สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (01 กรกฎาคม 2568 )-----นักวิเคราะห์อาวุโสของฟิทช์ให้มุมมองถึงอัตราส่วนหนี้สินที่สูงของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ในงาน Fitch’s Thailand Corporate Credit Outlook ที่ฟิทช์จัดขึ้นที่กรุงเทพฯในวันนี้
คุณโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคอุตสาหกรรม บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวในการนำเสนอว่า บริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่ง มีอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จัดอันดับโดยฟิทช์ หลังจากที่มีการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้หนี้และมีการเติบโตที่ช้าติดต่อกันมาหลายปี โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) โดยเฉลี่ยสำหรับผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่ที่สุด 10 รายของไทย อยู่ที่ 3.8 เท่า ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วน 2.1 เท่า สำหรับบริษัทไทยที่จัดอันดับโดยฟิทช์ และ 2.4 เท่า สำหรับบริษัทในเอเชียแปซิฟิกที่จัดอันดับโดยฟิทช์ ในขณะที่กลุ่ม ปตท. มีอัตราส่วนหนี้สินต่ำที่สุดที่ 1.6 เท่า ผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่อื่น มีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในช่วงตั้งแต่ 3.8 เท่า ถึง 15 เท่า ณ สิ้นปี 2567
อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลายาวนาน และกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าบริษัท ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากหนี้สิน มากกว่ากระแสเงินสดที่มาจากการดำเนินงาน โดยปัจจัยดังกล่าวอาจนำสู่โครงสร้างเงินทุนเปราะบาง ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านการรีไฟแนนซ์ และสภาพคล่องที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน นอกจากนี้ธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ เช่น การกำกับดูแลของคณะกรรมการที่ไม่เพียงพอ โครงสร้างกลุ่มบริษัทที่ซับซ้อนไม่โปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงเช่นกัน
ภาคธุรกิจที่ยังมีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม น่าจะยังคงได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่ลดลง นอกจากนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของกำไร ในภาคธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเช่นกัน ส่วนกำไรของบริษัทในธุรกิจบรรจุภัณฑ์น่าจะยังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามบริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อกำไรอย่างต่อเนื่อง จากวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมที่ยาวนาน ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ และอุปทานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะมีการลงทุน และการเข้าซื้อกิจการที่เพิ่มขึ้น เพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้ อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเหล่านี้ที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ปรับตัวอ่อนแอลงต่อไปได้อีก ฟิทช์คาดว่ากำไรของบริษัทในธุรกิจน้ำมันและก๊าซจะปรับตัวลดลงจากระดับสูง เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซน่าจะปรับตัวลดลง แม้ว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้จะยังคงแข็งแกร่ง
ในส่วนของการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ของไทยและภูมิภาค คณะผู้ร่วมอภิปรายซึ่งประกอบด้วย คุณวิน พรหมแพทย์, CFA, ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด คุณประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ Mr. Dong Woo Rhee ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน Credit Guarantee & Investment Facility (CGIF) การเสวนาได้ให้มุมมองเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเครดิตในประเทศไทยและภูมิภาค โดยเน้นถึงผลกระทบจากความเสี่ยงทางการเงินระดับโลก มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ระดับหนี้สินของภาคเอกชนที่สูง ความเสี่ยงด้านการรีไฟแนนซ์และสภาพคล่อง ตลอดจนแนวโน้มของ ESG และความยั่งยืน (sustainability)