สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(14 พฤษภาคม 2568)--------ไทยพาณิชย์ ชี้ AI เป็นเทรนด์โลกที่มองข้ามไม่ได้ ธุรกิจใหญ่เริ่มนำ AI สร้างพลังให้กับธุรกิจ ถึงเวลาที่ซัพพลายเชนกลุ่มเอสเอ็มอีต้องเร่งเคลื่อนตัวตาม เพื่อให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยเปิดมุมมองอนาคตการทำธุรกิจรูปแบบใหม่แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านเสวนา “Supply Chain Futureprenuer ปลดล็อกพลังเอไอ ขับเคลื่อนอนาคตธุรกิจยั่งยืน” ดึงเหล่ากูรูภาครัฐ - เอกชน สะท้อนมุมมอง เอไอ ไม่ใช่อุปสรรค แต่คือตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับธุรกิจ รับมือโจทย์ยากเศรษฐกิจผันผวน และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเร็วและแรง
AI เทรนด์โลก และทางรอดเอสเอ็มอี
นางสาวกนกวรรณ ใจศรี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Business Banking I ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า AI และคาร์บอนเครดิต เป็นสองเทรนด์โลก ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีให้เร่งนำ AI มาใช้ และลดการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในกลุ่มซัพพลายเชน เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่ได้เริ่มนำ AI มาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมกับการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้น เอสเอ็มอี จึงต้องเร่งตัวตามเทรนด์ดังกล่าว เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต
“ทุกวันนี้ AI และคาร์บอนเครดิตอยู่ในทุกอณูของการดำเนินชีวิตรวมถึงการดำเนินธุรกิจ เอสเอ็มอีจึงต้องปรับตัว โดยธนาคารมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอีสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้คำปรึกษา เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรให้ความรู้ผ่านการเสวนา และสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ”
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) กล่าวว่า SCB EIC มองการประยุกต์ใช้ AI ในภาคธุรกิจจะสามารถช่วยยกระดับการผลิตและเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำ AI มาใช้ แต่ยังขาดความพร้อมด้านแรงงาน โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ทั้งนี้จากผลสำรวจของ SCB EIC ในปี 2024 ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่นำ AI มาใช้งานแล้ว มีเพียง 40.4% อย่างไรก็ตาม นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผลการศึกษาชี้ว่า เอสเอ็มอีไทย มีแผนที่จะลงทุนใน AI โดยมุ่งไปที่เพิ่มทักษะและความรู้ให้กับพนักงาน รองลงมาคือการซื้อ Generative AI มาใช้ภายในบริษัท ในขณะที่เอสเอ็มอียังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ด้านกฎหมาย ด้านทักษะแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทช่วงที่ผ่านมาถูกกระทบจากหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยความเสี่ยงมาตรการภาษีนำเข้า (Tariffs) อาจทำให้เงินบาทผันผวนสูงในระยะสั้นนี้ เป็นความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าและส่งออก ผู้ประกอบการจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อบริหารความเสี่ยงจากค่าเงิน อาทิ การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX Forward) และ ประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX Option) นอกจากนี้ เอสเอ็มอี อาจพิจารณาทำธุรกรรมเงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เพื่อกระจายความเสี่ยงได้อีกด้วย
AI มาถูกเวลา ช่วยเอสเอ็มอี รักษาผลิตภาพธุรกิจ
ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า
AI เป็นเทคโนโลยีที่มาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับ SME ในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการเร่งพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรองรับการปรับใช้เทคโนโลยีโดยแนวโน้ม AI ที่กำลังมาแรง ได้แก่ AI Agent และ Generative AI ซึ่งทำหน้าที่เสมือนพนักงานที่สามารถช่วยองค์กรทำงานได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น การเขียนโค้ด พัฒนาโปรแกรม และวิเคราะห์ข้อมูลการขาย เป็นต้น
ทั้งนี้ก่อนที่ผู้ประกอบการจะนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ควรพิจารณาว่าฟังก์ชันงานใดที่ AI สามารถทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดการข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล เนื่องจาก AI “กินข้อมูลเป็นอาหาร” หรือ อาศัยข้อมูลในการประมวลผล ฉะนั้นความแม่นยำของ AI จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลที่ใช้เป็นอาหารของ AI ด้วย
“depa พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการให้เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วย AI ผ่านมาตรการสนับสนุนทางการเงินและบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าและบริการเทคโนโลยีมาตรฐาน โดยบริษัทที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และผู้ใช้บริการยังสามารถได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีอีกด้วย”
นายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า AI เป็นเทรนด์โลกที่รัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย สสว.พร้อมสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านหลายบริการ ทั้งต่อยอดความรู้ ลดค่าใช้จ่ายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึง AI ได้ง่ายขึ้น
“เอสเอ็มอีไทยมีความหลากหลายสูง มีทั้งคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ และคนที่ต้องการความช่วยเหลือ รัฐจึงไม่สามารถออกมาตรการช่วยเหลือทุกคนได้ในคราวเดียว จึงอยากให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือเดินเข้ามาปรึกษา โดย สสว.มีทั้งมาตรการสนับสนุนทางการเงิน และเชื่อมโยงเครือข่ายกับสถาบันการเงิน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น”
เร่งเอสเอ็มอีมุ่งสู่ Net Zero ชวนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์
นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทใหญ่ระดับโลก และของไทยเองต่างประกาศเป้าหมาย Net Zero ดังนั้น เอสเอ็มอีซึ่งเป็นซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ถ้าไม่ปรับตัวก็ขายสินค้าไม่ได้ จึงอยากให้เอสเอ็มอีมองว่า เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาด ปัจจุบัน อบก.ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อช่วยการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ซึ่งเป็นภาคบังคับที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องดำเนินการเก็บข้อมูลในสโคป 1 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง เช่น การใช้เชื้อเพลิงเพื่อการเผาไหม้ การใช้สารทำความเย็น และสโคป 2 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม เช่น การซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐมาใช้ในองค์กร โดยองค์กรจะต้องเก็บข้อมูลย้อนหลังเป็นเวลา 1 ปี โดยเอสเอ็มอี สามารถลงทะเบียนการใช้งาน กรอกข้อมูลองค์กรเพื่อรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในองค์กร ขณะการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการทวนสอบข้อมูล ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย
นายธาดา วรุณโชติกุล ผู้จัดการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อบก. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME สามารถคำนวณและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง) ขอบเขตที่ 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน) และขอบเขตที่ 3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ) ได้สะดวกรวดเร็ว และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษา พร้อมทั้งยังเป็นข้อมูลให้องค์กร สามารถกำหนดมาตรการและวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในอนาคต
“AI มีบทบาทสำคัญในการช่วยประมวลผลข้อมูล ปรับปรุงความแม่นยำ และแนะนำแนวทางลด CF อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์แนวทาง Net Zero และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในยุคที่ตลาดให้ความสำคัญกับคความยั่งยืน”
เอกชนประสานเสียง AI ลดการสูญเสียแก่ธุรกิจ
นายสุรพงษ์ สาเรชพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีพีเอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำ AI มาใช้ในระบบปฏิบัติการของโรงงาน หรือ องค์กรธุรกิจ ถือเป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ และทรานสฟอร์มเป็นธุรกิจอัจฉริยะ (Smart Factory) โดย เพื่อช่วยในการมอนิเตอร์และควบคุมการทำงานจากศูนย์กลาง ลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้อีกด้วย
“AI สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ อุณหภูมิ ความเย็น หรือฝุ่นละอองในอากาศ จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ข้อมูล และหากพบความผิดปกติ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนทันที นอกจากนี้ AI ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำเสีย ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้อย่างมาก”
นายภัทร จ้อยประดิษฐ์ Head of AI บริษัทโซโลมอน เทคโนโลยี ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ข้อดีของ AI คือ การลดความผิดพลาด และมีมาตรฐาน เพราะไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ AI เปรียบเหมือนเด็ก ที่ต้องสอนและป้อนข้อมูลที่ดี การประมวลผลจึงจะถูกต้อง
“AI มีหลากหลาย ทั้ง Deep Learning, Robot AI และ Vision AI ในที่นี้ ขอตัวอย่าง Vision AI ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์แขนงหนึ่งที่ใช้ร่วมกับเครื่องมือ ทำหน้าที่แทนดวงตามนุษย์ เช่น การส่องความผิดปกติของเซลล์ ลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยในปัจจุบันซอฟท์แวร์เหล่านี้ใช้ง่ายได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นซอฟท์แวร์ด้านเอ็นจิเนียริ่งเท่านั้น”
ทั้งหมดนี้ คือแนวทางการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของเอสเอ็มอี สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยพลัง AI โดยมีจุดเริ่มต้นจากการปรับกรอบความคิดของผู้ประกอบการ ปรับทักษะบุคลากรควบคู่กับการลงทุน และการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มและซอฟท์แวร์ด้าน AI จากผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมให้การสนับสนุนเงินทุน