AT THE OPEN (#ATO)
คาด SET Index ตอบรับบวก
สหรัฐฯ-จีนบรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราว
Market Strategy
คาด SET Index แกว่งตัวขึ้น ในกรอบ 1200 – 1230 จุด ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นเด่นในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปิดทำการเมื่อวาน นำโดยฮ่องกง +2.98% ขณะที่กลุ่มเอเชียเหนือบวก 0.4%–1.2% และอาเซียนบวก 0.07%–1.26% จากความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างจีน–สหรัฐฯ ซึ่งได้ข้อตกลงผ่อนคลายภาษีตอบโต้ โดย ลดอัตราภาษีลง 115% เป็นเวลา 90 วัน ครอบคลุมเฉพาะภาษีที่ถูกตั้งหลัง 2 เม.ย. ทำให้อัตราภาษีสหรัฐฯ ที่เก็บจีนลดจาก 145% เหลือ 30% ขณะที่จีนลดจาก 125% เหลือ 10% ส่งผลเชิงบวกต่อ sentiment ทั่วโลก และเพิ่มความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่การลดภาษีอย่างถาวรในระยะถัดไป มองว่ากลุ่มหุ้นที่ได้รับผลดีจะนำโดย อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อวัฏจักรการค้าโลก
นอกจากนี้ ในระหว่างสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมเดินทางเยือนตะวันออกกลางในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าการเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ถ่วงดุลอำนาจกับจีน ในภูมิภาคที่มีความสำคัญด้านพลังงานและยุทธศาสตร์ 2) ขยายขอบเขตของข้อตกลงอับราฮัม (Abraham Accords) เพื่อกระชับความร่วมมือกับชาติพันธมิตร 3) หารือความคืบหน้าข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งอาจจุดกระแสการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์อีกระลอก การเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดพลังงาน โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันดิบ ที่มีแนวโน้มเผชิญกับ downside risk หากสถานการณความขัดแย้ง์ตะวันออกกลางผ่อนคลายลง
ส่วนปัจจัยสำคัญภายในประเทศ ครม. เตรียมพิจารณาอนุมัติโครงการ เที่ยวไทยคนละครึ่ง กระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง Low season โดยรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย สำหรับ 1) เมืองหลัก 40% 2) เมืองรอง 50% อย่างละ 3 สิทธิ รวมทั้งหมด 6 สิทธิ วงเงินไม่เกิน 3,000 บาท/สิทธิ ช่วงระยะเวลา ก.ค.-ก.ย. คาดใช้งบประมาณราว 1,760 ล้านบาท
Market Summary
SET Index +0.36% ปิดที่ระดับ 1,210.94 จุด พลิกบวกในช่วงบ่าย จากแรงหนุนกลุ่มพลังงานและ China play ที่รับอานิสงส์บวกจากความคืบหน้าเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ–อังกฤษ และคาดหวังการเจรจาจีน หุ้นเด่น ได้แก่ IVL +5.15%, PTTGC +7.22%, TOP +3.81%, SPRC +3.67%, PTTEP +2.01% ส่วน GULF +2.03%, GPSC +3.01% รับงบ 1Q68 ดีกว่าคาด ส่วนกลุ่ม Domestics นำโดย ค้าปลีกและไฟแนนซ์ถูกขายทำกำไร CPAXT -5.49%, DOHOME -6.88%, SAWAD -6.92% จากงบ 1Q68 ที่ไม่เหนือความคาดหมาย และมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจในระยะถัดไปมีแนวโน้มชะลอตัว
DAILY Stock Pick
SPRC
ปัจจัยฤดูกาลผสาน Sentiment สงครามการค้าดีขึ้น
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 9.1 บาท
เมื่อวานที่ผ่านมาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้น 1.6% หลัง สหรัฐฯ และจีน บรรลุตกลงลดภาษีนำเข้าสินค้าของกันและกัน 115% เป็นเวลา 90 วัน หนุน GDP โลก และอุปสงค์ของน้ำมัน หลังจากถูกองค์กรต่างๆ ปรับลดประมาณการในช่วงที่ผ่านมา
เข้าสู่ช่วงเทศกาล US driving season ในเดือน พ.ค. ของทุกปี หนุนอุปสงค์น้ำมันเบนซิน ส่งผลให้ส่วนต่างน้ำมันเบนซิน MTD อยู่ที่ 12.7 US$/bbl (+65%MoM) หรือจาก ระดับ -0.6SD กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยอีกครั้ง โดย SPRC มีสัดส่วนน้ำมันดังกล่าวสูงถึง 24% เทียบกับค่าเฉลี่ยของโรงกลั่นในไทยที่ 19.8% หนุนให้ผลประกอบการในไตรมาส 2 แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่น
WEEKLY Stock Pick
STECON
กำไร 1Q68 แข็งแกร่ง ไตรมาสถัดไปมีปัจจัยหนุน
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 9.00 บาท
เราคาดกำไรงวด 1Q68E ที่ 256 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในไตรมาสก่อนที่ 1.2 พันล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งสำรองทั้งโครงการบึงหนองบอน, MRT สายสีเหลืองและชมพู อีกทั้งตั้งสำรองเกี่ยวกับโครงการ CFP ของ TOP และปรับตัวขึ้นเทียบกับปีก่อนจาก อัตรากำไรที่ดีขึ้นตาม Product Mix
กำไรในงวด 2Q68E เติบโตเทียบกับปีก่อน หนุนจากปรับวิธีการรับรู้ MRT สายสีเหลืองและชมพู จาก Equity method เป็น financial asset (ไม่รับรู้ผ่านกำไรปกติ) โดย ณ ราคาปัจจุบัน ถูกซื้อขาย PE68 ที่ 13.8 เท่า ตามลำดับ (-0.4SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี)
KEY FACTOR
ตัวเลขเศรษฐกิจที่รายงานปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นำโดย 1) ตัวเลขการค้าของจีนเดือน ม.ย. ออกมาดีกว่าคาด ส่งออก +8.0% YoY (Consensus+2.0%) ขณะที่การนำเข้าหดตัว -0.2% YoY(Consensus-6.0%) สะท้อนทั้งอุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด และสัญญาณการฟื้นตัวของดีมานด์ในประเทศบางส่วน โดยเฉพาะจากภาคการผลิตและการเติมสินค้าคงคลัง 2) เงินเฟ้อจีนเดือนเมษายนอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดย CPI หดตัว -0.1% YoY ตามที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ ดัชนี PPI หดตัว -2.7% YoY (Consensus -2.8%) สะท้อนภาพราคาผู้บริโภคยังซบเซาจากดีมานด์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่ต้นทุนฝั่งผู้ผลิตยังอยู่ในภาวะหดตัวติดต่อกัน ซึ่งชี้ถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังต่ำและเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐสามารถใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศในระยะถัดไป
EYES ON
[ในสัปดาห์] : การรายงานงบฯ 1Q68 ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ
13 พ.ค. : เงินเฟ้อ เดือน เม.ย. ของสหรัฐฯ
15 พ.ค. : ดัชนี PPI เดือน เม.ย. ของสหรัฐฯ
นักกลยุทธ์ : ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์, ชาญชัย พันทาธนากิจ, ออมทรัพย์ โง้วศิริ