Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

84

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม

 

วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาอัปเดตเกี่ยวกับข่าวพัฒนาการของ AI ในชีวิตประจำวันกันบ้าง
ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเบา ๆ แต่ก็น่าจะทำให้นักลงทุนนำไปเชื่อมโยงกับการลงทุนได้

บทความล่าสุดจาก Nikkei Asia ได้เปิดประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการรุกคืบของ AI เข้าสู่วงการกฎหมาย—หนึ่งในสาขาอาชีพที่หลายคนเคยมองว่าเป็นด่านท้าย ๆ ที่เทคโนโลยีไม่น่าจะแทนที่ได้ง่ายนัก เพราะต้องอาศัยทั้งวิจารณญาณ มนุษยสัมพันธ์ และจรรยาบรรณในการตีความ

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น กำลังท้าทายความเชื่อเหล่านั้นอย่างชัดเจน

บริษัท Law&Company จากเกาหลีใต้ได้พัฒนา SuperLawyer ระบบ AI ที่ช่วยให้ทนายวิเคราะห์คดีคล้ายคลึงและร่างเอกสารทางกฎหมายได้ โดยค่าบริการเพียง 100,000 วอนต่อเดือน (ราว 2,400 บาท) ถูกกว่าการจ้างทนายผู้ช่วยที่ต้องจ่ายถึง 5 ล้านวอนต่อเดือนถึง 50 เท่า ซึ่งหนึ่งในผู้ใช้งานจริงได้ยืนยันว่า บริการนี้ให้ผลลัพธ์เทียบเท่าทนายจริง และไม่ต้องมาปวดหัวกับการบริหารคน

นอกจากนี้ยังมีแอป LawTalk ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มจับคู่ระหว่างลูกค้าและทนายความ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดด้านข้อมูลและการเข้าถึงบริการทางกฎหมายได้อย่างมาก
ในฝั่งญี่ปุ่น บริษัท LegalOn Technologies ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยตรวจสอบสัญญา โดยสามารถลดเวลาทำงานของทนายที่ใช้ในการตรวจเอกสารลงได้ถึง 80% ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผลไม้ที่ AI สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวได้ทันที เพราะเป็นงานซ้ำซากที่กินเวลามาก แต่มีมูลค่าน้อย ทำให้คุ้มค่ากว่าการจ้างคน

โอกาสของธุรกิจ ≠ โอกาสของทุกคน:
แม้จะดูเหมือนว่า AI จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนในภาคบริการได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกด้านของเหรียญ คือความท้าทายทางสังคม โดยเฉพาะกับบัณฑิตจบใหม่
ในอดีต คนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วิชาชีพกฎหมายมักเริ่มต้นจากการทำงานพื้นฐาน เช่น การค้นคว้าคดีหรือการตรวจเอกสาร แต่ปัจจุบัน งานเหล่านั้นกำลังถูกแทนที่ด้วย AI ซึ่งอาจทำให้โอกาสในการฝึกฝนวิชาชีพจริงลดน้อยลง และกระทบต่อเส้นทางการเติบโตของคนรุ่นใหม่ในระยะยาว
ในเกาหลีใต้ สมาคมทนาย (Korean Bar Association: KBA) ถึงกับลงโทษทนายที่ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่าขัดต่อจรรยาบรรณและอาจทำให้สาธารณชนสับสน อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานกำกับการแข่งขันกลับมองต่าง โดยชี้ว่าการต่อต้านดังกล่าวขัดขวางการแข่งขันเสรี
ข้อถกเถียงเช่นนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อ AI เข้ามาทำงานแทนที่คนมากขึ้น คำถามเชิงจริยธรรม และแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีจะกลายเป็นประเด็นหลักที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


Adoption Rate ของ AI พุ่งทะยาน: สัญญาณชัดว่า Growth Theme นี้กำลังเป็น Mainstream
จากมุมมองการลงทุน สิ่งที่เห็นได้ชัดคืออัตราการยอมรับและใช้งาน AI (Adoption Rate) ในภาคธุรกิจและภาคบริการกำลัง เร่งตัวอย่างมีนัยสำคัญหากเทียบกับ 5 ปีก่อน
จากเดิมที่ AI มักถูกใช้ในธุรกิจเฉพาะ เช่น เทคโนโลยีขั้นสูง หรือระบบแนะนำสินค้าแบบ e-commerce วันนี้ AI กำลังเข้าไปแทนที่งานในสายที่ไม่เคยถูกคาดคิดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น: งานกฎหมาย, งานบัญชี, งานบริหารจัดการเอกสาร, งานวิจัย หรือแม้กระทั่งงานทางด้านการแพทย์
นี่คือสัญญาณว่า “AI-Related Investment” ไม่ใช่แค่ธีมระยะสั้นหรือความหวือหวาของตลาด แต่กำลังกลายเป็นเมนสตรีมของธีมการเติบโตที่จับต้องได้จริงตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า
บริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่ AI ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพัฒนาโมเดล, กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (AI Infrastructure), กลุ่มพัฒนา AI Vertical Application หรือกลุ่มจัดการข้อมูล จึงล้วนมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้


บทส่งท้าย:
แม้หลายฝ่ายจะกังวลว่า AI จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ในหลายภาคส่วน แต่อีกมุมหนึ่งก็คือ มันจะเป็นผู้ช่วยที่ทำให้มนุษย์สามารถโฟกัสกับงานที่ซับซ้อนและมีมูลค่าสูงได้มากขึ้น
คำถามสำคัญคือ…ใครจะเป็นผู้ที่พร้อมที่สุดในการใช้ AI เป็น leverage เพื่อเร่งศักยภาพของตนเอง และปรับตัวกับโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
และสำหรับนักลงทุน คำถามถัดมาคือ—เราจะเปลี่ยนคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร?
คำตอบหนึ่งที่เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ คือ การลงทุนในธีม AI คงไม่ใช่แค่การวิ่งตามกระแสข่าว แต่เป็นการหาโอกาสสร้างผลตอบแทนบนความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้จริง และกำลังเกิดขึ้นตรงหน้าเราในหลายภาคส่วนของธุรกิจ
นี่จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่ดีในการมองหาจุดต่อเชื่อมระหว่างเทคโนโลยีนี้กับโอกาสการลงทุนในปัจจุบัน—ก่อนที่โอกาสนั้นจะเริ่มแคบลงเมื่อกลายเป็นเรื่องปกติในอนาคต
สำหรับนักลงทุนที่สนใจธีมนี้ อาจย้อนกลับไปอ่านรายงานชุด “ลงทุนแบบเมกะเทรนด์“ ที่เราได้วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา


สรุปภาพตลาดวานนี้
SET ยังคงนิ่ง แต่มีบางกลุ่มวิ่งยกแผง นั่นคือธนาคาร (มาตรการคุณสู้ เราช่วย?) ทั้ง BBL (มาพร้อม Volume) KBANK SCB KTB แต่ก็เผชิญแรงขายกดดันจากกลุ่มคอมเมิร์ช CPAXT BJC (ต่างชาติ Downgrade) DOHOME โรงไฟฟ้า BGRIM GPSC ท่องเที่ยว-ร้านอาหาร AOT AWC AAV เป็นต้น

 



แนวโน้มตลาดวันนี้

คุณสู้ เราช่วย (ช่วยใคร...หุ้นแบงก์?)
ระหว่างรอบทสรุป อัตราภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ หุ้นไทยเมื่อวานได้ข่าวดี ช่วยหนุนบรรยากาศลงทุนจากในประเทศ คือ ครม.ผ่านงบปี69 3.7 ล้านล้านบาท กลบ ดราม่าพรรคร่วมรัฐบาลแตกแยก ซึ่งตลาดกังวลว่าหากงบสะดุด อาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเมือง โดยร่างงบฯนี้จะเข้าสภาฯ 28-29 พ.ค. ซึ่งดูเหมือนประเด็นการเมืองในประเทศ บรรเทาลงในทันที (ไปรอดูงูเห่าในการโหวตงบอีกที)

ขณะที่ราคาหุ้นธนาคารเมื่อวาน เขียวยกแผง จากประเด็น ครม.เล็งขยายและปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ โครงการ คุณสู้ เราช่วย เช่น เพิ่มการช่วยเหลือหนี้เสีย มีหลักประกัน จาก 5000 บาท เป็น 30,000 บาท ซึ่งตีความว่าจะช่วยให้คุณภาพ หนี้แบงก์ดีขึ้น ไม่ต้องเร่งตั้งสำรอง ขณะที่ลูกหนี้เหล่านี้ คือ NPL ที่ตั้งสำรองแล้ว อาจกลับมาเป็นหนี้ดี...แต่เราไม่คิดว่าจะทำให้แบงก์กลับรายการที่ตั้งสำรองไว้ไปแล้ว และไม่น่าจะบวกต่อราคาหุ้นแบงก์ได้นาน
นอกจากนี้เกณฑ์ ลูกหนี้ค้างดอกเบี้ย 1 วัน พักหนี้ได้ 3 ปี (อ่านแล้วไม่น่าจะเป็นบวกกับแบงก์) โดยโครงการนี้ที่ต้องขยายและปรับเกณฑ์ แสดงว่า ผลลัพธ์ไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ เราจึงไม่คิดว่าหุ้นแบงก์จะเดินหน้าบวกได้นานเพราะข่าวนี้ แต่น่าจะบวกด้วยการเป็นกลุ่มที่ กองทุนซื้อเพิ่มแล้ว ได้ผลตอบแทน ชนะ SET ง่ายกว่ากลุ่มอื่น
แต่กลยุทธ์ที่ไม่แนะนำให้ไล่ซื้อหุ้นเชื่อมโยงเศรษฐกิจในประเทศ เราคงคำแนะนำ สะสมหุ้นเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกต่อไปก่อนแม้ว่า ข่าวดีในประเทศจะทยอยปลดล็อก ไปทีละเปราะ...

กลยุทธ์การลงทุน

กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ แนะนำ ซื้อเก็งกำไร เล่นรอบ เน้นไปที่หุ้น 1Q25 ส่อแววผ่านจุดต่ำสุด และเริ่มจะเห็นสัญญาณของการฟื้นตัว เช่นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

วิเคราะห์ทางเทคนิค

เล่าด้วยภาพ: SET บวกบางๆ แกว่งอยู่ภายในเส้น EMA 25 & 75 วันที่ 1,180-1,220 จุด ขณะที่โมเมนตัม RSI เตือน signal alert! แต่ยังไม่หลุด level 50….ลดภาระแรงกดดันความผันผวนลง ประเมิน downside risk….bear case 1,160 จุด (ตำแหน่ง Fibonacci retracement 23.6%) อย่างไรก็ตามดัชนีเริ่มสู้ได้บ้าง หากไม่หลุดโซนรับย่อย 1,180 จุด ลุ้นฟื้นตัวได้ไม่ยาก…ถ้าจะให้สวยลุ้นวันนี้ปิดบวก
ไฮไลท์: แบงค์ใหญ่ KBANK, BBL และ SCB มาแรง เขียวยกแผง มีลุ้นโอกาสไปต่อ ขึ้น test high!
ส่วนแผนจับคู่ลุย แนะกลุ่มเครื่องดื่ม (CBG & OSP) และกลุ่มเรือ (PSL & RCL) วางแผนเทรดอย่างไร ไปหาคำตอบกันครับ

 

 

 

 

 


What to watch
ศุกร์นี้ ทีมญี่ปุ่นเดินทางเยือนสหรัฐฯ เจรจาหาข้อตกลงทางการค้า รอบที่ 3 โดยญี่ปุ่นเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีรถยนต์ญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง รวมถึงภาษีรถญี่ปุ่นส่วนเพิ่ม 25% ที่สหรัฐฯตั้งกำแพงไว้ก่อนหน้านี้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 วงเงิน ไม่เกิน 3.7 ล้านล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมเอกสารประกอบ 39 เล่มโดยจะนำเสนอ สภาผู้แทนราษฎร บรรจุวาระการพิจารณา ในวันที่ 28-30 พฤษภาคมนี้ (โยกงบแจกเงินหมื่น ไปลงทุนด้านอื่นแทน พร้อมเคาะแผน 1.57 แสนลบ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, ลดผลกระทบส่งออก, หนุนเกษตร ท่องเที่ยว เป็นต้น)
สภาพัฒน์ ระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/68 ขยายตัว 3.1% จากตลาดคาดโต 2.9-3.1% สภาพัฒน์คาด GDP Q2/68 ชะลอตัว เตือนภาคธุรกิจ-ประชาชน รับมือเศรษฐกิจผันผวนรุนแรง
MSCI review: Standard index ถอดหุ้น 3 ตัว BEM CRC KTC ส่วน Small Cap index เพิ่ม BEM AWC และถอดหุ้น 8 ตัว AURA BPP DOHOME GUNKUL JAS JMART M PRM
"ทรัมป์" เสนอรัสเซีย-ยูเครนใช้วาติกันเป็นเวทีเจรจาสันติภาพ โดยมีโป๊ปเป็นคนกลาง
ปธน.ทรัมป์ระบุว่า การเจรจากับปธน.ปูตินเกี่ยวกับการยุติสงครามในยูเครนเป็นไปด้วยดี แต่การเจรจายังไม่สามารถทำให้เกิดการหยุดยิงระหว่างรัสเซียและยูเครน

หุ้นแนะนำวันนี้

GULF งานโครงสร้างพื้นฐานแกร่งรอรับงบลงทุนรัฐ, หุ้นกสิกรบวกแรงหากจะขายก็กำไรถือปันผลก็ดี, บิตคอยน์พุ่งรับข่าว JP Morgan ไฟเขียวลูกค้าลงทุน
แนวรับ 47.75 ต้าน 49 Stop loss 47

 

 

 

 

รายงานพื้นฐานวันนี้

Quant Portfolio อัพเดทพอร์ตการลงทุน
พอร์ตการลงทุนของเราให้ผลตอบแทน -2.3% นับจากวันที่เราออกบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุดในวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยซึ่งอยู่ที่ -2.0% เล็กน้อย ในบทวิเคราะห์ฉบับนี้เรามีการปรับหุ้นในพอร์ตการลงทุน โดยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น CBG

Auto Sector

ใกล้ถึงจุดต่ำสุด แต่การฟื้นตัวก็ไม่น่าจะเร็วและแยกกลุ่มกัน
เราสังเกตุว่า ยอดผลิตรถยนต์ไทยลดลง YoY แต่อัตราการหดตัวชะลอลงต่อเนื่อง (จาก -24.6% ใน ม.ค. สู่ -6.1% ใน มี.ค.) ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใน เม.ย. +2.6% YoY เป็นเดือนแรกที่ฟื้นตัว YoY ตั้งแต่ ต.ค. 2023 บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มแตะจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม 2Q25 ยังเผชิญแรงกดดันจากความเข้มงวดของสินเชื่อและฤดูกาล แต่ฐานต่ำใน 2Q24 จะช่วยให้ตัวเลข YoY ดูดีขึ้น

โดยไตรมาสที่แล้ว ยอดขาย AH และ SAT ใน 1Q25 ลดลง 9% และ 11% ตามลำดับ แม้กำลังผลิตลดลงถึง 15% แต่ AH ได้แรงหนุนจากตลาดมาเลเซีย ส่วน SAT ได้แรงจากยอดขายเครื่องจักรกลการเกษตรที่โตขึ้น ทำให้กำไรสุทธิ AH ลดลงเพียง 4% YoY แต่ฟื้นตัวแรง +155% QoQ ขณะที่ SAT มีกำไรเพิ่มขึ้น 1% YoY แม้ลดลง 12% QoQ คาด 2Q25 กำไรหลักทั้งกลุ่มจะทรงตัวถึงดีขึ้นเล็กน้อยจากฐาน YoY ต่ำ

รายได้ธุรกิจดีลเลอร์ของ AH ลดลงแรง -40% YoY จากการยุติขายสองแบรนด์หลัก และการแข่งขันรุนแรงขึ้นจาก EV จีน ขณะที่ MGC มียอดขาย -14% YoY แต่พลิกกลับมามีกำไร YoY จากกำไรลงทุนใน Neo Mobility (Xpeng/Zeekr) และประกันภัย Howden Maxi ยอดจองในงาน Motor Show 2025 (24 มี.ค.–6 เม.ย.) แข็งแกร่ง โดย Xpeng 1,399 คัน และ Zeekr 1,196 คัน สะท้อนดีมานด์ EV ยังดีต่อเนื่องใน 2Q–3Q25

Fundamental view: เรายังคงให้น้ำหนัก “เท่ากับตลาด” (NEUTRAL) สำหรับกลุ่มฯ และเชิงพื้นฐานยังคงแนะนำ wait-and-see อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็น “มูลค่าที่น่าสนใจ” เป็นรายตัว

AH ซื้อขายที่ PER 6.3x (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว -0.5SD) มีรายได้ต่างประเทศที่มั่นคง และแรงกดดันจากธุรกิจดีลเลอร์ลดลง

SAT เทรด PER เพียง 7.3x (ต่ำกว่าเฉลี่ย -1.25SD) มีเงินปันผลจูงใจถึง 12-13% ในปี 2025

ทั้งนี้ แม้กลุ่มฯ จะใกล้ผ่านจุดต่ำสุด แต่เราคาดว่าการฟื้นตัวยังช้าและไม่ทั่วถึงในช่วงปี 2025–26

 

 

 

 

Retail Finance Sector
ทางแยกของการฟื้นตัว
กำไรสุทธิ 1Q25 ของกลุ่ม Retail Finance อยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% YoY และ 1% QoQ จากสินเชื่อเติบโตและ credit cost ลดลง โดยกำไรที่ออกมาเป็นไปตามที่เราและตลาดคาด โดย MTC รายงานกำไรเติบโตโดดเด่นสุดที่ 14% YoY ตามมาด้วย TIDLOR ที่ 10% YoY และ KTC ที่ 3% YoY มีเพียง SAWAD ที่รายงานกำไรลดลงถึง 13% YoY จากสินเชื่อและ NIM ปรับลดลง

ทั้งนี้ เราเห็นสัญญาณบวก 2 เรื่องใน 1Q25 คือ 1) สินเชื่อของกลุ่มฯ เติบโต 4% YoY นำโดย MTC และ TIDLOR และ 2) คุณภาพสินทรัพย์ของ MTC TIDLOR และ KTC ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนสัญญาณลบ ที่เราพบใน 1Q25 คือ 1) NIM อ่อนตัวลง และ 2) กำไรสุทธิ 1Q25 ของ SAWAD ปรับลดลง 13% YoY และ 10% QoQ ซึ่งบ่งชี้ว่าผลประกอบการของ MTC และ TIDLOR ฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนการฟื้นตัวของ SAWAD และ KTC ยังล่าช้า

เราคาดกำไรสุทธิ 2Q25 ของกลุ่ม Retail Finance จะเติบโต 5% YoY และ 3% QoQ จากสินเชื่อเติบโตและ credit cost ลดลง YoY
Fundamental view: เราเลือก MTC และ TIDLOR เป็น Top picks ของกลุ่มฯ

BA
(Visit Note)
การบินกรุงเทพ
แนวโน้ม 2Q25 อ่อนตัวลงในช่วงโลว์ซีซั่น
BA รายงานกำไรจากการดำเนินงาน 1Q25 ที่ 2,344 ล้านบาท ลดลง 2% YoY เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงและอัตรากำไรที่ลดลง แต่เติบโต 207% QoQ หนุนโดยจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น, ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยที่สูงขึ้น, และอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น
แต่จากการประเมินเบื้องต้น คาดกำไร 2Q25 มีแนวโน้มปรับลดลง QoQ นอกนากนั้น จากการชะลอตัวของการท่องเที่ยวไทย เราจึงมีมุมมองเชิงระมัดระวังต่อแนวโน้มการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในปี 2025 ซึ่งอาจเป็นดาวน์ไซด์ต่อประมาณการกำไร โดยคาดว่าบริษัทอาจมีการทบทวนเป้าหมายปี 2025 (ผู้โดยสายเติบโต 7-9% และค่าตั๋วเฉลี่ยทรงตัว YoY) เนื่องจากการชะลอตัวของการท่องเที่ยว
Our view: เรามองว่ายังไม่มีปัจจัยหนุนราคาหุ้น BA ที่ชัดเจนในระยะสั้น

 

 

 


สรุปประเด็นจาก Quick take

PTTGC
พีทีที โกลบอล เคมิคอล
มุมมองต่อการประชุมนักวิเคราะห์
PTTGC ปรับเป้าหมายสร้าง EBITDA ส่วนเพิ่มจากการลด OPEX และปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 พันล้านบาท (จากเดิม 4.5 พันล้านบาท) คาดเริ่มรับรู้บางส่วนในปี 2025 และรับรู้เต็มที่ในปี 2026
View from fundamental: แนวโน้มผลการดำเนินงาน 2Q25 ที่ดีขึ้น QoQ, คาดการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะผ่อนคลายลงหลังการเจรจา, และมูลค่าหุ้นที่ถูก น่าจะเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นได้ต่อไป เราจึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

BBIK
บลูบิค กรุ๊ป
มุมมองต่อการประชุมนักวิเคราะห์
Q2 คาดรายได้โต YoY ในขณะที่ QoQ ยังรอต้องลุ้น แต่ภาพ 2H25 ต้องลุ้นกว่าสัดส่วนงานภาครัฐคาดเพิ่มขึ้น และยังมีโอกาสจาก Cloud first policy เนื่องจากหน่วยงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นระบบcloud
View from fundamental: เรามองเป้าโต 20-30% มีความท้าทายจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เราอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการ โดยคาดว่าจะมี downside risk อีก 5% ส่งผลให้ กำไรโต 15% YoY

CBG
คาราบาวกรุ๊ป
มุมมองต่อการประชุมนักวิเคราะห์
ส่วนแบ่งการตลาดเดือนเม.ยอยู่ที่ 25.7% ทรงตัว QoQ และ MoM และเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ถือว่ายังไม่เสียส่วนแบ่งการตลาด Outlook 2Q25 ดูสดใส ดังนี้ คาดรายได้ energy drink ในประเทศโต 13% QoQ, 34% YoY
View from fundamental: เราระมัดระวังโดยใส่สมมติฐานส่วนแบ่งตลาดลดลง 1% ไว้แล้วในประมาณการ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการแข่งขันในประเทศ จึงยังคงประมาณการเดิม และยังคงมุมมองเชิงบวกต่อ CBG จากโมเมนตัมกำไรใน 2Q25

 

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

พยายาม By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็นเส้นกราฟ เส้นเทคนิค ของดัชนีหุ้นไทย พยายามจะแตะ 1,200 จุด ให้ได้ เช้าวันนี้ ทำได้...

NKT เดินหน้า 2 บิ๊กโปรเจค ตอกย้ำผู้นำในการดูแลสุขภาพ

NKT เดินหน้า 2 บิ๊กโปรเจค ตอกย้ำผู้นำในการดูแลสุขภาพ

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้