Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ttb analytics ชี้นโยบายการค้า Trump 2.0 เร่งธีมโลกไปสู่ “ยุคของการกีดกันทางการค้า” ประเมินมูลค่าส่งออกไทยเสี่ยงชะลอตัวระยะยาว แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวรับมือกับความไม่แน่นอนสูง

77

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (8 พฤษภาคม )-------ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองนโยบายภาษีของทรัมป์ในปัจจุบัน (Trump 2.0) เร่งให้พลวัตการค้าโลกย้อนกลับไปสู่ “ยุคของการกีดกันทางการค้า” หรือ Protectionism เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบระบบเปิดขนาดเล็ก (Small-open Economy) โดยผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ที่มีต่อภาคส่งออกไทยจะส่งผ่านมาทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะกระทบต่อสินค้าในหลายหมวด ได้แก่ (1) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครือข่ายและการสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า (2) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน และ (3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เป็นต้น

 

หลังจากที่โลกบอบช้ำจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลพวงของการตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ (Smoot-Hawley Tariff Act) ในช่วงปี 2473 (ค.ศ. 1930) ทำให้ทั่วโลกหันกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกครั้ง จนมีส่วนทำให้โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคของการกีดกันทางการค้า (Protectionism) ไปสู่ยุคของโลกาภิวัตน์ (Globalization) อย่างเต็มตัวได้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ดี ในปี 2568 “สงครามการค้าและนโยบายภาษีของสหรัฐฯ” กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้โลกซึ่งอยู่ระหว่างการทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (De-globalization) มีการปรับเปลี่ยนระบบการค้าโลกเชิงพลวัตครั้งใหญ่จนอาจกลับไปสู่ “ยุคของการกีดกันทางการค้า” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เห็นได้จากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่หันไปพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นในระยะหลัง แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Re-shoring) เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งนั่นหมายความว่า โลกนับจากนี้จะมีแนวโน้มพึ่งพาซึ่งกันและกันลดลง ประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงอาจเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์ (Trump 2.0)

 

ทั้งนี้ แม้ล่าสุดทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ออกไปชั่วคราว และจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าแบบถ้วนหน้า (Universal Tariff) ที่ระดับ 10% (ยกเว้นจีน 145%)  ttb analytics มองว่า อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บในยุคของทรัมป์อาจไม่สามารถกลับไปที่ระดับเดิมในปี 2567 (อัตราภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% อ้างอิงจากข้อมูลคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ) แม้คู่ค้าหลักจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้แล้วก็ตาม ซึ่งการยกระดับนโยบายกีดกันทางการค้าภายใต้ Trump 2.0 จะยิ่งทำให้ภูมิทัศน์การค้าโลกมีความตึงเครียดขึ้น และจะส่งผลให้ภาคส่งออกไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว สะท้อนผ่านการวิเคราะห์การตอบสนองต่อสิ่งรบกวน (Shock) จากการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ต่อมูลค่าการส่งออกไทยผ่านแบบจำลองการตอบสนองอย่างฉับพลัน (Impulse Response Function : IRF) ในระหว่างปี 2553-2567 ซึ่งพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวในช่วง 1-4 ไตรมาสแรกหลังจากการ (ส่งสัญญาณ) ขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แต่กลับจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยในระยะยาว ซึ่งผลกระทบสะสมยังคงรุนแรงแม้จะผ่านไปแล้ว 24 ไตรมาส

 

ttb analytics ประเมินว่า หากสหรัฐฯ ใช้การจัดเก็บภาษีนำเข้าในระดับเดียวกันทั้งหมด (ยกเว้นจีน) ในอัตราภาษี Universal Tariff 10% และอัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า (Sectoral Tariff) 25% อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัย แต่หากกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) ซึ่งไทยอาจยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และถูกจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าซึ่งอ้างอิงจาก Reciprocal Tariff ที่ระดับ 36% และสูงกว่าประเทศคู่แข่งหลาย ๆ ประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง 1.1% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 1 ปี (ซึ่งยังไม่นับรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมในรูปแบบอื่น) เนื่องจากไทยเป็นประเทศระบบเปิดขนาดเล็ก (Small-open Economy) และมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออกคิดเป็นเกือบ 9% ของจีดีพี โดยสามารถแบ่งรูปแบบของผลกระทบต่อภาคส่งออกได้เป็น   

 

  • ผลกระทบทางตรง
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง และมีความเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากการที่ไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์เครือข่ายและการสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าค่อนข้างต่ำมากอยู่แล้ว ทำให้การที่ไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงหรือสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างมีนัย จึงมีความเสี่ยงที่ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่นทดแทนได้
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างมีนัย ซึ่งมีความเสี่ยงจะเจอมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ผลิตในประเทศเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ และกลุ่มที่จีนต้องการส่งออกไปสหรัฐฯ ผ่านไทย (Re-routing) ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในระยะหลัง ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา 201 ที่อ้างถึงเหตุผลของการใช้มาตรการในกรณีที่สินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหันและมีนัยสำคัญ (Safeguard Protection) เช่น แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียม รวมถึงมาตรา 232 ว่าด้วยการอ้างถึงเหตุผลของการใช้มาตรการเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ (National Security) เช่น ยางรถยนต์ ซึ่งการเข้ามาลงทุนของบริษัทจีนในไทยกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้สินค้าจากไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of Origin) และนำมาซึ่งการถูกดำเนินมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติมได้ในระยะข้างหน้า

  • ผลกระทบทางอ้อม
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก (และเศรษฐกิจสหรัฐฯ) ชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อวัฎจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Goods) และกลุ่มที่มีการพึ่งพาผู้บริโภคปลายทางในสหรัฐฯ เช่น สินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยเป็นกลุ่มสินค้าที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานจีนที่รองรับการผลิตเพื่อส่งต่อไปสหรัฐฯ รวมถึงผลกระทบจากกำลังซื้อชาวจีนชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบการส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลาง (Input and Intermediate Goods) ที่จีนต้องการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคที่รองรับตลาดผู้บริโภคจีนโดยตรง อย่างไรก็ดี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานเพื่อรองรับอุปสงค์ภายในประเทศคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เช่น กลุ่มสินค้าผักผลไม้ เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดอาเซียนสูงและมีความเสี่ยงที่จะถูกสินค้าจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดอาเซียน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียนให้แก่สินค้าจีนในหลายกลุ่มสินค้า ส่วนหนึ่งมาจากความซับซ้อนในกระบวนการผลิตและมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุตสาหกรรมไทยมีความใกล้เคียงกับสินค้าจีนและมาเลเซีย จึงเสี่ยงถูกทดแทนได้ง่าย โดยเฉพาะการถูกทดแทนจากสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่า ส่งผลให้ส่วนแบ่งไทยในตลาดอาเซียนลดลง ขณะเดียวกันกับที่สินค้าจีนครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่เผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากปัญหาสินค้าจีนทะลักตลาดในประเทศ นับตั้งแต่หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนระลอกแรกในช่วงปี 2560 ยิ่งทำให้ภาคการผลิตจีนเข้ามาแทนที่ภาคการผลิตไทยรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศยังเป็นกลุ่มที่จะเผชิญกับปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามารุนแรงมากขึ้นจากปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ของจีน เช่น กลุ่มสินค้าเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุป ในปี 2568 แนวนโยบายการค้า Trump 2.0 ซึ่งมุ่งเน้นการเจรจาต่อรองกับประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นดาบสองคมต่อทั่วโลกและอาจนำมาซึ่งการโดดเดี่ยวของสหรัฐฯ ชัดเจนขึ้น โดยแม้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างเต็มรูปแบบจะถูกเลื่อนออกไปชั่วคราว แต่คาดว่าจะเพิ่มความไม่แน่นอนทางการค้าและตลาดการเงินโลกในระยะข้างหน้า และจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องเร่งรับมือจากการเบี่ยงเบนของห่วงโซ่อุปทานโลก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการควบคุมกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มข้น ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพความสามารถในการแข่งขันรองรับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

เฟด คงดอกเบี้ย By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย พัก แบบปรับฐาน ในเช้าวันนี้ หลังจากวานนี้ ดัชนฯพุ่งแรง ประกอบกับ เฟด ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้