สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(13 พฤษภาคม 2568)--- ฮั่วเซ่งเฮงเผย ค่าความนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์สวนทางกับทองคำ หลังครบ 100 วัน ทรัมป์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คะแนนความนิยมต่ำสุดในรอบ 80 ปี ขณะที่ราคาทองคำ All-Time High พุ่งแตะ 3,500 ดอลลาร์ แนะจับตาใกล้ชิด “อาวุธลับ” ของโดนัลด์ ทรัมป์
ครบ 100 วันแรกของการบริหารประเทศ (30 เมษายน 2568) ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คะแนนความนิยมกลับดิ่งลงต่ำที่สุดในรอบ 80 ปีของประวัติศาสตร์ผู้นำสหรัฐฯ สวนทางกับราคาทองคำที่พุ่งทะยานทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องท่ามกลางมรสุมสงครามการค้าที่ยังไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย
สงครามการค้าเดือด ปัจจัยหลักดันทองคำทะลุ 3,500 ดอลลาร์
ฮั่วเซ่งเฮงระบุว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายของทรัมป์และการตอบโต้ที่คาดเดาได้ยากจากจีน ได้ผลักดันให้นักลงทุนทั่วโลกหันเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง +29.15% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่งในประเทศไทยก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยปรับเพิ่มขึ้นถึง +10,850 บาท หรือ +24.68% ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ราคาขายออกบาทละ 54,800 บาท เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
นโยบายสั่นคลอนคะแนนนิยม: มากกว่าแค่เรื่องการค้า
นอกเหนือจากสงครามการค้า นโยบายภายในประเทศหลายด้านของทรัมป์ก็กำลังสั่นคลอนคะแนนนิยมอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงการจัดการผู้อพยพ การคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก การบ่อนทำลายหลักนิติธรรมและสื่อ การละเมิดสิทธิสตรีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) และการละเลยชุมชนคนผิวสี ประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อฐานเสียงและความเชื่อมั่นในตัวผู้นำสหรัฐฯ
ปัจจัยหลักกำหนดทิศทางทองคำครึ่งปีหลัง
ส่วนทิศทางทองคำในครึ่งปีหลังนั้น ยังคงผันผวนสูง โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ ดังนี้
1. เส้นตาย Reciprocal Tariff (8 กรกฎาคม) เส้นตาย 90 วัน สำหรับการเจรจามาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จะเป็นจุดชี้วัดสำคัญ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่น่าพอใจได้ และสหรัฐฯ เดินหน้าเก็บภาษีเต็มรูปแบบ อาจเห็นความตึงเครียดระลอกใหม่ ซึ่งย่อมส่งผลบวกต่อราคาทองคำในฐานะ “สินทรัพย์หลบภัย”
2. ทิศทางราคาทองคำ หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรง ฮั่วเซ่งเฮงมองว่าราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้อีก แต่หากสถานการณ์เริ่มมีสัญญาณผ่อนคลาย โดยเฉพาะการเจรจาการค้ามีความคืบหน้าที่ชัดเจน อาจเห็นแรงขายทำกำไรจากทองคำเป็นระยะ เนื่องจากความกังวลที่ลดลง และเม็ดเงินบางส่วนอาจโยกย้ายกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากข้อตกลงทางการค้าก่อนถึงกำหนดเส้นตาย ยังคงเป็นปัจจัยที่อาจสร้างความผันผวนและกดดันตลาดได้อีกเป็นระยะ
3. "อาวุธลับ" ชุดใหม่ของทรัมป์ แม้จะยังไม่มีรายละเอียด แต่หากเป็นมาตรการที่สร้างความตึงเครียดทางการค้าหรือภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มเติม ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นแรงซื้อทองคำได้ ฮั่วเซ่งเฮง แนะนำว่า “ในช่วงที่เหลือของปี ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ-จีน และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ รวมถึงรายละเอียดของมาตรการทางเศรษฐกิจชุดใหม่จากฝั่งสหรัฐฯ และท่าทีตอบโต้จากจีน ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดความผันผวนและทิศทางของตลาดโลก รวมถึงราคาทองคำ การกระจายความเสี่ยงและติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในภาวะเช่นนี้”
ย้อนไทม์ไลน์สงครามภาษีสหรัฐฯ-จีน: ปฐมบทความผันผวน (ก.พ. - เม.ย. 2568)
กุมภาพันธ์ สหรัฐฯ เปิดฉากขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 10% (4 ก.พ.) จีนตอบโต้ในทันทีด้วยอัตรา 10-15% ส่งผลกระทบต่อน้ำมันดิบ เครื่องจักรเกษตร รถยนต์ ถ่านหิน และ LNG (10 ก.พ.)
มีนาคม สหรัฐฯ ยกระดับภาษีสินค้าจีนเป็น 20% (4 มี.ค.) จีนสวนกลับรอบใหม่ เพิ่มรายการสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหารที่อัตรา 10-15% (10 มี.ค.) จากนั้นสหรัฐฯ ขยายผลกระทบ ประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 25% กับทุกประเทศ (12 มี.ค.)
เมษายน ทรัมป์ประกาศ "ปลดแอกสหรัฐฯ" ด้วย Reciprocal Tariff โดยจีนถูกตั้งกำแพงภาษีเบื้องต้น 34% (2 เม.ย.) ตามด้วยการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้า 25% กับทุกประเทศ (3 เม.ย.) จีนจึงตอบโต้ด้วยอัตราภาษี 34% เท่ากัน (4 เม.ย.)
• สถานการณ์บานปลายเมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าทุกประเภทกับทุกประเทศอีก 10% (5 เม.ย.) และเฉพาะสินค้าจีนที่ถูกปรับภาษีขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปสู่ 104% ก่อนขยับเป็น 125% และ 145% ในเวลาต่อมา (9-10 เม.ย.) แม้ทรัมป์จะประกาศเลื่อนการใช้ Reciprocal Tariff (ยกเว้นจีน) ออกไป 90 วัน เพื่อเปิดทางเจรจา แต่จีนยังคงตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็น 84% และ 125% (10-11 เม.ย.)
• อย่างไรก็ตาม มีการยกเว้นภาษีนำเข้ากลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนด้วยกำแพงภาษี 145% และภาษีทั่วโลก 10% (12 เม.ย.)
• ท่าทีแข็งกร้าวของจีนที่พร้อมตอบโต้ทุกประเทศหากข้อตกลงการค้าสร้างความเสียหาย ส่งผลให้ราคาทองคำต่างประเทศพุ่งทำจุดสูงสุดที่ 3,500 ดอลลาร์ (22 เม.ย.) ก่อนที่ทรัมป์จะผ่อนปรนการเก็บภาษีชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการ (29 เม.ย.)
ข้อมูลอ้างอิง:
The Guardian / Amnesty International / ฐานเศรษฐกิจ / ฮั่วเซ่งเฮง