Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

วิจัยกรุงศรี ประเมิน ไทยกำลังเผชิญภาวะ “scenario-ception” ซึ่งมีความเสี่ยงจากความหลากหลายของฉากทัศน์การปรับขึ้นภาษีนำเข้า และยังมีความเสี่ยงซ้อนจากความเปราะบางภายในประเทศ

92

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(20 พฤษภาคม 2568)---------เศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรชัดเจนขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางเพิ่มความระมัดระวังในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน


เฟดกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อพร้อมเล็งทบทวนกรอบนโยบายการเงินใหม่ มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จาก Aaa เหลือ Aa1 จากหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นที่มีอันดับใกล้เคียงกัน โดยคาดว่า หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นแตะ 134% ของ GDP ภายในปี 2578 (จาก 98% ในปี 2567)

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเห็นผลกระทบจากมาตรการภาษีการค้าที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจาก (i) ดัชนีการผลิต (Philly Fed Index) ในเดือนพฤษภาคม หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง (ii) ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายนปรับลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และ (iii) ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนโตเพียง 0.1% MoM จากเดือนก่อนที่ 1.7% อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดชี้ว่าอาจต้องทบทวนกรอบนโยบายการเงินใหม่จากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมถึงความเสี่ยงจาก supply shock ที่สูงขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณเตรียมกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเอง แทนที่จะมีการทำข้อตกลงกับทุกประเทศ ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลก วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะประเมินผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯในระยะนี้ ก่อนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังปีนี้

 


เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ขณะที่ทีมเศรษฐกิจเสนออัดฉีดเงิน 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ หนุน SMEs ในอีก 5 ปีข้างหน้า กรรมการ BOJ เตือนยังไม่ควรรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ BOJ ดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง

มาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากขึ้นหลังจาก GDP หดตัวลงในไตรมาส 1 จากการบริโภคที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในฝั่งของส่งออกที่หดตัวลง และมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง ประเด็นดังกล่าวยังต้องรอความคืบหน้าในการเจรจากับสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนนี้ ล่าสุดญี่ปุ่นเผยว่ายินดีพิจารณานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในข้อแลกเปลี่ยนในการให้สหรัฐฯ ยกเว้นจัดเก็บภาษียานยนต์ นอกจากนี้ ทีมเศรษฐกิจเสนอให้รัฐบาลอัดฉีดเงินลงทุน 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็นระยะเวลา 5 ปีเพื่อเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจ SMEs ซึ่งครองสัดส่วนแรงงานกว่า 70% ของประเทศ ภายใต้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น วิจัยกรุงศรีคาดว่า BOJ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อเนื่อง ก่อนพิจารณาปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้

 



จีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกิน แม้ความตึงเครียดทางการค้าเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายนติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ -0.1% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 0.5% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงต่อเนื่องจาก -2.5% เป็น -2.7% โดยติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 31 ขณะเดียวกันจีนออกคำสั่งระงับการควบคุมการส่งออกแร่หายากเป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจีนและสหรัฐฯ เห็นชอบการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นการชั่วคราว

ตัวเลขเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิตล่าสุดสะท้อนความอ่อนแอของอุปสงค์และภาวะอุปทานส่วนเกินที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการกระตุ้นที่ผ่านมาอาจไม่เพียงพอในการหนุนให้การบริโภคฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในอีกด้านหนึ่ง การปรับลดภาษีนำเข้าระหว่างกันของสหรัฐฯและจีนจากเดิม 145% เป็น 30% และจากเดิม 125% เป็น 10% ตามลำดับ อาจช่วยบรรเทาผลกระทบลงบ้าง โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP จีนจะลดลง -0.3% ในระยะยาว (จากกรณีเดิม -0.8%) แต่ผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในระยะยาวยังสูงที่ -4.2% (จากเดิม -6.3%) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาและพลาสติก (-6.2% จากเดิม-11.4%) อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (-5.9% จากเดิม -9.5%) รวมถึงสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (-5.7% จากเดิม -8.3%)

 

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจในไตรมาสแรกได้แรงหนุนชั่วคราวจากการขยายตัวของภาคส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่แรงส่งจากภาคเอกชนมีแนวโน้มอ่อนแรงลง

GDP ไตรมาส 1 ปี 2568 เติบโต 3.1% YoY แนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญกับ scenario-ception จากความเสี่ยงสงครามการค้าและความเปราะบางภายในประเทศ สภาพัฒน์ฯ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 3.1% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้เล็กน้อยที่ 2.9% ปัจจัยหนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส

แม้ GDP ไตรมาส 1 ขยายตัวเกินคาดเล็กน้อย แต่กลับส่งสัญญาณเชิงลบหลายประการ สะท้อนจาก (i) การส่งออกที่เร่งขึ้น (+13.8% YoY) ไม่ได้หนุนกิจกรรมภายในประเทศ เพราะส่วนใหญ่มาจากการใช้สินค้าคงคลัง แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมแทบไม่ขยายตัว (+0.6%) (ii) การบริโภคภาคเอกชนสูญเสียแรงส่งการเติบโต (+2.6% จาก +3.4% ใน 4Q67) หลังจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสที่ 1 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทสิ้นสุดลง ส่วนเฟสที่ 2 และโครงการ Easy E-Receipt ให้ผลบวกจำกัดต่อการบริโภค และ (iii) การลงทุนภาครัฐที่เติบโตสูง 26.3% ยังไม่สามารถสร้าง Crowding-in effect หรือผลบวกต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งล่าสุดหดตัว -0.9%

สำหรับประมาณการปี 2568 สภาพัฒน์ฯคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 1.8% ในกรณีฐาน ภายใต้ข้อสมมติว่าภาษีศุลกากรจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน โดยภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) เป็นครึ่งหนึ่งของอัตราที่ประกาศไว้ เช่น ไทยถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 18% จากปัจจุบันที่ 10% แต่หากในกรณีที่คงภาษีนำเข้าไว้ที่ 10% (low tariff) GDP ไทยจะเติบโต 2.3% และในกรณีเลวร้าย (high tariff) ซึ่งไทยถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% คาดว่า GDP ปีนี้อาจโตเพียง 1.3% เท่านั้น

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าไทยกำลังเผชิญภาวะ “scenario-ception” ซึ่งมีความเสี่ยงจากความหลากหลายของฉากทัศน์การปรับขึ้นภาษีนำเข้า และยังมีความเสี่ยงซ้อนจากความเปราะบางภายในประเทศ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่แน่นอนของประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจ และความล่าช้าของการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยว ปัจจัยด้งกล่าวล้วนเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตและอาจเป็นปัญหาที่ฝังลึกลงสู่ระบบเศรษฐกิจไทย


ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังต้องรอความชัดเจน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 55.4 จาก 56.7 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับ (i) เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาด โดยหลายหน่วยงานทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ (ii) ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า และ (iii) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ

การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณเชิงลบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด (ปี 2562 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5) ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางซึ่งเผชิญกับแรงกดดันสำคัญจากปัจจัยภายในและภายนอก แม้ล่าสุดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนผ่อนคลายลงบ้าง หลังจากทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงปรับลดภาษีลงชั่วคราว 115% เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่สถานการณ์โดยรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง หากการเจรจารอบต่อไปไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมอาจสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก นอกจากนี้ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ นับเป็นประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแม้เห็นสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี จากผลกระทบของนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้รัฐบาลอาจมีการทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีวงเงินอยู่ราว 1.57 แสนล้านบาท เพื่อนำมาปรับใช้กับโครงการที่มีความคุ้มค่าลามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ซื้อกลุ่มแบงก์ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เช้าวันนี้ นักลงทุน แห่เก็งกำไร รุมซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ ส่งผลให้ราคาหุ้นแบงก์หลายตัวปรับ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้