Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

KKP หั่น GDP ปี 68 เหลือ 1.7% ชี้ปัญหาไม่ใช่แค่ทรัมป์ แต่คือโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หากไม่แก้ไข เสี่ยงโตต่ำกว่า 2% ถาวร

104

 
 
 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(16 พฤษภาคม 2568)------KKP Research ปรับ GDP ลงเหลือ 1.7% ในปี 2568 ซึ่งลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 2.3% ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุน 
อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนภาพกลับไปไกลกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงเกินไปมาตลอด ซึ่งสะท้อนสองเรื่องสำคัญ คือ 1) เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป 2) ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปีและเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในความจริงแล้วสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีของ Trump เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง
 
เศรษฐกิจไทยไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว
เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ได้รับแรงส่งหลักจากภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอดตามฐานการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงการระบาดของโควิด แต่หากไม่นับรวมการท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในส่วนที่เหลือหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 และกลับมาโตเป็นบวกเล็กน้อยแตะระดับ 0% ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องสะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ของไทยที่ไม่รวมการท่องเที่ยว เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในประเทศอาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว
 
เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจดับลงพร้อมกัน 
ในปี 2568 สามเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อมๆกัน คือ
 
1) แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาข้อมูลสะท้อนว่าแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมาและนิยมไปเที่ยวประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น แทนการมาท่องเที่ยวไทย ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงส่งหลักทั้งหมดของเศรษฐกิจ (ประมาน 2-3ppt) ในช่วงปี 2565 – 2567 จะเริ่มไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนักในปีนี้ โดย KKP ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 36.2 ล้านคนเทียบกับปีก่อนที่ 35.6 ล้านคน หรือโตขึ้นเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และมีความเสี่ยงจะลดลงได้
 
2) ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอดอยู่แล้วโดยหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยนักวิเคราะห์หวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้บ้างในปีนี้ แต่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ จะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวได้ยากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ เป็นหลัก
 
3) ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรงโดยเฉพาะข้าวหลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ โดยการส่งออกข้าวขาวติดลบเกือบ 30% ในช่วงไตรมาสแรก รายได้ที่ชะลอตัวลงในภาคเกษตรจะส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคในประเทศชะลอลง
 
3 ภาคเศรษฐกิจที่ชะลอลงพร้อมกันเป็นความเสี่ยงสำคัญที่เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยในปี 2568 โตได้ต่ำลงเรื่อย ๆ และสะท้อนว่าการชะตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีเป็นเรื่องสำคัญเรื่องเดียว
 
การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าโลกส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วได้รับผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าเพิ่มเติม KKP Research ประเมินว่าในที่สุดระดับภาษีที่สหรัฐ ฯ คิดกับไทยและประเทศอื่นๆในโลกจะค้างอยู่ที่ระดับ 10% ภายใต้ข้อสมมติว่าเราเจรจากับสหรัฐให้ลดอัตราภาษีนำเข้าลงมาได้ ในขณะที่อัตราภาษีนำเข้ากับจีน ที่เริ่มมีการตกลงเบื้องต้นเพื่อลดภาษีนำเข้าลงมาได้แล้ว และน่าจะอยู่ในระดับที่สูงว่าประเทศอื่น
 
ภายใต้สถานการณ์นี้ผลกระทบจากภาษีต่อไทยจะเกิดขึ้นผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ การให้ข้อแลกเปลี่ยนทางการค้าโดยเปิดตลาดของสินค้าบางกลุ่มให้กับสหรัฐ ฯ และผลกระทบทางอ้อมจากภาวะการค้าโลกและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อการส่งออกไทย
 
  1. ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไปสหรัฐ ฯ ในกรณีที่มีการขึ้นภาษี 10% ต่อสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยอาจได้รับผลกระทบติดลบประมาณ 0.15 เปอร์เซ็นต์
  2. การให้ข้อแลกเปลี่ยนในระหว่างการเจรจาอาจกระทบเศรษฐกิจบางภาคส่วน  หากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดในภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะหมู เนื้อวัว และนม จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดย GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วน 8-9% และหมู-ไก่ 1.3% แต่ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทในการจ้างงานในชนบทอย่างกว้างขวางโดยคิดเป็นกว่า 31% ของการจ้างงานทั้งหมด  
  3. ผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว KKP Research ประเมินว่าในอดีต ทุกๆ การลดลงของ GDP โลก 1% จะส่งผลให้ GDP ไทยลดลงประมาณ 0.6%
  4.  
ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากประเด็นสงครามการค้าในปี 2568 ยังคงเอียงไปทางด้านลบ หากการเจรจาล้มเหลวและสหรัฐฯ กลับมาเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% หลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยในปี 2568 อาจลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 0.9%
 
ทำไมไทยจะไม่กลับไปโต 3% ?
KKP ประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจากข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานว่าค่อนข้างยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ ก็ตาม เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้ใกล้เคียง 3% สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น คือ
 
ในกรณีแรก ภาคการท่องเที่ยวจะต้องขยายตัวมากถึงปีละประมาน 7 – 10 ล้านคนเหมือนช่วงที่จีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยใหม่ ๆ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไทยต้องขยายตัวไปถึงประมาน 70 ล้านคนในปี 2573 เพื่อชดเชยกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง
 
ในกรณีสอง ภาคการผลิตไทยต้องกลับไปเติบโตเฉลี่ยปีละประมาน 5% เหมือนในช่วงปี 2543 ก่อนที่การท่องเที่ยวจะขยายตัวก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลังโควิดที่โตได้เฉลี่ยเพียง -0.59% ต่อปี 
 
ในกรณีสุดท้าย การใช้ภาคเกษตรเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เพราะมีขนาดที่เล็กเกินไปเพียงประมาน 8% ของ GDP  นอกจากนี้ในปัจจุบันการส่งออกในภาคเกษตรที่เติบโตติดลบในปี 2568 เนื่องจากข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับข้าวอินเดียได้
 
เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง
ภาคต่างประเทศที่อ่อนแอลงกลับมาเป็นคำถามว่าไทยพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศแทนได้หรือไม่ โดยช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อภาคธนาคารปรับตัวแย่ลงมาอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ 1) หนี้เสียในภาคธนาคารปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและ SME  ซึ่งสะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจ 2) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ Balance sheet ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในสถาะอ่อนแอและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3) อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันไม่เป็นระดับที่ผ่อนคลายและสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ
 
เศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเรื่อย ๆ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
KKP Research ชวนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย 3 ข้อ คือ (1) นับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปจะเป็นปีที่ไม่เหลือแรงส่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกแล้วและยากที่แต่ละ Sector จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต จะทำให้ GDP โตต่ำกว่า 2%  (2) ปัญหาของภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยระยะสั้นเช่นภาษีของ Trump ที่จะทยอยดีขึ้นเอง (เช่น หากมีการเจรจาการค้าสำเร็จ) แต่เป็นภาพสะท้อนปัญหาระยะยาว (3) เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอจากหนี้ครัวเรือนในขณะที่โลกกำลังผ่านจุดสูงสุดของโลกาภิวัฒน์ทำให้ไทยไม่เหลือแรงส่งจากทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับมาเป็นคำถามต่อผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของไทยว่า เศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปได้อย่างไรในช่วงหลังจากนี้
 
KKP Research ประเมินว่าภาครัฐต้องไม่ยึดติดกับการทำนโยบายแบบเดิม ๆ และควรต้องมีการประสานด้านนโยบาย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบทเรียนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด Abenomics เพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อถูกจัดวางภายใต้กรอบ "ลูกศรสามดอก" อันประกอบด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่เน้นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ นโยบายการคลังแบบขยายตัว และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บทเรียนของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความครบถ้วนทั้งในมิติของระยะสั้นและระยะยาว และต้องมีทั้งนโยบายด้านอุปสงค์และนโยบายด้านโครงสร้าง การใช้นโยบายการเงินหรือการคลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเศรษฐกิจได้ หากขาดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

พีที สเตชั่น จับมือ "โป๊ยเซียน" แจกยาดม 2 หมื่นหลอด เติมความสดชื่นเต็ม MAX ในแคมเปญ "เพื่อนคู่ใจทุกการเดินทาง"

พีที สเตชั่น จับมือ "โป๊ยเซียน" แจกยาดม 2 หมื่นหลอด เติมความสดชื่นเต็ม MAX ในแคมเปญ "เพื่อนคู่ใจทุกการเดินทาง"

งบหมดแล้ว By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ภาคเช้าที่ผ่านมา SET หมุนทะลุเส้น 1200 จุด อีกครั้ง ด้วยแบงก์ ,อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้