.5% (ปี 2564-2567 เฉลี่ยที่ 2.0%) ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าธนาคารมีโครงสร้างธุรกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ หรือ
- การมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET 1) ที่ลดลงต่ำกว่า 16% (ไตรมาส 1 ปี 2568: 17.7%)

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของธนาคารมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต อันดับเครดิตสากลสกลุเงินต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวขึ้นเป็น 'A' หรือ สูงกว่า แต่อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจถูกจำกัดจากเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'A-'

ไม่มีโอกาสที่อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากอยู่ในระดับสูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของธนาคารจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หาก MUFG มีความสามารถและมีโอกาสที่จะให้การสนับสนุนแก่ BAY เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ MUFG จะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ BAY ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน ในกรณีที่สมมุติฐานอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในระยะสั้นมีค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ในระยะยาวฟิทช์มองว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจจะมีโอกาสที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารในประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างความเสี่ยง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้ หาก อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินทรัพย์เฉลี่ย 4 ปี ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 2.5% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย 4 ปี ทรงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3% เป็นเวลาต่อเนื่อง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต: อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทและโครงการ MTN หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ของ BAY ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้ อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวสะท้อนถึงภาระผูกพันที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศอยู่ 2 อันดับ ฟิทช์ใช้อันดับเครดิตที่มีปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น เป็นอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า MUFG จะให้การสนับสนุนแก่ BAY ก่อนจะถึงจุดที่ธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งในที่นี้ สำหรับในประเทศไทย หมายถึง การเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐ นอกจากนี้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวยังสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมสำหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) ทั้งนี้การจัดอันดับเครดิตสอดคล้องกับเกณฑ์การพิจารณาของฟิทช์สำหรับตราสารประเภทนี้ และสอดคล้องกับการพิจารณาการจัดอันดับเครดิตของตราสารที่มีลักษณะคล้ายกันในประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต: อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารจะส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ โครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทหรืออันดับเครดิตของโครงการ MTN ของ BAY ไม่มีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้อีก เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิง ซึ่งก็คือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ในระดับที่สูงสุดแล้วสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีโอกาสที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับอีก เว้นแต่ฟิทช์ประเมินว่าระดับการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity) ในกรณีที่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ จะได้รับการลดความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าจะยังมีการเปลี่ยนแปลง

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน'อันดับเครดิตของประเทศ'

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ MUFG

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสาหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

 

แหล่งข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการพิจารณาอันดับเครดิต
แหล่งที่มาของข้อมูลหลักที่ใช้ในการประเมินอันดับเครดิตมีรายละเอียดเปิดเผยอยู่ในเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้องของฟิทช์

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

สูตรขึ้น ขาย By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง รายย่อย พอร์ตโบรกฯ ต่างชาติ วานนี้ ใช้สูตรเล่นหุ้น ขึ้น ขาย ขณะที่กองทุนในประเทศหรือสถาบัน....

มัลติมีเดีย

รู้จักพร้อมเปิดพื้นฐาน NUT ก่อนเทรด 11 มิ.ย.- สายตรงอินไซด์ - 9 มิ.ย.68

รู้จักพร้อมเปิดพื้นฐาน NUT ก่อนเทรด 11 มิ.ย.- สายตรงอินไซด์ - 9 มิ.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้